ศิลาจารึกอักษรมอญโบราณหริภุญไชย

ข่าวศิลปวัฒนธรรม , 3 ต.ค. 2565, 16:24

ศิลาจารึกอักษรมอญโบราณหริภุญไชย

เดิมนั้นเคยเชื่อกันว่าศิลาจารึกกลุ่มอักษรมอญโบราณมีอายุเก่าสุดเพียงแค่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 17 โดยยึดเอาหลักเลขทะเบียน ลพ.1 และ ลพ.2 ของพระเจ้าสรรพสิทธิ์ (สววาธิสิทธิ) ไปเทียบเคียงกับอักษรมอญที่พบในศิลาจารึก "มรเจดีย์" (Mayajedi) ของพระเจ้ากยันสิตถา (พระเจ้าครรชิต) กษัตริย์พม่าครองกรุงพุกามผู้ฝักใฝ่อารยธรรมมอญ ซึ่งมีตัวเลขระบุถึงปี พ.ศ. 1628 ดังนั้นนักภาษาโบราณจึงได้ตีความว่าอายุสมัยของศิลาจารึกพระเจ้าสรรพสิทธิ์ หลัก ลพ.1 และ ลพ.2 ก็น่าจะมีอายุอยู่ร่วมสมัยเดียวกันในช่วงพุทธศตวรรษที่ 17 และกำหนดนับรวมไปถึงศิลาจารึกที่เหลือทั้งหมดด้วย

            อันที่จริงแล้ว เมื่อพิจารณาตัวอักษรของศิลาจารึกอักษรมอญโบราณในลำพูนทั้ง 8 หลัก พบว่า หลัก ลพ.4 (วัดดอนแก้ว) ลพ.5 (จารึกอาณาจักรปุนไชย) และ ลพ.7 (ตะจุ๊มหาเถร) มีรูปแบบอักษรที่เก่าแก่กว่าหลัก ลพ.1 และ ลพ.2 ของพระเจ้าสรรพสิทธิ์อยู่มาก ด้วยเหตุนี้การกำหนดอายุของศิลาจารึกอักษรมอญโบราณจึงถูกเลื่อนขึ้นเป็นพุทธศตวรรษที่ 16 เป็นอย่างช้า

            จารึกอักษรมอญโบราณที่เก็บรักษาในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย มีจำนวน 8 หลัก (หลักสุดท้าย พบชื่อ พระญาธัมมิกราชานั้นแตกชำรุด ในที่นี้จึงขอนำเสนอแค่ 7 หลักก่อน) จารึกอักษรมอญพบที่วัดดอนแก้ว บ้านหลวย จามเทวี แสนข้าวห่อ มหาวัน และวัดพระธาตุหริภุญชัย จารึกเหล่านี้มีทั้งที่ใช้ภาษามอญโบราณล้วนๆ หรือขึ้นต้นเป็นภาษาบาลีแล้วแปลเป็นภาษามอญ และบางทีมีการใช้ภาษาสันสกฤตหรือภาษาขอมปะปนแทรกอยู่บ้าง บางหลักเขียนเป็นคำฉันท์ระดับสูง ในยุคหลังของอาณาจักรเริ่มปรากฏภาษาไทยเข้ามาผสมผสานอีกด้วย

ที่เรียกว่า "อักษรมอญโบราณ" นั้นเนื่องจากมีรูปอักษรที่พัฒนาไปแล้วขั้นหนึ่งแตกต่างไปจากอักษรมอญที่พบในภาคกลางของอาณาจักรทวารวดี (ช่วงพุทธศตวรรษที่ 12-15) ซึ่งยังคงมีเค้าของอักษรปัลลวะอยู่มาก อีกทั้งอักษรมอญโบราณกลุ่มหริภุญไชยนี้มีลักษณะที่คลี่คลายไปจากอักษรมอญของกลุ่มทวารวดีภาคะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนการที่มีผู้รู้ตั้งข้อสังเกตว่ามีความคล้ายคลึงกันกับอักษรมอญที่พบในศิลาจารึก "มรเจดีย์" (Mayajedi) ของพระเจ้ากยันสิตถาแห่งกรุงพุกาม นั้น ก็ยังไม่เป็นที่ยุติแน่ชัดว่าหริภุญไชยรับอิทธิพลมาจากพุกาม หรือว่าพุกามรับไปจากหริภุญไชย

อย่างไรก็ดีหลักฐานดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า กลุ่มชนโบราณทางภาคเหนือของประเทศไทยแถบลุ่มน้ำปิงในราวพุทธศตวรรษที่ 16 (เป็นอย่างน้อย) นับถือพระพุทธศาสนาทั้งลัทธิเถรวาทที่ใช้ภาษาบาลีเป็นหลัก อีกทั้งยังมีร่องรอยของศาสนาพุทธนิกายมหายานอีกด้วย เป็นกลุ่มชนที่มีอิสรภาพหรือเป็นเอกราช มีพระมหากษัตริย์เป็นผู้ปกครองแว่นแคว้นทรงพระนามตามที่พบในศิลาจารึกว่า "สววาธิสิทธิ" (พระเจ้าสรรพสิทธิ์) มีการกล่าวถึงว่า พระองค์และพระประยูรวงศ์ทรงเลื่อมใสในพระบวรพุทธศาสนา นอกจากจะทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาด้วยประการต่างๆ แล้ว ยังเสด็จออกทรงผนวชเป็นพระภิกษุสงฆ์ในพุทธศาสนาอีกด้วย ทำให้เกิดประเพณีการอุปสมบทของพระมหากษัตริย์ในช่วงแรกแห่งการขึ้นครองราชย์

จากนั้นกลุ่มชนที่ใช้อักษรมอญและภาษมอญในรอบพุทธศตวรรษที่ 16-18 ได้สูญหายไป ไม่ปรากฏหลักฐานอย่างเป็นกลุ่มเป็นก้อนในศิลาจารึกช่วงระยะต่อมาอีกเลย นอกจากอักขระมอญบางตัวในจารึกวัดกานโถมที่เวียงกุมกามสมัยต้นอาณาจักรล้านนา สะท้อนให้เห็นว่าได้มีกลุ่มชนที่ใช้อักษรไทยและภาษาไทยแบบต่างๆ ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 20 ที่เก่าที่สุดคือ พ.ศ. 1913 เป็นต้นมาปรากฏขึ้นแทน

อักษรมอญโบราณมีต้นกำเนิดมาจาก "อักษรคฤนถ์" ของอินเดียทางตอนใต้ในช่วงราชวงศ์ปัลลวะจึงมักเรียกกันว่า อักษรปัลลวะ ซึ่งมีวิวัฒนาการมาจากอักษรพราหมีของอินเดียโบราณมาอีกชั้นหนึ่งลักษณะตัวอักษรมอญนั้นค่อนข้างกลมป้อมไม่มีศกหรือเหลี่ยมผิดกับอักษรขอม มีแต่ตัวเต็มและตัวเชิงเวลาเขียนต้องเขียนใต้เส้นให้ตัวอักษรห้อยลงมา

"ลายสือไทย" ซึ่งประดิษฐ์ขึ้นในสมัยสุโขทัยราวต้นพุทธศตวรรษที่ 19 เกิดขึ้นจากการหยิบยืมและประยุกต์เอาลักษณะของ "อักษรขอมโบราณ" (เป็นหลัก) มาผสมผสานกับ "อักษรมอญโบราณ" ของหริภุญไชยอย่างลงตัว

ไล่เรียงจากจารึกชิ้นที่เก่าสุดโดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกรุ่นเก่า จารึกโดยฝ่ายศาสนจักรมี 2

หลัก ลพ.4 และ ลพ.5 กลุ่มที่สองจารึกโดยฝ่ายศาสนจักรที่มีอาญาสิทธิ์จากฝ่ายศาสนจักรคือ ลพ.7/ ลพ.3 และกลุ่มสุดท้ายชัดเจนว่า เขียนโดยฝ่ายอาณาจักร ได้แก่ ลพ.1, ลพ.2 และ ลพ.8 ข้อมูลนี้ได้รับการปริวรรตใหม่โดย ผศ. พงศ์เกษม สนธิไทย เมื่อปี 2549 

ศิลาจารึกวัดดอนแก้ว (ลพ.4)

เลขทะเบียน 358/18 ขนาดกว้าง 66 ซ.ม. สูง 147 ซ.ม. หนา 19 ซ.ม. อายุพุทธศตวรรษที่ 16 อักษรมอญโบราณ ภาษามอญ ศิลาจารึกทำด้วยหินทรายรูปใบสีมาขนาดเล็ก พบที่วัดดอนแก้วร้าง ต.เวียงยอง อ.เมือง จ.ลำพูน เรื่องที่จารึก

“กล่าวถึงพัทธสีมา และเจดีย์ในเมืองทรทตฺต ซึ่งน่าจะเป็นเมืองในอาณาจักรหริภุญไชย กล่าวถึงการนิมนต์พระสงฆ์ การถวายกัลปนาที่ดิน และการบรรจุสิ่งของไว้ในคูหาของเจดีย์ด้วย”

แม้เนื้อหาในจารึกมีไม่มาก แต่มีนัยสำคัญที่ทำให้เราเข้าใจได้ว่า คติพุทธศาสนาแบบเถรวาท มีการผูกพัทธสีมากันมาแล้วอย่างน้อยสุดก็ในสมัยราวพุทธศตวรรษที่ 16

ศิลาจารึกอาณาจักรปุนไชย (ลพ.5)

เลขทะเบียน 359/18 ขนาดกว้าง 68 ซ.ม. สูง 100 ซ.ม. หนา 23 ซ.ม.อายุพุทธศตวรรษที่ 16 อักษรมอญโบราณ ภาษามอญ พบที่วัดจามเทวี อ.เมือง จ.ลำพูน เรื่องที่จารึก 

            “พระมหาบพิตรเจ้าแห่งอาณาจักรปุญเชญํนคร เมื่อทรงสร้างมหาเจดีย์ทรงประชุมนิมนต์มา ซึ่งปู่เจ้า บัณฑิตสงฆ์อันเป็นประมุขทั้งหลายนี้ เพื่อมาทำบุญอุทิศพระราชกุศลแด่มหาราช เจ้าอาณาจักรผู้ทรงล่วงลับไปแล้วทั้งหมดถวายแด่พระไตรรัตน์ มหาบพิตรเจ้าปู่ “นรสิง” ทรงถวายที่นาร้อยยี่สิบห้าและที่นายี่สิบเอ็ด(หน่วย)”

            จารึกหลักนี้มีศัพท์ที่พ้องกันกับจารึกสววาธิสิทธิ์ ลพ. 2 คือ คำว่า “นรสิง” ซึ่งน่าจะแปลว่า “กระทำปล่องคูหา” ไม่ใช่ชื่อเฉพาะคือ “นรสิงห์”

ศิลาจารึกตะจุ๊มหาเถร (ลพ.7)

เลขทะเบียน 355/18 ขนาดกว้าง 60 ซ.ม. สูง 121 ซ.ม. หนา 15 ซ.ม. อายุพุทธศตวรรษที่ 16จารึกด้วยอักษรมอญโบราณ ภาษามอญ พบที่วัดแสนข้าวห่อ ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย เรื่องที่จารึก 

            ด้านที่ 1 “ข้าพเจ้าชื่อตชุมหาเถรแห่งเมืองปุญไชยมหานคร ซึ่งเป็นพระสงฆ์ฝ่ายอรัญวาสี เมื่อข้าพเจ้าอยู่ในสถานอารามเสมา (ของข้าพเจ้า) ได้กระทำกุศลโดย ทำเสมามณฑล ข้าพเจ้าสร้างพระไตรปิฎกไว้อย่างเต็มเปี่ยมครบบริบูรณ์ สร้างศาลาหนึ่งหลัง มหาโพธิ์สามสิบต้น ข้าพเจ้าสร้างวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปสิบองค์ ปลูกมะพร้าวห้าสิบต้น”

ด้านที่ 2 “ปู่เจ้าเจ้านครผู้ทรงอาวุโสทรงศักดิ์ ทรงนิมนตร์ข้าพเจ้าไปยังเจดีย์มหาวัน ข้าพเจ้ากระทำบุญโดยการสร้างคูหาปลูกมหาโพธิ์ ข้าพเจ้าสร้างฉัตรดอกไม้หนึ่งฉัตร (ฉัตรโลหะฉลุเป็นดอกไม้) สร้างคัมภีร์พระปริตหนึ่งภาคด้วยความเคารพนอบน้อมและถวายภาชนะใส่เครื่องบูชา ข้าพเจ้าถวายคัมภีร์ใบลาน ข้าพเจ้าถวายที่นาสิบหน่วย โคหนึ่งคู่ ด้วยความเคารพนอบน้อม อีกประการหนึ่งถวายภาชนะบูชาสองใบ ทั้งหมดข้าพเจ้าถวายไว้ในคูหาเจดีย์วัดมหาวัน”

            ข้อสังเกต พบคำว่า “นรสิง” เช่นเดียวกับจารึก สววาธิสิทธิ์

ศิลาจารึกวัดดอนแก้ว (ลพ.1)

เลขทะเบียน 353/18 ขนาดกว้าง 88 ซ.ม. สูง 210 ซ.ม. หนา 47.7 ซ.ม. อายุพุทธศตวรรษที่ 17 อักษรมอญโบราณ ภาษาบาลีและภาษามอญ พบที่วัดดอนแก้ว ต.เวียงยอง อ.เมือง จ.ลำพูน เรื่องที่จารึก

ด้านที่ 1 “พระมหากษัตริย์ผู้ครองหริภุญไชยนครทรงพระนามว่า “สววาธิสิทฺธิ” มีพระชนมายุ 26 พรรษา ได้ทรงสถาปนาวัดเชตวัน ต่อมาเมื่อมีพระชนมายุ 31 พรรษา ทรงสร้างกุฏิ เสนาสนะ ถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ผู้ทรงศีลอยู่พำนัก ทรงให้จารคัมภีร์พระไตรปิฎกขึ้นหลายผูก” 

            ด้านที่ 2 “การสร้างเจดีย์สามองค์ของพระเจ้าสววาธิสิทธิ พระมเหสี และพระโอรสสองพระองค์ (พระมหานามและพระกัจจายน) โดยให้ตั้งองค์พระเจดีย์เรียงกันจากทิศตะวันออกไปทางทิศตะวันตกหน้าวัดเชตวัน นอกจากนี้ยังกล่าวถึงเรื่องการทรงผนวชของพระเจ้าสววาธิสิทธิ พระมเหสี และพระโอรสทั้งสองพระองค์”

ศิลาจารึกวัดจามเทวี (ลพ.2)

เลขทะเบียน 354/18 ขนาดกว้าง 98 ซ.ม. สูง 124 ซ.ม. หนา 29 ซ.ม.อายุพุทธศตวรรษที่ 17 อักษรมอญโบราณ ภาษามอญ พบที่วัดจามเทวี อ.เมือง จ.ลำพูน เรื่องที่จารึก

“พระญาสววาธิสิทธิได้ปฏิสังขรณ์พระเจดีย์ที่ได้พังทลายลงมาเนื่องจากเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ในปีไวสาขะ ขึ้น 13 ค่ำ เดือน 5 วันอาทิตย์ ทรงโปรดให้ประดับองค์พระเจดีย์ด้วยทองและบุอัญมณี

ตอนท้ายเป็นคำอธิษฐานปรารถนาขออย่าให้อันตรายทั้งปวงมีขึ้น พร้อมกับทรงอุทิศถวายที่ดิน ข้าพระ ข้าวของอันมีค่าต่างๆ แก่พระเจดีย์”

ศิลาจารึกวัดมหาวัน (ลพ.3)

เลขทะเบียน 356/18 ขนาดกว้าง 78 ซ.ม. สูง 131 ซ.ม. หนา 24 ซ.ม.อายุพุทธศตวรรษที่ 17-18 อักษรมอญโบราณ ภาษามอญ พบที่วัดมหาวัน อ.เมือง จ.ลำพูน เรื่องที่จารึก เนื้อหาโดยสรุปกล่าวถึง       

            “การนิมนต์ ตชุอรหทีปนี ซึ่งน่าจะเป็นนักบวชผู้เป็นที่นับถืออย่างสูงในขณะนั้น มายังลำพูน และได้ทำบุญร่วมกับผู้ปกครองกับเจ้านายชั้นสูง การสร้างเจดีย์ที่มีคูหา การบริจาคที่ดิน เงิน ทอง ข้าทาส ที่สำคัญคือกล่าวถึงพระนามพระพุทธรูป 2 องค์ จารึกหลักนี้เป็นจารึกที่ประกอบด้วยวิสามานยนามของบุคคลชั้นสูง ส่วนผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งอยู่ในสถานภาพทางสังคมที่รองลงไปจะจารึกชื่อไว้ ทางด้านข้างของจารึก”

ข้อสังเกตลักษณะการขึ้นต้นเหมือนกับจารึกพระเจ้าสววาธิสิทธิ์ (ลพ.1) และจารึกวัดบ้านหลวย (ลพ.6) คือกล่าวถึงการทำสัตยาธิษฐาน ในการทำบุญของเจ้านายชั้นสูง (รวมถึงพระเจ้าแผ่นดิน)

ศิลาจารึกวัดบ้านหลวย (ลพ.6)

เลขทะเบียน 357/18 ขนาดกว้าง 45.5 ซ.ม. สูง 95 ซ.ม. หนา 15 ซ.ม.อายุพุทธศตวรรษที่ 18 อายุ พ.ศ. 1781 อักษรมอญโบราณ ภาษามอญ พบที่วัดบ้านหลวย อ.เมือง จ.ลำพูน เรื่องที่จารึก

“การบำเพ็ญกุศลต่างๆ ในพระพุทธศาสนา ของชนชั้นสูง โดยมีบุคคลสำคัญ 3 ท่าน คือ 1.ตรละวสัตทีป 2.ตชุสวสสณเชตต 3.ตรละสมปวติสส แห่งอาณาจักร หฤภุญไชย มีการอุทิศข้าพระหรือทาสไว้สำหรับบำรุงรักษาวัดและสระน้ำ ถวายสิ่งของให้วัดเชตวัน มีการสร้างเจดีย์และตอนท้ายกล่าวถึงการถวายวัตถุสรรพสิ่งของต่างๆ เป็นต้นว่า หม้อน้ำ ฉัตร เครื่องใช้พวกกระบุง ตะกร้า ฯลฯ”

เป็นจารึกมอญโบราณเพียงหลักเดียวที่ขึ้นต้นบรรทัดแรกด้วยการบ่งบอกศักราชเป็นตัวเลข ซึ่ง ผศ.พงศ์เกษม สนธิไทย ถอดความได้ว่าอยู่ในปี พ.ศ.1781 (ตรงกับมหาศักราชปี 1160) ข้อความขึ้นต้นเขียนเป็นคาถาคำฉันท์ภาษาบาลีแบบเดียวกับจารึกพระเจ้าสววาธิสิทธิ์

อนึ่ง ครูบาอ๊อด (พระประกอบบุญ สิริญาโณ) เจ้าอาวาสวัดมหาวัน กำจังจัดทำโครงการปริวรรตจารึกอักษรมอญโบราณหริภุญไชยทั้งในลำพูน เชียงใหม่ ใหม่หมดจำนวนมากกว่า 20 ชิ้น รอติดตามความคืบหน้าเร็วๆ นี้

16

ข่าวอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ส่งมอบรถใหม่ Hyundai STARGAZER X6 สีบรอนเงิน เป็นรถยนต์น่าใช้สำหรับครอบครัว

เอชดีเจมอเตอร์ ฮุนไดเชียงใหม่ โดยที่ปรึกษาการขายเซลส์แนน ร่วมแสดงความยินดีพร้อมส่งมอบรถใหม่ให้กับคุณสิรินาถ ว่าความดี มาถอย Hyundai STARGAZER X6 สีบรอนเงิน ขอขอบคุณที่ให้เกียรติมาเป็นครอบครัวฮุนได สอบ...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 29 พ.ย. 2567, 09:59
  • |
  • 35

เริ่มไปแล้ววันนี้งานแสดงรถยนต์ ETON CHIANGMAI EXPO 2024 ณ เซ็นทรัลเชียงใหม่ เฟสฯ 26 พย.ถึง...

ในงานท่านจะได้พบกับรถยนต์นำเข้าหลายรุูปแบบ ทั้งเครื่องยนต์สันดาป,ไฮบริด และรถยนต์ไฟฟ้า100% ที่นำมาเปิดรับจองสำหรับท่านที่สนใจอยากได้รถยนต์ไปใช้งาน เรามีข้อเสนอพิเศษเฉพาะคุณที่สนใจเชิญแวะมาหาเราได้ที่...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 26 พ.ย. 2567, 13:40
  • |
  • 63

ส่งมอบไปอีกคันแล้ว ฟอร์ด EV 2.0L Turbo Sport 4x2 6AT-DAT64(22B) เป็นรถยนต์ที่น่าใช้

 ส่งมอบรถยนต์น่าใช้ให้กับลูกค้า โดยที่ปรึกษาการขาย ดวงพร กิ่งจำปา  ร่วมแสดงความยินดีกับคุณ เดนนิช สุขสวัสดิ์  มารับ ฟอร์ด EV 2.0L Turbo Sport 4x2 6AT-DAT64(22B) ไปจากโชว์รูม ขอบคุณที่ ใ...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 23 พ.ย. 2567, 14:59
  • |
  • 84

ส่งมอบไปอีกคันแล้ว ฟอร์ด EV 2.0L Turbo Sport 4x2 6AT-DAT64(22B) เป็นรถยนต์ที่น่าใช้

 ส่งมอบรถยนต์น่าใช้ให้กับลูกค้า โดยที่ปรึกษาการขาย ดวงพร กิ่งจำปา  ร่วมแสดงความยินดีกับคุณ เดนนิช สุขสวัสดิ์  มารับ ฟอร์ด EV 2.0L Turbo Sport 4x2 6AT-DAT64(22B) ไปจากโชว์รูม ขอบคุณที่ ใ...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 23 พ.ย. 2567, 14:57
  • |
  • 71

ส่งมอบไปอีกคันแล้ว ฟอร์ด Double Cab Wildtrak 2.0L Turbo HR 6AT เป็นรถยนต์ที่น่าใช้

 ส่งมอบรถยนต์น่าใช้ให้กับลูกค้า โดยที่ปรึกษาการขาย เกลดา อินทะนะ ร่วมแสดงความยินดีกับ คุณ เฉลิมชัย คำแปง มาถอย ฟอร์ด Double Cab Wildtrak 2.0L Turbo HR 6AT ไปจากโชว์รูม ขอบคุณที่ ให้เกียรติมาเป็นค...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 23 พ.ย. 2567, 14:52
  • |
  • 76

ส่งมอบไปอีกคันแล้ว ฟอร์ด EV 2.0L Turbo Sport 4x2 6AT-DAT64(22B) เป็นรถยนต์ที่น่าใช้

 ส่งมอบรถยนต์น่าใช้ให้กับลูกค้าโดยที่ปรึกษาการขาย หฤทัย สมวงค์แก้ว ร่วมแสดงความยินดีกับ คุณ สุรพล อรทัย มาถอย ฟอร์ด EV 2.0L Turbo Sport 4x2 6AT-DAT64(22B) ไปจากโชว์รูม ขอบคุณที่ ให้เกียรติมาเป็นค...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 23 พ.ย. 2567, 14:43
  • |
  • 85
Sytiq Company

ออกแบบพัฒนาโปรแกรมและแอพลิเคชั่น

โดยบริษัทไซทิค ติดต่อ:0819507128

Sytiq Company

ออกแบบและติดตั้ง Home Automation

โดยบริษัทไซทิค ติดต่อ:0819507128