วันที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา ดิฉันได้มีโอกาสไปเยี่ยมชม “พิพิธภัณฑ์บ้านพ่อครูแฮรีส” ฟังการบรรยายจาก “พ่อครูเสรินทร์ จิรคุปต์” อดีตครูสอนประวัติศาสตร์แห่ง รร.ปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย กับ “อาจารย์ยุทธชัย ดำรงมณี” อดีตรอง ผอ.รร.ปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย ปัจจุบันเป็น ผู้อำนวยการ โรงเรียนนานาชาติ Chiang mai International School (CMIS) ทั้งสองท่านมีความตั้งใจสูงในการรวบรวมสืบค้นเอกสารเรื่องราวประวัติความเป็นมาของ “พ่อครูวิลเลียม แฮรีส” อย่างละอียด โดยเฉพาะประโยคหนึ่งซึ่งแสนจะกินใจที่ได้ยินจากปากอาจารย์ยุทธชัยก็คือประโยคที่ว่า “พ่อครูแฮรีสคือผู้ Sacrifice ตัวเองเพื่อพระเป็นเจ้า หมายถึงท่านเกิดมาเพื่ออุทิศชีวิตและจิตวิญญาณทั้งหมดเพื่อสร้างโลกใหม่ที่ดีกว่าเดิม” ทำให้คนล้านนาฉบับนี้ดิฉันมีความภาคภูมิใจยิ่งที่จักได้เขียนถึงบุคคลผู้ทรงคุณค่า
“วิลเลียม แฮรีส จูเนียร์” คือนามเต็มของพ่อครูแฮรีส ท่านเป็นศาสนาจารย์รุ่นที่ 2 ที่เข้ามาสืบทอดงานเผยแผ่ศาสนาคริสต์นิกายเพรสไบทีเรียนในดินแดนภาคเหนือ โดยกลุ่มมิชชันนารีที่เข้ามาในเชียงใหม่รุ่นแรกนั้นคือ ศาสนาจารย์ดาเนียล แมคกิลวารี และศาสนาจารย์โจนาธาน วิลสัน ซึ่งเข้ามาประกาศศาสนาในเชียงใหม่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2410 ตรงกับสมัยของพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 6 ยุคนั้นต้องถือว่าเป็นยุคที่ยังขาดความเข้าใจซึ่งกันและกัน จึงมีเรื่องบาดหมางกันอย่างรุนแรง โดยที่เจ้าหลวงกาวิโลรสฯ ไม่พอพระทัยต่อการเข้ารีตของชาวเชียงใหม่สองคนแรกที่หันไปนับถือศาสนาคริสต์ ถึงกับมีคำสั่งให้ประหารในปี 2412 แต่หลังจากนั้นเพียงปีเดียว (2413) เจ้าหลวงกาวิโลรสฯ ก็ถึงแก่พิราลัย ทำให้การเผยแผ่ศาสนาคริสต์สามารถดำเนินต่อไปได้โดยไร้อุปสรรค
พ่อครูเสรินทร์เล่าว่าต่อจากนั้น นับตั้งแต่ปี 2430-2438 มิชชันนารีรุ่นถัดๆ มา ก็ทยอยเดินทางเข้าสู่เชียงใหม่อีกหลายระลอก อาทิ พ่อครูเดวิด คอลลินส์ หมอแมคเคน พ่อครูคลิฟตัน ดอดด์ และตามมาด้วยพ่อครูแฮรีส 4-5 ท่านรุ่นนี้ถือเป็น “จุดระเบิดแห่งการประกาศพระศาสนา” หมายความว่า เป็นยุคสมัยที่คณะมิชชันนารีได้สร้างความเจริญให้แก่เมืองเชียงใหม่และล้านนาอย่างมหาศาล ภารกิจของท่านเหล่านี้ ไม่เพียงแต่เสียสละชีวิตด้วยการรับผิดชอบด้านสาธารณสุข ศาสนา การพิมพ์ และการศึกษาเท่านั้น หากยังต้องช่วยเหลือรัฐบาลสยามในด้าน “การทูต” อีกด้วย
พ่อครูเสรินทร์เล่าต่อไปว่า ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งตรงกับรัชกาลที่ 6 นั้น สยามสามารถ “ปลดแอก” จากสนธิสัญญาเบาริงที่ทำกับอังกฤษและสนธิสัญญาฉบับอื่นๆ ที่ผูกมัดให้สยามเสียเปรียบชาติตะวันตกมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ได้สำเร็จ ก็เพราะประเทศสหรัฐอเมริกามีส่วนช่วย โดยมีพ่อครูแฮรีสอยู่เบื้องหลัง กล่าวคือการขอแก้ไขสนธิสัญญากับชาวตะวันตกนั้น ไม่มีมหาอำนาจชาติใดเลยที่จะยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือชาวสยามได้ ทั้งๆ ที่ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา ได้พยายามจ้างกลุ่มนักกฎหมายชาวเบลเยียม เช่น โรลัง ยัคมินส์ ปิแยร์ โอ๊ต มาเป็นที่ปรึกษาแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่มีใครสามารถช่วยสยามได้เลย
ด้วย “สายสัมพันธ์ลับเชิงลึก” ของพ่อครูแฮรีสแท้เทียว โดยที่ลูกพี่ลูกน้องคนหนึ่งของพ่อครูแฮรีสชื่อนายชาร์ล เฮนรี บัทเลอร์ รู้จักกับประธานาธิบดีโทมัส วูดโรว์ วิลสัน เป็นการส่วนตัว พ่อครูแฮรีสตัดสินใจเขียนจดหมายผ่านมิสเตอร์บัทเลอร์ ในทำนองขอความเห็นใจจากประธานาธิบดีอเมริกา ว่านานเกินไปแล้วที่สยามไม่ได้รับความเป็นธรรมจากสนธิสัญญาฉบับต่างๆ ประธานาธิบดี วูดโรว์ วิลสัน มีพื้นฐานเป็นนักกฎหมาย เป็นอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยปรินส์ตัน เขารักความยุติธรรม เมื่อรับเรื่องจากพ่อครูแฮรีสผ่านมิสเตอร์บัทเลอร์ เขาจึงได้เจรจาขอร้องให้ชาติมหาอำนาจต่างๆ เห็นใจสยาม นำไปสู่การที่สหรัฐอเมริกายินยอมยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตที่ทำให้รัฐบาลสยามประสบความยุ่งยากในการบังคับใช้กฎหมายเป็นชาติแรก และเป็นต้นแบบให้รัฐบาลคู่สัญญาอีก 12 ชาติ ยินยอมยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตในเวลาต่อมา สยามจึงได้รับเอกราชทางการศาลกลับคืนมาโดยสมบูรณ์มาจนถึงปัจจุบัน
จากนั้นมา กลุ่มมิชชันนารีในเชียงใหม่จะได้รับความไว้วางใจอย่างมากจากราชสำนักสยาม เพราะได้เห็นน้ำใสใจจริงแล้วว่า คนกลุ่มนี้ไม่ได้เข้ามาเพื่อหวังผลทางธุรกิจการค้า เพื่อความร่ำรวยของพวกพ้อง แต่เข้ามาช่วยวางรากฐานสร้างความเจริญในทุกๆ ด้าน ช่วยได้ไม่เว้นแม้แต่ปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ
พ่อครูแฮรีส หรือวิลเลียม แฮรีส จูเนียร์ เกิดเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2413 (ค.ศ.1870) ในมลรัฐนิวเจอร์ซี สหรัฐอเมริกา ท่านมีพี่น้อง 5 คน เติบโตในตระกูลคหบดีที่เป็นปัญญาชนชั้นนำทางสังคม บิดาของเขาผู้มีนามเดียวกัน วิลเลียม แฮรีส เคยสร้างคุณูปการอันใหญ่หลวงให้แก่มหาวิทยาลัยปรินส์ตัน (ก่อนนั้นเคยใช้ชื่อว่า College of New Jersey) ในช่วงที่สถานศึกษาแห่งนี้พบวิกฤติกำลังจะล้มละลายใกล้ปิดตัว ไม่มีเงินจ่ายค่าแก๊ส ค่าเงินเดือนครู ต้องทยอยเอาอาจารย์ออกทีละคน ช่วงนั้นเอง วิลเลียม แฮรีสผู้พ่อ ยอมขายกิจการส่วนตัวคือโรงทอผ้าที่มลรัฐเพนซิลเวเนีย เอาเงินมาช่วยพยุงให้ College of New Jersey เดินหน้าต่อไปได้ ต่อมาสถาบันแห่งนี้ได้เปลี่ยนชื่อใหม่และยกระดับเป็น Princeton University
วิลเลียม แฮรีส จูเนียร์ จบการศึกษาด้านศิลปศาสตร์ และศาสนศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยปรินส์ตัน เมื่อปี 2434 หนุ่มน้อยวัย 21 ได้รับการบ่มเพาะด้านอุดมการณ์ คุณธรรม เสียสละทรัพย์ศฤงคารความสุขส่วนตัว อุทิศตนเพื่อส่วนรวมจากการได้เห็นวีรกรรมของคุณพ่อ ทำให้วิลเลียม แฮรีส จูเนียร์ มุ่งมั่นที่จะสืบทอดงานประกาศพระคริสตธรรมในแถบทวีปเอเชีย ดินแดนอันไกลโพ้นและแสนทุรกันดาร ตอนแรกเขายื่นใบสมัครต่อสภาคริสตจักร ขอเดินทางไปยังญี่ปุ่นและจีนก่อน เนื่องจากการรับรู้ของชาวตะวันตกถึงคำว่าทวีปเอเชียย่อมหนีไม่พ้นสองชาตินี้ ทว่าสองประเทศนี้ยังไม่ต้องการบุคลากรเพิ่ม ประเทศที่ขาดแคลนมิชชันนารีจริงๆ ก็คือสยาม ทั้งนี้มิชชันนารีผู้นั้นต้องเสียสละด้วยการหาทุนค่าใช้จ่ายในการเดินทางทั้งหมดด้วยตัวเอง ทำให้มิชชันนารีหนุ่มวิลเลียมต้องเร่งมือทำทุกวิถีทาง ไม่ว่าการรับจ้างสอนหนังสือหามรุ่งหามค่ำ เขาไม่ย่อท้อที่จะเขียนจดหมายถึงบุคคลและหน่วยงานต่างๆ มากกว่า 20 ราย เพื่ออธิบายถึงเจตจำนงอันยิ่งใหญ่ของเขา ต้องรอนานถึง 4 ปีเต็ม จนเขามีอายุครบ 25 ปีบริบูรณ์ กว่าจะรวบรวมงบบริจาคได้ก้อนหนึ่ง 600 ดอลลาร์ เพื่อใช้เป็นค่าเดินทางและตั้งต้นชีวิตใหม่ในนามมิชชันนารีแห่งสยาม
การเดินทางสมัยก่อนต้องโดยสารเรือเดินสมุทร ใช้เวลานานถึง 1 ปีเต็ม กล่าวคือจากสหรัฐอเมริกากว่าจะถึงสิงคโปร์เมืองท่าสำคัญ กินเวลา 3-4 เดือน จากสิงคโปร์จะขึ้นสู่สยามได้ ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องรอเวลาให้พ้นฤดูมรสุมอีกพักใหญ่ จากเจ้าพระยาสู่ลำน้ำปิงก็ต้องทวนกระแสธารนานถึง 3 เดือน เพราะเป็นแม่น้ำที่เต็มไปด้วยเกาะแก่ง
ช่วงแรกที่พ่อครูแฮรีสมาถึงเชียงใหม่ ท่านถูกศาสนาจารย์ดาเนียล แมคกิลวารี ซึ่งถือเป็น “พ่อครูหลวง” ส่งไปบุกเบิกทำหน้าที่ก่อตั้งคริสตจักรแห่งใหม่ที่แม่ดอกแดง อำเภอดอยสะเก็ด จากนั้นพ่อครูแฮรีสได้สมรสกับ “แม่ครูคอร์นีเลีย” (คอร์เนเลีย) ผู้เป็นธิดาของศาสนาจารย์แมคกิลวารี กับแม่ครูโซเฟีย (แม่ครูท่านนี้เป็นธิดาของหมอบรัดเลย์ คนดังที่ทุกคนรู้จักกันดี)
แม่ครูคอร์นีเลีย คู่ชีวิตของพ่อครูแฮรีส เป็นผู้มีความรู้ความสามารถสูง แต่งหนังสือเรื่อง “ภูมิศาสตร์สากล” เขียนต้นฉบับเป็นภาษาอังกฤษก่อน จากนั้นแปลเป็นภาษาล้านนาคำเมืองด้วยตนเอง หนังสือของแม่ครูเล่มนี้ใช้เป็นแบบเรียนวิชาภูมิศาสตร์สำหรับนักเรียนชายหญิงในเชียงใหม่หลายโรงเรียน นอกจากนี้แล้ว ยังมีแบบเรียนอีกเล่มหนึ่งที่นักเรียนในโรงเรียนคริสเตียนยุคแรกๆ ต้องศึกษา นั่นคือ “บันทึกของศรีโหม้” คนไทยคนแรกที่มีโอกาสเดินทางไปอเมริกาตั้งแต่อายุ 21 ปี เขาเขียนจดหมายมากถึง 24 ฉบับในระยะเวลาเพียง 1 ปีเศษๆ พรรณนารายละเอียดของสถานที่ เหตุการณ์บ้านเมืองตลอดระยะการเดินทางอย่างตื่นตาตื่นใจ
ต่อมาปี 2342 พ่อครูคอลลินส์ ผู้ก่อตั้งโรงเรียนชายวังสิงห์คำ (ก่อตั้งโรงเรียนมาตั้งแต่ปี 2430) ริมน้ำแม่ปิงฝั่งตะวันตก (ปัจจุบันคือสำนักงานเทศบาลนครเชียงใหม่ จนถึงบริเวณกาดเมืองใหม่) ได้ขอตัวพ่อครูแฮรีสให้มาช่วยเป็นรองครูใหญ่ บริหารดูแลโรงเรียนชายวังสิงห์คำแทนท่าน เนื่องจากพ่อครูคอลลินส์ เปิดโรงพิมพ์อเมริกันควบคู่ด้วยอีกงานหนึ่งจึงไม่ค่อยมีเวลาให้กับงานด้านการศึกษามากนัก จุดเปลี่ยนจุดนี้เอง มิชชันนารีหนุ่มผู้ซึ่งกำลังบริหารคริสตจักรแม่ดอกแดงอยู่ดีๆ จำต้องผันตัวเองมาเป็นผู้ดูแลโรงเรียนชายวังสิงห์คำอย่างเต็มตัวแทนที่พ่อครูคอลลินส์
จากนั้นไม่นาน พื้นที่ของโรงเรียนชายวังสิงห์คำเริ่มคับแคบ ไม่อาจขยายได้เพราะเป็นที่ธรณีสงฆ์ ทำให้พ่อครูแฮรีสตัดสินใจเลือกหาสถานที่ใหม่เพื่อขยับขยายให้โรงเรียนกว้างขวางขึ้น ในที่สุดมาได้พื้นที่ 22 ไร่ ณ อีกฟากหนึ่งของแม่น้ำปิงฝั่งตะวันออก โดยขอซื้อจากบริษัทบริติชบอร์เนียว ที่มาทำสัมปทานป่าไม้ ในราคา 2,600 รูเปีย (2,800 บาท) หลังจากนั้นค่อยๆ ซื้อเพิ่มอีก 70 กว่าไร่ ทำให้ปัจจุบันโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย ณ ถนนแก้วนวรัฐมีเนื้อที่กว่า 90 ไร่
แม่ครูคอร์นีเลียได้ปลูกต้นมะพร้าวโดยรอบโรงเรียนจำนวน 72 ต้น นับแต่ปี 2448 เป็นต้นมา พ่อครูแฮรีส ค่อยๆ ทยอยทำการก่อสร้างอาคารสถานศึกษาหลังต่างๆ แต่ละหลังกว่าจะแล้วเสร็จท่านต้องเขียนจดหมายส่งไปยังหน่วยงานต่างๆ ท่ามกลางหมู่มิตรสหาย คหบดีในมลรัฐนิวเจอร์ซีและมลรัฐอื่นๆ เพื่อขออนุเคราะห์งบสนับสนุนค่าก่อสร้าง โดยได้สร้างบ้านพักไม้สองชั้นมีระเบียงด้านหน้าขึ้นเป็นหลังแรก
อาคารแห่งนี้เองเคยใช้เป็นสถานที่รับเสด็จสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมารในคราวเสด็จประพาสมณฑลพายัพ และทรงวางศิลาราก (ไม่เรียก “ศิลาฤกษ์” เหมือนกับอาคารของชาวพุทธ แต่ทางคริสต์เรียก “ศิลาราก” แปลมาจากคำว่า Cornerstone) ณ บริเวณ ตึกเรียนบัทเลอร์ เมื่อวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2448 (ต่อมาตึกนี้รื้อช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง และได้สร้างหลังใหม่ทับที่อาคารเดิม)
โอกาสนั้นสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ได้พระราชทานนามแก่โรงเรียนว่า โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย หรือ The Prince Royal’s College เกี่ยวกับชื่อโรงเรียนนี้ พ่อครูแฮรีสเคยเขียนจดหมายไปถึงศาสนาจารย์แมคกิลวารีผู้เป็นพ่อตา ในทำนองรำพึงว่า “ฉันนึกว่าโรงเรียนนี้จะได้ชื่อว่าโรงเรียนวชิราวุธตามพระนามของพระองค์ท่าน”
พ่อครูหลวงแมคกิลวารีตอบกลับมาว่า “เราเลือกไม่ได้ ท่านประทานอะไรให้มาเราก็ต้องรับไว้” แต่หลังจากที่ใช้ชื่อโรงเรียนว่า The Prince Royal’s College ไปได้สักระยะหนึ่ง พ่อครูแฮรีสก็ยอมรับว่าชื่อนี้เหมาะสมกับสถานะของโรงเรียนอย่างแท้จริง (The Name fits to the School)
อาจารย์ยุทธชัย ดำรงมณีอธิบายว่า ล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 ไม่โปรดให้สร้างวัดประจำรัชกาลด้วยเห็นว่ามีวัดมากมายอยู่แล้วในพระนคร ในพระทัยของพระองค์ท่านจึงคงต้องการสงวนชื่อ “วชิราวุธ” นี้ไว้สำหรับโรงเรียนที่เป็นเสมือนวัดประจำรัชกาลด้วยนั่นเอง ซึ่ง “โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย” สร้างในปี 2453 หลังจากโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย 5 ปี ถือเป็นโรงเรียนเครือข่ายเดียวกัน
อาจารย์วรชาติ มีชูบท อดีตนักจดหมายเหตุหอวชิราวุธานุสรณ์ (ล่วงลับไปแล้ว) ได้กล่าวแก่อาจารย์ยุทธชัยว่า ล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 เคยเชิญพ่อครูแฮรีสไปเข้าเฝ้าฯ ที่บางกอก เพื่อขอหารือเรื่องทิศทางการศึกษาของโลกสากล ด้วยเห็นว่าพ่อครูแฮรีสเป็นชาวตะวันตก เคยผ่านการเรียนจากมหาวิทยาลัยปรินส์ตัน และเป็นหนึ่งในบุคลากรผู้มีประสบการณ์บริหารจัดการด้านการศึกษามายาวนาน เพื่อจะได้นำความเห็นของผู้คนอันหลากหลายมาใช้เป็นแนวทางในการจัดตั้งโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย