ฟ้อนเล็บ-ฟ้อนหริภุญไชย ถวายพระนางจามเทวี จากลำพูนสู่ลพบุรี

ข่าวศิลปวัฒนธรรม , 25 ต.ค. 2565, 08:54

ฟ้อนเล็บ-ฟ้อนหริภุญไชย ถวายพระนางจามเทวี จากลำพูนสู่ลพบุรี

            ระหว่างวันที่ 14-17 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา ดิฉันและคณะนักวิจัยที่ได้รับมอบหมายจากสภาวัฒนธรรมจังหวัดลพบุรีให้จัดทำต้นฉบับหนังสือเรื่อง “พระนางจามเทวี : ราชนารีสองนคร จากลวปุระสู่หริปุญชยะ” จำนวน 10 คน ได้เดินทางจากลำพูน-เชียงใหม่ เพื่อลงไปเสนอผลงานการเรียบเรียงบทต่างๆ สรุปขั้นสุดท้ายให้แก่สภาวัฒนธรรมจังหวัดลพบุรี ณ จังหวัดลพบุรี 

ทว่าตามเบี้ยบ้ายรายทางระหว่างนั้นคณะเราก็ถือโอกาสลงพื้นที่สำรวจเก็บข้อมูลตกค้างบางแหล่งเพิ่มเติม ล้วนเป็นสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับพระราชประวัติและเส้นทางเสด็จของพระนางจามเทวีไม่ทางตรงก็ทางอ้อมจำนวน 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสุโขทัย (อำเภอทุ่งเสลี่ยม สวรรคโลก และศรีสัชนาลัย) จังหวัดลพบุรี (ตำบลหัวสำโรง อำเภอท่าวุ้ง กับตำบลบางขันหมาก อำเภอเมือง) จังหวัดชัยนาท (เมืองโบราณสมัยทวารวดีตำบลอู่ตะเภา อำเภอมโนรมย์) และจังหวัดอุทัยธานี (คูเมืองโบราณสมัยทวารวดีที่อำเภอหนองขาหย่าง และสว่างอารมณ์)

            เป็นจังหวะที่พอเหมาะพอเจาะดีกับที่วัดอัมพวัน ตำบลบางขันหมาก อำเภอเมือง ศูนย์กลางชุมชนชาวมอญลพบุรี จัดให้มีงานประเพณีประจำปี ““ไทยรามัญเมืองลพบุรี ปิดทองชักรูปหลวงปู่ทอกรัก (อ่านทอ-กรัก) สุวณฺณสาโร” พระภิกษุชาวมอญชื่อดังผู้เป็นที่เคารพศรัทธาของชุมชนชาวมอญในลพบุรีมาอย่างยาวนาน แม้จะละสังขารไปแล้วกว่าศตวรรษ ซึ่งงานนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-16 ตุลาคม 2565

            นอกจากคณะของพวกเรานักวิจัยแล้ว ยังมีคณะของช่างฟ้อนจากตำบลบ้านกลาง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูนเกือบ 20 ชีวิต ที่มีความตั้งใจจะไปฟ้อนถวายแด่ “เจ้าแม่จามเทวี” (ชาวลำพูนส่วนใหญ่นิยมเรียกพระนางจามเทวีว่า เจ้าแม่จาม) ในคืนวันที่ 15 (งานวันดา) และเช้าวันที่ 16 ช่วงเปิดงาน ในเทศกาลแห่ชักพระหลวงปู่ทอกรักอีกด้วย

กลุ่มมวลชนตำบลบ้านกลาง รวงผึ้งหริภุญชัย

            ดิฉันได้มีโอกาสพูดคุยสัมภาษณ์ตัวแทนช่างฟ้อน ชื่อ “น้องพิกุล” หรือ “ธัญญลักษณ์ มาผาบ” หัวหน้าคณะ ผู้ประสานงาน ถึงความเป็นมาของการรวมตัวกันจัดตั้ง “กลุ่มนาฏศิลป์” ที่เรียกขานตัวเองว่า “มวลชนช่างฟ้อนตำบลบ้านกลาง” รวมทั้งแรงปรารถนาที่อยากเดินทางไกลมา “ฟ้อนเล็บ” และ “ฟ้อนหริภุญไชย” (หริภุญชัย เขียนได้สองแบบ ดิฉันในฐานะนักวิชาการอดีตสังกัดกรมศิลปากร ขออนุญาตใช้ หริภุญไชย ดังอักขระที่ปรากฏในศิลาจารึก) ถวายแด่พระนางจามเทวีถึงจังหวัดลพบุรี  

            “น้องมีความฝันใฝ่มานานแล้วที่จะนำคณะนาฏศิลป์จากเมืองลำพูนมาฟ้อนถวายแด่เจ้าแม่จามเทวีถึงถิ่นฐานแดนประสูติของพระองค์​ท่านที่เมืองลพบุรี จึงได้จัดการแสดงไว้สองชุด ชุดแรกเป็น “ฟ้อนเล็บ” ฟ้อนในคืนวันที่ 15 ตุลาคม กับอีกชุดหนึ่งคือ “ฟ้อนหริภุญไชย” ตั้งใจฟ้อนเพลงนี้ซึ่งเกี่ยวข้องกับเมืองลำพูนของพระนางจามเทวีโดยตรง ในช่วงที่ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรีทำพิธีเปิดงาน ก่อนจะแห่รูปเหมือนหลวงปู่ทอกรัก นอกจากนี้แล้ว คณะของเราต้องการเดินทางไปฟ้อนถวายเจ้าแม่จามเทวีอีก 2 แห่ง คือที่วัดพระนางจามเทวี ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากวัดอัมพวัน สร้างโดยกลุ่มชาวมอญบางขันหมากเช่นเดียวกัน วัดนี้เคยมาสำรวจสถานที่แล้วเมื่อสองเดือนก่อน ยังก่อสร้างไม่เสร็จดีนัก กับอีกแห่งคือที่วัดบางพึ่ง ตำบลวังไผ่ หรืออดีตเรียกเมืองรามปุระ ที่ประทับของพระนางจามเทวีกับเจ้าชายรามราช แต่เมื่อลงพื้นที่จริง การเดินทางไปที่วังไผ่ไม่สะดวกนัก จึงฟ้อนหริภุญไชยถวายเจ้าแม่ได้แค่ที่วัดพระนางจามเทวี เพิ่มอีกแห่งเดียว”

ฟ้อนเล็บลำพูน 5 จังหวะ (5 ก้าว)

          มีข้อสงสัยว่า ฟ้อนเล็บมีมานานแล้วหรือยัง ใครเป็นคนประดิษฐ์ท่ารำ?

            “อันที่จริงแม่ญิงลำพูน-เชียงใหม่ ซึมซับกับคำว่า “ฟ้อนเล็บ” กันถ้วนหน้ามาตั้งแต่วัย 10 กว่าขวบ แทบทุกคนต้องฟ้อนเป็น จะงามไม่งามไม่ว่ากัน เพราะเป็นเพลงฟ้อนมาตรฐาน เก่าแก่มีมานานมากจนไม่ทราบว่าใครประดิษฐ์ท่ารำ ในแต่ละปีละอ่อนจะได้เห็นผู้ใหญ่ฟ้อนเล็บตามงานประเพณีต่างๆ หลายงาน เช่นฟ้อนงานบุญปีใหม่เมือง ฟ้อนช่วงสรงน้ำพระธาตุ (ทั้งพระธาตุหลวง คือพระธาตุหริภุญไชย และพระธาตุประจำอำเภอ) งานเทศกาลยี่เป็ง หรือฟ้อนต้อนรับแขกแก้วมาเยือน กล่าวให้ง่ายก็คือ แม่ญิงลำพูน-เชียงใหม่ จะมีพื้นฐานฟ้อนเป็น หรือพอฟ้อนได้เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว”

            ทำไมจึงเน้นคำว่า ลำพูน-เชียงใหม่ ทำราวกับว่าจังหวัดอื่นๆ ไม่มีการ “ฟ้อนเล็บ” หรือเช่นไร และเคยได้ยินมาว่าผู้ประดิษฐ์ท่ารำ “ฟ้อนเล็บ” คือพระราชชายา เจ้าดารารัศมี มิใช่หรือ? น้องพิกุลอธิบายว่า

            “ที่ระบุว่าฟ้อนเล็บมีแค่ลำพูน-เชียงใหม่นั้น ก็เพราะทางจังหวัดอื่นเรียกชื่อแตกต่างกันไป เช่นทางเชียงราย-พะเยา เรียก “ฟ้อนแห่ครัวทาน” เนื่องจากฟ้อนประเภทนี้เป็นการ “ฟ้อนต้อนรับ” ทางเชียงรายนอกจากจะเรียกชื่อต่าง ดนตรี จังหวะ ท่าฟ้อน ก็ต่างกันมากด้วย ทางลำปาง แพร่ น่าน ก็เรียกชื่อและใช้เพลงประกอบต่างกันไป คำว่า “ฟ้อนเล็บ” มีแค่ของลำพูนกับเชียงใหม่เท่านั้น

            นอกจากนี้ ฟ้อนเล็บของลำพูนยังต่างจากเชียงใหม่อีก ของเชียงใหม่ พระราชชายา เจ้าดารัศมี ทรงปรับปรุงท่าฟ้อนเล็บพื้นเมืองที่มีมาแต่เดิมให้กระชับขึ้น ตั้งชื่อท่าต่างๆ การทำผมจะเกล้าโก๊ะขึ้นไปแบบญี่ปุ่นเรียกทรง “อี่ปุ่น” แต่ของลำพูนจะเกล้าแบบไม่ตีโก๊ะ (ไม่ตีโป่ง) นอกจากนี้ยังมีความแตกต่างในท่ารำคือ ของเชียงใหม่จะมี 17 ท่า แต่ของลำพูนมี 20 ท่า ของเชียงใหม่การก้าวขาจะเป็น 7 จังหวะ หรือเรียกกันว่า “7 ก้าว” แต่ของลำพูนจะเป็น 5 จังหวะหรือ “5 ก้าว” ทำให้ฟ้อนเล็บลำพูนเพลงจะยืดยาวออกไปกว่าที่อื่น ความยาวมากถึง 15-16 นาที ในขณะที่ฟ้อนเล็บของเชียงใหม่จะกระชับกว่า ความยาวแค่ 8 นาทีเท่านั้น”

            ถ้าเช่นนั้น เวลาชาวเชียงใหม่กับลำพูนต้องมาฟ้อนเล็บร่วมกันจะทำอย่างไร ในเมื่อฟ้อนเล็บของเชียงใหม่จบก่อน รวมไปถึงวงดนตรี เครื่องดนตรี ของลำพูนต้องใช้วงของใครบรรเลงในเมื่อความยาวมากกว่าเชียงใหม่

            “ฟ้อนเล็บลำพูนใช้วงตึ่งนงของคณะนักดนตรีบ้านสันดอนรอมบรรเลงมาตลอด ซึ่งเป็นวงเก่าแก่เกินกว่า 100 ปี ปัจจุบันก็ยังมีนักดนตรีรุ่นใหม่รวมทีมกันอยู่ เพลงฟ้อนเล็บเวอร์ชั่นสันดอนรอมจะบรรเลงยาวมากถึง 24 นาที เป็นการเผื่อไว้ เมื่อใกล้จบกระบวนท่าฟ้อนประมาณ 16 นาที เพลงจะค่อยๆ แผ่วลงๆ เอง พิกุลเคยมีประสบการณ์ไปฟ้อนเล็บกับคณะช่างฟ้อนที่มาจากหลากหลายสำนัก มีทั้ง 5 ก้าว และ 7 ก้าว ปรากฏว่าเพลงที่เปิดเป็นเพลงสำหรับฟ้อนเล็บเชียงใหม่ ฟ้อนเสร็จภายใน 8 นาทีเท่านั้น แต่ของลำพูนเราเพิ่งครึ่งทาง นักดนตรีเห็นเรายังฟ้อนอยู่ เขาก็ไม่รู้จะบรรเลงเพลงแหย่งเพลงเดิมอีกรอบดีหรือไม่ ในที่สุดเขาบรรเลงเพลงปราสาทไหวต่อเนื่องแทน ดังนั้นหัวหน้าคณะช่างฟ้อนต้องปรับท่ารำนำช่างฟ้อนท่านอื่นให้ได้ ว่าควรฟ้อนอย่างไรในเมื่อบางเวทีเขาไม่ได้ใช้เพลงจากวงดนตรีสันดอนรอม”

            เมื่อเราขอทราบชื่อท่าฟ้อนท่อนต่างๆ ว่ามีอะไรบ้าง คุณพิกุลเล่าว่า ท่ารำแบ่งเป็น 4 ช่วง (หรือ 4 บล็อก) บางชื่อตกทอดมาจากพื้นเมืองดั้งเดิม บางชื่อพระราชชายา เจ้าดารารัศมี เสริมเติมขึ้นมาใหม่ ดังนี้

บล็อกที่ 1 (ช่วงที่ 1) มี 6 ท่า 1) ท่าพัก 2) จันทร์ทรงกลด 3) พนมมือไหว้ 4) บิดบัวบาน 5) ตากปีกซ้าย ขวา บ้างเรียกกังหันร่อน 6) สอดสร้อยมาลา ซ้าย ขวา บล็อกที่ 2 มี 7 ท่า 7) ท่าพัก 8) พรหมสี่หน้า 9) กระต่ายต้องแร้ว10) จับแก้วคู่ 11) บัวชูฝัก ซ้าย ขวา 12) ผาลาเพียงไหล่ ซ้าย ขวา 13) แขกเต้าเข้ารัง ซ้าย ขวา บล็อกที่ 3มี 4 ท่า 14) ท่าพัก15) ช้างประสานงา 16) พระรามแผลงศร ซ้าย ขวา 17) กล่อมนางนอน ซ้าย ขวา บล็อกที่ 4 มี 3 ท่า 18) ท่าพัก 19) โบกสะบัด 20) ไหว้-กราบ

สูตรคุ้มหลวงของพระราชชายา เจ้าดารารัศมี ที่ประดิษฐ์ให้ฟ้อนเล็บเชียงใหม่นั้น มี 17 ท่า ชื่อเรียกดังนี้ 1) จีบส่งหลัง 2) กลางอัมพร 3) บิดบัวบาน 4) จีบสูงส่งหลัง 5) บัวชูฝัก 6) สะบัดจีบ 7) กราย 8) ผาลาเพียงไหล่ 9) สอดสร้อย 10) ยอดตอง 11)กินนรรำ 12) พรหมสี่หน้า 13) กระต่ายต้องแร้ว 14) หย่อนมือ 15) จีบคู่งอแขน 16) ตากปีก 17) วันทาบัวบาน 

ท่านที่สนใจลองพิเคราะห์เปรียบเทียบชื่อแต่ละท่าระหว่างฟ้อนเล็บลำพูนกับเชียงใหม่ดูเอาเอง บางท่าชื่อซ้ำกัน แต่วางลำดับท่าต่างกัน มีข้อน่าสังเกตคือชื่อ “ผาลา” กับ “กินนรรำ” เป็นชื่อที่พบในระบำมโนราห์มาก่อนแล้ว เข้าใจว่าพระราชวังหลวง ณ กรุงรัตนโกสินทร์เป็นศูนย์รวมนาฏศิลป์ของทุกภูมิภาค พระราชชายา เจ้าดารารัศมี จึงได้นำชื่อและท่วงท่าของนาฏศิลป์จากภูมิภาคอื่นมาผสมผสานกับนาฏศิลป์ล้านนาด้วยเช่นกัน

กรณีการสวม “ปลอกเล็บทองเหลือง” ของการฟ้อนเล็บ ก็มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า ไปพ้องกับการรำโนราที่สวมเล็บยาวมากของทางปักษ์ใต้ การฟ้อนเล็บจะสวมเล็บ 8 เล็บ ยกเว้นคู่องคุลี (นิ้วหัวแม่โป้ง) และรำฟ้อนเล็บท่าเดียวกันนี้ หากรำช่วงกลางคืนจะใช้เทียนแทนโดยถอดเล็บออก เรียกว่า “ฟ้อนเทียน”

ฟ้อนหริภุญไชย ไฉไลอลังการ

            พิจารณาดูจากเครื่องแต่งกายระหว่างการ “ฟ้อนเล็บ” ยามค่ำคืน กับการฟ้อน “หริภุญไชย” ยามเช้าช่วงเปิดงาน พบว่าเสื้อผ้าหน้าผมค่อนข้างแตกต่างกันอย่างมากทีเดียว ดิฉันจึงขอความรู้จากน้องพิกุลถึงเครื่องแต่งกายของ “ฟ้อนเล็บ” กับ “ฟ้อนหริภุญไชย” ว่าแตกต่างกันอย่างไร

            “ฟ้อนเล็บต้องใส่ชุดสำรวม ไม่ควรเปิดบ่า ชุดมาตรฐานคือเสื้อผ่าหน้าแผนกระบอก 5 ส่วน คอกลมหรือคอจีนก็ได้ ผ้าซิ่นลายขวางเรียก “ซิ่นก่าน” ผ้าสไบทอแบบสไบเมืองไม่ควรใช้สไบขลิบทองภาคกลาง เพราะมันจะวิบวับแวววาวเกินไป ความยาวของสไบด้านซ้ายให้จรดพอดีกับชายเสื้อ เครื่องประดับตอนฟ้อนเล็บไม่ควรหรูหราอลังการ แค่เครื่องเงินสักชิ้น หรือสร้อยมุกสักเส้น เกล้าผมทัดดอกไม้ธรรมชาติเหมาะกว่าปิ่นทองเหลือง เนื่องจากฟ้อนเล็บนอกจากเป็นการฟ้อนต้อนรับอาคันตุกะมาเยือนแล้ว ยังใช้รำถวายพระธาตุ ถวายโคมยี่เป็ง ปัจจุบันลำพูนใช้รำถวายงานพระแม่นั่งเมือง เครื่องแต่งกายจึงควรสำรวม สุภาพ มิดชิดรัดกุม

            ในขณะที่ฟ้อนหริภุญไชย เป็นการประดิษฐ์ท่ารำขึ้นมาใหม่ราวปี 2527 โดย ผศ. ดิเรกชัย มหัทธนะสิน คณะมนุษยศาสตร์ มช. เป็นฟ้อนถวายพระเกียรติแด่พระนางจามเทวีมี 25 ท่าฟ้อน ชื่อคล้องจองกันดังนี้ “เบิกฟ้า ทอดผ้าหริภุญไชย เกรียงไกร สัตตบงกช ร่ายอธิยศบารมี กั้งสัตถหลู ข่มสูหื้ออยู่ใต้มนต์ อุบลต้องเกิงกาง ซายซ่านรัศมี เบญจกัลยาณีหลวงเวียง เพียงนางพญากราย โผดผายทศพิธ ราชธรรมวิวิธ สถิตเหนือปฐพี ฮ่วมขวัญกษัตรีย์ เทวีแป๋งเมือง เมลืองวิรังคะพ่าย ชยะใจ๋สมโภช นิโรธฮ้องขวัญ เกี้ยวหวันจุมสะหลี แสงระวีส่องหล้า ไพร่ฟ้าหน้าใส หริภุญไชยยั่งยืนเทอญ”

            เพลงที่ใช้ประกอบเรียก “เพลงหริภุญไชย” แต่งโดยนายสุชาติ กันชัย นักศึกษาคณะเทคนิคการแพทย์ มช. ปี 2527 แม้จะเป็นนาฏศิลป์ที่ประดิษฐ์ใหม่ในช่วง 4 ทศวรรษมานี้เอง แต่ก็เริ่มได้รับความนิยมจากช่างฟ้อนชาวลำพูนไม่แพ้ฟ้อนเล็บ ฟ้อนหริภุญไชยใช้ชุดสวยงามอลังการได้ เน้นความสง่างามดุจนางพญา สอดรับกับดนตรีมีทั้งความหวาน นุ่มนวล แต่หนักแน่น ทรงพลังอำนาจ

            คณะวิจัยขอกราบขอบพระคุณ “อาจารย์ทัศนีย์ เขื่อนแก้ว” แม่ครูผู้ฝึกซ้อมฟ้อนหริภุญไชย ขอบพระคุณ “อาจารย์มานิตย์ เจริญเกษมทรัพย์” พ่อครูภูมิปัญญาไทย (รุ่นที่ 5) ผู้เป็นเสาหลักของคณะช่างฟ้อน ขอบพระคุณนายกเทศมนตรีตำบลบ้านกลาง ที่อนุเคราะห์พัสตราภรณ์ให้แก่ช่างฟ้อน ขอบพระคุณ “คุณลัทธวรรณ ใจกลาง” อดีต ผอ.กองการศึกษา เทศบาลตำบลบ้านกลาง ผู้รื้อฟื้นนาฏศิลป์กลับคืนมาสู่ตำบลบ้านกลาง ด้วยการมอบหมายให้น้องพิกุล ซึ่งเป็นนักวิชาการวัฒนธรรมสืบสานต่อ

และท้ายที่สุดขอกราบขอบพระคุณท่านรองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง คุณหญิง อัมพร สุคนธมาน ผู้สนับสนุนงบประมาณค่าที่พัก-เดินทางของคณะช่างฟ้อนจากลำพูนมาลพบุรี

            ปีหน้าฟ้าใหม่ งานเปิดตัวหนังสือราวเดือนกุมภาพันธ์ คณะช่างฟ้อนจากตำบลบ้านกลางยังคงมีเจตจำนงที่จะเดินทางไปจังหวัดลพบุรีเพื่อฟ้อนถวายเจ้าแม่จามเทวี ณ แดนประสูติอีกคราครั้ง

1

ข่าวอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ส่งมอบรถใหม่ HyundaiSTARIA Premium with Sunroof (Euro5) สีขาว เป็นรถยนต์น่าใช้สำหรับครอบค...

เอชดีเจมอเตอร์ ฮุนไดเชียงใหม่ โดยที่ปรึกษาการขายเซลส์มุ้ย ร่วมแสดงความยินดีพร้อมส่งมอบรถใหม่ให้กับคุณแคทริน อินต๊ะมา เป็นรถยนต์ ฮุนไดSTARIA Premium with Sunroof (Euro5) สีขาว ขอขอบคุณที่ให้เกียรติมาเป...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 16 ม.ค. 2568, 18:44
  • |
  • 68

ส่งมอบไปอีก 1 คันแล้ว สำหรับรถยนต์ Hyundai STARGAZER X6 สีบรอนทอง สุดสวย ที่ผ่านมา

ส่งมอบรถใหม่ให้กับลูกค้า ที่ปรึกษาการขาย เอชดีเจ มอเตอร์ ฮุนไดเชียงใหม่ เซลส์แนน ร่วมแสดงความยินดีพร้อมส่งมอบรถใหม่ให้แก่คุณวิระดา ชวลิต Hyundai STARGAZER X6 สีบรอนทอง ออกไปจากโชว์รูม เอชดีเจมอเตอร์ ท...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 11 ม.ค. 2568, 14:08
  • |
  • 101

ส่งมอบรถใหม่ Hyundai CRETA ALPHA สีดำ เป็นรถยนต์น่าใช้สำหรับครอบครัว

 เอชดีเจมอเตอร์ ฮุนไดเชียงใหม่ โดยที่ปรึกษาการขายเซลส์แนน ร่วมแสดงความยินดีพร้อมส่งมอบรถใหม่ให้กับคุคุณ KYUNG HEE LEE เป๋ฯรถยนต์ Hyundai CRETA ALPHA สีดำ ขอขอบคุณที่ให้เกียรติมาเป็นครอบครัวฮุนได...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 8 ม.ค. 2568, 12:35
  • |
  • 115

ส่งมอบรถใหม่ Hyundai STARGAZER Smart 6 With Black Roof สีแดง เป็นรถยนต์น่าใช้สำหรับครอบคร...

เอชดีเจมอเตอร์ ฮุนไดเชียงใหม่ โดยที่ปรึกษาการขายเซลส์แนน ร่วมแสดงความยินดีพร้อมส่งมอบรถใหม่ให้กับคุณเอนก ชิตเกษร Hyundai STARGAZER Smart 6 With Black Roof สีแดง ขอขอบคุณที่ให้เกียรติมาเป็นครอบครัวฮุนไ...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 3 ม.ค. 2568, 10:17
  • |
  • 201

เหลืออีกสองวัน Lanna Auto Sale 18-25 ธันวา 67 ที่เซ็นทรัลเ แอร์พอร์ต รถไฟฟ้าน่าใช้ราคาน่าต...

กระแสรถยนต์ไฟฟ้าในบ้านเราเริ่มได้รับความสนใจจากผู้ใช้คนเมืองมากขึ้นทุกวัน ตามท้องถนนในเชียงใหม่ทุกวันนี้รถที่ขับไปขับมาสังเกตุดูได้เลยต้องมีรถยนต์ไฟฟ้าชับสวนมาหรือขับตามเรามาหลากหลายรุ่น นั่นแสดงถึงรถ...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 24 ธ.ค. 2567, 13:13
  • |
  • 229

อีซูซุ ศาลา เชียงใหม่ จัด ISUZU 2.2 Ddi MAXFORCE พลังแรง ท้าลอง ในศูนย์ประชุมนานาชาติเชียง...

ใกล้สิ้นปีหลายค่ายรถยนต์จัดงานอีเว้นท์กันตลอดทั้งเดือน โดยเฉพาะค่ายอีซูซุที่มีรถยนต์ออกใหม่ทั้งเครื่องยนต์ใหม่ แรงขึ้น เร็วขึ้น วันนี้เราพาท่านไปเที่ยวชมงานนี้กันซึ่งจัดขึ้นภายในศูนย์ประชุมนานาชาติเชี...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 22 ธ.ค. 2567, 16:33
  • |
  • 243
Sytiq Company

ออกแบบพัฒนาโปรแกรมและแอพลิเคชั่น

โดยบริษัทไซทิค ติดต่อ:0819507128

Sytiq Company

ออกแบบและติดตั้ง Home Automation

โดยบริษัทไซทิค ติดต่อ:0819507128