เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2565 นายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้ มอบหมายให้ นายวันชัย จริยาเศรษฐโชค รองอธิบดีกรมป่าไม้ เป็นประธานมอบแผนการจัดการทรัพยากรที่ดินและป่าไม้ระดับพื้นที่ ให้กับชุมชน 2 หมู่บ้าน อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ เนื้อที่กว่า 7,300 ไร่ พร้อมรับฟังผลการดำเนินงานการใช้ประโยชน์พื้นที่ คทช. ภายใต้กรอบแนวคิด "อยู่อาศัยและทำกินถูกต้องตามกฎหมายและยั่งยืน ฟื้นฟูคุณภาพชีวิต เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม"
นายวันชัย จริยาเศรษฐโชค รองอธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เร่งรัดขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลในการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยทำกินของประชาชนในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งเป็นการพัฒนาที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ตามนโยบายรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายวราวุธ ศิลปอาชารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน เร่งดำเนินงานสนองตามความต้องการของพี่น้องประชาชน โดยทำงานบูรณาการร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ควบคู่กับชุมชนท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรม ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 คณะกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติ (คทช.) กำหนดแนวทางมาตรการในการบริหารจัดการที่ดิน อย่างเหมาะสม เพื่อให้ประชาชนสามารถอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าตามกรอบมาตรการและแนวทางที่หน่วยงานภาครัฐเป็นผู้กำหนดโดยยึดถือแนวทางการปฏิบัติงานในการแก้ปัญหาให้คนกับป่าสามารถอยู่ร่วมกันได้ โดยจำแนกราษฎรที่ถือครองทำกินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติตามช่วงระยะเวลาการเข้าครอบครองและการใช้ที่ดินตามชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ และนำกรอบมาตรการ ลงไปปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาให้ราษฎรสามารถอยู่ร่วมกันกับป่าได้อย่างยั่งยืน จำนวน 4 กลุ่ม
สำหรับกิจกรรมในวันนี้ได้มอบ “แผนการจัดการทรัพยากรที่ดินและป่าไม้ระดับพื้นที่” เพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยทำกินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ เป็นตัวอย่างนำร่อง จำนวน 2 หมู่บ้าน รวมเนื้อที่ประมาณ 7,300 ไร่ ดังนี้ 1. บ้านผาผึ้ง หมู่ที่ 9 ตำบลกองแขก อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่2. บ้านกองแขก หมู่ที่ 7 ตำบลกองแขก อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมทั้งเป็นสักขีพยานในการมอบเงินกองทุนดูแลรักษาต้นไม้ให้แก่ราษฎรที่เข้าร่วมโครงการปลูกป่าสามอย่างประโยชน์สี่อย่างในพื้นที่แก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและอยู่อาศัยในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติตามนโยบายรัฐบาลจากกองทุน FLR 349 และมอบกล้าไม้มีค่าเศรษฐกิจเพื่อให้ราษฎรนำไปปลูกในพื้นที่ คทช. ต่อไป
การดำเนินงานในครั้งนี้ โดยกรมป่าไม้ ได้มีการสำรวจและจำแนกพื้นที่ดังกล่าว แล้วนำมาดำเนินการจัดทำ “แผนการจัดการทรัพยากร ที่ดินและป่าไม้ระดับพื้นที่” เป็นการบริหารจัดการพื้นที่โดยนำมาตรการและเงื่อนไขที่กำหนดตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 ในแต่ละกลุ่มเป้าหมายมาปฏิบัติร่วมกับชุมชนวางแผนออกแบบการบริหารจัดการพื้นที่ โดยสนับสนุนให้ราษฎรสามารถทำกินและอยู่อาศัยได้อย่างยั่งยืน รวมถึงมีส่วนร่วมในการรักษาสภาพป่าไม้ที่คงอยู่และฟื้นฟูพื้นที่ป่าไม้ที่ถูกบุกรุกหลังปี 2557 ให้กลับมาเป็นพื้นที่ป่าที่สมบูรณ์ การมอบแผนการจัดการทรัพยากรที่ดินและป่าไม้ระดับพื้นที่ดังกล่าว เป็นความร่วมมือระหว่างกรมป่าไม้และองค์การบริหารส่วนตำบลกองแขก ที่จะแก้ไขปัญหาให้ราษฎรในพื้นที่ตำบลกองแขกสามารถอยู่อาศัยทำกินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติได้ถูกต้องและครบถ้วนทุกพื้นที่ตามนโยบายรัฐบาล
นายวันชัย กล่าวต่อว่า ผลจากการดำเนินงาน ทำให้ราษฎรผู้เข้าร่วมโครงการ คทช. มีความมั่นใจในการดำรงชีวิตและสามารถประกอบอาชีพในพื้นที่อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นภายใต้การพัฒนาดังกล่าว สิ่งสำคัญประการหนึ่งที่จะนำไปสู่ความยั่งยืนของราษฎรในพื้นที่ คือ การพัฒนาอาชีพที่เหมาะสม หนึ่งในนั้นได้แก่รูปแบบเศรษฐกิจสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับราษฎรที่จะสามารถทำกินและอยู่อาศัยภายใต้สิ่งแวดล้อมที่ดีและทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ได้ เพื่อให้การพัฒนาพื้นที่ คทช. มีรูปแบบทางเลือกที่หลากหลาย
กรมป่าไม้จึงได้บูรณาการความร่วมมือกับกลุ่มองค์กรและนักธุรกิจภาคเอกชน ได้แก่ กองทุน FLR 349, มูลนิธินวัตกรรมเกษตรอินทรีย์ไทย (TOF), องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF), บริษัทกลุ่มเซ็นทรัล จำกัด, บริษัทไทยคม จำกัด, ตัวแทนภาคธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการขับเคลื่อนการสร้างเศรษฐกิจสีเขียวร่วมกับราษฎรในพื้นที่ คทช. ตำบลกองแขก ให้มีการทำการเกษตรที่ยั่งยืน มุ่งเน้นระบบการบริโภคอาหารท้องถิ่น (local food) เกิดโมเดลระบบธุรกิจที่เป็นธรรม สร้างห่วงโซ่อุปทานและห่วงโซ่คุณค่าของระบบการผลิตทางเกษตร ลดการใช้สารเคมี เพิ่มพื้นที่สีเขียวและสร้างรายได้ด้วยแนวพระราชดำริป่าสามอย่างประโยชน์สี่อย่าง และเสริมสร้างรายได้จากคาร์บอนเครดิตตามนโยบายของกระทรวง
ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัจจุบันมีราษฎรตำบลกองแขกเข้าร่วมดำเนินการเป็นพื้นที่ตัวอย่างจำนวน 109 ราย รวมพื้นที่ 470 ไร่ เกิดธุรกิจที่สร้างรายได้ เช่น ไข่อินทรีย์สร้างป่า 63,875 บาทต่อปี ผักอินทรีย์สร้างป่า 86,400 บาทต่อปี สมุนไพรสร้างป่า 115,200 บาทต่อปี ผลไม้ยืนต้นอินทรีย์ 112,500 – 150,000 บาทต่อปี เป็นต้น
จากการพัฒนาเปลี่ยนแปลงการปลูกพืชไร่เชิงเดี่ยวในพื้นที่ คทช. มาสู่การปลูกป่าสามอย่างประโยชน์สี่อย่าง ที่เป็นกิจกรรมที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเพิ่มพูนการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) โดยการประเมินคาร์บอนเครดิตเบื้องต้นพบว่าพื้นที่ดำเนินการ 120 ไร่ ภายในระยะเวลา 10 ปี สามารถลดและดูดกลับปริมาณก๊าซเรือนกระจก 611 ตันคาร์บอนเทียบเท่า ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว กรมป่าไม้ องค์การบริหารส่วนตำบลกองแขก องค์กร และนักธุรกิจภาคเอกชน ที่ร่วมดำเนินงานจะได้ขยายผลไปดำเนินการในพื้นที่หมู่บ้านอื่นๆ ในท้องที่ตำบลกองแขกให้ครบถ้วนต่อไป