อุตสาหกรรมถุงมือยางรายเล็กและโรงงานบรรจุภัณฑ์ไทยได้รับผลกระทบหนัก เหตุนักธุรกิจต่างชาติไร้เชื่อมั่นเมินสั่งซื้อผลิตภัณฑ์จากประเทศไทย หลัง CNN กระจายข่ายทั่วโลกนักลงทุนชาวฮ่องกง ถูกขบวนการนายหน้าไทยฉ้อโกงหลอกโอนเงินมัดจำ เสียหายกว่า 100 ล้านบาท แต่ส่งสินค้าถุงมือยางไม่ครบ รวมถึงไม่ได้มาตรฐานลั่นพร้อมย้ายฐานหนีลงทุนประเทศเพื่อนบ้านแทนหากกฏหมายไทยไม่ศักดิ์สิทธิ์
โรงงานอุตสาหกรรมผลิตถุงมือยางและโรงงานบรรจุภัณฑ์ขนาดเล็กของไทย จำนวน 25 โรงงานได้รับผลกระทบอย่างหนักจากปัญหา นายหน้าฉ้อโกงและหลอกลวงนักลงทุนต่างชาติ ให้โอนเงินมัดจำค่าถุงมือยาง แต่กลับได้สินค้าไม่ครบและไม่ได้มาตรฐาน จนทำให้ต่างชาติขาดความเชื่อมั่น มาตรฐานถุงมือยางไทย ชะลอการนำเข้า สมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย หรือ สยท. และเครือข่าย ได้ร่วมแถลงหาทางออกเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับวงการ อุตสาหกรรมยางของไทย
นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย และผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) กล่าวว่า ขณะนี้ปัญหานายหน้าหลอกขายถุงมือยางที่ไม่ได้มาตรฐานของไทยโดงดังไปทั่วโลก โดยการรายงานข่าวของ CNNเมื่อวันที่ 24 ต.ค. 64ว่าวงการถุงมือยางไทยไม่ได้มาตรฐาน และนักลงทุนถูกหลอก ส่งผลให้กระทบต่อความเชื่อมั่น โรงงานผลิตถุงมือยางขนาดเล็กที่คำสั่งซื้อชะลอตัว บางรายต้องถูกระงับการส่งออกเพราะต่างประเทศขาดความเชื่อมั่น
โดยในเรื่องนี้ ได้นำเสนอปัญหาต่อคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) มี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเรียบร้อยแล้ว และที่ประชุมได้มอบหมายให้ร่วมกันแก้ปัญหาและหาทางออกเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อความเชื่อมั่นของอุตสาหกรรมยางพาราและการลงทุนในประเทศไทย
นายอุทัยกล่าวอีกว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นหลายคนอาจจะมองว่าเป็นเรื่องของนักธุรกิจเฉพาะรายที่ถูกหลอกและฉ้อโกง แต่ความจริงแล้วผลกระทบเกิดขึ้นในวงกว้างเกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทย ทำให้ต่างประเทศขาดความเชื่อมั่น
“ ผมคิดว่าหากเหตุการณ์บานปลายต่างชาติไม่นำเข้าผลิตภัณฑ์ยาง ก็จะส่งผลกระทบไปถึงเกษตรกรชาวสวนยางได้ เพราะยางดิบถือเป็นต้นน้ำ ขณะที่โรงงานแปรรูปน้ำยางข้น เป็นกลางน้ำ และสุดท้ายคือ ส่งออกถุงมือยางเป็นปลายน้ำ ดังนั้นหากปลายน้ำเสียหายไม่ได้รับความเชื่อถือ ก็จะส่งผลกระทบมาถึงต้นน้ำในที่สุด”
นายอุทัยยังกล่าวอีกว่า เหตการณ์ที่เกิดขึ้นของขบวนการฉ้อโกงทำให้ความเชื่อมั่นของไทยลดลงจนอาจจะกระทบต่อการเป็นศูนย์อุตสาหกรรมยางไทยในระดับโลกและไม่สามารถขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ตามที่วางที่ไว้
ทั้งนี้นักธุรกิจที่ได้รับความเสียหายจากขบวนการนายหน้าหลอกขายถุงมือยาง ขณะนี้พบว่า มีหลายบริษัท แต่บริษัท เอช แอนด์เอช เมดิคอล ซับพลาย จำกัด ซึ่งเป็นของนักธุรกิจชางฮองกงได้รับความเสียหายมากกว่า100 ล้านบาทและได้แจ้งความดำเนินคดีกับขบวนการนายหน้าที่หลอกขายถุงมือยาง โดยขณะนี้รออัยการสั่งฟ้อง
เปิดขบวนการ”นายหลอก”ต่างชาติลงทุน
ขณะที่ นาย วิทยา ผุดผาด ทนายความ บริษัท เอช แอนด์เอช เมดิคอล ซับพลาย จำกัด ได้กล่าวถึงความคืบหน้าของคดีว่า บริษัท เอชแอนด์เอชฯ ได้แจ้งดำเนินคดีกับกลุ่มนายหน้าและ บริษัทผู้ถูกกล่าวหาแล้วทั้งสองคดี โดยแจ้งความคดีในข้อหาร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และความผิดเกี่ยวกับระบบคอมพิวเตอร์ เนื่องจากมีการนำความอันเป็นเท็จเข้าสู่คอมพิวเตอร์
คดีที่ 1 มีพฤติการณ์การร่วมกันฉ้อโกง กล่าวคือ กลุ่มนายหน้าและบริษัท ผู้ถูกกล่าวหาโชว์สินค้า และโรงงานโฆษณาผ่านสื่อออนไลน์ทางคอมพิวเตอร์ว่า มีถุงมือยางไนไตรพร้อมส่งออกส่งออกได้ภายใน 7 - 14 วัน บริษัทเอช แอนด์เอชฯ หลงเชื่อจึงได้ทำสัญญาสั่งซื้อจำนวน 1 ล้านกล่อง เป็นเงิน 205,000,000 บาท และได้โอนมัดจำ 30% เป็นเงิน 61 ล้านกว่าบาท บริษัท ผู้ถูกกล่าวหาตกลงจะส่งสิ้นค้าให้ภายใน 7 - 14 วัน
หลังจากตรวจสอบคุณภาพสินค้าผ่าน (SGS) แต่เมื่อถึงกำหนดตรวจสอบคุณภาพสินค้า ปรากฎว่าบริษัทผู้ถูกกล่าวหามีสินค้าให้ตรวจสอบเพียง 1,410 หล่อง และเป็นสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานไม่ผ่านการทดสอบ เมื่อบริษัทผู้เสียหายติดตาม ก็ได้มีการส่งสินค้าให้เพียงบางส่วนจำนวนประมาณ 40,000 กล่อง ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ และมีนาคม 2564 ซึ่งตรวจสอบหลักฐานเอกสารการส่งออกพบว่าไม่ตรงกับบริษัทส่งออกแต่เป็นหลักฐานเอกสารการส่งออกของประเทศเวียดนาม ทำให้บริษัทผู้เสียหายไม่อาจส่งสินค้าเพื่อขายให้กับลูกค้าต่อได้ ขณะนี้สินค้ายังคงค้างอยู่ในสต๊อกไม่สามารถนำออกไปขายได้
คดีที่ 2 มีพฤติการณ์การร่วมกันฉ้อโกง กล่าวคือ กลุ่มนายหน้าและบริษัท ผู้ถูกกล่าวหาโชว์สินค้า และโรงงานโฆษณาผ่านสื่อออนไลน์ทางคอมพิวเตอร์ว่า มีถุงมือยางไนไตรพร้อมส่งออกจำนวน 70,000 กล่อง ส่งออกได้ภายใน 7 - 14 วัน หลังจากทำคำสั่งซื้อและโอนเงินระหว่างประเทศชำระค่าสินค้า 100% บริษัทเอช แอนด์เอชฯ หลงเชื่อจึงได้ทำคำสั่งซื้อจำนวน 70,000 กล่อง และโอนเงินชำระค่าสินค้าจำนวน 7 ล้านกว่าบาท แต่เมื่อถึงกำหนดส่งสินค้าบริษัท ผู้ถูกกล่าวหากลับอ้างว่าสินค้ามีปัญหาในเรื่องการตรวจสอบคุณภาพสินค้า (SGS) ทำให้การส่งสินค้าล่าช้า หลังจากนั้นทางกลุ่มนายหน้าและบริษัทผู้ถูกกล่าวหาได้โชว์สินค้าและกล่าวอ้างว่ามีสินค้าอีกประมาณ 500,000 กล่อง ซึ่งเป็นของลูกค้าชาวเกาหลีหากบริษัทผู้เสียหายสนใจจะเอามาขายให้กับบริษัทผู้เสียหายก่อน แต่จะต้องโอนเงินมัดจำ 50% บริษัท ผู้ถูกกล่าวหาตกลงจะส่งสินค้าให้ภายใน 7 - 14 วัน บริษัทผู้เสียหายหลงเชื่อจึงได้สั่งซื้อไปอีก 538,000 กล่อง เป็นเงิน 110,000,000 บาท และได้โอนมัดจำ 50% เป็นเงิน 55 ล้านกว่าบาท เมื่อถึงกำหนดจัดส่งสินค้าปรากฎว่าบริษัทผู้ถูกกล่าวหาไม่มีสินค้าให้กับบริษัทผู้เสียหาย ผัดผ่อนบายเบี่ยงเรื่อยมา
“สรุปความเสียหายที่เกิดขึ้นกับบริษัท เอช แอนด์เอชฯ เสียหายกว่า 120 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างสรุปสำนวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ปอศ.) ว่าจะมีความเห็นสั่งฟ้องหรือไม่ คดีนี้ถือว่าสร้างความเสียหายต่อวงการอุตสาหกรรมยางเมืองไทยมาก”ทนายวิทยากล่าว
นักลงทุนต่างชาติจี้รัฐบาลไทยแก้ปัญหา
ด้านนางเฮเล็น เชิงยูลิง ประธานบริษัท บริษัท เอช แอนด์เอช เมดิคอล ซับพลาย จำกัด จาก ฮ่องกง เปิดเผยว่า รู้สึกขาดความเชื่อมั่นในการทำธุรกิจกับประเทศไทย เดิมตั้งแต่ใจจะเข้ามาลงทุนในพื้นที่อีอีซี เพราะว่าไทยเป็นดินแดนที่มีน้ำยางมีคุณภาพในการผลิตถุงมือยางที่มีคุณภาพ ดังนั้น เมื่อปี 2563บริษัทจากสหรัฐได้ติดต่อเพื่อให้สั่งซื้อถุงมือยางก็มองมาที่ประเทศไทยเป็นอันดับแรก
จนได้ทำสัญญาสั่งซื้อสินค้าจากบริษัทในไทยมูลค่า 80 ล้านบาท จำนวนสินค้า 2 ล้านกล่อง และได้ชำระค่ามัดจำสินค้าล่วงหน้าไป จำนวน 62 ล้านบาท แต่ปรากฏว่าเมื่อถึงกำหนดส่งมอบกลับได้สินค้าเพียง 4 หมื่นกล่อง และสินค้าไม่ได้มาตรฐาน นอกจากนั้นยังพบว่า สินค้าใช้ใบรับรองมาตรฐานปลอม ทำให้ถูกเก็บไว้กักไว้ที่สหรัฐ
“ ขณะที่ติดต่อสั่งซื้อได้ตรวจสอบทั้งสินค้าและโรงงานโดยบริษัทได้โชว์เอกสารหลักฐานทุกอย่างแต่เมื่อส่งสินค้าส่วนหนึ่ง นอกจากไม่ได้มาตรฐานแล้วยังไม่สามารถส่งสินค้าได้ตามข้อตกลงสัญญาที่ตกลงกันไว้
นางเฮเล็น กล่าวอีก เรื่องที่เกิดขึ้นทำให้นักลงทุนต่างชาติเกิดความกังวลเรื่องความเชื่อถือมั่นที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย และส่งผลต่อภาพ ลักษณ์ประเทศไทย เพราะจริงๆแล้วต่างชาติหลายรายสนใจจะเข้ามาลงทุนในไทย โดยเฉพาะบริษัทของตนที่มีเครือข่ายทั้งในยุโรปและสหรัฐ หากรัฐบาลไทยยังไม่สามารถใช้กฏหมายดำเนินการกับกลุ่มบริษัทเหล่านี้ได้อย่างจริงจังเพิ่อนักลงทุนต่างประเทศก็จะต้องหันไปลงทุนประเทศอื่นแทน
“ที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติหลายรายตั้งใจจะเข้ามาลงทุนประเทศเมียนมาร์ แต่เกิดความไม่สงบทางการเมือง จึงเปลี่ยนใจและหันเข้ามาลงทุนในไทยแทน รวมทั้งสิทธิประโยชน์ภาษีการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือ บีโอไอ อาทิ ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นเวลา 13 ปี และ สิทธิเช่าที่ดินได้นาน 99 ปี แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ ทางบริษัทได้แต่งตั้งบริษัทตัวแทนในไทยแจ้งความดำเนินคดีกับกลุ่มบริษัทเหล่านั้นแล้ว “
ด้านนายยงฉาง แช่เป้า ในฐานะตัวแทนบริษัท เอช แอนด์เอช เมดิคอล ซับพลาย จำกัด กล่าวว่า ที่ผ่านมา บริษัทของคุณเฮเลน สนใจจะเข้ามาลงทุนในไทย เพราะเคยเข้ามาท่องเที่ยวในไทยมากกว่า 15 ครั้ง และแม้จะเกิดเรื่องขึ้นก็ยังตั้งใจจะนำเงินเข้ามาลงทุนในหลายธุรกิจ อาทิ อุปกรณ์ทางการแพทย์ ที่นอน หมอนยางพารา เป็นต้น เพียงแต่อยากให้รัฐบาลตรวจสอบเรื่องการโฆษณาหลอกลวงของกลุ่มบริษัทดังกล่าวนี้ เพื่อการันตีว่าประเทศไทยมีกฏหมายเอาผิดกับกลุ่มบริษัทหลอกลวงหรือ บริษัทนายหน้าที่โฆษณาเกินจริง เพราะก่อนที่จะสั่งซื้อสินค้า บริษัทเหล่านั้นมีการโฆษณาโรงงานผลิตสินค้า เครื่องจักร ทั้งภาพนิ่งและวิดีโอพรีเซ็นต์ที่น่าเชื่อถือ
“ผมคิดว่าเมืองไทยเป็นเมืองพุทธศาสนา คงจะไม่มีทางหลอกหลวงกัน ไม่คิดว่าจะเกิดคดีแบบนี้กับบริษัท ซึ่งผมเองยังเชื่อมั่นว่า บุคคลที่เป็นนายหน้าเหล่านี้ เป็นเพียงส่วนเล็กๆเท่านั้น หากรัฐบาลไทยสามารถดำเนินคดีเอาผิดกับคนเหล่านี้ ก็จะสร้างความเชื่อมั่นกลับมาให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนได้ โดยขณะนี้ทั้งสหรัฐและยุโรป มีคำสั่งซื้อถุงมือยางธรรมชาติเข้ามาจำนวนมาก แต่ประไทยจะทำอย่างไรที่จะให้ความมั่นใจกับนักลงทุนเหล่านี้ว่าจะไม่เกิดปัญหาซ้ำรอย และเราจะเสียโอกาสนี้ไปถ้ารัฐบาลใม่เข้ามาช่วยเหลือ“ นายยงฉาง กล่าว
นางสาว พิยดา วุฒิ กรรมการผู้จัดการ บริษัทฮับ พาราโกลฟส์ โปรเจ็ค จำกัด ในฐานะตัวแทนเครือข่าย 25 บริษัทถุงมือยางประเภทบรรจุภัณฑ์ กล่าวว่า อยากให้คดีของนักลงทุนชาวฮองกงเป็นตัวอย่างที่ประเทศไทยออกมาแสดงความรับผิดชอบโดยการเข้ามาช่วยเหลือ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้วงการอุตสาหกรรมถึงมือยางประเทศไทยกลับมาอีกครั้ง เนื่องจากที่ผ่านมาหลังจากทีกรณีนี้เราได้รับผลกระทบโดยตรงถูกระงับการส่งออกเพราะต้องการตรวจสอบข่าวที่เผยแพร่ออกไปจากประเทศในหลายกรณี ซึ่งขณะนี้พวกเราได้มีความมั่นใจมากขึ้นเนื่องจากมีการตั้งคณะนักวิชาการเข้ามาเพื่อช่วยกรณีหลายหน่วยงาน ทั้งศุลกากร และหน่วยบงานรับรองมาตรฐานเพื่อปิดจุดอ่อนที่เป็นหาที่เกิดจากการคดีฉ้อโกงที่เกิดขึ้นกับชาวฮ่องกง
นาย ชัยโรจน์ ธรรมรัตน์ เลขาธิการสมาคมนักวิชาการยางและถุงมือยาง กล่าวว่า ปัญหาถุงมียางขาดความเชื่อถือ เนื่องจากขาดระบบการจัดการที่ดี ขาดการดูแล จากภาครัฐอย่างทั่วถึง ซึ่งมูลค่าอุตสาหกรรมถุงมือยางที่ส่งออกในขณะนี้มีมากถึง 94,000 ล้านบาท หากไม่ได้รับการดูแลจะสร้างความเสียหายมากขึ้นโดยความการช่วยเหลือ ของรัฐ มักจะมุ่งช่วยเหลือไปยังผู้ผลิตถุงมือที่มีโรงงานขนาดใหญ่ มีกำลังผลิตมาก โรงงานเหล่านี้มีผลกระทบน้อยไม่เดือดร้อน เพราะมีลูกค้าประจำคำสั่งซื้อระยะยาวอยู่ในมือแล้ว แต่โรงงานผลิตถุงมือยางธรรมชาติขนาดเล็ก ได้รับผลกระทบมาก ส่งออกไม่ได้
ทางสมาคมฯจึงได้พยายามเข้าไปประสานความช่วยเหลือ หาทางฟื้นฟูและสร้างความเชื่อถือให้เกิดขึ้นใหม่โดยทางสมาคมฯได้ ประสานงานโรงงานที่ได้รับผลกระทบ ช่วยให้มีการควบคุมสายการผลิตถุงมือยางธรรมชาติแบบได้มาตรฐาน ตามระเบียบโรงงานการผลิตถุงมือยางธรรมชาติ ของไทย ซึ่งจัดเป็นวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ จะต้องมีการ ตรวจสอบการผลิต ตามมาตรฐานวัสดุทางการแพทย์
ซึ่งทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มีห้องปฏิบัติการที่ให้บริการตรวจสอบตัวอย่างถุงมือยางที่ต้องการใบรับรองเพื่อการส่งออก และยังมีหน่วยงานบริการห้องปฏิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์บริการและสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรมจากกระทรวงอุตสาหกรรม เป็น ผู้ให้ความช่วยเหลือบริการการตรวจสอบสินค้าตัวอย่างและออกใบรับรองสินค้าที่ผ่านมาตรฐานการตรวจสอบ สามารถส่งออกสินค้าที่ได้มาตรฐาน ช่วยฟื้นฟูความความถือให้ดีขึ้น
นายสมบูรณ์พงษ์ พุกกะเวส ผู้เชี่ยวชาญด้านศุลกากร สมาคมนักวิชาการยางและถุงมือยาง กล่าวว่า คำตอบคือ ผู้ประกอบการต้องผลิตให้ได้ผลิตภัณฑ์ไม่ต่ำกว่า 35% ของราคาส่งออก FOB และได้สิทธิพิเศษทางภาษีอากร 0 % หรือ จีเอสพี ของสหรัฐอเมริกา รวมถึงยังได้รับยกเว้นภาษีสินค้าผลิตภัณฑ์ยางส่งออก จากเขตการค้าเสรี หรือFTA กับ 13 ประเทศดังนั้นใครรู้เรื่องแหล่งกำเนิดสินค้าดีกว่ากันก็จะได้เปรียบ เพราะคนรู้จะทำได้ดีกว่าคนไม่รู้