เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา ดิฉันพร้อมด้วย ดร.อัครินทร์ พงษ์พันธ์เดชา และอาจารย์เสรินทร์ จิรคุปต์ ได้รับเกียรติจาก โรงแรมอนันตรา เชียงใหม่ รีสอร์ต ถนนเจริญประเทศ ตำบลช้างคลาน ให้เป็นวิทยากรบรรยายหัวข้อ “ประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่เพื่อการท่องเที่ยว” ให้แก่พนักงานของโรงแรมจำนวนประมาณ 15 คน เพื่อเตรียมความพร้อมในการต้อนรับนักท่องเที่ยว สำหรับอนาคตอันใกล้นี้ ภายหลังจากที่เราต่างก็ “อั้น” ต่อการปิดบ้านปิดเมือง ต่างคนต่างกลัว ไม่มีใครกล้าไปเยือนใครกันมานานกว่า 2 ปีเต็มๆ ในช่วงโควิดระบาดหนัก
ในฐานะที่โรงแรมอนันตราตั้งอยู่บนพื้นที่ริมลำน้ำปิงฝั่งตะวันตกซึ่งมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์อย่างมาก เคยเป็นสถานกงสุลอังกฤษ (ตัวอาคารสร้างระหว่างปี พ.ศ.2456-2458 และปัจจุบันยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์) ดิฉันและคณะวิทยากรจึงกำหนดหลักสูตรโครงการอบรมในลักษณะเน้นเอาบุคคลสำคัญคือ Mr. William Alfred Rae Wood (มร.วิลเลียม อัลเฟรด แร วู้ด) ผู้เป็นกงสุลใหญ่อังกฤษเชียงใหม่ท่านแรก มาวางเป็นตัวละครหลัก แล้วจัดทริปเส้นทางสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของ ท่านกงสุลใหญ่มานำเสนอในการตามรอย นอกเหนือไปจากสถานกงสุลที่ทำงานของเขาแล้ว พบว่าทุกวันนี้ยังมีอดีต “บ้านของท่านกงสุลใหญ่” ตั้งอยู่ริมแม่น้ำปิงลงไปทางใต้อีกฟากฝั่งหนึ่ง และแน่นอนว่า ยังมีสุสานของท่านที่ฝังกายฝากใจไว้ ณ ถนนสายต้นยางอีกแห่งหนึ่งด้วย ทั้งหมดนี้คือการท่องเที่ยวเชิง “นิเวศน์ประวัติศาสตร์” ในยุคสมัยที่ไม่ไกลเกินไปนัก อนึ่งในระหว่างจุดสำคัญสามจุด (สถานกงสุล บ้านกงสุล สุสาน) ควรมีการแวะชมสถานที่อื่นๆ ตามรายทางบ้างพ่อเป็นกระสายยา
เมื่อเราออกจากโรงแรมอนันตราแล้ว ให้เลี้ยวซ้ายลงไปทิศใต้ตามถนนเจริญประเทศ สถานที่แรกที่พบคือ วัดชัยมงคล เป็นวัดที่มีท่าน้ำให้สาธุชนได้ทำบุญปล่อยนกปล่อยปลา ในอดีตวัดนี้ชื่อ “วัดอุปปานอก” (ส่วนวัดอุปปาใน หมายถึงวัดบุพพาราม) คำว่า “อุปปา” เป็นภาษามอญเนื่องจากบริเวณนี้มีชาวมอญตั้งถิ่นฐานอยู่จำนวนมาก เรียกกันว่า “บ้านเม็ง” นอกจากนี้วัดยังมีอีกชื่อหนึ่งที่เป็นภาษาพม่าว่า “มะลังมะเลิ่ง” คล้ายกับคำว่า “มลังมเลือง” ในภาษาไทยที่แปลว่า แสงสว่าง รุ่งแจ้ง ต่อมา พระราชชายา เจ้าดารารัศมี ได้เปลี่ยนชื่อวัดใหม่ให้เป็น “วัดชัยมงคล” เนื่องจากวัดแห่งนี้เจ้านายฝ่ายเหนือใช้เป็นท่าน้ำเวลาจะเสด็จลงไปเข้าเฝ้าฯ พระเจ้าอยู่หัวที่กรุงเทพฯ หรือเมื่อกลับจากกรุงเทพฯ ก็จะขึ้นที่ท่าน้ำแห่งนี้ จากนั้นจะขึ้นช้างมีขบวนแห่ไปยังทิศหัวเวียง (ทิศเหนือ) บริเวณวัดเชียงยืน แล้วเสด็จเข้าเมืองทางประตูช้างเผือก
อาจารย์เสรินทร์ จิรคุปต์เล่าว่า ถัดจากวัดชัยมงคลลงไปทางใต้ ปัจจุบันเป็นโรงแรม ณ นิรันดร์ ในอดีตเคยเป็น “บ้านทัพเทวา” สร้างด้วยไม้สักหลังยาวใหญ่ เจ้าของคือคุณประโพธ เปาโรหิตย์ บุตรมหาอำมาตย์โท เจ้าพระยามุขมนตรี (อวบ เปาโรหิตย์) ซึ่งคุณประโพธสมรสกับนางงามเชื้อสายเจ้าหลวงลำพูน (เจ้าหลวงเหมพินทุไพจิตร) ชื่อเจ้านวลสวาท ลังการ์พินธุ์
ถัดไปเป็น “กรมป่าไม้เชียงใหม่” ถือเป็นกรมป่าไม้แห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งตั้งอยู่นอกพระนครหลวง ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2439 เจ้ากรมป่าไม้คนแรกชื่อ Mr.H. Slade (มร.เอช สเล้ด) อาจารย์เสรินทร์เล่าถึงที่มาของกรมป่าไม้เชียงใหม่ว่า เริ่มมาจากสนธิสัญญาเบาริ่งสมัยรัชกาลที่ 4 พ.ศ. 2498 ที่อนุญาตให้ชาวตะวันตกเข้ามาทำการค้าในสยามได้ ตามมาด้วยสนธิสัญญาเชียงใหม่ฉบับแรกปี 2416 สมัยรัชกาลที่ 5 อนุมัติให้ชาวต่างชาติค้าไม้ โดยต้องขออนุญาตจากส่วนกลาง หากล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ทรงเห็นชอบแล้ว ก็ให้เจ้าหลวงเชียงใหม่เซ็นอนุมัติลงนามรับรู้ หมายความว่าทางเจ้าหลวงเชียงใหม่ไม่มีสิทธิ์ตัดสินใจใดๆ ว่าควรให้หรือไม่ให้บริษัทใดตัดไม้ตรงไหนได้บ้าง หลายครั้งเกิดการฟ้องร้องว่าเจ้าหลวงไปอนุญาตให้คนล้านนาตัดไม้ในพื้นที่ทับซ้อนของสัมปทานอังกฤษ กระทั่งมีสนธิสัญญาเชียงใหม่อีกฉบับหนึ่งปี 2427 ฉบับนี้ยิ่งรวบอำนาจไว้ที่ส่วนกลางแบบเบ็ดเสร็จคือทั้งอนุญาตและอนุมัติภายใต้พระปรมาภิไธย ต่อมาปี 2432 สยามส่งนายเจมส์ แมคคาร์ธี มาทำแผนที่ภูมิศาสตร์อย่างละเอียด ทำให้เจ้าหลวงในดินแดนล้านนาไม่สามารถขยับทำการใดๆ เกี่ยวกับป่าไม้ในเมืองเหนือได้เลย นอกเสียจากรอรับค่าส่วนแบ่งภาษีตอไม้
กรมป่าไม้เชียงใหม่ปัจจุบันมีชื่อว่า “สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 เชียงใหม่” สถานที่แห่งนี้ยังเหลืออาคารไม้สักขนาดใหญ่อยู่ 1 หลัง เป็นบ้านใต้ถุนโล่ง เปิดหน้าจั่วสามเหลี่ยมใหญ่ มองไปรอบๆ สองฟากแม่น้ำปิงบริเวณนี้ ในอดีตเคยมีสถานีค้าไม้ของบริษัทต่างๆ ตั้งเรียงราย อาทิ บริษัทบอมเบย์เบอร์ม่า บริษัทบริทิชบอร์เนียว (สองบริษัทนี้เป็นของอังกฤษ) บริษัทอีสต์เอเชียติก (ของเดนมาร์ก) และบริษัทสยามฟอเรสต์ (ของฝรั่งเศส) สถานีค้าไม้เหล่านี้จะคอยเช็คไม้ซุงที่ไหลผ่านลงมาตามลำน้ำปิงเลือกดูท่อนที่มีตราประทับของบริษัทตัวเองแล้วจัดทำบัญชี
ความคึกคักในการทำสัมปทานป่าไม้ของชาวตะวันตกนี่เอง ที่ผลักดันให้เกิดการก่อตั้ง “สถานกงสุล” ตามมาโดยปริยาย เพื่อทำหน้าที่ 2 ประการ 1. ดูแลผลประโยชน์ด้านการค้า เน้นการสัมปทานป่าไม้ 2. เพื่อคุ้มครองประชากรของเขาในกรณีเกิดข้อพิพาทกับชาวล้านนา สถานกงสุลอังกฤษก่อตั้งขึ้นในปี 2427 ช่วงที่มีการทำสนธิสัญญาเชียงใหม่ฉบับที่ 2 (แต่อาคารหลังปัจจุบันที่เห็นนั้น เป็นการมาสร้างภายหลังจากอีกราว 30 ปี) ส่วนสถานกงสุลฝรั่งเศสก็ตั้งอยู่ไม่ไกลกันนัก ดังจะเห็นได้ว่าปัจจุบันยังมีสมาคมฝรั่งเศส และสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพทิศ ก็ตั้งอยู่ในละแวกนั้น ภายในสถานที่ทั้งสองแห่งนี้เต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่ร่มรื่น
ถัดจากกรมป่าไม้เชียงใหม่ เป็นเขตชุมชนคาทอลิก กลุ่มโรงเรียนเรยีนาเชลี พระหฤทัยคอนแวนต์ และมงฟอร์ต อาจารย์เสรินทร์เล่าว่า ผู้บุกเบิกให้มีโรงเรียนคาทอลิกในเชียงใหม่ก็คือ นายกี นิมมานเหมินท์ ผู้เป็นทั้งบุตรบุญธรรมและบุตรเขยของหลวงอนุสารสุนทร ช่วงมัธยมต้นนายกีเรียนที่โรงเรียนชายวังสิงห์คำ จากนั้นศึกษาต่อชั้นมัธยมปลายที่โรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก กลับมาทำธุรกิจเป็นเจ้าของกาดหลวง และได้เสนอให้มีการสร้างโรงเรียนคาทอลิกในช่วง พ.ศ. 2475 เลยจากกลุ่มโรงเรียนคาทอลิก เป็นชุมชนมุสลิมที่นับถือศาสนาอิสลาม สมัยก่อนเรียกว่า “แขกปาทาน” บริเวณนี้เคยเป็นทุ่งเลี้ยงวัวอันกว้างใหญ่ แต่ต่อมาสถานที่นี้เปลี่ยนสภาพไปมาก
เมื่อเลี้ยวซ้ายข้ามแม่น้ำปิงไปแล้วจะพบกับถนนต้นยางนาที่ตำบลหนองหอย ให้หักขวาเลียบลำน้ำปิงไปเพียงไม่กี่ร้อยเมตรจะพบสถานที่ที่ปัจจุบันเรียกว่า Le Cog d’Or (เลอ ก๊อก ดอร์) ปัจจุบันเป็นร้านอาหารฝรั่งเศส อดีตบริเวณนี้เป็น “บ้านกงสุลวู้ด” กงสุลอังกฤษเชียงใหม่ ช่วงแรกที่ท่านเพิ่งมาทำงานในสถานกงสุลใหม่ๆ นั้นท่านพำนักอยู่ในบ้านพักของสำนักงานมาก่อน เนื่องจากพบหลักฐานว่าในสถานกงสุลนั้นนอกจากอาคารสำนักงานหลังใหญ่ซึ่งใช้เป็นที่ทำการและห้องพิจารณาคดีแล้ว ยังเคยมีบ้านพักกงสุล 1 หลัง เรือนคนใช้ 1 หลัง และคอกช้าง ซึ่งท่านกงสุลใหญ่ได้เลี้ยงช้างไว้ 4 เชือกสำหรับการเดินทางในสมัยนั้น
ช่วงที่กงสุลวู้ดประจำอยู่ที่จังหวัดเชียงราย เขาได้พบรักกับสตรีชื่อ “บุญ” ต่อมาได้สมรสกับนางมีธิดาด้วยกัน 2 คน ชื่อ “อมาลา” และ “ลูอิส” หลังจากที่กงสุลวู้ดได้เกษียณอายุและเดินทางพาครอบครัวกลับไปใช้ชีวิตที่อังกฤษระยะหนึ่งแล้ว เขาตัดสินใจกลับมาเชียงใหม่อีกครั้ง ด้วยการซื้อที่แปลงใหญ่ติดกับลำน้ำปิงฝั่งตะวันออก 100 กว่า ไร่ ซึ่งท่านกงสุลตั้งใจนฤมิตให้เป็น “สวนสวรรค์” หรือ Paradise
ภายในสวนสวรรค์แห่งนี้ ประกอบด้วย คฤหาสน์ 1 หลัง ทรง British Colonial มีมุขประเทียบสำหรับจอดรถ อาคารชั้นบนทำหน้าต่างบานใหญ่เปิดได้รอบด้านทั้งนี้เพื่อรับลมได้เต็มที่เพราะสมัยก่อนไม่มีเครื่องปรับอากาศ จุดเด่นของบ้านอีกประการคือมีห้องเจาะช่องยื่นบนหลังคา ใกล้กับคฤหาสน์มีหอพักน้ำขนาดใหญ่ 1 หลัง ศาลาไม้ 8 เหลี่ยมกลางสวน 1 หลัง (Kiosque) รถโบราณซึ่งมีหลายคัน สวนที่ตกแต่งด้วยโครงเหล็กดัดคล้ายกระโจม เป็นต้น
สิ่งที่สะดุดตาของสวนแห่งนี้คือ มีต้นฉำฉาแผ่กิ่งก้านตระการสาขา เป็นต้นฉำฉารุ่นเก่า ปลูกหลังจากต้นฉำฉาต้นแรกในสวนของสโมสรยิมคานาเพียงไม่กี่ปี (ที่ยิมคานาอายุ 120 กว่าปี) ที่นี่ก็อายุเกิน 100 ปีแล้ว ดร.อัครินทร์ พงษ์พันธ์เดชา ให้ข้อมูลว่าบุคคลที่นำเอาต้นฉำฉาหรือ Rain Tree (เหตุที่ชื่อเช่นนี้เพราะเป็นต้นไม้ที่อุ้มน้ำ เรียกฝน) มาปลูกในประเทศไทยครั้งแรก (เริ่มที่จังหวัดเชียงใหม่) เป็นชาวอังกฤษ ซึ่งต้นกำเนิดของไม้ฉำฉานั้นอยู่ที่ทวีปอเมริกาใต้
ท่านกงสุลวู้ดใช้ชีวิตอยู่ในเชียงใหม่ บางช่วงบางตอนของบั้นปลายชีวิตอาจไม่ราบเรียบนัก เนื่องจากมีสงครามโลกครั้งที่ 2 ทหารญี่ปุ่นได้จับตัวกงสุลวู้ดไว้เป็นตัวประกัน แต่ในที่สุดก็ได้รับการปลดปล่อย ท่านกงสุลมีอายุยืนยาวจนวัย 94 ปี อันเป็นวาระสุดท้ายของลมหายใจ ศพของท่านฝังอยู่ที่ “สุสานฝรั่ง” ถนนสายต้นยางนา เคียงคู่อยู่กับศรีภริยาที่ชาวบ้านเรียกว่า “ป้าบุญ” ซึ่งสุสานแห่งนี้ ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 พระราชทานที่ดินให้ ตั้งอยู่ไม่ไกลจากสุสานยิมคานา และสุสานบ้านเด่น
สุสานฝรั่งแห่งนี้ยังมีหลุมศพของ “ศาสนาจารย์แดเนียล แมคกิลวาลี” (ชาวเชียงใหม่เรียก พ่อครูหลวง) กับภริยาของท่าน แม่ครูโซเฟีย พร้อมด้วยบาทหลวง นักบุญ มิชชันนารี ท่านอื่นๆ ที่มาช่วยวางรากฐานด้านการแพทย์ สาธารณสุข การศึกษา การพิมพ์ ให้แก่เมืองเชียงใหม่อีกจำนวนมาก
ตอนในสุดด้านทิศเหนือของสุสานฝรั่ง เป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ “สมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรีย สมเด็จพระราชินีนาถแห่งเครือจักรภพอังกฤษ” ประดิษฐานอยู่บนแท่นสูง ด้านหน้าแท่นมีตัวอักษรภาษาอังกฤษเขียนอยู่ ถอดใจความได้ว่า
“อนุสาวรีย์นี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นเครื่องรำลึกถึงความรักและความเคารพอย่างยิ่งยวดที่มีต่อสมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรีย และข้าราชบริพารที่ซื่อสัตย์ของพระองค์ ที่อาศัยอยู่ในเชียงใหม่ ละคอร ลำปาง แพร่ น่าน สวรรคโลก และระแหง ทั่วดินแดนตอนเหนือของสยาม”
อาจารย์เสรินทร์เล่าว่า อนุสาวรีย์องค์นี้สร้างขึ้นในประเทศอังกฤษ หล่อด้วยสำริดหนักหลายตัน เบื้องแรกถูกนำมาไว้ที่อินเดียก่อน จากนั้นถูกย้ายมาอยู่ที่เมืองมะละแหม่ง แล้วบรรทุกต่อบนหลังช้างข้ามพรมแดนพม่าเข้ามากว่าจะถึงล้านนาต้องใช้เวลาหลายเดือน เดิมเคยประดิษฐานอยู่ที่ด้านหน้าทางเข้าสถานกงสุลอังกฤษเชียงใหม่ แต่ภายหลังจากที่สถานกงสุลอังกฤษได้ปรับเปลี่ยนเจ้าของใหม่ อนุสาวรีย์ของพระนางเจ้าวิกตอเรียองค์นี้ ก็ถูกนำมาไว้ที่สุสานฝรั่ง ปัจจุบันทราบมาจากทางโรงแรมอนันตราเชียงใหม่ว่า จะมีการหล่อรูปปั้นองค์ใหม่ขึ้นมาด้วยการจำลองตามรูปแบบเดิม เพื่อนำมาประดิษฐานในโรงแรมอนันตราให้อยู่เคียงคู่กับอาคารอดีตสถานกงสุลตลอดไป
จากนั้นรถรางได้พาคณะของเรากลับคืนสู่โรงแรม โดยไม่วนกลับไปเส้นเดิมขามา (ขัวพญาเม็งราย) หากเลาะเลียบลำน้ำปิงฝั่งตะวันออกตรงไปเรื่อยๆ เพื่อจะได้ชมสถานที่สำคัญในอดีตอีกบางส่วนแบบไม่ซ้ำที่ เช่น โรงแรมศรีประกาศ โรงเรียนคริสเตียนเชียงใหม่ ขัวเหล็ก (จำลองขัวนวรัฐเดิมขึ้นมาใหม่) บ้านโบราณของหม่องปันโหย่ (โรงแรมเพชรงาม) จากนั้นตัดข้ามสะพานนวรัฐกลับมายังฝั่งตะวันตก
ซ้ายมือบริเวณขัวนวรัฐ ปัจจุบันคือบ้านพักหรือจวนผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ในอดีตคือศาลต่างประเทศเชียงใหม่ (ตั้งได้เพียงไม่กี่ปี ต่อมาต้องยุบไปรวมกับศาลแขวง) รถรางลัดเลาะผ่านบริเวณอดีตอันรุ่งโรจน์ของไนท์บาร์ซาร์ วัดศรีดอนไชย วัดที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยถูกต้องอธิกรณ์เป็นเวลา 3 เดือนเมื่อปี 2463 จากนั้นก็มาถึงโรงแรมอนันตรา
คณะเรากลับขึ้นไปยังอาคารกงสุลอังกฤษเชียงใหม่อีกรอบ อาจารย์เสรินทร์เล่าว่า สมัยที่ท่านยังเรียนหนังสือระดับชั้นมัธยมต้นที่โรงเรียนมงฟอร์ต เมื่อราว 70 ปีก่อน ท่านเข้ามาวิ่งเล่นภายในสถานกงสุลอังกฤษแห่งนี้เป็นประจำ จำได้ดีว่าใต้ถุนโล่งตอนล่างเปิดเป็นห้องสมุดให้คนนอกเข้ามาอ่านหนังสือได้
เมื่อพิจารณาด้านรูปแบบของอาคาร ดร.อัครินทร์สรุปว่า เป็นสถาปัตยกรรมแบบ British Victoria คือสง่าขรึมเรียบง่าย ตรงไปตรงมา ตามจริตของชาวอังกฤษ ไม่ตกแต่งลวดลายฟุ่มเฟือย เน้นแค่ริ้วไม้ของระเบียงรอบอาคารกับเส้นสายลายริ้วตามราวบันไดพอให้แสงเงาตัดกันเล็กน้อย จุดเด่นอยู่ที่การทำหลังคาทรงปั้นหยา กับทิวเสาตอนล่างแท่งใหญ่ที่ตั้งเรียงรายเป็นจังหวะ แม้ว่าอาคารหลังนี้จะผ่านการรีโนเวท ต่อเติมโครงสร้างบางส่วนและปรับเปลี่ยนประโยชน์ใช้สอยมาบ้างแล้วก็ตาม ทว่าโดยภาพรวมถือว่ายังมีเสน่ห์ มีความคลาสสิกทายท้ากาลเวลาที่ล่วงไกลมานานกว่าหนึ่งศตวรรษเศษไม่น้อยเลย สมกับที่ได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่นจากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์มาตั้งแต่ปี 2532