หากย้อนกลับไปในสมัยที่พญามังรายทรงเลือกชัยภูมิอันเหมาะสมสำหรับการสร้างเมือง ตามตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ได้อธิบายถึงชัยมงคล 7 ประการ และแหล่งน้ำ 4 แห่ง อันเป็นเหตุผลที่ทำให้พญามังรายทรงเลือกสร้างเมืองขึ้นในปี พ.ศ. 1839 โดยมี “แม่น้ำแม่ข่า” หรือ “คลองแม่ข่า” เป็นหนึ่งในแหล่งน้ำที่สำคัญ
ต้นสายของคลองแม่ข่าเริ่มจากอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ถือเป็นสายน้ำอันเปรียบเสมือนเส้นเลือดที่คอยหล่อเลี้ยงเมืองเชียงใหม่ ทั้งยังทำหน้าที่เป็นเส้นทางสัญจร เป็นคูเมืองชั้นนอก และยังเป็นทางระบายน้ำไปยังหนองบัวเจ็ดกอ (หนองบัว, หนองเขียว หรือหนองป่าแพ่ง) หนองน้ำโบราณทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือที่มีมาตั้งแต่ครั้งสร้างเมือง ก่อนจะไหลไปสู่แม่น้ำปิง
แต่เดิมคลองแม่ข่ามีทั้งความอุดมสมบูรณ์ น้ำใส ไหลเย็น เป็นแหล่งอาหารที่สร้างความชุ่มชื้นให้กับชาวเชียงใหม่ แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไปทำให้เมืองเติบโตขึ้น คลองแม่ข่าถูกละเลยให้กลายเป็นคลองที่เน่าเสีย เกิดการบุกรุก มีผู้คนเข้ามาอยู่อาศัยกันจนเกิดเป็นชุมชนแออัด คลองเริ่มแคบและทรุดโทรมลงกว่าแต่ก่อน มีการทิ้งของเสียทั้งจากบ้านเรือนและจากสถานประกอบการต่างๆ โดยไม่มีระบบบำบัดน้ำเสีย สะสมมาเป็นเวลานานจนทำให้แม่น้ำในคลองเน่าเสียและกลายเป็นปัญหาเรื้อรัง จากเดิมที่เคยเป็นคลองสายสำคัญ เป็นหนึ่งในชัยมงคลแห่งการสร้างเมือง เป็นแม่น้ำที่คอยหล่อเลี้ยงชีวิต คลองแม่ข่ากลายเป็นแหล่งเสื่อมโทรมอย่างน่าเสียใจ
โครงการก่อสร้างระบบท่อรวบรวมน้ำเสียสองฝั่งคลองแม่ข่าพร้อมปรับภูมิทัศน์ ระยะที่ 1
ถนนระแกง – ประตูก้อม (สถานีสูบน้ำเสียที่ 6)
คลองแม่ข่ากลับมาเป็นลำคลองสายสำคัญที่คนสนใจอีกครั้ง แต่ในฐานะคลองที่ต้องช่วยกันฟื้นฟูให้กลับมามีชีวิตเหมือนก่อน หลายสิบปีที่ผ่านมาได้มีหลายหน่วยงานที่พยายามช่วยกันฟื้นฟูให้คลองกลับมาใสสะอาด ทั้งชุมชนที่บริเวณสองฝั่งคลองเองก็พยายามช่วยกันฟื้นฟูรักษา แต่ยังขาดการบูรณาการการทำงาน และขาดความต่อเนื่อง ทางเทศบาลนครเชียงใหม่ โดย นายอัศนี บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ ได้ลงมือทำโครงการก่อสร้างระบบท่อรวบรวมน้ำเสียสองฝั่งคลองแม่ข่าพร้อมปรับภูมิทัศน์ ระยะที่ 1 ถนนระแกง – ประตูก้อม (สถานีสูบน้ำเสียที่ 6) เพื่อสร้างระบบระเบียบให้คลองแม่ข่ากลับมาสะอาดใสอย่างยั่งยืน ให้คลองแม่ข่ากลับมามีชีวิตอีกครั้ง ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนริมคลองให้ดีขึ้น ให้เกิดการพึ่งพาอาศัยกันระหว่างคนกับคลองเหมือนในอดีต
โดยได้เริ่มต้นโครงการนำร่องระยะที่ 1 ในช่วงบริเวณสะพานระแกง ระยะทางประมาณ 750 เมตร ซึ่งหลายคนอาจเห็นภาพที่ใกล้เสร็จสมบูรณ์แล้วว่าคลองแม่ข่าบริเวณสะพานระแกงเปลี่ยนไป ไม่ได้เป็นแหล่งเสื่อมโทรมที่น่ากลัวเหมือนแต่ก่อน เป็นคลองแม่ข่าที่สะอาดสะอ้าน สวยงาม มีระเบียบ เริ่มมีชีวิตชีวา เริ่มมีการสัญจร เริ่มเกิดเศรษฐกิจที่น่ารักในชุมชน
ภาพคลองแม่ข่าที่ได้รับการฟื้นฟูนี้จึงเกิดขึ้นจากการออกแบบของกลุ่มสถาปนิกในพื้นที่ มีผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการมาร่วมหาวิธีจัดการเรื่องระบบน้ำเสีย เกิดการสร้างท่อรองรับน้ำทิ้งเพื่อส่งต่อไปบำบัดที่ตำบลป่าแดด มีการดูแลการแอบปล่อยน้ำลงในคลองแม่ข่าอย่างเคร่งครัด ทำงานรวมกับผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเมือง ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิทัศน์และพื้นที่สีเขียว ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเศรษฐกิจเมือง ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับชุมชนที่มีรายได้น้อย มีการวางแผนร่วมกับการเคหะฯ เพื่อสร้างที่อยู่อาศัยใหม่สำหรับผู้ที่จำเป็นต้องย้ายออก และที่สำคัญคือ มีการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลการใช้พื้นที่คลองแม่ข่า เพื่อให้ชุมชนดูแลบริหารจัดการพื้นที่ให้เป็นระบบระเบียบ
การฟื้นฟูนี้เกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป นอกจากภาพที่สวยงามขึ้นแล้ว หากลองสังเกตดูจะพบรอยยิ้มและความสุขจากชาวบ้านริมคลอง เพราะจากที่หลังบ้านเคยเป็นคลองน้ำเน่า ปัจจุบันริมคลองสามารถเดินเล่นได้ กลายเป็นพื้นที่ออกกำลังกาย คนในชุมชนมีเวลาทักทายเพื่อนบ้านและผู้มาเยือนอย่างสดชื่น ชาวบ้านค่อยๆ ปรับตัวให้อยู่กับคลองได้อย่างดี ปัดกวาดทำความสะอาดพื้นที่ของตัวเองให้น่าอยู่ น่าเที่ยว บางบ้านเปิดร้านขายของเล็กๆ สร้างรายได้ให้ครัวเรือน เกิดเป็นความภาคภูมิใจ กลายเป็นคลองแม่ข่าที่ชุมชนรักและหวงแหนอีกครั้ง
คลองแม่ข่ากลับมาสมบูรณ์สดใสกลายเป็นแหล่งน้ำสำคัญที่ช่วยหล่อเลี้ยงชีวิต สร้างเศรษฐกิจ สร้างรายได้ สร้างวิถีชีวิตที่ยั่งยืนของชุมชน