ราชมงคลล้านนา ผสานบ้าน วัด โรงเรียน น้อมใจจัดกิจกรรม สืบสานพระราชปณิธาน “ปลูกข้าวเพื่อแผ่นดิน” เทิดไท้พระพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา นำศาสตร์พระราชา โคก หนอง นา โมเดล ถ่ายทอดสู่เยาวชน ส่งเสริมเปิดศูนย์การเรียนรู้ข้าวแก่ชุมชน
“ข้าวต้องปลูก เพราะอีก 20 ปี ประชากรอาจจะ 80 ล้านคน ข้าวจะไม่พอ ถ้าลดการปลูกข้าวไปเรื่อย ๆ ข้าวจะไม่พอ เราจะต้องซื้อข้าวจากต่างประเทศ เรื่องอะไร ประชาชนคนไทยไม่ยอม คนไทยนี้ต้องมีข้าว แม้ข้าวที่ปลูกในเมืองไทยจะสู้ข้าวที่ปลูกในต่างประเทศไม่ได้ เราก็ต้องปลูก”
ความตอนหนึ่งพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรโครงการโคกภูแล จ.นราธิวาส ในปีพุทธศักราช 2536
เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในวันที่ 12 สิงหาคม 2565 และพระราชดำรัส “พระเจ้าอยู่หัวเป็นน้ำ ฉันจะเป็นป่าป่าที่ถวายความจงรักภักดีต่อน้ำ พระเจ้าอยู่หัวสร้างอ่างเก็บน้ำ ฉันจะสร้างป่า” เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2525 ณ บ้านถ้ำคิ้ว อำเภอล่องดาว จังหวัดสกลนคร
ด้วยน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ที่มีต่อปวงพสกนิกรชาวไทย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จึงได้จัดกิจกรรม ราชมงคลล้านนาน้อมสืบสานพระราชปณิธาน “ปลูกข้าวเพื่อแผ่นดิน” ภายใต้โครงการ 90 พระชนมพรรษา สายน้ำล้านนา เทิดไท้พระพันปีหลวง สืบสานพระราชปณิธานในหลวงรัชกาลที่ 9 สู่การ สืบสาน รักษา ต่อยอด โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 น้อมนำเอาศาสตร์พระราชา โคก หนอง นา โมเดล ถ่ายทอดวิถีการเรียนรู้การปลูกข้าวสู่เยาวชนและประชาชนทั่วไปเพื่อให้ได้เรียนรู้เทคโนโลยีและวิธีการปลูกข้าวในรูปแบบต่างๆ การแปรรูปผลผลิต สู่คนทุกช่วงวัย ร่วมกันอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพระราชทาน รักษาสมดุล เอกลักษณ์ข้าวท้องถิ่น ภูมิปัญญา ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของคนทุกภาคส่วน
โดยพิธีเปิดกิจกรรมในวันที่ 5 สิงหาคม 2565 พลตรี ประสิษฐิพงศ์ มูลดี ผู้แทนแม่ทัพ ภาค 3 เป็นประธานเปิด ณ ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง สถาบันถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งกิจกรรมนี้ยังจัดขึ้นทั้ง 6 พื้นที่จัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ตลอดเดือนสิงหาคม 2565
กิจกรรมครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายภาครัฐ ภาคการศึกษา ภาคเอกชน องค์กรท้องถิ่นและ ภาคประชาชน อาทิ กรมการข้าว เครือข่ายชาวนาและประชาชนในพื้นที่ อำเภอและองค์การบริหารส่วนตำบลนักเรียน นักศึกษา และประชาชน ผสานความร่วมมือขององค์กรรอบข้างโดยยึดหลัก “บวร” บ้าน วัด โรงเรียน ที่จะร่วมได้สืบสานวิถี ภูมิปัญญาและเห็นคุณค่าของการปลูกข้าวไทย ด้วยการเรียนรู้ผ่านองค์ความรู้วิชาการปรัชญาแห่งศาสตร์พระราชา
โดยการปลูกข้าวจะใช้พันธุ์ข้าวที่มหาวิทยาลัยได้ร่วมพัฒนาสายพันธุ์ให้มีความเหมาะสมกับชาวล้านนา ได้แก่ ข้าวเหนียวธัญสิริน ซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานนามข้าว “ธัญสิริน” เป็นพันธุ์ข้าวเหนียวต้านทานโรคไหม้ และเมล็ดข้าวหอมล้านนา ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีความต้านทานโรคและแมลง เป็นข้าวที่มีคุณภาพ รวมถึงการใช้พันธุ์ข้าวแห่งความเป็นมงคล (พันธุ์ข้าวพระราชทาน) ผ่านกรรมชีววิถีการแห่งการทำนาด้วยการปฏิบัติจริง เพื่อให้ได้ซึ่งผลผลิตที่มีคุณภาพและสามารถ ต่อยอดสู่การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทรงคุณค่า
ภายในงานพบกับกิจกรรม การถ่ายทอดเทคโนโลยีการปลูกข้าว การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากข้าว การสาธิตและ ให้ความรู้วิธีการทำนาอย่างถูกวิธี อาทิ การปลูกข้าวนาโยน การจัดแสดงผลงานโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG (U2T for BCG) และกิจกรรมการเรียนรู้อีกมากมาย