ทุ่งเสลี่ยม : แดนดินถิ่นสองครูบาแห่งล้านนา

ข่าวศิลปวัฒนธรรม , 22 ส.ค. 2565, 22:37

ทุ่งเสลี่ยม : แดนดินถิ่นสองครูบาแห่งล้านนา

           ชาวทุ่งเสลี่ยมแม้จะอยู่จังหวัดสุโขทัย แต่ว่าประชากรมากกว่า 80 % มีชาติพันธุ์ไทโยน ดำรงวิถีชีวิตภายใต้วัฒนธรรมประเพณีแบบล้านนา เนื่องจากมีการอพยพผู้คนมาจากอำเภอเถิน จังหวัดลำปาง ราว 100 กว่าปีก่อน กลุ่มคนแรกได้ปักหลักถิ่นฐานบริเวณตำบลกลางดง อันมีวัดจำนวนมากที่สร้างขึ้นภายใต้รูปแบบศิลปกรรมล้านนา เช่นวัดกลางดง วัดม่อนจำศีล และวัดท่าต้นธงชัย

          ส่วนคำว่า “ทุ่งเสลี่ยม” สามารถสันนิษฐานความหมายได้ 2 แนวทาง แนวทางแรกเป็นมุมมองจากคนภาคกลาง ให้ความหมายว่า เนื่องจากบริเวณนั้นเป็นที่ที่มีข้าวตอกพระร่วงจำนวนมาก ซึ่งลักษณะของข้าวตอกพระร่วงเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยม จึงกลายเป็นที่มาของชื่อทุ่งเสลี่ยม

          อีกแนวทางหนึ่ง คนท้องถิ่นให้คำอธิบายว่า เป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยกอไม้สะเรียม หมายถึงสะเดาของทางภาคกลาง ต่อมาสะเรียมแผลงเป็น เสลี่ยม ส่วนอีกฟากหนึ่งจะเป็นดงไม้สัก อันเป็นที่มาของชื่อวัดกลางดง

          ข้อสำคัญ ในอำเภอทุ่งเสลี่ยมแห่งนี้เป็นดินแดนที่มีความผูกพันกับ “สองครูบา” รูปสำคัญแห่งล้านนาเป็นอย่างยิ่ง นั่นคือครูบาเจ้าศรีวิชัย และครูบาอภิชัยขาวปี

ครูบาเจ้าศรีวิชัยสร้างวัดกลางดง

          ตั้งอยู่เลขที่ 184 หมู่ที่ 2 ตำบลกลางดง อำเภอทุ่งเสลี่ยม จังหวัดสุโขทัย การเดินทางไปวัดกลางดง หากมาจากเชียงใหม่ให้ตั้งต้นที่แยกเถิน ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1048 เถิน-ทุ่งเสลี่ยม ขับไปจนถึงใจกลางของตำบลกลางดง แต่หากมาจากกรุงเทพให้ผ่านขึ้นมายังทิศเหนือของจังหวัดสุโขทัยโดยใช้ถนนสาย 1327 จากตัวเมืองจังหวัดสุโขทัยระยะทางประมาณ 73.2 กิโลเมตร           

          วัดกลางดงสร้างขึ้นริมแม่น้ำมอก มีความเกี่ยวข้องกับครูบาเจ้าศรีวิชัย เนื่องมาจากมีพ่อหนานนายหนึ่งชื่อทองสุข (คำสุข) เป็นคนตำบลกลางดง มีความศรัทธาเลื่อมใสในตัวครูบาเจ้าศรีวิชัยมาก จึงเดินทางไปขอบวชที่วัดบ้านปาง อยู่รับใช้อุปปัฏฐากครูบาเจ้าศรีวิชัย ครูบาทองสุขมีอายุรุ่นราวคราวเดียวกันกับครูบาชัยยะวงศาพัฒนา ครูบาเจ้าศรีวิชัยให้ความไว้วางใจมาก อยู่ใกล้ชิดทำหน้าที่คล้ายกับเป็นเลขาของครูบาเจ้าศรีวิชัยด้วยรูปหนึ่ง ดังนั้น เมื่อครูบาเจ้าศรีวิชัยใกล้มรณภาพ ครูบาทองสุขจึงได้รับมอบลูกประคำ และเขี้ยว (อัฐิธาตุส่วนฟัน) ของครูบาเจ้าศรีวิชัยเก็บรักษาไว้ หลังจากนั้นครูบาทองสุขลาสิกขาจากสมณเพศออกมาเป็นพ่อหนานทองสุข สมบัติดังกล่าวได้ตกทอดมาสู่รุ่นของทายาทชาวกลางดง ทุ่งเสลี่ยม แต่ต่อมาครูบาอานันท์ พุทฺธธมฺโม ได้หางบจัดซื้อนำทั้งสองสิ่งไปเก็บรักษาไว้ที่ วัดพระธาตุแสงแก้วมงคล จังหวัดพะเยา 

          ครูบาทองสุขผู้นี้เองเป็นคนที่นิมนต์ครูบาเจ้าศรีวิชัยมาสร้างวัดกลางดง แต่เนื่องด้วยภารกิจที่มากล้นครูบาเจ้าศรีวิชัยไม่สะดวกเดินทางมา จึงให้ครูบาอภิชัยขาวปีเดินทางมาสำรวจพื้นที่ก่อนในเบื้องแรกเพื่อกลับมารายงาน จากนั้นในปี 2466 ครูบาเจ้าศรีวิชัยมอบหมายให้ลูกศิษย์คือ “ครูบาเป็ง” จากวัดห้วยริน อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง ไปเป็นประธานสงฆ์ โดยมีผู้นำชาวบ้านคือนายพรม ชุมดวง ได้พาศรัทธาญาติโยมช่วยกันสร้างวัดในเบื้องแรกประกอบด้วยวิหาร อุโบสถกลางน้ำ กุฏิสงฆ์ 

          พ.ศ. 2479 ขณะนั้นวัดกลางดงมีพระครูบรรพตรัตนชัย เป็นรักษาการเจ้าอาวาส ครูบาอ้าย จากวัดสันป่าหนาด อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง ผู้เป็นลูกศิษย์ครูบาเจ้าศรีวิชัย ได้เดินธุดงค์มาปักกลดนั่งวิปัสสนากัมมัฏฐาน ณ บริเวณสถานที่ที่ต่อมาได้ก่อสร้างพระธาตุเจดีย์ ครูบาอ้ายได้เห็นนิมิตว่าครูบาเจ้าศรีวิชัยมีความประสงค์ขอให้สร้างเจดีย์ ณ สถานที่แห่งนี้ ครูบาอ้ายจึงได้ชักชวนครูบาบุญเป็ง ผู้ก่อตั้งวัดกลางดงรูปแรกมาดำเนินการก่อสร้างพระธาตุเจดีย์ 5 ยอดด้วยกัน สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2498 (ใช้เวลาก่อสร้างนานถึง 19 ปี) ทำพิธียกยอดฉัตรมีลูกแก้วมงคลโป่งข่าม พร้อมสร้างพระพุทธรูปบนประตูทางเข้า 5 ซุ้ม

          อุโบสถหลังเดิมเคยเป็นอุโบสถกลางน้ำ แต่ถูกรื้อไปนานแล้ว พ.ศ. 2490 ได้ปรับวิหารหลังเดิมแบบเรียบง่ายสร้างด้วยไม้ (คืออาคารที่อยู่ติดกับมณฑปครูบาเจ้าศรีวิชัย) มาเป็นอุโบสถแทน และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาในปีนั้น 

          ส่วนวิหารหลังใหม่ที่ตั้งอยู่หน้าเจดีย์ สร้างระหว่าง พ.ศ. 2505-2506 หลังจากนั้นสร้างพระประธานในวิหาร ขณะนั้นมีพระมหาศรีคำ เป็นเจ้าอาวาส 

          ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2541 พระครูบรรพตรัตนชัย (เดิมเป็นชาวบ้านกลางดงได้ย้ายไปจำพรรษาที่วัดเขาแก้ว) มีญาติโยมไปนิมนต์พระครูพิพิธธรรมมงคล จากวัดพิพัฒน์มงคล มาพำนักจำพรรษาเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2541 และได้รับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดกลางดง เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2541 ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา วัดกลางดงจึงได้พัฒนาปรับปรุงทั้งด้านภูมิทัศน์ และภูมิสถาปัตย์ต่างๆ 

ผลงานของครูบาเจ้าศรีวิชัย

          พระธาตุเจดีย์ 5 ยอด คณะลูกศิษย์ของครูบาเจ้าศรีวิชัย สร้างขึ้นตามนิมิตที่เห็นครูบาเจ้าศรีวิชัยมากำหนดรูปแบบ เป็นเจดีย์ 5 องค์ หรือชาวล้านนานิยมเรียกว่า พระธาตุ 5 ดวง มีความหมายถึง คติความเชื่อในเรื่องพระเจ้าทั้งห้า หรือความปรารถนาที่จะเกิดในยุคสมัยของพระศรีอาริยเมตรไตรย 

          รูปแบบของพระเจดีย์องค์กลางเป็นทรงระฆังมีรัดอกคาด 1 เส้น ประดับด้วยลายดอกกระจัง 8 ดอก หมายถึงการประกาศศาสนาพุทธไปยังทิศทั้ง8 พระเจดีย์ประธานได้รับการบูรณะปิดทองจังโกในปี 2551 ส่วนพระเจดีย์ที่มุมทั้งสี่ เป็นเจดีย์ขนาดเล็กประดับด้วยปูนปั้นระบายสี นอกจากนี้ยังมีซุ้มมุข 4 ทิศ ประดิษฐานพระพุทธรูปภายใน ทั้งหมดตั้งอยู่บนฐานยกเก็จขนาดใหญ่ อันเป็นรูปแบบที่นิยมในเขตล้านนา พระครูพิพิธธรรมมงคล ได้สร้างมณฑปตรีมุข เป็นที่ประดิษฐานรูปเหมือนครูบาเจ้าศรีวิชัย ลักษณะเป็นหลังคาทรงปราสาท 3 มุข จำนวน 1 หลัง รวมทั้งอนุสาวรีย์รูปครูบาเจ้าศรีวิชัยยืน หล่อด้วยสำริด 1 รูป พร้อมทั้งตั้งชื่อพระธาตุเจดีย์ 5 ยอด ใหม่ว่า พระเจดีย์ศรีวิชัย เพื่อเป็นเครื่องรำลึกถึงนักบุญแห่งล้านนา ผู้มีปฏิปทาอันเคร่งครัดน่าเลื่อมใส

          ต่อมาครูบาอานันท์ พุทฺธธมฺโม ได้จัดสร้างสารูปบรรจุเกศาและอัฐิของครูบาเจ้าศรีวิชัย จำนวน 12 รูป เพื่อนำไปถวายแด่วัดต่างๆ กระจายให้ทั่วทุกจังหวัดที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยเดินทางไปบูรณปฏิสังขรณ์ เป็นรูปเหมือนครูบาเจ้าศรีวิชัยยกมือขวาขึ้นนับเม็ดประคำ ทางวัดกลางดงได้นำมาประดิษฐานในศาลามณฑปครูบาเจ้าศรีวิชัย

ครูบาอภิชัยขาวปี ละสังขารที่ “ทุ่งเสลี่ยม” 

        นอกจากวัดกลางดงจะเป็นวัดที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยมอบหมายให้ลูกศิษย์ไปสร้างแล้ว อำเภอทุ่งเสลี่ยมยังมีวัดอีกแห่งหนึ่ง ที่มีความผูกพันกับครูบาอภิชัยขาวปี นั่นคือวัดท่าต้นธงชัย

 วันที่ 3 มีนาคมของทุกปี เป็นวันรำลึกถึงการละสังขารของ “ครูบาอภิชัยขาวปี” ผ่านไปแล้วกว่าสี่ทศวรรษเศษที่ท่านจากไป ทว่า ณ วัดพระพุทธบาทผาหนาม ตำบลป่าไผ่ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ยังคงมีศิษยานุศิษย์ไปกราบศพสรีระร่างของท่านอย่างแน่นขนัด

          ครูบาอภิชัยขาวปีมีเชื้อสายลัวะ เป็นชาวบ้านแม่เทย อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน บรรพชาเป็นสามเณรและอุปสมบทเป็นพระภิกษุโดยมีครูบาเจ้าศรีวิชัยเป็นพระอุปัชฌาย์ มีฉายาว่า “พระอภิชัย อภิชโย” เหตุที่ถูกเรียกว่า “ผ้าขาวปี” นั้น มาจากการที่ถูกจับสึกให้นุ่งห่มผ้าขาว และมีนามเดิมว่า “จำปี” เนื่องจากเกิดในช่วงวันปากปี หรือ 17 เมษายน พ.ศ. 2432 ตรงกับปีฉลู 

          ระหว่างอายุ 24 ปีจนถึงอายุ 35 ปี ครูบาอภิชัยขาวปีอุทิศตนมุ่งมั่นงานก่อสร้างปฏิสังขรณ์วัดร้างต่างๆ ตามแนวทางที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยวางไว้อย่างเต็มที่ นอกจากแถบอำเภอลี้ แม่ทา บ้านโฮ่งในจังหวัดลำพูนแล้ว ท่านยังได้เดินทางไปก่อสร้างศาสนสถานทั่วล้านนา ทั้งในลำปาง พะเยา เชียงราย แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ตาก และข้ามเขตแดนพม่าแถบลุ่มน้ำแม่เมยและสาละวินอีกด้วย ก่อนจะพบกับวิกฤติชีวิตด้วยมรสุมทางการปกครองของคณะสงฆ์เมืองลี้ที่เคร่งครัดกฎระเบียบ เหตุเพราะท่านเป็นคนสนิทหรือ “มือขวา” ของครูบาเจ้าศรีวิชัย

          ครูบาอภิชัยขาวปีถูกจับสึกครั้งแรก ในข้อหาหลบเลี่ยงการเกณฑ์ทหาร (ได้กล่าวถึงแล้วในบทที่ 1 ว่าด้วยคดีต้องอธิกรณ์ของครูบาเจ้าศรีวิชัย) และต้องโทษจองจำอยู่ในคุก (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย) ในระหว่างนั้นท่านได้ริเริ่มสร้างโรงพยาบาลลำพูนจนแล้วเสร็จ เนื่องจากได้เห็นสภาพความเป็นอยู่ของนักโทษในเรือนจำที่แสนจะอนาถา 

          หลังจากพ้นโทษจองจำนานกว่า 6 เดือนแล้ว ครูบาอภิชัยขาวปีได้บวชครั้งที่สอง โดยมีพระครูสรภังค์ (เทพวงศ์ เทววํโส) วัดนันทาราม ตำแหน่งเจ้าคณะแขวงเมืองนครเชียงใหม่ (ปกติดูแลเขตพื้นที่อำเภอสะเมิง) เป็นพระอุปัชฌาย์ให้ เนื่องจากขณะนั้นครูบาเจ้าศรีวิชัยอยู่ในสถานะลำบากเพิ่งพ้นจากการต้องอธิกรณ์มาได้ไม่นาน ภายหลังพระครูสรภังค์ถูกลดบทบาทลงไม่ให้มีหน้าที่ดูแลสงฆ์ในพื้นที่ มาเป็นพระครูกิตติมศักดิ์แทน

          ครูบาอภิชัยขาวปีถือเป็นศิษย์รูปสำคัญที่สุดในบรรดาศิษยานุศิษย์ทั้งหมดของครูบาเจ้าศรีวิชัย เนื่องจากมีความสนิทสนมรับใช้ใกล้ชิดครูบาเจ้าศรีวิชัยมากที่สุด และมีปฏิปทาเดินตามรอยครูบาเจ้าศรีวิชัยทุกประการ ไม่ว่าจะเป็นด้านการตั้งมโนปณิธานว่าปรารถนาพระโพธิญาณ (จะเป็นพระโพธิสัตว์ หรืออนาคตพุทธเจ้าองค์หนึ่ง) หรือด้านการเป็นพระนักพัฒนาก่อสร้างวัดวาอาราม

          กระทั่งครูบาเจ้าศรีวิชัยละสังขารไป ครูบาอภิชัยขาวปีได้กลายมาเป็นศูนย์รวมความศรัทธาของชาวล้านนาแทนที่ เพราะมีวัตรปฏิบัติตามแนวทางที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยวางรากฐานไว้ให้ทุกประการ ครูบาอภิชัยขาวปีถึงแก่มรณกรรม เมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2520 ในระหว่างการเดินทางไป "นั่งหนัก" เพื่อระดมงบประมาณก่อสร้างวัดและโรงเรียนให้แก่ชาวลำปาง กับชาวสุโขทัย 

          ช่วงนั้นเกิดเหตุการณ์ช่วงชิงสรีระร่างของครูบาอภิชัยขาวปีที่วัดท่าต้นธงชัย อำเภอทุ่งเสลี่ยม จังหวัดสุโขทัย ระหว่างชาวลำพูน ลำปาง และสุโขทัย ด้วยความที่ครูบาอภิชัยขาวปีเป็นที่รักเคารพบูชาของมหาชนอย่างกว้างขวางรองลงมาจากครูบาเจ้าศรีวิชัย ในช่วงนั้นเองที่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนาแห่งวัดพระพุทธบาทห้วยต้ม ได้เข้ามามีบทบาทในการเจรจาไกล่เกลี่ยให้ชาวสุโขทัยและชาวลำปางยอมรับฟังเหตุผลในการขอสรีระร่างของครูบาอภิชัยขาวปีกลับคืนสู่แผ่นดินมาตุคามเมืองลี้ ลำพูน ด้วยความผูกพันของชาวกะเหรี่ยงและชาวลำพูนทุกชาติพันธุ์ที่เฝ้ารออยู่ และเสนอความเห็นว่าควรเก็บร่างของท่านไว้โดยไม่ประชุมเพลิง เพื่อให้สาธุชนได้กราบไหว้ “สรีระทิพย์” นั้น 

          จวบจนบัดนี้ร่างของครูบาอภิชัยขาวปียังคงเก็บรักษาไว้ในโลงศพแก้ว ณ วัดพระพุทธบาทผาหนาม ตำบลป่าไผ่ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ในสภาพที่ไม่เน่าเปื่อย ส่วนโลงศพเดิมของท่านเมื่อแรกเสียชีวิต ตั้งอยู่ที่วัดพระพุทธบาทตะเมาะ อำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่ เป็นสองวัดสำคัญที่ท่านได้จำพรรษาในช่วงบั้นปลายชีวิต ทุกวันที่ 3 มีนาคม ของทุกปี จะมีพิธีเปลี่ยนผ้าห่อสรีระทิพย์ของท่านที่วัดพระพุทธบาทผาหนาม

            เมื่อใครได้ไปเยือนวัดกลางดง และวัดท่าต้นธงชัย ที่อำเภอทุ่งเสลี่ยม จังหวัดสุโขทัย รวมทั้งวัดทางผ่านอื่นๆ เช่น วัดม่อนจำศีล วัดเหล่านี้ยังคงมีเรื่องเล่าขานถึงตำนานแห่งสองครูบาของล้านนา จารจำอย่างไม่รู้เลือน

1

ข่าวอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ส่งมอบรถใหม่ Hyundai H-1 Elite FE สีขาว เป็นรถยนต์น่าใช้สำหรับครอบครัว

เอชดีเจมอเตอร์ ฮุนไดเชียงใหม่ เซลส์มุ้ย ร่วมแสดงความยินดีพร้อมส่งมอบรถใหม่ให้กับคุณภัทรียา เลิศชีวกานต์Hyundai H-1 Elite FE สีขาว ขอขอบคุณที่ให้เกียรติมาเป็นครอบครัวฮุนได สอบถามรายละเอียดของรถยนต์ ฮุน...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 26 ก.ค. 2567, 17:24
  • |
  • 26

วันนี้วันสุดท้ายแล้ว 23 กรกฏาคม 67 ชั้น 1 แอร์พอร์ตเงาน LANNA AUTO SALE พบรถไฟฟ้า วู่หลิง...

 รถยนต์ไฟฟ้า WULING BINGUO รถไฟฟ้าสวยทั้งภายในและรูปลักษณ์ด้านนอกขนาดกระทัดรัดมาถึงเชียงใหม่แล้ว และนำออกงานนี้เป็นงานแรก ตั้งราคาไว้ถูกใจคนเมืองแน่นอน โดยเริ่มต้นที่ 419,000 ราคานี้มี 1พันคันเท่...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 23 ก.ค. 2567, 10:31
  • |
  • 60

ส่งมอบไปอีกคันแล้ว ฟอร์ด Double Cab XLS 2.0L Turbo HR 6AT เป็นรถยนต์ที่น่าใช้

 ส่งมอบรถยนต์น่าใช้ให้กับลูกค้า โดยที่ปรึกษาการขาย นันท์พิพัฒน์  สุจริต  ร่วมแสดงความยินดีกับลูกค้าลูกค้า คุณ ลักษณา วันวา มาถอยรุ่นรถฟอร์ด Double Cab XLS 2.0L Turbo HR 6AT ไปจากโชว์รูม...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 19 ก.ค. 2567, 20:31
  • |
  • 47

ส่งมอบไปอีกคันแล้ว ฟอร์ด 2.0L Bi-Turbo Titanium+ 4x4 10AT เป็นรถยนต์ที่น่าใช้

 ส่งมอบรถยนต์น่าใช้ให้กับลูกค้า โดยที่ปรึกษาการขาย ภุชงค์ ชมจำปี ร่วมแสดงความยินดีกับลูกค้า คุณ วุฒิ รัชฏะนันท์ มาถอยรุ่นรถฟอร์ด 2.0L Bi-Turbo Titanium+ 4x4 10AT ไปจากโชว์รูม ขอบคุณที่ ให้เกียรติ...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 19 ก.ค. 2567, 20:23
  • |
  • 54

ส่งมอบไปอีกคันแล้ว ฟอร์ด Double Cab XLS 2.0L Turbo HR 6AT เป็นรถยนต์ที่น่าใช้

 ส่งมอบรถยนต์น่าใช้ให้กับลูกค้า โดยที่ปรึกษาการขาย ภุชงค์ ชมจำปี ร่วมแสดงความยินดีกับ คุณ สุรศักดิ์ สิงห์สา มาถอย ฟอร์ด Double Cab XLS 2.0L Turbo HR 6AT ไปจากโชว์รูม ขอบคุณที่ ให้เกียรติมาเป็นครอ...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 19 ก.ค. 2567, 20:17
  • |
  • 49

ส่งมอบไปอีกคันแล้ว ฟอร์ด Double Cab Raptor 2.0L Bi-Turbo 4WD 10ATเป็นรถยนต์ที่น่าใช้

 ส่งมอบรถยนต์น่าใช้ให้กับลูกค้า โดยที่ปรึกษาการขาย เอมิกา เทพา ร่วมแสดงความยินดีกับ บริษัท บ่อหลวง มิตรเกษตร จำกัด มาถออย รุ่นรถ Double Cab Raptor 2.0L Bi-Turbo 4WD 10AT ไปจากโชว์รูม ขอบคุณที่ ให...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 19 ก.ค. 2567, 20:07
  • |
  • 51
Sytiq Company

ออกแบบพัฒนาโปรแกรมและแอพลิเคชั่น

โดยบริษัทไซทิค ติดต่อ:0819507128

Sytiq Company

ออกแบบและติดตั้ง Home Automation

โดยบริษัทไซทิค ติดต่อ:0819507128