เหตุไฉน “หันต์ยนตร์” (หัมยนต์/ห้ามยันต์) จึงกลายเป็น “หำยน” ?

ข่าวศิลปวัฒนธรรม , 2 พ.ค. 2565, 01:22

เหตุไฉน “หันต์ยนตร์” (หัมยนต์/ห้ามยันต์) จึงกลายเป็น “หำยน” ?

 ดิฉันเขียนบทความชิ้นนี้ ไม่รู้ว่าจะใช้คำสะกดตัวไหนดี แทบไม่น่าเชื่อว่าการเดินทางของภาษาจากศตวรรษหนึ่ง ก้าวข้ามไปสู่เพียงแค่ไม่กี่ศตวรรษ จักเกิดการ “กร่อน” และ “กลาย” จนผิดเพี้ยนเปลี่ยนรูปแปลงร่างไปอย่างมากมาย
เฉกเช่นเส้นทางวิบากระหกระเหินของคำว่า “หันต์ยนตร์” (ซึ่งก็ยังไม่ทราบว่าเริ่มแรกสะกดอย่างไรกันแน่) ไปๆ มาๆ ต้องพบกับจุดหักเห ถึงขั้นกลายเป็น “หำยน” ไป
**จาก “หันต์ยนตร์” สู่ “หำยน”
หากมองดูเพียงรูปลักษณ์และหน้าที่ใช้สอยขององค์ประกอบสถาปัตยกรรมชิ้นนี้อย่างผาดเผินแล้ว คล้ายกับว่าไม่เห็นมีอะไรน่าตื่นเต้นเลย  ก็เป็นแค่เพียง “ทับหลัง” ธรรมดาๆ ชิ้นหนึ่งเท่านั้นเอง ดูไปดูมาอาจละม้ายกับ “ช่องแสง” ฉลุลายโปร่งที่ติดอยู่เหนือกรอบประตู-หน้าต่างดาดๆ ตามบ้านเรือนของคนไทยภาคกลางด้วยซ้ำ ซึ่งทั้งทับหลังหรือช่องแสงนั้น ที่ไหนๆ ก็มีได้ ไม่เห็นแปลก โดยเฉพาะที่เรารู้จักกันดีระดับโลกคือ ทับหลังของปราสาทเขมร แต่ละหลังล้วนรุ่มรวยไปด้วยทับหลังสลักจากหินทรายอย่าววิจิตรนับ 20 – 30 แผ่น
อันความพิเศษของ “ทับหลังภาคเหนือ” ประเภทนี้ ไม่ได้อยู่ที่ความอลังการของลวดลาย หรือกรรมวิธีการสลักอันยุ่งยากซับซ้อนแต่ประการใดไม่ ทว่าอยู่ที่ “นัยะซ่อนเร้น” อันเป็นปริศนาอมตะของมันต่างหาก จวบจนปัจจุบันก็ยังไม่มีข้อสรุปแน่ชัดว่ามันคืออะไรกันแน่ ระหว่าง “อัณฑะวิเศษที่ใช้ข่มชาวไทโยน” (หำยน - หำโยน) หรือว่ากระดิกจิตพลิกกลับนิดเดียวพลันกลายเป็นคำย่อของมนตร์คาถาบทหนึ่งที่ว่าด้วย “อรหันต์ยันตระ” ขึ้นมาทันที
นอกจากนี้ยังมีการตีความว่าอาจหมายถึง “ห้ามยันตร์” หรือ “หัมมิยันต์” อีกด้วย มาไล่เรียงคำศัพท์แปลกๆ เหล่านี้ทีละคำ
***หำยน อีกหนึ่งไสยศาสตร์พม่า?
ศาสตราจารย์ไกรศรี นิมมานเหมินท์ เสนอไว้นานกว่า 50 ปีแล้ว ว่า “กาแล” คือท่อนไม้ที่ชาวพม่าใช้เล่นแร่แปรธาตุบนหลังคานอกบ้านเพื่อข่มชาวล้านนา (เรื่องกาแลจะเขียนในฉบับถัดไป) ส่วนภายในบ้าน ชาวพม่าก็ยังผูกคาถาอาคมไว้ที่กรอบประตูไม้ฉลุทางเข้าห้องนอนอีกด้วย ทำเป็นสัญลักษณ์รูปลวดลายพรรณพฤกษาและสัตว์ในจินตนการต่างๆ แทน “อวัยวะเพศชาย” (ลูกอัณฑะ หรือ “หำ” ในภาษาถิ่นภาคเหนือ-อีสาน) เพื่อให้ผู้อาศัยลอดเข้าลอดออกถูกกดข่มเกิดอาการสิ้นฤทธิ์หมดเรี่ยวหมดแรง มิอาจกระด้างกระเดื่องต่อชาวพม่าได้
ทฤษฎีนี้ ท่านอาจารย์ไกรศรีกล่าวไว้นานแล้ว กอปรกับท่านก็ถึงแก่อนิจกรรมนานแล้ว ซึ่งเราไม่อาจรู้ได้ว่า หากท่านยังมีชีวิตอยู่ ผ่านการรับฟังข้อมูลข่าวสารทฤษฎีใหม่ๆ ได้แลกเปลี่ยนความเห็นจากนักวิชาการคนอื่นๆ ท่านจะยังยืนยันทฤษฎีนี้ หรือจะเปลี่ยนความเห็น?
อย่างไรก็ดี มีชาวล้านนาจำนวนไม่น้อยที่จดจำคำอธิบายและเห็นคล้อยด้วย เพียงแต่ไม่คิดว่าเป็น “องคชาติ” ของพวกพม่า แต่น่าจะเป็นของพวกไทโยนเองต่างหาก ฉะนั้นเจ้าทับหลังที่วางอยู่เหนือประตูทางเข้าห้องนอนของเรือนไทยภาคเหนือ จึงมีการสะกดแบบทะแม่งๆ ว่า “หำยน” หมายถึง “ลูกอัณฑะของชาวไทโยน” ต่อมามีนักวิชาการหลายท่านรู้สึกกระดากเขินอาย จึงเลี่ยงไปเขียนด้วยรูปอักษรอื่นเป็น “หัมยนต์” ก็มี (คำว่า “หัมยนต์” ก็มีคำอธิบายถึงที่มาที่ไปเหมือนกัน อันจักได้กล่าวต่อไป)
การที่ชาวไทโยนกลุ่มใหญ่ไม่คัดค้านทฤษฎีว่าด้วยองคชาติอันนี้ ก็เพราะพวกเขาเชื่อว่า “อัณฑะ” คือสิ่งที่รวบรวมพลังอำนาจแห่งความเป็นบุรุษเพศไว้ทั้งหมดนั่นเอง ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องสากลมีมาแล้วตั้งแต่ชาวฮินดูโบราณที่บูชาศิวลึงค์ ไม่ใช่เรื่องต่ำหรือหยาบคาย ฉะนั้น “หำยน” จึงมีความศักดิ์สิทธิ์พอที่จะใช้ป้องกันภยันตรายต่างๆ จากภายนอกมิให้กล้ำกรายเข้ามาในตัวเรือนได้
ยิ่งรูปลักษณ์ที่แกะสลักบนแผ่นหำยนเหล่านี้ มักมีลวดลายที่เริ่มจากตรงกลางเป็นวงโค้งขนาดใหญ่ ยิ่งทำให้ดูคล้ายกับวงแขนของตัว “คางคาก” หรือที่เรียกกันว่า “กบกินเดือน” อีกด้วย ถึงแม้ลวดลายจะประยุกต์มาอย่างมากจนกลายเป็นลายพันธุ์พฤกษาล้วนๆ แล้วก็ตาม แต่ยังคงเห็นร่องรอยของความน่ากลัวอยู่มาก (ชาวล้านนาหลายคนบอกดิฉันว่า พวกเขาเห็นลวดลายเหล่านี้เป็นตัวคางคากกำลังกางแขนโอบกลืนกินพระจันทร์)
อันที่จริง ตัวคางคากที่ใครๆ เห็นนั้น แท้ก็คือพัฒนาการของทับหลังเขมร ที่นิยมทำรูป “หน้ากาล” หรือราหูมุข (เกียรติมุข) เป็นรูปหน้ายักษ์ดุดันอยู่ตอนกลางแผ่น แล้วเอามือสองข้างจับท่อนพวงมาลัยที่ขดโค้งไปมานั่นเอง จึงเชื่อได้ว่า แผ่นหำยนคือการรับอิทธิพลมาจากพุทธมหายานสายเขมร
เล่ากันว่าความเฮี้ยนของ “หำยน” นี้ฉมังนัก ทุกครั้งที่มีการซื้อขายบ้านเก่าจะต้องมีพิธีการ “บุบ” หำยน คือเจ้าของคนใหม่จะต้องทุบตีหำยนแผ่นนั้นแรงๆ ก่อนจะเข้าบ้าน เพื่อทำลายความขลังที่เจ้าของเก่าได้ผูกอาคมไว้ เปรียบเสมือนการตีลูกอัณฑะวัวควายคราวทำหมัน อันเป็นการทำให้เสื่อมสมรรถภาพ สิ้นมนตร์หมดความเฮี้ยน
**หันต์ยนตร์ : คาถายันตร์อันศักดิ์สิทธิ์ของพุทธมหายาน
ราวสามทศวรรษที่ผ่านมาได้มีเสียงต่อต้านจากนักวิชาการหลายฝักหลายฝ่าย ทำการคัดค้านชนิดหัวชนฝาว่า “คงไม่มีชาวไทโยนคนไหนบ้าและหน้าด้านพอ ที่จะเอาลูกอัณฑะไปติดหราอยู่เหนือประตูทางเข้าห้องนอนตัวเองหรอก”
ผู้ที่เสนอทฤษฎีว่า “หำยน” นี้เขียนผิด อันที่จริงมาจากคำว่า “หันต์ยนตร์” แล้วเรียกเพี้ยนไปเพี้ยนมากลายเป็น “หำยน” ไป ท่านนั้นคือ ศาสตราจารย์ มณี พยอมยงค์ 
อะไรที่ทำให้ท่านคิดเช่นนี้ ก็เพราะศาสนาพุทธลัทธิมหายานนิกาย “ตันตระ” หรือ “ตันตริก” ของชาวจีนตอนใต้และชาวทิเบตเชื่อในเรื่องการบูชา “มนตระ” และ “ยันตระ” ด้วยการใช้คาถาย่อว่า “อรหันต์ยันตระ” หากสะกดเสียงแบบสำเนียงคนจีนจะออกเป็น “อรหัมยันตระ” หรือ “อรหังยันตระ” มากกว่าที่จะฟังเป็น “อรหันต์” ชัดๆ คาถาดังกล่าวนี้เน้นเรื่องการบูชาทิศทั้งแปด ซึ่งถือว่าเป็นสวัสดิมงคลแก่ชีวิต 
น่าเป็นไปได้สูงทีเดียว ที่วัฒนธรรมการบูชาคาถาย่อ “หันต์ยนตร์” - “หัมยนตร์” – “หังยนตร์” ของชาวยูนนานอันนี้ได้หลั่งไหลถ่ายเทให้แก่ชาวไตสิบสองปันนาและชาวไทโยนในล้านนาผ่านมาทางลุ่มน้ำแม่โขง ประสาคนบ้านใกล้เรือนเคียงกัน ไปๆ มาๆ ชาวล้านนาก็นำคติอันนี้มาประยุกต์ใช้ทำองค์ประกอบสถาปัตย์ประเภท ”ทับหลัง” ประดับอยู่เหนือทางเข้าห้องนอนเพื่อความเป็นสิริมงคลของชีวิต
และมีข้อน่าสังเกตว่า ในเรือนไทยภาคเหนือแต่ละหลังมักมีการทำ “หันต์ยนตร์” เพียงหนึ่งชิ้นเท่านั้น กล่าวคือประดับอยู่เหนือกรอบประตูทางเข้าห้องนอนเพียงที่เดียว ส่วนพวกห้องครัว ห้องรับแขก นั้นไม่มีการทำ โดยปกติแล้วเรือนของชาวล้านนามักสร้างห้องนอนเพียงห้องเดียว ยกเว้นคุ้มเจ้าหรือเรือนขุนนางอาจมีห้องนอนมากกว่าหนึ่งห้อง แต่อย่างไรก็ดี คุ้มเจ้าและคฤหาสน์หรูๆ ของคนรวยแม้จะมีห้องนอนหลายห้อง แต่เท่าที่สำรวจดูพบว่ายังคงนิยมทำ “หันต์ยนตร์” เพียงแค่ชิ้นเดียวอยู่นั่นเอง คือประดับไว้ที่กรอบประตูทางเข้าห้องนอนของหัวหน้าครอบครัวเท่านั้น  ราวกับพวกเขาเชื่อว่าเป็นสัญลักษณ์ของยันตร์อันศักดิ์สิทธิ์ เป็นของสูงของมีค่า จึงไม่ใช่เรื่องที่จะนำมาทำใช้กันอย่างพร่ำเพรื่อ และโดยมากภายในห้องนอนที่ติดหันต์ยนตร์เหล่านี้ก็มักใช้เป็นห้องพระ มีหิ้งพระพุทธรูปประดิษฐานไปในตัวด้วย 
ท่านผู้อ่านอย่าเพิ่งงงนะคะ หากเราจะแยกเรื่องแนวคิดในการทำแผ่นหันต์ยนตร์ออกเป็นสองสาย 1. รับแนวคิดของคาถา อรหันต์ยันตระ (หันต์ยันตร์) มาจากพุทธมหายานสายทิเบต 2. แต่รับรูปลักษณ์ของการทำตัวหน้ากาล (คางคาก) เอามือยึดพวงดอกไม้ มาจากทับหลังปราสาทขอม ที่เป็นวัฒนธรรมที่ตกค้างมาตั้งแต่ยุคหริภุญไชยก่อนแล้ว
**ห้ามยันตร์ – หัมยันต์ 
นอกจากเรือนอาศัยยังติดที่กุฏิสงฆ์
นอกจากนี้แล้ว ดิฉันยังเคยได้ยินสำเนียงปราชญ์ชาวยองบางท่านเรียก “หำยน” ว่า “ห้ามยันตร์” อีกด้วย นั่นคือ สิบเอกสุวิช ศรีวิราช อดีตวัฒนธรรมอำเภอป่าซาง และวัฒนธรรมอำเภอลี้ พ่อครูสุวิชอธิบายว่า
“แผ่นฉลุนี้ เป็นการลงคาถาป้องกันภูตผีปีศาจ ติดไว้เป็นการ ‘ห้าม’ สิ่งชั่วร้ายมิให้กล้ำกรายเข้ามาในเรือน แต่คนไปเรียกเพี้ยนเป็น ‘หำ’ ซึ่งไม่ถูกต้อง”
เห็นได้ว่า ทฤษฎีของพ่อครูสุวิช ก็คือแนวคิดเดียวกันกับคำอรรถาธิบายของพ่อครูมณี พยอมยงค์ ที่มองว่า แผ่นไม้นี้ ไม่ใช่ไสยศาสตร์ ไม่ใช่ของต่ำ แต่เป็นยันต์คาถาที่ใช้ปกป้องขับไล่สิ่งไม่ดี
ในขณะที่ ทฤษฎีของ “อาจารย์เกริก อัครชิโนเรศ” ปราชญ์ร่วมสมัยคนสำคัญของล้านนา เสนอความเห็นในฐานะ “นักภาษาศาสตร์” ว่า
“ในทัศนะของผม คำว่า ‘หัมยนต์” ควรเขียนแบบนี้ หรือ ‘หัมยันต์’ มากกว่า โดยแยกรูปศัพท์ได้ว่า ‘หัมมิยะ’ + ‘อันตะ’ หัมมิยะ = ปลายสุด อันตะ = จุดจบ เอาสองคำมารวมกัน กลายเป็น ‘หัมมิยันตะ’ หรือเขียนย่อๆ ได้ว่า  ‘หัมยันต์’ แปลว่า ไม้ที่ใช้ติดประดับส่วนยอดปลายสุด  ซึ่งอันที่จริง คำนี้ ควรเป็นตำแหน่งของไม้กาแลมากกว่า แต่กลับนำมาใช้เรียกตำแหน่งของแผ่นไม้ที่ติดเหนือประตูห้องนอน”
หมายความว่าในทัศนะของอาจารย์เกริก ไม่ได้มองว่าคำว่า “ยันต์” นั้นหมายถึง การลงคาถาอาคม แต่มาจาก ตัว ยะ + อันตะ 
ไม่ว่า ปราชญ์ผู้รู้ท่านต่างๆ จักสันนิษฐานถึงที่มาของคำว่า “หัมยนต์” ไว้กี่นัยะ กี่ความหมาย กี่รากศัพท์ภาษาก็แล้วแต่ จะมีการลงคาถาอาคมด้วยหรือไม่ก็สุดแท้แต่ความเชื่อของแต่ละท่าน เพราะจวบจนทุกวันนี้ ก็ยังมีข้อถกเถียงไม่รู้จบสิ้น
สิ่งที่น่าสนใจยิ่งก็คือ แผ่นไม้คล้ายช่องแสงฉลุลวดลายนี้อันสวยงามนี้ หาได้มีเฉพาะใช้ประดับเหนือบานประตูในบ้านคนธรรมดาเท่านั้นไม่ ทว่า ยังมีการใช้ประดับเหนือบานประตู “กุฏิพระสงฆ์” อีกด้วย เท่าที่ดิฉันพบโดยบังเอิญ ก็มีหลายวัด อาทิเช่น กุฏิของวัดบ้านหลุก ตำบลเหมืองง่า อำเภอเมืองลำพูน และที่วัดพันตอง อำเภอเมืองเชียงใหม่
สะท้อนให้เห็นว่า ทฤษฎีที่เชื่อกันว่า ควรสะกดว่า “หำ” และหมายถึง “อัณฑะ” นั้น ไม่น่าจะเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เนื่องจากมีการติดแผ่นไม้ดังกล่าวในอาคารสำหรับพุทธศาสนาด้วย 
 

13

ข่าวอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ส่งมอบรถใหม่ Hyundai Creta Smart สีบรอนเงิน เป็นรถยนต์น่าใช้สำหรับครอบครัว

ที่ปรึกษาการขาย เอชดีเจมอเตอร์ ฮุนไดเชียงใหม่ เซลส์มุ้ย ร่วมแสดงความยินดีพร้อมส่งมอบรถใหม่ให้แก่ คุณมาลี ชัยอุปละHyundai Creta Smart สีบรอนเงิน ขอขอบคุณที่ให้เกียรติมาเป็นครอบครัวฮุนได สอบถามรายละเอีย...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 13 เม.ย. 2567, 07:30
  • |
  • 71

ส่งมอบรถใหม่ Hyundai H-1 Elite FE สีขาว รถยนต์น่าใช้สำหรับครอบครัว

ที่ปรึกษาการขาย เอชดีเจมอเตอร์ ฮุนไดเชียงใหม่ เซลส์แนน ร่วมแสดงความยินดีพร้อมส่งมอบรถใหม่ให้แก่ บจก.เอส ดี เมดิคอล เซอร์วิสเซส Hyundai H-1 Elite FE สีขาว ขอขอบคุณที่ให้เกียรติมาเป็นครอบครัวฮุนได สอบถา...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 7 เม.ย. 2567, 14:11
  • |
  • 71

ส่งมอบรถใหม่ Hyundai STARGAZER X สีขาว รถยนต์น่าใช้สำหรับครอบครัว

ที่ปรึกษาการขาย เอชดีเจมอเตอร์ ฮุนไดเชียงใหม่ เซลส์มุ้ย ร่วมแสดงความยินดีพร้อมส่งมอบรถใหม่ให้แก่ คุณภิญญดา มาศรีHyundai STARGAZER X สีขาว ขอขอบคุณที่ให้เกียรติมาเป็นครอบครัวฮุนได สอบถามรายละเอียดของรถ...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 7 เม.ย. 2567, 14:00
  • |
  • 79

โค้งสุดท้ายแล้วงาน MOTOR Sale โปรปัง "รับซัมเมอร์"3-9 เมษา 67 ลานโปรโมชั่น ชั้น G เซ็นทรัล...

เป็นการตัดสินใจของท่านเองล้วนๆในการเลือกซื้อรถยนต์ งานแสดงรถยนต์ สำหรับผู้ที่กำลังมองหารถยนต์เอาไปใช้สักคัน พลาดไม่ได้ต้องไปที่งาน มอเตอร์เซลส์ โปรปังรับซัมเมอร์ ระหว่างวันที่ 3-9 เมษายน 67 เรามาพบกัน...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 6 เม.ย. 2567, 10:24
  • |
  • 98

เริ่มแล้ววันนี้งาน MOTOR Sale โปรปัง "รับซัมเมอร์"3-9 เมษา 67 ลานโปรโมชั่น ชั้น G เซ็นทรัล...

เริ่มแล้ววันนี้ งานแสดงรถยนต์ สำหรับผู้ที่กำลังมองหารถยนต์เอาไปใช้สักคัน พลาดไม่ได้ต้องไปที่งาน มอเตอร์เซลส์ โปรปังรับซัมเมอร์ ระหว่างวันที่ 3-9 เมษายน 67 เรามาพบกันที่ ลานโปรโมชั่น ชั้น จี เซ็นทรัล เ...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 3 เม.ย. 2567, 14:42
  • |
  • 174

CHANGAN Sangchai เปิดจองแล้ว LUMIN Lรถไฟฟ้ามินิมอลน่าใช้ทดลองขับได้เลยวันนี้

พลาดไม่ได้สำหรับคนอยากมีรถยนต์ไฟฟ้าไปใช้ จะเอาไปทำงาน ไปส่งลูกไปโรงเรียนหรือจะเอาให้ลูกหลาน นิสิต นักศึกษาขับไปโรงเรียน มหาวิทยาลัย ที่มีระยะทาง ไป/กลับ ไม่ถึง 200 กิโล ก็สบายมาก เพราะ ฉาง อาน ลูมิน ช...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 2 เม.ย. 2567, 13:22
  • |
  • 125
Sytiq Company

ออกแบบพัฒนาโปรแกรมและแอพลิเคชั่น

โดยบริษัทไซทิค ติดต่อ:0819507128

Sytiq Company

ออกแบบและติดตั้ง Home Automation

โดยบริษัทไซทิค ติดต่อ:0819507128