บทความนี้จะนำเสนอถึงวิวัฒนาการของอาวุธในสมัยโบราณที่ใช้ในดินแดน เน้น “ปืนใหญ่” กับกลุ่ม “ศาสตราวุธที่ใช้พุ่ง” มากกว่า “ศาสตราวุธที่ฟันหรือแทง” โดยภาพประกอบเกือบทั้งหมดเป็นโบราณวัตถุที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย
การใช้อาวุธมีมาแล้วตั้งแต่มนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ เป็นพัฒนาการมาจากเครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ดังที่ได้ปรากฏหลักฐานอยู่ทั้งบนภาพเขียนผนังถ้ำ และจากโบราณวัตถุ
หลักฐานจากภาพเขียนสีบนผนังถ้ำ มีการเขียนภาพคนถืออาวุธต่างๆ ประกอบด้วยคันกระสุนหรือธนู เล็งไปที่ตัวสัตว์ บางครั้งอาจมีสุนัขเป็นเพื่อนในการไล่ล่า เช่นที่ถ้ำประตูผา อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง และที่ถ้ำผาแดง อ.ลี้ จ.ลำพูน บางครั้งเขียนภาพคนกำลังล้อมวงไล่ต้อนจับสัตว์ด้วยมือเปล่า ไม่แสดงอาวุธ พร้อมกันนั้นยังพบภาพเครื่องมือเกษตรกรรมประเภทจอบ ผาล วี (สำหรับพัดข้าวลีบ) สะท้อนให้เห็นว่าชุมชนก่อนประวัติศาสตร์เป็นชุมชนเกษตรกรรม รู้จักเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์แล้ว มีเทคนิคในการทำเครื่องมือโลหะใช้ในชีวิตประจำวัน อันเป็นพัฒนาการทางสังคมของมนุษย์ราว 5,000 – 2,000 ปีที่ผ่านมา
ส่วนหลักฐานทางโบราณคดี ได้มีการพบเครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันมาตั้งแต่ยุคหิน ยุคเหล็ก และยุคสำริด อายุราว 100,000 - 7,000 ปีมาแล้ว ประกอบด้วย
ยุคหิน มีเครื่องมือขวานหินกะเทาะ ขวานกำปั้น และขวานหินขัด ทำจากหินไรโอไลท์ และเครื่องมือประเภทหินกรวดขนาดกลางและขนาดเล็ก จัดเป็นยุคของสังคมล่าสัตว์และเก็บของป่า ยังไม่รู้จักการเพาะปลูก
ยุคเหล็ก มีใบหอก มีด ขวาน หลาว ห่วง เคียว เป็นยุคที่ผู้คนรู้จักหาผลหมากรากไม้จากป่า และอาจเริ่มเพาะปลูกพืชหลายชนิด
ยุคสำริด มีขวานสำริด ใบหอกสำริด จากแหล่งโบราณคดีหลายแห่งมักพบร่องรอยของโครงกระดูกที่ถูกขวานสำริดฟันอย่างแรงจมอยู่คาศพ เป็นยุคที่มีพัฒนาการทางสังคมและเทคโนโลยีที่เจริญขึ้นในระดับหนึ่ง และยังมีการติดต่อกับชุมชนภายนอกที่ห่างไกลออกไป
อาวุธโบราณของอยุธยา (ร่วมสมัยกับล้านนา)
เมื่อเข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์ไทยยุคแรกๆ นั่นคือตั้งแต่สมัยทวารวดี ศรีวิชัย ลพบุรี เรื่อยมาจนถึงสุโขทัย สามารถศึกษาหลักฐานของอาวุธโบราณได้จากภาพสลักลายปูนปั้นดินเผา และจิตรกรรมฝาผนัง โดยมากเป็นอาวุธพื้นๆ ที่ใช้ในชีวิตประจำวันประเภทฟันแทง เช่น มีด ดาบ หอก ธนู คันศร หลาว แหลน หน้าไม้ เทคนิควิทยาในการทำอาวุธปืนไฟและกระสุนดินปืนนั้นยังไม่เป็นที่รู้จัก
สมัยอยุธยาสามารถหล่อปืนใหญ่ได้แล้วก่อนที่ชาวยุโรปจะเข้ามา เพราะมีหลักฐานว่าเมื่อโปรตุเกสยึดมะละกา สามารถยึดปืนใหญ่จากป้อมของมะละกาได้ถึง 300 กระบอก แต่ปืนใหญ่เหล่านี้ยิงไม่ได้ไกลและมีประสิทธิภาพน้อยกว่าปืนขนาดเดียวกันของยุโรป
ในรัชสมัยของพระราเมศวร (พ.ศ.1931-1938) ในคราวยกทัพไปล้อมนครเชียงใหม่ ตามพระราชพงศาวดารกล่าวว่า "ฝ่ายเจ้าหน้าที่ปืนใหญ่ออกมากำแพงพัง 5 วา" หมายความว่าเริ่มมีการใช้ปืนใหญ่แล้วในช่วงอยุธยาตอนต้น
ปืนใหญ่ของกองทัพบกไทยสมัยกรุงศรีอยุธยามีวิถีกระสุนคล้ายกับปืนใหญ่ทหารสมัยใหม่ มีหลายประเภทได้แก่ ปืนมะเหรียม เป็นปืนใหญ่ทหารราบ ท้ายปืนมีรูปมน ปากกระบอกเรียวและแคบ, ปืนจ่ารงค์ เป็นปืนใหญ่ทหารราบใช้ลาก, ปืนนนทก เป็นปืนใหญ่ทหารราบใช้ลาก, ปืนนกสับ เป็นปืนใหญ่ทหารราบมีขาหยั่ง 2 ขา คล้ายขานกยาง บางครั้งจึงเรียกว่าปืนขานกยาง, ปืนจินดา เป็นปืนใหญ่ทหารราบ ปัจจุบันเป็นปืนใช้ยิงพิธีตรุษจีน, ปืนหามแล่น เป็นปืนขนาดเบาใช้ในการรบบนภูเขา, ปืนตระแบงแก้ว เป็นปืนใหญ่ของกรมตำรวจ ใช้ยิงตะแบงไปข้างๆ
นับตั้งแต่ราวกลางพุทธศตวรรษ 21 เมื่ออยุธยาติดต่อกับชาวตะวันตก โดยเฉพาะโปรตุเกสอย่างเป็นทางการ การพัฒนาทางอาวุธและการฝึกปรือกองทหารก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปใช้เทคนิคที่มีความก้าวหน้าแบบตะวันตกมากขึ้น จุดเริ่มต้นการพัฒนาดังกล่าวเกิดขึ้นใน พ.ศ.2059 เมื่อทางราชสำนักอยุธยาได้เซ็นสัญญายอมยกเกาะมะละกาให้โปรตุเกสดูแล โดยมีเงื่อนไขว่าทางโปรตุเกสจะต้องจัดหาปืนและกระสุนดินดำให้อยุธยา
เมื่อการติดต่อกับยุโรปเป็นไปอย่างแพร่หลาย ได้มีหลักฐานว่าทางอยุธยาได้ขอความช่วยเหลือจากดัตช์ (ฮอลันดา) ในเรื่องช่างเพื่อเข้ามาทำงานให้ราชสำนัก ดังเช่นขอช่างหล่อปืนใหญ่ ช่างทำดินปืน พลแม่นปืน เป็นต้น นอกจากนี้อยุธยายังได้ขอผู้ชำนาญการด้านปืนใหญ่จากฝรั่งเศสอีกด้วย
จดหมายเหตุลาลูแบร์ ได้เล่าว่าอยุธยามีปืนใหญ่ไม่สู้มากนัก ผู้ที่ทำหน้าที่หล่อปืนใหญ่ให้สยามเป็นชาวโปรตุเกสที่เกิดในมาเก๊า ปืนใหญ่ที่มีประสิทธิภาพที่ใช้ในอยุธยาส่วนหนึ่งคงซื้อหาจากบริษัท VOC แต่ที่หล่อขึ้นใช้เองก็คงพอมีอยู่บ้าง ส่วนลูกกระสุนนั้นมีหลายชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้พบลูกกระสุนแบบดัมเบลใช้สำหรับยิงเสากระโดงเรือ
ปืนใหญ่หลังช้างเป็นอาวุธอีกประเภทหนึ่งที่มีมาแล้วตั้งแต่สมัยอยุธยา เป็นปืนใหญ่ขนาดเล็กที่ติดตั้งกับสัปคับช้างทำให้สะดวกต่อการเคลื่อนย้ายและสามารถเล็งวิถีกระสุนได้แม่นยำกว่า
จะเห็นได้ว่านับแต่ได้มีการติดต่อสัมพันธ์กับชาวตะวันตก ความรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับอาวุธและการฝึกทหารได้แพร่เข้ามาสู่ราชสำนักอยุธยา ทั้งหมดนี้ยังผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบางประการขึ้นกับกองทัพของอยุธยาอีกด้วย
ปืนใหญ่เมืองเหนือ
ปืนใหญ่เรียกว่า “สินาด” (มาจากคำว่า “สีหนาท”) อันที่จริงล้านนามีศึกสงครามอยู่บ่อยครั้งในช่วงระยะเวลาหลายร้อยปี น่าจะมีปืนใหญ่ไว้ป้องกันเมืองมากมาย แต่ปรากฏว่าปืนใหญ่เมืองเหนือหาดูค่อนข้างยากโดยเฉพาะปืนสมัยเก่า ทั้งนี้เนื่องจากล้านนาถูกยึดครองหลายครั้ง ผู้ที่มายึดครองก็มีความจำเป็นที่จะต้องมาขนปืนไป เพราะเป็นหนทางเดียวที่จะตัดกำลังไม่ให้มีการ แข็งข้อขึ้นในภายหลัง
ปืนใหญ่ในเมืองเหนือหลายแห่งเช่นในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย จังหวัดลำพูน หรือที่วางหน้าเสาธง ณ ที่ว่าการอำเภอเมืองเชียงใหม่ เป็นปืนใหญ่ที่มีลักษณะพิเศษผิดกับปืนใหญ่ที่พบทั่วๆ ไป ในประเทศไทย
ปืนใหญ่เหล่านี้มีรูปร่างและลวดลายฝีมือของชาวล้านนา แสดงถึงความเจริญทางวิชาการในวิชาช่างแสงของคนพื้นเมืองที่สามารถหล่อปืนได้เอง ชนิดที่มีขนาดใหญ่เป็นปืนที่ใช้ตั้งไว้บนกำแพงป้อมสำหรับทำลายข้าศึกแต่ไม่น่าจะมีอำนาจสามารถทำลายป้องปราการหรือกำแพงเมืองได้ ส่วนขนาดที่ไม่ใหญ่เกินไปนัก เหมาะสำหรับใช้ในสนามรบเพราะสะดวกต่อการเคลื่อนไหวเคลื่อนย้ายโดยเร็ว เอาไว้ยิงข้าศึกทำลายอาคารหรือยานพาหนะต่างๆ
ลักษณะเด่นของปืนใหญ่เหล่านี้คือการทำวงแหวนรัดลำกล้อง 4-5 ปล้อง เพื่อเสริมความแข็งแรง มีการทำเดือยยื่นออกมาเป็นปีกสำหรับวางบนแท่นเวลายิง ตรงจานส่วนท้ายของปืนทำเป็นชั้นๆ ลดหลั่นลงไป และส่วนปลายสุดทำเป็นที่สำหรับจับให้ปืนกระดกไปในทิศที่ต้องการ
นอกจากปืนใหญ่ขนาดยาวแล้วยังมีปืนใหญ่ขนาดสั้น บางครั้งเรียก “ปืนสั้นสมัยโบราณ” มีอายุเก่าถึงพุทธศตวรรษที่ 20 แต่เนื่องจากมีตัวอักษรภาษาจีนสลักเอาไว้จึงสันนิษฐานว่าน่าจะหล่อในเมืองจีนหรือช่างจีนแล้วมีการนำเข้ามาในดินแดนล้านนา
ปืนสั้นเหล่านี้มีขนาดกะทัดรัดเหมาะสำหรับการขนย้ายและเก็บรักษา แต่มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับปืนขนาดใหญ่ เพียงแต่ย่อส่วนให้เล็กลง ฉะนั้นเวลายิงต้องยิงแบบปืนใหญ่คือยิงให้ห่างตัวโดยใช้ไม้ต่อด้ามให้ยาวออกไป ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายจากแก๊สร้อนที่ระเบิดออกมา
การยิงปืนใหญ่นั้นใช้วิธีเทดินระเบิดกรอกลงไปในลำกล้องจนดินระเบิดไปรวมตัวอยู่ในรังเพลิงแล้วใช้หมอนอัด จึงใช้ลูกกระสุนใส่ลงไป ลูกกระสุนนี้อาจเป็นดินเผา ก้อนหิน เหล็ก หรือตะกั่วก็ได้ เวลายิงใช้ชุดที่กำลังติดไฟจี้ลงไปบนรูชนวน
ปืนอีกประเภทหนึ่งที่พบในเมืองเหนือคือ "ปืนข่อชาง" หรือ "ปืนขอช้าง" ใช้ในการปราบฮ่อในสมัยรัชกาลที่ 5 มีลักษณะเฉพาะคือ ที่ปลายกระบอกปืนมีขอเพื่อใช้บังคับช้างในการต่อสู้ระยะประชิดตัว บริเวณโครงปืนทำระบบจุดระเบิดแบบปืนคาบศิลา ซึ่งวิธีการสรรพยุทธบนหลังช้างนี้มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยแล้ว
เรื่องราวของปืนใหญ่ ปรากฏในตำนานว่า ตอนที่พระเจ้าติโลกราชมอบหมายให้พระราชชนนียกทัพไปตีเมืองแพร่ มีการยิงปืนใหญ่ (เอกสารเรียก “ปู่จ้าว” ) เข้าไปในกำแพงเมืองแพร่ที่มีสวนตาลจนต้นตาลล้มระเนนระนาด ทำให้เจ้าเมืองแพร่ชื่อ “ท้าวแม่นคุณ” ต้องยอมสวามิภักดิ์
นอกจากนี้ ในเมืองลำปางก็ยังมีหออะม็อก (ภาษาพม่า อะม็อก แปลว่าปืนใหญ่) ขนาดมหึมาเป็นหลักฐานสำคัญว่าครั้งหนึ่งหรือหลายครั้ง เคยมีการใช้หอนี้เป็นปราการต้านข้าศึกด้วยการรบกันโดยอะม็อก (ปืนใหญ่) อีกด้วย