ตามหา “เจดีย์อรหันตา” ของครูบาเจ้าศรีวิชัย ต่อยอดจากวัดพระธาตุสามดวง

ข่าวศิลปวัฒนธรรม , 3 ก.ค. 2565, 22:57

ตามหา “เจดีย์อรหันตา” ของครูบาเจ้าศรีวิชัย ต่อยอดจากวัดพระธาตุสามดวง

          เมื่อวันที่ 11 มิถุนายนที่ผ่านมานี้ เป็นวันครบรอบ 144 ปีชาตกาลของครูบาเจ้าศรีวิชัย ดิฉันและเครือข่าย “กลุ่มเมืองพานศึกษา” ได้ร่วมกันจัดกิจกรรม “ตามรอยวัดของครูบาเจ้าศรีวิชัยในเขตอำเภอพาน” จังหวัดเชียงราย ผ่านพ้นไปท่ามกลางความร่วมไม้ร่วมมือจากฝ่ายคณะสงฆ์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปราชญ์ชาวบ้าน และศรัทธาประชาชนในพื้นที่ของวัดทั้งสามแห่ง ได้แก่ วัดเจริญเมือง วัดพระธาตุจอมแว่ และวัดป่าสักเหนือ เป็นอย่างดี

          ควันหลงจากเวทีเสวนาที่วัดเจริญเมือง คือการที่ดิฉันได้ตั้งคำถามต่อชาวเมืองพานว่า ที่วัดพระธาตุสามดวงนั้น เจดีย์แต่ละดวงน่าจะหมายถึง อริยมรรค 3 ขั้น โดยเจดีย์องค์ล่างสุดควรหมายถึงสัญลักษณ์แห่งการบรรลุธรรมขั้นโสดาบัน เจดีย์องค์กลางควรหมายถึงสัญลักษณ์แห่งการบรรลุธรรมขั้นสกิทาคามี และเจดีย์องค์บนสุดนั้น ควรหมายถึงสัญลักษณ์แห่งการบรรลุธรรมขั้นอนาคามี เหตุที่แผ่นจารึกของเจดีย์องค์บนสุดมีการเขียนชื่อเจดีย์ว่า “อนาคา” 

          มีคำถามตามมาว่า เจดีย์ทั้งสามดวงที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยสร้างไว้บนม่อนขนาดย่อมๆ นี้ ยังไม่น่าจะเสร็จสมบูรณ์ใช่หรือไม่ กล่าวคือยังขาดองค์สุดท้ายอยู่อีกดวงหนึ่งที่ควรตั้งอยู่ชั้นบนสุด และควรหมายถึง “เจดีย์อรหันตา”?

ความเป็นมาของพระธาตุสามดวง

          พระธาตุสามดวง ตั้งยู่ที่บ้านศาลา (ศาลาเหมืองหิน) หมู่ที่ 14 และบ้านป่าหุ่ง ตำบลป่าหุ่ง อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย โดยการเรียกชื่อรวมว่า “วัดพระธาตุสามดวง” นี้เป็นการมาตั้งชื่อภายหลัง ชาวเมืองพานเคยเรียกอีกนามว่า “พระธาตุสามพี่น้อง” 

            ส่วนเอกสารของบัญชีถวายพระราชกุศลของครูบาเจ้าศรีวิชัยที่ทำถวายไปยัง พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เมื่อปี 2477 นั้น ระบุชื่อเฉพาะของพระธาตุทั้งสามดวงนี้โดยแยกเป็นองค์ๆ ว่า “รุกขมูล – ป่าซางเรือง – ทุตังคะวัด” (ธุดงควัตร) สอดคล้องกับหลักฐานที่ปรากฏทั้งในแผ่นจารึกปูนที่โคนฐานพระธาตุแต่ละดวง ซึ่งเราพบว่า พระธาตุองค์ที่ 1 แผ่นจารึกเขียนชื่อว่า “พระธาตุรุกขมูล” อยู่ในเขตพื้นที่บ้านป่าหุ่ง พระธาตุองค์ที่ 2 แผ่นจารึกระบุชื่อว่า “พระธาตุป่าซางเรือง” และพระธาตุองค์ที่ 3 ชื่อว่า “พระธาตุทุตังควัตร” หรือ “พระธาตุอนาคา” อยู่ในเขตพื้นที่บ้านศาลา พระธาตุองค์ที่ 1 ห่างจากพระธาตุองค์ที่ 2 ประมาณ 400 เมตร พระธาตุองค์ที่ 2 ห่างจากพระธาตุองค์ที่ 3 ที่อยู่สูงสุดประมาณ 200 เมตร แต่ละองค์ตั้งห่างกันจากม่อนดอยหรือเขาที่เตี้ยสุดไปสู่สูงสุด 

           มีตำนานบอกเล่ากล่าวถึงผู้สร้างเป็นพระภิกษุ 3 พี่น้อง พระภิกษุผู้เป็นพี่ใหญ่ได้สร้างพระธาตุดวงแรก พระภิกษุผู้เป็นพี่คนกลางได้สร้างพระธาตุดวงที่ 2 และพระภิกษุผู้น้องสุดท้องสร้างพระธาตุดวงที่ 3 พระธาตุทั้ง 3 องค์บรรจุพระธาตุของพระอรหันต์ 3 พี่น้องที่เคยมาบำเพ็ญบารมีประจำอยู่ทั้ง 3 แห่ง กลายเป็นพระธาตุ 3 ดวง 

          อนึ่ง มีตำนานมุขปาฐะว่าบริเวณพื้นที่นี้เคยเป็นที่ตั้งกองทัพของพระญามังราย กษัตริย์แคว้นโยนกองค์ที่ 25 ราชวงศ์ลวจังกราช และปฐมกษัตริย์ล้านนา ราชวงศ์มังราย โดยเป็นสมรภูมิรบ ซึ่งยังเหลือสมบัติล้ำค่าจำนวนมหาศาล ซุกซ่อนอยู่ มีผู้คนไปขุดแก้วแหวนเงินทอง ศัตราวุธยกใส่กระเป๋าหลายใบ ทำให้ชาวบ้านเรียกพื้นที่ป่ารายล้อมวัดพระธาตุสามดวงว่า ดงกระเป๋า

          พระธาตุสามดวงถือเป็นพระธาตุสำคัญ เป็นพระธาตุ “จอมเกศเกล้า” ของชาวตำบลป่าหุ่ง เชื่อว่าสร้างร่วมสมัยกับพระธาตุจอมแว่ เมืองพาน บริเวณนี้เคยพบเครื่องมือหิน เศียรพระพุทธรูปหินทราย เสาหินทรายขนาดใหญ่ ต่อมาพระธาตุทั้ง 3 องค์ได้ชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา ได้มีการบูรณะช่วง พ.ศ. 2474 - 2476 แล้วเสร็จใน พ.ศ. 2476 โดยครูบาเจ้าศรีวิชัยหรือชาวบ้านตำบลป่าหุ่งเรียกว่า “ครูบาศีลธรรม” รับบูรณะ มอบหมายให้ครูบากัญจนะ และครูบาไชยา ลูกศิษย์รูปสำคัญที่มีฝีมือทางการช่างเป็นสล่าควบคุมการก่อสร้าง ในการบูรณะครั้งนี้มีชาวบ้านหมู่บ้านต่างๆ ภายในตำบลป่าหุ่ง และที่ต่างๆ มาร่วมช่วยทั้งออกแรงกายและร่วมทำบุญด้วยทรัพย์สิ่งของค่าใช้จ่ายในการบูรณะครั้งนี้

          พระธาตุรุกขมูลองค์แรกชั้นล่างสุดใช้เงินจำนวน 340 รูเปีย พระธาตุป่าซางเรืององค์กลางใช้เงินจำนวน 475 รูเปีย 60 สตางค์ พระธาตุอนาคา หรือพระธาตุทุตังควัตร ใช้เงินจำนวน 457 รูเปีย 26 สตางค์

          ช่วงก่อนที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยจะมาบ้านป่าหุ่งนั้น ท่านได้เดินทางกลับจากวัดพระธาตุดอยตุง จังหวัดเชียงราย เพื่อเตรียมจะไปสร้างถนนขึ้นวัดพระธาตุดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ เผอิญผ่านมายังวัดร้างพระธาตุสามดวง ได้พักจำวัดที่ถ้ำผาโขง (บ้านปางเกาะทราย ตำบลป่าหุ่ง อำเภอพาน) 2 คืน ครูบาเจ้าศรีวิชัยจึงดำริมอบหมายให้ลูกศิษย์ผู้มีฝีมือทางช่างเป็นผู้นำทำการบูรณะพระธาตุ แล้วครูบาเจ้าศรีวิชัยก็เดินทางไปสร้างถนนขึ้นวัดพระธาตุดอยสุเทพ โดยมีสามเณรจันทร์ (พ่อน้อยจันทร์ สุขเจริญ) บ้านเหมืองหลวง เดินทางตามครูบาเจ้าศรีวิชัยไปด้วยเป็นเวลา 15 วันก็กลับมาวัด

          มีข้อน่าสังเกตว่า หลังจากที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยบูรณะพระธาตุสามดวงแล้ว ก็เดินทางไปสร้างทางขึ้นดอยสุเทพต่อทันที จึงไม่แน่ใจนักว่าแนวคิดเรื่องการใช้สัญลักษณ์ของวัด 4 แห่ง ซึ่งหมายถึง 4 ขั้นอริยมรรค ของทางขึ้นดอยสุเทพนั้น จะถูกนำมาใช้กับแนวทางการสร้างวัดพระธาตุสามดวงตามขั้นต่างๆ บนภูเขาด้วยหรือไม่

          เราทราบกันดีว่า แนวคิดของการสร้างทางขึ้นดอยสุเทพของครูบาเจ้าศรีวิชัยนั้น มีการตั้งชื่อของวัดตามรายทางจำนวน 4 แห่ง ด้วยระยะทาง 12 กิโลเมตรเศษ จากต้นทางคือน้ำตกห้วยแก้วไปถึงเชิงพระธาตุดอยสุเทพ โดยวัดโสดาบันอยู่ล่างสุด ใช้เป็นศูนย์อำนวยการสร้างทางขึ้นดอยสุเทพ วัดนี้มีความหมายว่า ผู้มีกระแสจิตเบื้องต้นแห่งการเข้าสู่นิพพาน

            วัดที่แทนสัญลักษณ์ของอริยมรรคขั้นแรกสุด เดิมชื่อ “วัดโสดาบัน” ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดศรีโสดา” การเปลี่ยนชื่อวัดน่าจะอยู่ระหว่างช่วง พ.ศ. 2479 - 2509 ในยุคที่ครูบาเสาร์ นารโท เป็นเจ้าอาวาส สาเหตุที่เติม “ศรี” เข้าใจว่ามาจากชื่อของครูบาเจ้าศรีวิชัย เพื่อเป็นอนุสรณ์ยกย่องเชิดชู น้อมรำลึกคุณูปการที่ท่านสร้างวัดนี้ขึ้นมา 

          มูลเหตุที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยได้สร้างวัดนี้ขึ้นมา ก็เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของสถานที่รองรับคณะศรัทธาที่มาร่วมก่อสร้างทางขึ้นพระธาตุดอยสุเทพ บริเวณนี้ในอดีตถือว่าเป็นสถานที่เก็บอุปกรณ์ก่อสร้างทุกอย่าง ไม่ว่าจอบ เสียม มีด เก็บเสบียงอาหารแห้ง อาหารสด เป็นโรงครัว โรงทาน จุดติดต่อประสานงาน ศูนย์บัญชาการ การที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยจำพรรษา ณ สถานที่แห่งนี้น่าจะเป็นกุโลบายให้ญาติโยมที่มาช่วยสร้างทางเกิดพลังใจอันมหาศาล 

          ผ่านวัดศรีโสดาเชิงดอยสุเทพประมาณ 4.5 กิโลเมตร พบวัดจุดที่สองชื่อ "วัดผาลาด (สกทาคามี)" คำว่า “สกิทาคามี” หรือ “สกทาคามี” นั้นเป็นชื่อที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยตั้งขึ้น ส่วนชื่อวัดผาลาดเป็นชื่อดั้งเดิมมีมาก่อนแล้ว โดยเชื่อมโยงกับตำนานพระเจ้าเลียบโลก ส่วนผู้คนในพื้นที่เล่าว่า เดิมเรียกวัดนี้ว่า “ผะเลิด” แปลว่า “ลื่นล้ม” เนื่องจากคนและช้างที่เดินตามธารน้ำตกนั้นพากันลื่นล้ม จึงชื่อวัดผะเลิด ต่อมาเพี้ยนเสียงเป็นวัดผาลาด 

           บริเวณวัดผาลาดสกทาคามีนั้น เดิมใช้เป็นสถานที่หยุดพักระหว่างการเดินทาง เพราะมีน้ำตกไหลรินตลอดทั้งปี จึงมีการสร้างบ่อน้ำซับไว้ใกล้ๆ ธารน้ำตก เพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภค และมีศาลาสำหรับพักแรม ต่อมามีการสร้างเจดีย์และวิหาร รวมถึงพระพุทธรูปขึ้น เพื่อใช้เป็นที่สักการบูชาสำหรับผู้แสวงบุญ                

          ครูบาเจ้าศรีวิชัยเป็นประธานในการบูรณะวัดผาลาดและตั้งชื่อให้ใหม่เป็นสัญลักษณ์แห่งเส้นทางของอริยบุคคลขั้นที่ 2 คือ พระสกิทาคามี โดยมอบหมายให้ครูบาเถิ้ม โสภโณ (พระครูโสภาณุมหาเถระ) วัดแสนฝาง และรักษาการเจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยสุเทพในสมัยนั้น ร่วมกับครูบาสิทธิ วัดท่าสะต๋อย (ตามจารึกที่เสาวิหาร) เป็นผู้อำนวยการบูรณะ ศรัทธาใหญ่ที่ช่วยอุปถัมภ์ครูบาเถิ้ม คือหลวงโยนการพิจิตร หรือนายปันโหย่ ต้นตระกูล อุปโยคิน พ่อค้าไม้ชาวพม่า ทำให้เจดีย์ วิหาร พระพุทธรูป ภายในวัดสกทาคามี จึงเป็นไปตามแบบศิลปะพม่า 

          อริยมรรคขั้นที่ 3 คือวัดอนาคามี ปัจจุบันก่อตั้งเป็นพุทธอุทยานอนาคามี ห่างจากวัดผาลาดประมาณ 3.5 กิโลเมตร ห่างจากวัดพระธาตุดอยสุเทพประมาณ 4.5 กิโลเมตร ชื่อวัดอนาคามีนั้น เป็นชื่อที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยตั้งขึ้น อย่างไรก็ตาม วัดนี้เป็นวัดเก่าแก่มีมาก่อนสมัยครูบาเจ้าศรีวิชัยแล้ว ตั้งบนเส้นทางเดินโบราณซึ่งชาวล้านนาใช้เดินทางขึ้นไปนมัสการพระธาตุดอยสุเทพ เป็นเส้นทางเดียวกันกับที่พระญากือนาใช้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจากวัดสวนดอกขึ้นไปประดิษฐานบนดอยสุเทพ ตามที่ปรากฏเรื่องราวในตำนานวัดสวนดอก เช่นเดียวกับวัดผาลาด (สกทาคามี)

           ข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับที่ตั้งของวัดอนาคามีในปัจจุบันมี 2 ส่วน บ้างก็ว่าน่าจะเป็นวัดร้างที่อยู่ในสถานีควบคุมไฟป่าจังหวัดเชียงใหม่ (ภูพิงค์) บ้างก็ว่าน่าจะเป็นวัดร้างบริเวณหอดูดาวสิรินธรที่เรียกกันว่า “ม่อนพญาหงส์”

           เส้นทางอริยมรรคขั้นสุดท้าย คือการบรรลุพระอรหันต์ ครูบาเจ้าศรีวิชัยกำหนดให้วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร เป็นสัญลักษณ์ของวัดอรหันตา วัดแห่งนี้สร้างโดยพระญากือนาตั้งแต่ พ.ศ. 1916 บรรจุพระบรมสารีริกธาตุซึ่งพระสุมนเถระอัญเชิญมาจากเมืองศรีสัชนาไลย (อาณาจักรสุโขทัย) สร้างขึ้นในระยะเวลาไล่เลี่ยหลังจากการสร้างพระธาตุวัดสวนดอกเล็กน้อย พ.ศ. 2463 ครูบาเจ้าศรีวิชัยเดินทางมาบูรณปฏิสังขรณ์พระธาตุดอยสุเทพ ใช้เงิน 221 รูเปีย และบูรณะพระอุโบสถ ดังคำคร่าวของพระภิกษุท้าวสุนทรพจนกิจพรรณนาว่า

          “เงินงามสวยๆ ช่วยบำรุง  สุเทพส้อม (ซ่อม) สร้าง  ปฏิสังขรณ์ สืบยาวสาวกว้าง ให้เป็นคองทางสู่ฟ้า สองร้อยซาวเอ็ด เงินงามบ่ช้า พระท่านเจ้าทานา”

          เห็นได้ว่าครูบาเจ้าศรีวิชัยเคยขึ้นมานมัสการและบูรณปฏิสังขรณ์องค์พระธาตุดอยสุเทพแล้วตั้งแต่ปี 2463 ก่อนที่จะสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพระหว่างปี 2477-2478 โดยมีความปรารถนาว่าการบูรณะพระธาตุดอยสุเทพครั้งนี้ ก็เพื่อมุ่งหวังให้เป็นสัญลักษณ์แห่ง “เส้นทางการนำบุญขึ้นสู่สวรรค์” ตามที่ท่านใช้คำว่า “เป็นค(ล)อง (ครรลอง) ทางสู่ฟ้า” 

          ย้อนกลับมามองวัดพระธาตุสามดวงอีกครั้ง การค้นพบคำว่า “อนาคา” ในจารึกหน้าฐานพระธาตุ “ทุตังควัตร” ดวงบนสุดทำให้ดิฉันตั้งคำถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ว่าควรมี “พระธาตุอีกองค์หนึ่ง” ที่ควรตั้งอยู่ในระดับที่สูงกว่าพระธาตุทั้งสามดวงนี้ อาจอยู่ในภูเขาลูกเดียวกัน ที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยยังสร้างไม่เสร็จ หรือยังไม่ทันได้วางรากฐานใดๆ เนื่องจากต้องรีบไปสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพเสียก่อน หรืออาจจะหมายถึง “พระธาตุสำคัญองค์อื่น” ที่มีอยู่แล้วในเมืองพานซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลเกินไปนัก อาทิเช่น อาจหมายถึง “พระธาตุจอมแจ้ง” (ตั้งอยู่ด้านใต้พระธาตุสามดวง) หรือ “พระธาตุจอมแว่” (ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกของพระธาตุสามดวง) ก็เป็นได้ ซึ่งเรื่องนี้ยังต้องช่วยกันสืบค้นกันอีกยาว

 

4

ข่าวอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

เหลืออีกสองวัน Lanna Auto Sale 18-25 ธันวา 67 ที่เซ็นทรัลเ แอร์พอร์ต รถไฟฟ้าน่าใช้ราคาน่าต...

กระแสรถยนต์ไฟฟ้าในบ้านเราเริ่มได้รับความสนใจจากผู้ใช้คนเมืองมากขึ้นทุกวัน ตามท้องถนนในเชียงใหม่ทุกวันนี้รถที่ขับไปขับมาสังเกตุดูได้เลยต้องมีรถยนต์ไฟฟ้าชับสวนมาหรือขับตามเรามาหลากหลายรุ่น นั่นแสดงถึงรถ...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 24 ธ.ค. 2567, 13:13
  • |
  • 76

อีซูซุ ศาลา เชียงใหม่ จัด ISUZU 2.2 Ddi MAXFORCE พลังแรง ท้าลอง ในศูนย์ประชุมนานาชาติเชียง...

ใกล้สิ้นปีหลายค่ายรถยนต์จัดงานอีเว้นท์กันตลอดทั้งเดือน โดยเฉพาะค่ายอีซูซุที่มีรถยนต์ออกใหม่ทั้งเครื่องยนต์ใหม่ แรงขึ้น เร็วขึ้น วันนี้เราพาท่านไปเที่ยวชมงานนี้กันซึ่งจัดขึ้นภายในศูนย์ประชุมนานาชาติเชี...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 22 ธ.ค. 2567, 16:33
  • |
  • 94

ส่งมอบรถหรูไปอีกหนึ่งคัน ฟอร์ด 2.0L Turbo Sport 4x2 6AT-DAT64(22B )

ส่งมอบรถหรูน่าใช้ให้กับลูกค้า  ฟอร์ด วีกรุ๊ปคาร์เชียงใหม่โดยที่ปรึกษาการขาย ศรสวรรค์  ร่วมแสดงความยินดีพร้อมส่งมอบรถยนต์ให้กับคุณ ชนากานต์ แซ่หล่อ รุ่นรถ 2.0L Turbo Sport 4x2 6AT-DAT64(22B)ข...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 21 ธ.ค. 2567, 11:43
  • |
  • 77

ส่งมอบรถหรูไปอีกหนึ่งคัน ฟอร์ด Double Cab XLS 2.0L Turbo HR 6AT

ส่งมอบรถหรูน่าใช้ให้กับลูกค้า  ฟอร์ด วีกรุ๊ปคาร์เชียงใหม่โดยที่ปรึกษาการขาย พนิตสิรี  ปัญญาวชิรธรรม    ร่วมแสดงความยินดีพร้อมส่งมอบรถยนต์ให้กับ คุณ รังสรรค์ มะสุรินฟอร์ด Double Cab...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 21 ธ.ค. 2567, 11:37
  • |
  • 69

ส่งมอบรถหรูไปอีกหนึ่งคัน ฟอร์ด Double Cab Wildtrak 2.0L Turbo HR 6AT

ส่งมอบรถหรูน่าใช้ให้กับลูกค้า  ฟอร์ด วีกรุ๊ปคาร์เชียงใหม่   โดยที่ปรึกษาการขาย ดวงพร กิ่งจำปา ร่วมแสดงความยินดีพร้อมส่งมอบรถยนต์ให้กับลูกค้า คุณ นพเก้า มาสุวรรณ Ford Double Cab Wildtrak 2.0L...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 21 ธ.ค. 2567, 11:31
  • |
  • 84

ส่งมอบรถใหม่ Hyundai PALISADE Prestige สีขาว เป็นรถยนต์น่าใช้สำหรับครอบครัว

เอชดีเจมอเตอร์ ฮุนไดเชียงใหม่ โดยที่ปรึกษาการขายเซลส์มุ้ย ร่วมแสดงความยินดีพร้อมส่งมอบรถใหม่ให้กับคุณฉัตรพล สุนทรไพบูลย์ (เจ้าของห้างทองอินทรีทอง กาดหลวง) Hyundai PALISADE Prestige สีขาว ขอขอบคุณที่ให...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 19 ธ.ค. 2567, 16:54
  • |
  • 86
Sytiq Company

ออกแบบพัฒนาโปรแกรมและแอพลิเคชั่น

โดยบริษัทไซทิค ติดต่อ:0819507128

Sytiq Company

ออกแบบและติดตั้ง Home Automation

โดยบริษัทไซทิค ติดต่อ:0819507128