เวียงเถาะ เวียงบริวารของนครหริภุญไชย

ข่าวศิลปวัฒนธรรม , 4 ก.ย. 2565, 17:13

เวียงเถาะ เวียงบริวารของนครหริภุญไชย

 “เวียงเถาะ” ตั้งอยู่ในเขตอำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่ มีความสำคัญคือเป็นหนึ่งในเส้นทางเสด็จของพระนางจามเทวีจากละโว้ขึ้นมานั่งเมือง ณ นครหริภุญไชยเมื่อปี พ.ศ. 1204

ชื่อเวียงเถาะ นี้ไม่มีใครทราบว่าเป็นชื่อเก่าหรือชื่อใหม่ที่มาเรียกกันในภายหลัง อีกทั้งยังไม่มีคำตอบแน่ชัดว่า เถาะ คำนี้ ควรหมายถึงสิ่งใด บางท่านว่าอาจหมายถึงเวียง 12 นักษัตร เพราะนอกจากเวียงเถาะแล้วเลียบน้ำแม่ปิงขึ้นไปทางเหนือยังมี เวียงขาล (ต่อมาเพี้ยนเป็น ขาน) เวียงแม แต่บางท่านว่า เถาะ ในภาษาพื้นเมืองหมายถึง “รองท้อง” เช่นคำว่า เถาะข้าว หมายถึงกินอาหารรองท้องนิดหน่อยก่อนจะไปทานมื้อหนัก

          ในตำนานที่เกี่ยวกับพระนางจามเทวีกล่าวแต่เพียงว่า ณ จุดที่พระนางให้นายขมังธนูยิงธนูเสี่ยงทายมาจากบ้านท่าเชียงทองจนกระทั่งธนูมาปัก ณ บริเวณตำบลหนึ่ง ซึ่งมีชื่อว่า บ้านโทรคามแล้ว สถานที่นี้เป็นรมณียสถานอันพอพระทัยนัก พระนางจามเทวีโปรดให้พักแรมอยู่ ณ ที่นั้นและทรงสร้างสถูปขึ้นองค์หนึ่ง ประทานนามว่า วิปะสิทธิเจดีย์ หรือปวิสิทถะเจดีย์ เมื่อสร้างเสร็จได้มีพิธีฉลองและกระทำการสักการบูชาเป็นอันมาก

         เมื่อพิจารณาระหว่างเนื้อหาในตำนานกับสภาพของเวียงเถาะ พบว่า คำว่าเวียงเถาะมีความคล้ายกับคำว่า โทรคาม คืออาจมีการแผลงคำว่า โทรคาม เป็น โถะ และกลายเป็นเถาะก็ได้ หรืออีกนัยหนึ่ง ในทางกลับกันหากชื่อเวียงเถาะมาก่อนเพราะเป็นภาษาพื้นเมือง เมื่อตำนานเขียนเป็นภาษาบาลี อาจมีการแปลงหรือย้อมคำว่า เถาะ เป็น โทรคาม ก็เป็นได้

         ส่วนจุดที่ยิงธนูเสี่ยงทายมาแล้วสร้างเจดีย์นั้น เชื่อกันว่าปัจจุบันคือ วัดพระธาตุดอยน้อย 

          ตัวเวียงเถาะ ตั้งอยู่รอยต่อระหว่างน้ำแม่ปิงและน้ำแม่ขานไหลมาบรรจบกัน ทำให้เวียงเถาะกินพื้นที่กว้างทั้งสองฝั่ง คือเขตจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำพูน เมื่อมองจากแผนที่ทางอากาศ ลักษณะของเวียงเถาะในฝั่งเชียงใหม่ หากมีความสมบูรณ์จะเป็นผังเมืองรูปสี่เหลี่ยม แต่เนื่องจากถูกกระแสน้ำของแม่ปิงกัดเซาะตัวเมืองซีกตะวันออกจนค่อยๆ พังทลายลง ส่วนที่เหลือจึงมีขนาดให้เห็นเพียง 300 × 550 เมตร

          หลักฐานเมืองโบราณของเวียงเถาะในปัจจุบัน เหลืออยู่เพียงไม่กี่แห่ง ได้แก่ วัดสองแคว วัดพระธาตุดอยน้อย และวัดสันคะยอม สามวัดนี้อยู่ฝั่งอำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่ ในขณะที่ฝั่งอำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน มีวัดป่าป๋อ วัดพระเจ้าหูยาน และวัดหนองผ้าขาว ซึ่งเวียงโบราณฝั่งตะวันออกในเขตลำพูนนี้ ไม่นิยมเรียกว่าเวียงเถาะ แต่กลับเรียกว่า “เวียงรัตนา” แทน

วัดสองแคว

ตั้งอยู่บริเวณบ้านสองแคว ตำบลสองแคว อำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่ ใกล้กับบริเวณที่น้ำแม่ขานไหลมาบรรจบกับแม่น้ำปิง ทำให้บริเวณนี้เรียก “สองแคว” ต่อมาน้ำแม่ขานเปลี่ยนเส้นทางเดินและหายไป เหลือแต่น้ำแม่ปิงเพียงสายเดียว ยังมีร่องรอยของหนองน้ำที่อยู่ด้านทิศตะวันออกด้านหน้าวัด ที่วัดสองแควนี้เคยมีการขุดค้นทางโบราณคดีโดยกรมศิลปากร 3 ครั้ง

ครั้งแรกปี 2530 พบโบราณวัตถุสมัยหริภุญไชยจำนวนมาก ได้แก่ ชิ้นส่วนภาชนะดินเผา ฐานบัวคว่ำบัวหงายเป็นบัวกลีบยาวนูนแบบปาละ ทำด้วยหินทราย และพระพุทธรูปหินทรายสีขาว ต่อมาได้นำมาประดิษฐานเป็นพระประธานในวิหารวัดสองแคว เป็นศิลปะสมัยหริภุญไชย ประทับนั่งขัดสมาธิเพชร ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 1.83 เมตร สูง 2.59 เมตร ต่อมาในยุคหลังถูกทาสีทับใหม่ในยุค 80 ปีที่ผ่านมา

ครั้งที่สอง พ.ศ. 2535 พบโบราณวัตถุ ประเภทเศษภาชนะดินเผาในวัฒนธรรมหริภุญไชย กระดูกสัตว์ กระเบื้องดินขอ เปลือกหอย ชิ้นส่วนโลหะ พระพิมพ์ดินเผาซุ้มพุทธคยา เสมาหินแบบธรรมชาติ 

ครั้งที่ 3 ปี 2557 เกิดจากการที่เทศบาลตำบลสองแควใช้รถแบ็คโฮขุดร่องน้ำใกล้ถนนสาธารณะที่บริเวณหนองฮองแฮงเพื่อวางบ่อบาดาล ปรากฏพบลวดลายปูนปั้นและดินเผาเป็นชิ้นส่วนเครื่องประดับสถาปัตยกรรมจำนวนมาก เช่น วงโค้งซุ้มจระนำหรือซุ้มพระพุทธรูป ลายใบฝักเพกา (คล้ายใบระกา) รูปเทวดา หน้ากาล และตัวสิกขี (บุคคลครึ่งตัวยกมือขึ้นระดับอก) ทำให้นักโบราณคดีของกรมศิลปากรต้องเร่งลงพื้นที่ เพื่อรวบรวมโบราณวัตถุอันล้ำค่าเหล่านี้มาเก็บรักษาและจัดแสดง 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนแรกชิ้นที่สมบูรณ์ จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ และส่วนที่สอง เก็บรักษาไว้ในตู้กระจกภายในพระวิหารวัดสองแคว

สิ่งสำคัญที่สุดคือการพบจารึกแท่งหินสีน้ำตาลเทาหน้าวัดสองแคว เยื้องไปทางทิศใต้เล็กน้อย เรียกกันว่า “จารึกเวียงเถาะ” เลขทะเบียน ชม.68 ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงใหม่ เลขทะเบียนใหม่คือ พบ. 422/2524 สำรวจพบโดย ดร. ฮันส์ เพนธ์ นักจารึกวิทยาชาวเยอรมัน ผู้ล่วงลับ เคยทำงานที่สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2516 และมอบให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชยงใหม่ พ.ศ. 2523จารึกหลักนี้เป็นหินทรายผิวขรุขระ ไม่เรียบ ด้านหนึ่งมีรู 2 รู ลึก 7.5 เซนติเมตร กว้าง 4.5 เซนติเมตร มีอักษรจารึก 2 ด้าน ด้านที่มีรูจำนวนประมาณ 16 บรรทัด และด้านที่สอง ประมาณ 12 บรรทัด ด้านมีรู ยาว 72 เซนติเมตร กว้าง 47 เซนติเมตร ด้านที่สอง ยาว 80 เซนติเมตร กว้าง 49 เซนติเมตร จารึกด้วยอักษรมอญโบราณ ภาษามอญ 

เนื้อความในจารึก ด้านที่หนึ่ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์พงศ์เกษม สนธิไทย ถอดความเป็นภาษาไทยว่า 

“นี้คือกริยาบุญของข้าน้อยอันเป็นความสัตย์จริง ถวายแด่พระมารดาของสมิงธรรมทีปนี ... นี้พระเจ้าแผ่นดินผู้เป็นใหญ่ปู่เจ้าอาทิตยสร้างไว้ โดยซื้อจากเจ้ารัฐ หฤฺหฤภุญเชยฺย (จำนวน) 5… แล้วสร้างไว้ในมหานครวสรัฐนคร ด้วยกุศลอันข้าสถาปนาสงฆสีมานี้ ขอมงคลนี้จงได้แก่ท่านทั้งหลายคือ ปู่พระเจ้ารามพล ปู่พระเจ้าอตฺถก...ปู่พระเจ้าเทวกะ...”

พบว่าจารึกเวียงเถาะมีการเขียนชื่อเมืองหลายเมือง เช่นเมือง “วสรัฐนคร” กับชื่ออาณาจักร "หฤฺหฤภุญเชฺยย" อ่านว่า “หะริ-หะระ-ภุญไชย” อาจารย์พงศ์เกษมตีความว่า อาจหมายถึง เมือง “ภุญไชย” นี้เป็นเมืองที่มีทั้งการนับถือศาสนาฮินดูในลัทธิไวษณพนิกาย (บูชาพระหริ หรือพระวิษณุเป็นใหญ่) และทั้งลัทธิไศวนิกาย (บูาพระหระ หรือพระศิวะเป็นใหญ่) มีข้อน่าสังเกตว่า จารึกอักษรมอญโบราณหลักอื่นๆ ในลำพูนที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย จังหวัดลำพูนนั้น ตัวศิลาจารึกมักมีการถูกสกัดตัวอักขระคำนำหน้า ภุญไชย ทิ้งไปหมดทุกหลัก ทำให้เหลือแค่เมืองปุญฺเชยฺย หรือเมืองภุญไชยเท่านั้น สะท้อนถึงการต่อสู้กันระหว่างลัทธินิกายทั้งสองนี้ และในที่สุดก็พ่ายแพ้แก่พระพุทธศาสนา (ดังรายละเอียดที่เคยกล่าวถึงไว้แล้วในบทนำ ตอนอธิบายนามและความหมายของคำว่า “หริภุญไชย-หริภุญชัย”) อาจารย์พงศ์เกษมยังได้ตั้งข้อสังเกตว่าจารึกจากเวียงเถาะนี้น่าจะมีอายุค่อนข้างหลังกว่าจารึกอักษรมอญโบราณหลักอื่นในลำพูน เนื่องจากมีตัว “ญ” ที่เขียนผิดไป และยังมีการใช้ภาษาสันสกฤตเข้ามาปะปนหลายจุด จึงน่าจะมีการนับถือศาสนาพุทธลัทธิมหายานแล้วในช่วงนั้น

วัดพระธาตุดอยน้อย (สุวัณจุลคีรี) 

          ตั้งอยู่เลขที่ 154 บ้านดอยน้อย หมู่ที่ 5 ตำบลดอยหล่อ อำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่ อยู่บนยอดดอยที่ค่อนข้างโดดเด่น ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง 

                จากการสัมภาษณ์พระครูสาธุกิจจานันท์ เจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยน้อยเล่าว่า ที่นี่เป็นส่วนหนึ่งของเวียงเถาะ เป็นเมืองที่พระนางจามเทวีทรงสร้างไว้ก่อนจะเสด็จเข้าสู่นครหริภุญไชย เพื่อเป็นหมุดหมายหรือสัญลักษณ์ของปวิสิทถะเจดีย์ที่ให้นายขมังธนูยิงมาจากบ้านท่าเชียงทอง ที่ตั้งของวัดมี 2 ส่วน คือส่วนบนดอยและส่วนด้านล่าง ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมของแม่ชีที่เดินทางมาจากภาคกลาง

          ชั้นล่าง พบเศษภาชนะเนื้อดินเผาไม่เคลือบแบบหริภุญไชย กระจัดกระจายทั่วไปส่วนใหญ่มีสีแดงและสีน้ำตาล นอกจากนั้นยังปรากฏร่องรอยของเจดีย์ที่ถูกน้ำกัดเซาะพังทลายลงไป ทั้งยังพบร่องรอยหินปักแสดงเขตแปดทิศ ตัววิหารในปัจจุบันได้สร้างทับบนฐานวิหารเดิม เคยมีเศียรพระพุทธรูปหินทรายและเศษชิ้นส่วนพระพุทธรูปศิลปะแบบหริภุญไชยหลายชิ้น ชิ้นส่วนของหม้อบรรจุอัฐิฝังไว้ในบางแห่ง ซากโบราณวัตถุทั้งหมดนี้ ปัจจุบันไม่ทราบว่าเก็บรักษาไว้ที่ใด

          ชั้นบน พบว่ามีเจดีย์ทรง 9 ยอด ซึ่งมาบูรณะใหม่ด้วยศิลปะแบบพม่า 1 องค์ ของเดิมเป็นมณฑปโขงจัตุรมุขเปิดซุ้ม 4 ด้าน (คล้ายมณฑปกลางน้ำหน้าวัดเกาะกลาง) อันเป็นรูปแบบที่นิยมในยุคหริภุญไชย มีเจดีย์ทรงระฆังหรือทรงกลมแบบล้านนา 1 องค์ (องค์ภายในของพระธาตุองค์นี้น่าจะเป็น ปวิสิทถะเจดีย์) อุโบสถหลังใหม่มีร่องรอยของใบเสมาหินปักอยู่โดยรอบ

          สิ่งสำคัญที่สุดคือ การพบศิลาจารึกหลักหนึ่ง ปักอยู่ที่โคนฐานพระธาตุเจดีย์ด้านทิศใต้ เป็นอักษรฝักขาม ภาษาล้านนา เขียนในจุลศักราช 926 หรือ พ.ศ. 2094 ตรงกับรัชสมัยของพระเมกุฏิสุทธิวงศ์ กษัตริย์เชียงใหม่ราชวงศ์มังรายองค์สุดท้ายก่อนเสียกรุงให้พม่า ข้อความกล่าวถึงการสร้างเจดีย์ของพระนางจามเทวี ตลอดจนการถวายทาน มีการกล่าวถึงชื่อของพระธาตุดอยน้อย เมื่อแรกสร้างว่าชื่อ "สุวัณจุลคีรี"หรือ "ดอยคำน้อย" ซึ่งเพี้ยนมาเป็น "ดอยน้อย" ในที่สุด (รายละเอียดเคยกล่าวไว้แล้วในบทนำ ว่าเป็นจารึกเพียงหลักเดียวที่ปรากฏชื่อของพระนางจามเทวี)

          ราว พ.ศ. 2463 ครูบาเจ้าศรีวิชัยได้เดินทางข้ามแม่น้ำปิงจากลำพูนมายังวัดพระธาตุดอยน้อย เดิมตั้งใจจะมาฟื้นฟูวัดร้างแห่งนี้ แต่เมื่อท่านได้นั่งสมาธิแล้วคงเห็นว่า สถานที่นี้ไม่ใช่เนื้อนาบุญของท่าน แต่จะมีเจ้าของที่รออยู่ จึงไม่ได้บูรณะ เจ้าของที่ว่านั้นหมายถึงกลุ่มของ “สี่ครูบาแห่งเมืองลำพูน” ประกอบด้วย ครูบาพ่อเป็ง ครูบาอินทจักร ครูบาพรหมา และครูบาคำภีระ ซึ่งต่อมาได้ทำการฟื้นวัดแห่งนี้ในปี 2475 

วัดสันคะยอม

          ตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างวัดพระธาตุดอยน้อย กับวัดสองแคว เป็นวัดที่มีดอกไม้พะยอม (ภาษาล้านนานิยมเรียก ดอกคะยอม) โชยกลิ่นหอม ในขณะที่พระนางจามเทวีประทับอยู่บนพระธาตุดอยน้อย ทรงได้กลิ่นหอมระเรื่อของดอกคะยอมมาแต่ไกล จึงได้เสด็จพระราชดำเนินลงจากดอยน้อยมาตามหาต้นไม้ดังกล่าว และเมื่อมาถึงก็ได้พบพระธาตุเจดีย์ร้างองค์หนึ่ง จึงได้ทำการบูรณะพระเจดีย์องค์นั้นด้วย เจดีย์องค์ดังกล่าวปัจจุบันได้รับการครอบทับใหม่แล้วในยุคหลัง

11

ข่าวอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ส่งมอบรถใหม่ Hyundai STARIA Style สีเทา เป็นรถยนต์น่าใช้สำหรับครอบครัว

ที่ปรึกษาการขาย เอชดีเจมอเตอร์ ฮุนไดเชียงใหม่ เซลส์มุ้ย ร่วมแสดงความยินดีพร้อมส่งมอบรถใหม่ให้แก่ คุณกรณ์กาญจน์ สุทธะป๊อก Hyundai STARIA Style สีเทา ขอขอบคุณที่ให้เกียรติมาเป็นครอบครัวฮุนได สอบถามรายละ...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 25 เม.ย. 2567, 15:26
  • |
  • 35

ส่งมอบรถใหม่ Hyundai Creta Style Plus สีขาว เป็นรถยนต์น่าใช้สำหรับครอบครัว

ที่ปรึกษาการขาย เอชดีเจมอเตอร์ ฮุนไดเชียงใหม่ เซลส์มุ้ย ร่วมแสดงความยินดีพร้อมส่งมอบรถใหม่ให้แก่ คุณทักษิณานันท์ ดอนชัย Hyundai Creta Style Plus สีขาว ขอขอบคุณที่ให้เกียรติมาเป็นครอบครัวฮุนได สอบถามรา...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 24 เม.ย. 2567, 18:27
  • |
  • 38

ส่งมอบรถใหม่ Hyundai Creta Smart สีบรอนเงิน เป็นรถยนต์น่าใช้สำหรับครอบครัว

ที่ปรึกษาการขาย เอชดีเจมอเตอร์ ฮุนไดเชียงใหม่ เซลส์มุ้ย ร่วมแสดงความยินดีพร้อมส่งมอบรถใหม่ให้แก่ คุณมาลี ชัยอุปละHyundai Creta Smart สีบรอนเงิน ขอขอบคุณที่ให้เกียรติมาเป็นครอบครัวฮุนได สอบถามรายละเอีย...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 13 เม.ย. 2567, 07:30
  • |
  • 79

ส่งมอบรถใหม่ Hyundai H-1 Elite FE สีขาว รถยนต์น่าใช้สำหรับครอบครัว

ที่ปรึกษาการขาย เอชดีเจมอเตอร์ ฮุนไดเชียงใหม่ เซลส์แนน ร่วมแสดงความยินดีพร้อมส่งมอบรถใหม่ให้แก่ บจก.เอส ดี เมดิคอล เซอร์วิสเซส Hyundai H-1 Elite FE สีขาว ขอขอบคุณที่ให้เกียรติมาเป็นครอบครัวฮุนได สอบถา...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 7 เม.ย. 2567, 14:11
  • |
  • 74

ส่งมอบรถใหม่ Hyundai STARGAZER X สีขาว รถยนต์น่าใช้สำหรับครอบครัว

ที่ปรึกษาการขาย เอชดีเจมอเตอร์ ฮุนไดเชียงใหม่ เซลส์มุ้ย ร่วมแสดงความยินดีพร้อมส่งมอบรถใหม่ให้แก่ คุณภิญญดา มาศรีHyundai STARGAZER X สีขาว ขอขอบคุณที่ให้เกียรติมาเป็นครอบครัวฮุนได สอบถามรายละเอียดของรถ...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 7 เม.ย. 2567, 14:00
  • |
  • 82

โค้งสุดท้ายแล้วงาน MOTOR Sale โปรปัง "รับซัมเมอร์"3-9 เมษา 67 ลานโปรโมชั่น ชั้น G เซ็นทรัล...

เป็นการตัดสินใจของท่านเองล้วนๆในการเลือกซื้อรถยนต์ งานแสดงรถยนต์ สำหรับผู้ที่กำลังมองหารถยนต์เอาไปใช้สักคัน พลาดไม่ได้ต้องไปที่งาน มอเตอร์เซลส์ โปรปังรับซัมเมอร์ ระหว่างวันที่ 3-9 เมษายน 67 เรามาพบกัน...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 6 เม.ย. 2567, 10:24
  • |
  • 103
Sytiq Company

ออกแบบพัฒนาโปรแกรมและแอพลิเคชั่น

โดยบริษัทไซทิค ติดต่อ:0819507128

Sytiq Company

ออกแบบและติดตั้ง Home Automation

โดยบริษัทไซทิค ติดต่อ:0819507128