เรือนสรไน แก้วเจียระไน ปี่ไฉนแห่งชวา การเข้ามาของอาณานิคมตะวันตก

ข่าวศิลปวัฒนธรรม , 23 พ.ค. 2565, 01:58

เรือนสรไน แก้วเจียระไน ปี่ไฉนแห่งชวา การเข้ามาของอาณานิคมตะวันตก

           คํากล่าวที่ว่า "กาแล-เชียงใหม่ สรไน-ลําพูน" ยังคงค้างคาใจผู้ฟัง ว่าเป็นความ จริง-เท็จ หรือมีที่มาที่ไปอย่างไร บทความนี้ในฉบับก่อนดิฉันได้อธิบายไปแล้วว่า “กาแล” มิใช่อัตลักษณ์ของเชียงใหม่เพียงเมืองเดียว หากได้พบกระจายทั่วล้านนา เช่นเดียวกับ “เรือนสรไน” (อ่าน สะระไน) ก็หาใช่มีเฉพาะในเมืองลําพูนเท่านั้นไม่ เพียงแต่ว่าอาจพบมากเป็นพิเศษในเมืองลําพูนหลายร้อยหลัง จนทําให้มีผู้กล่าว ว่าเรือนสรไนเป็นอัตลักษณ์เฉพาะของชาวยองลําพูน แต่ในความเป็นจริง มีการพบอย่างกว้างขวางทั่วประเทศไทยทุกภาค เพียงแต่ว่าในจังหวัดลําพูนยังคงมีให้เห็นเป็นกลุ่มเป็นก้อนหลายแหล่งมากกว่าจังหวัดอื่น

            ที่มาของคําว่า “สรไน” นั้นยังไม่มีผู้สรุปความหมายไว้แน่ชัดว่า เกิดขึ้นได้อย่างไร มีแต่ข้อสันนิษฐานที่เกิดการสืบค้นจากชื่อของคําว่า “สรไน” เอง ที่ผู้รู้หลายฝ่ายได้เสนอความเห็นไว้สองแนวทาง ดังนี้ 

            นัยแรก ดังที่อาจารย์บุญมี ไชยยันต์ สถาปนิกล้านนาเสนอไว้ว่า น่าจะมาจากคําว่า “เจียระไน” อันหมายถึงการเจียรเพชรพลอยให้เกิดมุมเกิดเหลี่ยมตามที่ต้องการ ด้วยเหตุผลสองประการ ประการแรก รูปทรงของเสาสรไนนั้นมีการเจียรไม้เหลี่ยมมุมคล้าย การเจียระไนเพชรพลอย ประการที่สอง พบว่าคนเฒ่าคนแก่หลายท่านในลําพูนยังคงเรียก ขานเรือนสรไนนี้ว่า “เฮือนจะระไน” อยู่ ซึ่งคําว่า “จะระไน” นั้นฟังดูคล้ายและอาจมีรากมาจากคําว่า “เจียระไน” ตามข้อเสนอของอาจารย์บุญมี ซึ่งเป็นความเห็นที่น่ารับฟังและมีความเป็นไปได้สูงเช่นกัน

            ในขณะเดียวกัน ยังมีความเห็นอีกนัยหนึ่งจากปราชญ์ล้านนาหลายๆ ท่าน อาทิ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.มณี พยอมยงค์ และ ศ.ดร.อุดม รุ่งเรืองศรี อธิบายว่า “สรไน” มีที่มาจากคําว่า “สุระหนี่” ในภาษาชวา หมายถึงเครื่องดนตรีประเภทปี่สรไนหรือปี่ไฉน อันเป็นเครื่องดนตรีพื้นเมืองโบราณของชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่แพร่หลายมาช้านาน ซึ่งภาษามอญโบราณเรียกแผลงจาก “สุระหนี่” มาเป็น “สรไน” (บ้างเขียนว่า สะละไน หรือจะระไน) ส่วนภาษาขอมและไทยภาคกลางได้เรียกว่า “ปี่ไฉน”

            ดิฉันได้สืบค้นหาคํา “สรไน” ว่ามีการใช้ในแดนดินล้านนาตั้งแต่เมื่อไหร่ พบว่าปรากฏหลักฐานเก่าสุดด้านลายลักษณ์ในศิลาจารึกอักษรไทล้านนา (อักษรสุโขทัย) ที่วัดพระยืน ต.เวียงยอง อ.เมืองลําพูน จารึกเมื่อปี พ.ศ. 1912 มีข้อความเกี่ยวเนื่องกับตอนที่พระญากือนาได้เตรียมการต้อนรับขบวนเสด็จของพระมหาสุมนเถระจากสุโขทัยสู่เมืองลําพูนด้วยการประโคมเครื่องดนตรีนานาชนิด ว่า 

          “ท่านพญาธรรมิกราชบริพารด้วยฝูงราชโยธามหาชนพลลูกเจ้าลูกขุนมนตรีทั้งหลาย ย้ายกันให้ถือกระทงข้าวตอกดอกไม้ ไต้เทียน ตีพาทย์ดังพิณ ฆ้อง กลอง ปี่สรไน พิสเนญชัย ทะ-เทียด กาหล แตรสังข์มาน กังสะดานมะระทงดงเดือด เสียงเลิศเสียงก้อง อีกทั้งคนร้องโห่อื้อดาสะท้านทั่วทั้งนครหริภุญไชย”

            จากศิลาจารึกนี้สะท้อนว่าอย่างน้อยที่สุดชาวลําพูนเมื่อยุค 650 ปีก่อนรู้จักกับคําว่า “สรไน” นี้แล้วเป็นอย่างดี

            นอกจากนี้แล้วยังมีองค์ประกอบสถาปัตยกรรมอีกประเภทหนึ่งมีชื่อว่า “ปล้อง ไฉน” ใช้ตกแต่งยอดสถูปเจดีย์เหนือองค์บัลลังก์และก้านฉัตรขึ้นไป ทําเป็นรูปวงแหวนซ้อนกันเป็นปล้องๆ หลายชั้น โดยมากจํานวน 32 ปล้อง ก่อนจะถึงยอดปลีน้ำค้างปิดท้ายด้วยเม็ดกลม การที่องค์ประกอบสถาปัตยกรรมส่วนนี้มีชื่อว่า “ปล้องไฉน” เป็นการเน้นย้ำให้เห็นรากของชื่อมาจากคําว่า “ปี่ไฉน” อย่างชัดเจน 

            อาจเป็นไปได้ว่า ช่างพื้นบ้านชาวล้านนาได้นําคําว่าปี่ “สรไน” อันเป็นความหมายเดียวกันกับคําว่าปล้อง “ไฉน” ไปใช้เรียกองค์ประกอบสถาปัตยกรรมในส่วนของ “ปั้นลม” (ป้านลม) หรือ “ช่อฟ้า” ด้วยรูปทรงของ “ปี่สรไน” หรือปี่ไฉนนั้นเป็นแท่งยาว ทรงสูงสง่า ตั้งอยู่ตอนบนสุดของอาคารเช่นเดียวกับปล้องไฉนที่ตั้งอยู่บนสุดของเจดีย์ ปั้นลมดังกล่าวมีความสูงราว 2-3 ฟุต ใกล้เคียงกับความยาวของปี่ไฉน ทั้งยังเป็นรูปแท่งไม้กลมกลึงฉลุลายคล้ายเสาสูง ส่วนปลายยอดจําหลักเป็นเม็ดน้ำค้างคล้ายปากปี่ 

            อย่างไรก็ตาม ไม่ว่า “สรไน” จะมีที่มาของชื่อจาก “เจียระไน” หรือ “ปี่ไฉน” ก็สุดแท้แต่ ในที่สุดชาวล้านนาโดยเฉพาะชาวยองในลําพูนได้นํามาใช้เป็นชื่อเรียกบ้านเรือนที่มีการประดับบริเวณยอดแหลมที่ปลายหน้าจั่วหลังคาบ้านในช่วงยุคมณฑลเทศาภิบาลว่า “เรือนสรไน”อย่างแพร่หลาย 

            มีข้อสังเกตว่า ปั้นลมรูป “สรไน” นี้มิได้มีใช้เพียงแค่บ้านพื้นถิ่นในภาคเหนือแห่งเดียวเท่านั้น หากยังปรากฏอยู่ทั่วไปในวัฒนธรรมอุษาคเนย์ ไม่ต่างไปจาก “กาแล” โดยเฉพาะที่อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และที่ภาคใต้แถบชายแดนที่ประชากรนับถือศาสนาอิสลาม โดยชาวมุสลิมกลุ่มนี้มิได้เรียกปั้นลมที่มีแท่งเสาประดับตอนกลางว่า “สรไน” เหมือนดั่งชาวล้านนา หากเรียกว่า “เรือนจั่วมนิลา” หรือเรียกในภาษามลายูว่า “บลานอ” 

            อันคําว่า “มนิลา” นี้เป็นชื่อเมืองหลวงของประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งตกเป็นเมืองขึ้นของราชอาณาจักรสเปนมาตั้งแต่เมื่อ 260 ปีที่ผ่านมาก่อนจะตกเป็นอาณานิคมของสหรัฐอเมริกาเมื่อ 130 ปีที่แล้ว ประเทศสเปนได้นําลักษณะ “หน้าจั่ว” ที่เป็นเสาแท่งตรง มีเม็ดกลึงบนยอดมาสถาปนาในดินแดนแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แทนที่เรือนประดับด้วยหน้าจั่วที่ใช้ไม้กากบาทไขว้สองอันแบบเขาควาย หรือภาษาตากาล็อกพื้นถิ่น เรียกว่า “คาราบาว” จากนั้นลักษณะของแท่งหน้าจั่วตรงสูงนี้ได้แพร่กระจายไปในประเทศอาณานิคมอื่นๆ ในกลุ่มมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิก ทําให้ประเทศเหล่านั้น เรียกเรือนที่มีหน้าจั่วแท่งเสาติดสองด้านว่า “เรือนมนิลา” หรือ “จั่วมนิลา” เหตุเพราะเรียกตามแหล่งกําเนิดในประเทศฟิลิปปินส์

            โดยปกติแล้วคําว่า “เรือนมนิลา” ในความเข้าใจของคนไทยนั้น มิได้ระบุเจาะจงว่า ต้องหมายถึงบ้านที่มีหลังคาประดับด้วย “สรไน” หรือแท่งเสากลึงตรงปั้นลมเท่านั้น หากยังหมายถึงบ้านที่สร้างหลังคาเป็นทรงหน้าจั่วแบบเปิด 2 ด้าน คือเปิดเฉพาะด้านหน้าและด้านหลัง ต่างจากบ้านที่สร้างด้วยหลังคาคลุมปิดหมดทั้งสี่ด้าน หรือที่คนไทยเรียกว่า “เรือนปั้นหยา”
            เป็นที่ทราบกันดีว่าประเทศในแถบอินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ บรูไน และตอนใต้ของประเทศไทยนั้น ประชากรเกินกว่า 90 % เป็นชาวมุสลิม จึงเรียกเรือนมนิลาที่มี “สรไน” ดังกล่าวด้วยภาษาชวา-มลายูที่พวกตนถนัดว่า “บลานอ” หมายถึงการทําจั่วยอดแหลมสูงประดับที่ปั้นลมและมุมหลังคา ส่วนการทําหลังคาตัดแบบเรือนปั้นหยาโดยไม่มีจั่วยอดแหลมประดับตามมุมนั้น ภาษามลายูเรียกว่า “แมและ” 

            อนึ่ง การประดับเสาแท่งสูงที่ปั้นลมบนหน้าจั่วหลังคาของทางภาคอีสานและเรือนพื้นถิ่นในประเทศลาวที่ได้รับอิทธิพลจากอาณานิคมฝรั่งเศสก็พบจํานวนไม่น้อยเช่นเดียวกัน ชาวอีสานไม่มีชื่อเรียกเฉพาะของเรือนที่ประดับหน้าจั่วดังกล่าว เรียกโดยรวมว่า จั่วเฉยๆ และการประดับตกแต่งแท่งเสาให้มีความงามนั้นก็ไม่มีลวดลายอะไรมากนัก เป็นเพียงแท่งไม้กลึงธรรมดา

            กล่าวโดยสรุปก็คือทางภาคใต้ซึ่งอยู่ใกล้กับประเทศแถบชวามลายู เจ้าของภาษาคําว่า “ปี่สรไน” นั้น กลับไม่มีการเรียกบ้านลักษณะเดียวกันนี้ว่า “เรือนสรไน” แบบทางภาคเหนือแต่อย่างใด ชวนให้น่าขบคิดอยู่ไม่น้อยว่าเพราะเหตุไรชาวล้านนาจึงนําคําว่า “สรไน” หรือ “ปี่ไฉน” มาใช้เรียกว่า “เรือนสรไน” อยู่ภาคเดียว 

            สิ่งที่พิเศษของเรือนมนิลาหรือจั่วบลานอทางภาคใต้ และเรือนสรไนบางแห่งในภาคเหนือ คือแท่งสรไนมักมีการตกแต่งปีกด้านข้างทั้งสองด้วยลวดลายพรรณพฤกษา หรือลายกนกคล้ายปีกนกทรงสามเหลี่ยมอย่างสวยงามเพื่อแสดงถึงฐานะของคหบดี อันลวดลายที่ตกแต่งฉลุฉลักอย่างวิจิตรนี้ นักวิชาการด้านสถาปัตยกรรมเรียกว่า ลวดลายแบบ “ขนมปังขิง” หรือ Ginger-bread อันมีรากเหง้ามาจากชาวตะวันตก 

            บ้านโบราณของชาวลื้อ ชาวขึน ชาวยองในอดีตราว 100-150 ปีที่ผ่านมา แถวเมืองเชียงรุ่ง เชียงตุง ฯลฯ ซึ่งตั้งอยู่ในเขตพม่าตอนบน จีนตอนใต้ หรือในลาวแถบตะวันตกเฉียงเหนือ ต่างก็ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของชาวตะวันตกทั้งอังกฤษและฝรั่งเศส ชาวตะวันตกรู้จักการใช้ปั้นลมแท่งเสาสูงปลายแหลมมาประดับหน้าจั่วเป็นอย่างดีมาก่อนแล้วในยุโรป ชาวอังกฤษเรียกบ้านไม้ประดับหน้าจั่วเหล่านั้นว่า “กระท่อมไม้ซุง” แปลตรงตัวว่า English Cottage บ้านลักษณะเช่นนี้ชาวอังกฤษถือว่าใช้ปลูกสร้างตามชนบทป่าเขาไม่นิยมนํามาสร้างในตัวเมืองหลวง กระท่อมไม้ซุงมีการตกแต่งลวดลายหน้าจั่วด้วยไม้แกะสลักอย่างงดงาม อันเป็นวัฒนธรรมที่พ้องจองกันในหลายๆ ประเทศบนเทือกเขาแอลป์ รวมทั้งประเทศฝรั่งเศส ชาวยุโรปที่นอกเหนือไปจากชาวอังกฤษไม่นิยมเรียก English Cottage แต่เรียกว่า Chalet Suisse (ชาเลต์สวิส) แทนเนื่องจากเชื่อว่าเป็นวัฒนธรรมที่มีต้นกําเนิดมาจากหุบเขาสูงในประเทศสวิตเซอร์แลนด์

            เมื่อชาวตะวันตกได้พม่า ลาว จีนตอนใต้ อินเดีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย มาเป็นอาณานิคม จึงได้ทำ “แท่งเสายาว” ตรงหน้าจั่วมาสถาปนาในดินแดนอุษาคเนย์ทั้งหมดแทนที่วัฒนธรรมดั้งเดิมที่เคยตกแต่งด้วย “กาแล” ของหลายๆ ประเทศ โดยเสาจั่วเหล่านี้ มีทั้งแบบปี่สรไน และมีทั้งแบบตกแต่งปีกด้วยลายขนมปังขิง

            จั่วสรไนแต่งปีกด้วยขนมปังขิงนี้ ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในกลุ่มประเทศที่นับถือศาสนาอิสลาม เหตุเพราะศาสนาอิสลามไม่นิยมทํารูปเคารพบุคคล แต่ให้ความสําคัญกับลวดลายแบบกึ่งนามธรรมประเภทลายพรรณพฤกษาและลายเรขาคณิตมากกว่า

            แว่นแคว้นในล้านนาแม้มิได้เป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ-ฝรั่งเศสโดยตรง แต่เมื่อมีการอพยพประชากรไปมาหาสู่กันกับพี่น้องในเขตสิบสองปันนา ล้านช้าง รัฐฉานในพม่า อย่างต่อเนื่องในช่วง 100-150 ปีที่ผ่านมา ย่อมทําให้บ้านเรือนในล้านนาเกิดการเปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์ของหลังคาตามไปด้วย

            มีข้อน่าสังเกตว่าลักษณะการแบ่งพื้นที่ใช้สอยหรือการดํารงวิถีชีวิตโดยรวมของผู้อาศัยภายในเรือนสรไนนั้น ยังคงรักษารูปแบบดั้งเดิม ละม้ายคล้ายคลึงกับเรือนกาแลพื้นถิ่น กล่าวคือเรือนแบบสรไนยังคงมีฮ้านน้ำ (ที่วางหม้อน้ำดื่มหน้าบ้าน) ต๊อมน้ำ (ห้องน้ำ) หลองเข้า (ยุ้งข้าว) เสาแหล่งหมา (เสาผูกสุนัข) ขึ้นมาบนเรือนยังคงมีเติ๋น (ส่วนรับแขกที่ยกพื้นเล็กน้อย) ฮางริน (รางน้ำระหว่างชายหลังคา) การต่อเติมเรือนแฝด ครัวไฟ (ห้องครัว) เป็นต้น ดุจเดียวกับเรือนกาแลทุกประการ

            สิ่งที่แปรเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัดจากเรือนกาแลมาสู่เรือนสรไน ก็คือในส่วนของหลังคา ซึ่งถือเป็นหน้าตาหรือจุดเด่นที่สุดของบ้าน หลังคาใช้โครงสร้างไม้แทนที่การมุงด้วยใบจากหรือใบตองตึงแบบเรือนกาแล เปลี่ยนวัสดุใหม่เป็นการมุงด้วยกระเบื้องว่าวรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน หรือกระเบื้องเกล็ดเต่า บางหลังใช้แป้นเกล็ดหรือแผ่นไม้ตัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า จากนั้นได้เพิ่มการประดับ “สรไน” นอกเหนือไปจากแค่จุดเดียวที่ปั้นลม ยังขยายไปสู่บริเวณมุมทั้งสองข้างของจั่วสามเหลี่ยมอีกด้วย

            ยุคที่มีการปฏิรูปการปกครองแผ่นดินตั้งแต่ปี พ.ศ. 2427 เป็นต้นมา ช่วงนั้นล้านนาเปลี่ยนสถานะจากประเทศราชของสยามมาเป็นการปกครองในลักษณะมณฑลเทศาภิบาล ช่วงนี้สยาม (รัฐบาลกลาง) ได้ส่งข้าหลวงใหญ่มาประจําที่มณฑลพายัพเป็นจํานวนมาก ทั้งประจําอยู่ในใจกลางเมือง และถูกส่งไปรั้งตามแขวงต่างๆ ทําให้การสร้างบ้านเรือนแบบสรไนขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของความนิยมในการสร้าง “เรือนสรไน” ขึ้นแทนที่ “เรือนกาแล” ที่เคยมีมาก่อนในพื้นถิ่นล้านนา จึงอาจกล่าวได้ว่า เรือนสรไนคือเรือนที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในยุคที่ลําพูนปกครองแบบระบบมณฑลเทศาภิบาล

 

 

8

ข่าวอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ส่งมอบไปอีก 1 คันแล้ว สำหรับรถยนต์ Hyundai STARGAZER X6 สีบรอนทอง สุดสวย ที่ผ่านมา

ส่งมอบรถใหม่ให้กับลูกค้า ที่ปรึกษาการขาย เอชดีเจ มอเตอร์ ฮุนไดเชียงใหม่ เซลส์แนน ร่วมแสดงความยินดีพร้อมส่งมอบรถใหม่ให้แก่คุณวิระดา ชวลิต Hyundai STARGAZER X6 สีบรอนทอง ออกไปจากโชว์รูม เอชดีเจมอเตอร์ ท...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 11 ม.ค. 2568, 14:08
  • |
  • 59

ส่งมอบรถใหม่ Hyundai CRETA ALPHA สีดำ เป็นรถยนต์น่าใช้สำหรับครอบครัว

 เอชดีเจมอเตอร์ ฮุนไดเชียงใหม่ โดยที่ปรึกษาการขายเซลส์แนน ร่วมแสดงความยินดีพร้อมส่งมอบรถใหม่ให้กับคุคุณ KYUNG HEE LEE เป๋ฯรถยนต์ Hyundai CRETA ALPHA สีดำ ขอขอบคุณที่ให้เกียรติมาเป็นครอบครัวฮุนได...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 8 ม.ค. 2568, 12:35
  • |
  • 81

ส่งมอบรถใหม่ Hyundai STARGAZER Smart 6 With Black Roof สีแดง เป็นรถยนต์น่าใช้สำหรับครอบคร...

เอชดีเจมอเตอร์ ฮุนไดเชียงใหม่ โดยที่ปรึกษาการขายเซลส์แนน ร่วมแสดงความยินดีพร้อมส่งมอบรถใหม่ให้กับคุณเอนก ชิตเกษร Hyundai STARGAZER Smart 6 With Black Roof สีแดง ขอขอบคุณที่ให้เกียรติมาเป็นครอบครัวฮุนไ...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 3 ม.ค. 2568, 10:17
  • |
  • 162

เหลืออีกสองวัน Lanna Auto Sale 18-25 ธันวา 67 ที่เซ็นทรัลเ แอร์พอร์ต รถไฟฟ้าน่าใช้ราคาน่าต...

กระแสรถยนต์ไฟฟ้าในบ้านเราเริ่มได้รับความสนใจจากผู้ใช้คนเมืองมากขึ้นทุกวัน ตามท้องถนนในเชียงใหม่ทุกวันนี้รถที่ขับไปขับมาสังเกตุดูได้เลยต้องมีรถยนต์ไฟฟ้าชับสวนมาหรือขับตามเรามาหลากหลายรุ่น นั่นแสดงถึงรถ...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 24 ธ.ค. 2567, 13:13
  • |
  • 184

อีซูซุ ศาลา เชียงใหม่ จัด ISUZU 2.2 Ddi MAXFORCE พลังแรง ท้าลอง ในศูนย์ประชุมนานาชาติเชียง...

ใกล้สิ้นปีหลายค่ายรถยนต์จัดงานอีเว้นท์กันตลอดทั้งเดือน โดยเฉพาะค่ายอีซูซุที่มีรถยนต์ออกใหม่ทั้งเครื่องยนต์ใหม่ แรงขึ้น เร็วขึ้น วันนี้เราพาท่านไปเที่ยวชมงานนี้กันซึ่งจัดขึ้นภายในศูนย์ประชุมนานาชาติเชี...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 22 ธ.ค. 2567, 16:33
  • |
  • 206

ส่งมอบรถหรูไปอีกหนึ่งคัน ฟอร์ด 2.0L Turbo Sport 4x2 6AT-DAT64(22B )

ส่งมอบรถหรูน่าใช้ให้กับลูกค้า  ฟอร์ด วีกรุ๊ปคาร์เชียงใหม่โดยที่ปรึกษาการขาย ศรสวรรค์  ร่วมแสดงความยินดีพร้อมส่งมอบรถยนต์ให้กับคุณ ชนากานต์ แซ่หล่อ รุ่นรถ 2.0L Turbo Sport 4x2 6AT-DAT64(22B)ข...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 21 ธ.ค. 2567, 11:43
  • |
  • 176
Sytiq Company

ออกแบบพัฒนาโปรแกรมและแอพลิเคชั่น

โดยบริษัทไซทิค ติดต่อ:0819507128

Sytiq Company

ออกแบบและติดตั้ง Home Automation

โดยบริษัทไซทิค ติดต่อ:0819507128