เชียงใหม่เป็นจังหวัดที่มาง่าย อยู่ง่าย เที่ยวง่าย นักท่องเที่ยวหลายคนมาเชียงใหม่มากกว่าปีละครั้งแต่ก็ยังไม่เคยเบื่อ และเชียงใหม่เองก็มีอะไรใหม่ๆ เกิดขึ้นแทบทุกวัน หนึ่งในนั้นคือ “คลองแม่ข่าโฉมใหม่” แลนด์มาร์กใหม่ที่ไม่ใช่เพียงการปรับภูมิทัศน์ให้สวยขึ้น แต่ยังหมายถึงการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนริมคลองทั้งสองฝากฝั่งอีกด้วย
หลายคนคงเคยไปเยี่ยมชม เดินเล่น ถ่ายรูป เช็กอินที่นี่กันมาบ้างแล้ว บ้างก็ว่าเหมือนคลองโอตารุที่ญี่ปุ่น บางคนบอกได้ฟีลแบบคลองในอินชอน ประเทศเกาหลีใต้ แต่ไม่ว่าใครจะรู้สึกเหมือนคลองจากประเทศไหนตาม สิ่งหนึ่งที่ทุกคนสัมผัสได้ คือ “คลองแม่ข่า” ได้ถูกปรับภูมิทัศน์ให้สะอาด สดใส สวยงามน่าเดินขึ้น
โครงการก่อสร้างระบบท่อรวบรวมน้ำเสียสองฝั่งคลองแม่ข่าพร้อมปรับภูมิทัศน์ ระยะที่ 1 บริเวณถนนระแกง – ประตูก้อม (สถานีสูบน้ำเสียที่ 6) กินพื้นที่ประมาณ 750 เมตร เกิดจากความร่วมมือกันของชุมชน เครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่ และหน่วยงานอีกมากมายที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานภาครัฐ นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ กลุ่มสถาปนิก โดยมี เทศบาลนครเชียงใหม่ นำโดย นายอัศนี บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ เป็นตัวกลางคอยประสานงานและทำให้โครงการดำเนินไปได้ โดยมีจุดประสงค์หลักเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำเสียอย่างเป็นระบบ และปรับภูมิทัศน์ให้คลองแม่ข่าได้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ตลอดจนให้ชุมชนที่อาศัยอยู่บริเวณสองฝั่งคลองมีคุณภาพชีวิตที่ดี
เมื่อคลองแม่ข่าบริเวณสะพานระแกงเริ่มเป็นที่รู้จัก สิ่งที่ตามมาคือมิติเรื่องการท่องเที่ยว เราพบว่ามีนักท่องเที่ยวเดินทางมาชม มาเที่ยว มาพักผ่อนริมคลองแม่ข่ามากขึ้น จนตอนนี้คลองแม่ข่ากลายเป็นแลนด์มาร์กใหม่ของเมืองเชียงใหม่ ส่งผลต่อเนื่องไปถึงมิติทางเศรษฐกิจของชุมชนชาวริมคลอง
หากลองเดินเลียบสองฝั่งคลองแล้วสังเกตดูจะพบกับวิถีชีวิตของชาวบ้านในชุมชนที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีการค้าขายจับจ่ายใช้สอยสร้างเม็ดเงินให้ชุมชน ชาวบ้านได้มีโอกาสทักทายเพื่อนบ้านและนักท่องเที่ยว ได้ช่วยกันเก็บกวาด ปลูกผักสวนครัว ช่วยกันดูแลรดน้ำต้นไม้ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วชาวบ้านในชุมชนก็เกิดความภาคภูมิใจ เกิดความรัก และหวงแหนคลองแม่ข่ามากขึ้น นำไปสู่การช่วยกันดูแลคลองแม่ข่าให้สะอาด และเป็นระเบียบตลอดไป
คลองแม่ข่ากลายเป็นชุมชนท่องเที่ยวแห่งใหม่ ที่มีทั้งวิถีชีวิตของผู้อยู่อาศัย มีความสวยงามที่ผสมผสานระหว่างชุมชนดั้งเดิม กับงานออกแบบสมัยใหม่ที่คำนึงถึงหลักภูมิสถาปัตยกรรม ทั้งยังมีความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ร่วมกันในชุมชน มีสถาปัตยกรรมของอาคารบ้านเรือนเก่า มีร้านอาหารง่ายๆ ร้านกาแฟที่เปิดในช่วงกลางวัน มีร้านรวงจำหน่ายสินค้าหัตถกรรมทำมือจากชาวบ้านในชุมชน มีร้านอาหารเล็กๆ ในช่วงเย็นเป็นสีสันให้ริมคลองมีชีวิตชีวา ทั้งหมดนี้...เป็นผลจากความร่วมมือกันของภาครัฐ ชุมชน ภาคประชาสังคม โดยมุ่งเน้นให้ชุมชนดูแลชุมชนด้วยตนเอง เพื่อให้เกิดความรัก ความหวงแหน และความภาคภูมิใจ ในฐานะของ “คนริมคลองแม่ข่า” ที่ใครต่อใครก็มาเยือนไม่ขาดสายในวันนี้
พิกัด : คลองแม่ข่า สะพานระแกง จังหวัดเชียงใหม่
https://goo.gl/maps/ML83BquecnU21Wpu9