ประเพณี “ลอยหะโม้ด” สายสัมพันธ์หงสาวดี-หริภุญไชย

ข่าวศิลปวัฒนธรรม , 6 พ.ย. 2565, 11:46

ประเพณี “ลอยหะโม้ด” สายสัมพันธ์หงสาวดี-หริภุญไชย

            ในช่วงเทศกาลยี่เป็ง (มีข้อน่าสังเกตว่าทางเหนือตรงกับเดือนยี่หรือเดือนสอง ในขณะที่ทางภาคกลางตรงกับเดือน 12) หลายจังหวัดในล้านนานั้น มีประเพณีที่แสดงถึงความกตัญญุตาต่อธรรมชาติ ทั้งน้ำ ฟ้า ดิน รวมไปถึงการคารวะบรรพบุรุษ ผู้มีพระคุณหลายบุคคล หลายสถานะ และข้อสำคัญหลายรูปแบบมาก

            เฉพาะแค่จังหวัดลำพูนจังหวัดเดียว พบว่ามีทั้งประเพณีแห่แคร่หลวง (แคร่หมายถึงไม้สานเล็กๆ ที่ใส่ดวงประทีป) ในเขตอำเภอบ้านโฮ่ง มีทั้งประเพณีแขวนโคมแสนดวง ณ วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร และมีทั้งประเพณี “ลอยหะโม้ด” หรือ “จ้องเกริ้ง” ของชุมชนชาวมอญริมน้ำปิง และที่วัดกู่ละมัก ตำบลต้นธง เป็นต้น 

            ประเพณีเหล่านี้เหมือนหรือต่างกันอย่างไร บทความตอนนี้จะขอโฟกัสถึงประเพณีลอยหะโม้ดก่อน

            เรามาดูกันว่าจุดเริ่มต้นของการทำบุญในช่วงเทศกาลลอยกระทงหรือเทศกาลยี่เป็ง ที่เรียกกันเป็นภาษามอญโบราณว่า “ลอยหะโม้ด” นี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ทำไมจึงต้องลอยสิ่งของลงน้ำ ไฉนประเพณีนี้จึงแตกต่างไปจากภาพรวมของงานยี่เป็งที่เราเห็นในดินแดนอื่นๆ ซึ่งเน้นการปล่อยโคมบนฟ้า?

ทั้งๆ ที่คนทุกกลุ่มทุกชาติพันธุ์ ล้วนมีความเชื่อในเรื่องเดียวกัน นั่นคือต้องการทำบุญปล่อยเคราะห์ ปล่อยโศก เอาเรื่องเลวร้ายต่างๆ ทิ้งให้ผ่านพ้นไปในช่วงหลังผ่านพ้นฤดูการทำนา ช่วงที่พร้อมจะเกี่ยวข้าวหลังฝนหยุดตก ช่วงที่ใกล้ออกพรรษา บนพื้นฐานความเชื่อที่แต่ละกลุ่มคนพยายามสร้างคำอธิบายว่าเป็นเรื่องของการรำลึกถึงบรรพบุรุษก็ดี ขอขมาต่อแม่พระคงคาก็ดี การบูชาเทพเจ้าเทพีองค์ต่างๆ ก็ดี มาจนถึงยกระดับขึ้นเป็นการนมัสการพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้าบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ก็ดี รอยพระพุทธบาทที่แม่น้ำนัมมนทีก็ดี 

            ประเพณีลอยหะโม้ด ก็มีพื้นฐานมาจากความเชื่อที่คล้ายคลึงกันนี้ เพียงแต่ไม่ได้เกิดขึ้นในวัฒนธรรมของชาวล้านนา ทว่าเป็นของชุมชนชาวมอญในอดีตตั้งแต่ยุคหริภุญไชยเมื่อราวพันปีก่อน คำว่า ลอยหะโม้ด (บ้างอ่านว่า ลอยหะมด /ลอยปะโม้ด/ ลอยโขมด คำหลังนี้เป็นภาษาเขมร) แปลว่า “ดวงไฟ” หมายถึงการจุดไฟประทีป การบูชาดวงวิญญาณบรรพบุรุษด้วยแสงไฟ แสงเทียน

            ตำนานความเป็นมาของประเพณีลอยหะโม้ด ปรากฏอยู่ในตำนานมูลศาสนา ชินกาลมาลีปกรณ์ จามเทวีวงส์ และพงศาวดารโยนก ขอย้อนกลับไปสู่เหตุการณ์ราว พ.ศ.1490 (จุลศักราช 309) ตรงกับสมัยพระเจ้ากมลราช (บ้างก็ว่าพระเจ้าจุเลระราช) อาณาจักรหริภุญไชยซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่ลำพูนนั้น ได้เกิดโรคห่าระบาดชนิดที่ผู้คนล้มตายเป็นเบือ หันไปทางไหนมีแต่ซากศพ จนคนที่เหลือไม่สามารถทนอยู่ในถิ่นฐานเดิมได้ จำต้องทิ้งบ้านทิ้งเมืองลำพูน มุ่งหน้าลงเรือล่องแม่ระมิงค์ (น้ำแม่ปิง) เข้าแม่ระมาดแถวเมืองตาก สู่สาละวิน ไปถึงอิระวดี ขออาศัยอยู่ที่เมืองสะเทิมหรือสุธรรมวดี (เมือง Thaton -ท่าตอน) เขตรามัญเทศะ เหตุที่เมืองสะเทิมนี้ในอดีตเป็นเมืองของ “เจ้าชายรามราช” พระราชสวามีของพระนางจามเทวี ประชากรเมืองสุธรรมวดีจึงเป็นชาวมอญ ใช้ภาษาเหมือนกันกับชาวมอญหริภุญไชย

บังเอิญว่าครั้งกระนั้นสะเทิมตกอยู่ภายใต้การปกครองของกษัตริย์พม่าแห่งอาณาจักรพุกาม ลำพังชาวสะเทิมเองก็ถูกกดขี่ทารุณแทบจะเอาตัวไม่รอดอยู่แล้ว ขืนยังมานั่งแบกรับภาระผู้อพยพแบบเทครัวหลายหมื่นชีวิต คงไม่ต่างอะไรไปจาก “เตี้ยอุ้มค่อม” ด้วยเหตุนี้ ชาวหริภุญไชยจึงต้องอพยพเดินทางต่อไปขอพึ่งใบบุญของชาวมอญเมืองหงสาวดี (พะโค) แทนเพราะเป็นเขตปลอดอำนาจจากพม่า อยู่ไปอยู่มาผ่านไปนานถึง 6 ปี ชาวมอญหริภุญไชยหลายคนแต่งงานกับชาวมอญหงสาวดี  บ้างก็ปักหลักปักฐานที่นั่น แต่หลายหมื่นชีวิตเริ่มคิดถึงบ้าน ตัดสินใจพาชาวหงสาวดีเดินทางกลับลำพูนด้วยกัน ภายหลังจากโรคห่าสงบลง 

ตำนานระบุว่า ครั้นถึงฤดูน้ำหลาก ชาวมอญหริภุญไชยและชาวมอญหงสาวดีต่างโหยหาระลึกนึกถึงความสัมพันธ์ฉันเครือญาติที่เคยร่วมทุกข์สุขกันมา จึงพากันจุดดวงไฟในกระทงเล็กๆ (ภาษาล้านนาเรียก “สะตวง” อ่าน สะต๋วง) ใส่ในเรือลำใหญ่ที่ผูกขึ้นด้วยไม้ไผ่ประดับด้วยต้นกล้วย ใบกล้วย (เรียก “สะเปา” เป็นรากศัพท์คำเดียวกันกับ “สำเภา”) แล้วนำเอาโภชนียาหารใส่ลงไปในเรือด้วย หมายรวมถึงข้าวสาร อาหารแห้ง อาหารสดคาวหวาน เสื้อผ้า สิ่งของเครื่องใช้

พลางอธิษฐานจิตขอให้สะเปานี้ล่องไปตามแม่ระมิงค์ จากหริภุญไชยไปถึงหงสาวดี เพื่อเป็นการรำลึกถึงหมู่ญาติพี่น้องของทั้งสองเมือง เมื่อสะเปาลอยไปผ่านหมู่บ้านใด ชาวบ้านที่อยู่สองฝั่งแม่ปิงก็จะลากเรือขึ้นมาจุดกระทง (สะตวง) ใส่ดวงประทีปเพิ่มมิให้มอดดับ ข้าวของเครื่องใช้ คนทุกข์คนยากก็จะอธิษบานขอหยิบเอามาใช้ประโยชน์ เรียกว่า “ทานทอด” (อ่านตานต้อด) หมายความว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะให้เราจินตนาการว่าสิ่งของในสะเปาทั้งลำนั้นจักไม่มีวันล่ม จักไม่ถูกคนเอาไปใช้ จักต้องถึงจุดหมายโดยสวัสดิภาพ 

การล่องสะเปาด้วยดวงประทีป “หะโม้ด” เช่นนี้ ถือเป็นกุศโลบายที่หวังผลทางใจมากกว่าที่จะให้สัมฤทธิผลในทางปฏิบัติจริง เพราะสะเปาแต่ละลำลอยเท้งเต้งยามยถากรรม ไม่มีคนช่วยคัดท้ายนาวา แต่ประชนเมื่อเห็นสะเปาล่องดวงหะโม้ดมา ก็รู้โดยนัยว่า พวกเขาต้องช่วยกันจุดดวงไฟต่อ อาหารที่ใกล้บูด ต้องรีบเอาขึ้นมาทาน แล้วเปลี่ยนอาหารชุดใหม่ลอยลงไปแทน ปล่อยให้สะเปาไหลลงไปตามแม่น้ำดุจเดิม ทำเช่นนี้อีก หมู่บ้านต่อหมู่บ้าน ชุมชนต่อชุมชน หัวใจต่อหัวใจ สายใยต่อสายใย ทำเรื่อยไปจนกว่าจะถึงเมืองหงสาวดี ซึ่งชาวมอญหริภุญไชยเมื่อหนึ่งพันปีก่อนเรียกประเพณีนี้ว่า “ลอยหะโม้ด” ยังไม่ได้เรียก “ลอยกระทง” แบบภาคกลาง และไม่ได้เรียก “ล่องสะเปา” แบบชาวเขลางค์ หรือเรียก “กระทงสาย” แบบพี่น้องเมืองตาก ซึ่งทั้งหมดนี้น่าจะมีส่วนในการรับอิทธิพลมาจากประเพณี “ลอยหะโม้ด” ของลำพูนโบราณ

ตราบปัจจุบัน บางปีชาวมอญที่บ้านหนองดู่-บ้านบ่อคาว ต.บ้านเรือน อ.ป่าซาง จ.ลำพูน ก็ยังคงประพฤติปฏิบัติประเพณี “ลอยหะโม้ด” นี้อยู่บ้าง ชาวมอญลำพูนกว่า 500 ครัวเรือนยังคงรำลึกนึกถึงพี่น้องสายเลือดเดียวกันที่อยู่เมืองหงสาวดี เพียงแต่ชื่อของประเพณีถูกเรียกใหม่ว่า “จ้องเกริ้ง” โดยไปรับเอาอิทธิพลของมอญภาคอื่นมาเรียกตามกัน พิธีจ้องเกริ้ง แปลตรงตัวว่า ลอยกระทง แต่รูปแบบ จ้องเกริ้งของมอญป่าซางลำพูน จะไม่เหมือนกับลอยกระทงทั่วไป หากคล้ายกับรูปแบบประเพณี “ลอยหะโม้ด” ของมอญหริภุญไชยเมื่อพันปีก่อน กล่าวคือมีการอุทิศสิ่งของเครื่องใช้อาหารสดอาหารแห้ง และจุดดวงไฟบ้างในผางประทีป บ้างในสะตวง (กระทงเล็กๆ) ภายในสะเปานั้น

บาหลียาตรา ทีปาวลี

หากจะให้สืบสาวราวเรื่องถึง “ตำนานแม่ของลอยหะโม้ด” ว่าแรกสุดของแรกสุด จะเคยมีมาก่อนยุคหริภุญไชยอีกไหม ดิฉันและ ดร.อัครินทร์ พงษ์พันธ์เดชา นักวิชาการด้านมอญศึกษา ได้เคยศึกษาเรื่องนี้ไว้ พบว่าอาจจะพอเชื่อมโยงได้กับอีกประเพณีหนึ่งที่ยังคงจัดขึ้นในแคว้นโอริสสะ แถบอ่าวเบงกอล ทางทิศตะวันออกของอินเดีย มีประเพณีหนึ่งที่มีรูปแบบละม้ายคล้ายคลึงกันกับ “ลอยหะโม้ด” เรียกว่าประเพณี “บาหลียาตรา ทีปาวลี” (อ่าน ที-ปา-วะ-ลี) ทำสืบทอดกันมาอย่างยาวนานกว่า 2,000 ปีมาแล้ว แสดงว่ามีก่อนประเพณีลอยหะโม้ดประมาณ 1 พันปี เพราะของเรามีขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 15 ตอนปลาย

ดร.อัครินทร์ พงษ์พันธ์เดชา ได้สัมภาษณ์นักวิชาการด้านมานุษยวิทยาและโบราณคดีสตรีชาวอินเดียท่านหนึ่งได้คำอธิบายว่า “ทุกวันนี้ประเพณีบาหลียาตรา ทีปาวลี ยังคงจัดขึ้นที่แคว้นโอริสสะ ทำไมต้องแคว้นนี้  เหตุที่ยุคสมัยหนึ่ง ประชากรจากแคว้นนี้ได้อพยพไปตั้งถิ่นฐาน ณ ดินแดนแถบหมู่เกาะชวา บาหลี ในอินโดนีเซียตั้งแต่ราว พ.ศ. 300-500 ทำให้พี่น้องสองแคว้นเวลาคิดถึงกัน รำลึกถึงกัน สิ่งเดียวที่ทำได้ในยุคการสื่อสารเน้นทางน้ำมากกว่าทางบก ก็คือเอาสิ่งของเครื่องใช้ อาหาร เสื้อผ้า ใส่ลงในเรือสำเภาขนาดใหญ่ แล้วจุดดวงประทีป (ทีปาวลี) ให้สว่าง ประดับทั่วลำเรือ ล่องลอยไปจากอ่าวเบงกอล โดยอธิษฐานจิตว่าขอให้สำเภาหรือเรือลำนี้จงไปถึงพี่น้องชาวอินเดียที่ไปอาศัยอยู่ในเกาะชวาบาหลีที่จากไปนาน จึงเรียกประเพณีนี้ว่า “บาหลียาตรา” เอาคำว่า “ทีปาวลี” มาผสมกัน กลายเป็น “ทีปาวลี บาหลียาตรา” หรือ “บาหลียาตรา ทีปาวลี” เอาคำไหนขึ้นต้นก่อนก็ได้

แล้ว “บาหลียาตรา” มาเกี่ยวข้องอะไรกับสายสัมพันธ์ระหว่าง “หงสาวดี-หริภุญไชย” ดิฉันเข้าใจว่า ชาวอินเดียส่วนหนึ่งในยุคสุวรรณภูมิ ก็อพยพไปตั้งถิ่นฐานอยู่แถวเมืองสะเทิมด้วยเช่นกัน อย่าลืมว่า เราเคยถกเถียงกันว่า ศูนย์กลางสุวรรณภูมินั้นอยู่ที่ไหนกันแน่ ในรัฐมอญเขาก็เชื่อว่าเมืองสะเทิมคือศูนย์กลางสุวรรณภูมิ ไม่ต่างไปจากที่เราเคยเชื่อว่า นครปฐมหรืออู่ทองเคยเป็นศูนย์กลางสุวรรณภูมิ

อาจเป็นไปได้ว่า พี่น้องชาวอินเดียจากแคว้นกลิงครัฐก็ดี แคว้นโอริสสะก็ดี ที่อพยพมายังสุวรรณภูมิยุคพระเจ้าอโศกมหาราช ราว พ.ศ. 300 ได้มาปักหลักแถวเมืองสะเทิมของชาวมอญ ทำให้ชาวมอญสะเทิมรู้จักประเพณีนี้ก่อนแล้ว กล่าวคือชาวอินเดียในชมพูทวีปเมื่อคิดถึงชาวอินเดียในรัฐมอญ ก็จัดทำเรือใหญ่ใส่อาหารและดวงประทีปลอยมายังเมืองมอญ อาจอนุโลมเรียกว่า “สุธรรมวดียาตรา” หรือ “หงสาวดียาตรา” ในทำนองเดียวกันกับ “บาหลียาตรา” จนกระทั่งชาวมอญหงสาวดีได้อพยพมาอยู่ที่หริภุญไชย จึงได้นำเอาแนวคิดดังกล่าวนี้มาใช้ต่อในประเพณี “ลอยหะโม้ด” ก็เป็นได้

เทศบาลตำบลต้นธง สืบสานอย่างสร้างสรรค์

            ย้อนกลับมาดูงานประเพณี “ลอยโขมด” ของทางเทศบาลตำบลต้นธง อำเภอเมืองลำพูน ซึ่งใช้คำเรียกเป็นภาษาขอมโบราณ ซึ่งคำนี้ปรากฏอยู่ในพงศาวดารโยนก อันที่จริงก็คือคำเดียวกันกับที่ดิฉันชอบใช้ว่า “ลอยหะโม้ด” นั่นเอง

            เป็นการฟื้นฟูงานประเพณีในช่วงเทศกาลยี่เป็ง-ลอยกระทง เข้าสู่ปีที่ 8 แล้ว โดยกำหนดจัดทุกวันขึ้น 8 ค่ำเดือนยี่เหนือ หรือเดือน 12 ของภาคกลาง กล่าวให้เข้าใจก็คือ จัดล่วงหน้าก่อนประเพณียี่เป็ง-ลอยกระทง 1 สัปดาห์

            สถานที่จัดงาน เทศบาลตำบลต้นธงเลือกวัดกู่ละมัก หรือวัดรมณียาราม ซึ่งเป็นทำเลที่เหมาะสม นอกจากจะอยู่ประชิดลำน้ำกวง (แม่น้ำปิงสายเก่า) แล้ว ยังเป็นวัดแห่งแรกที่พระนางจามเทวีทรงสร้างในเขตหริภุญไชยนครอีกด้วย 

            กิจกรรมลอยโขมดที่จัดขึ้นไปแล้วระหว่างวันที่ 28 ตุลาคม ถึง 1 พฤศจิกายน 2565 นี้ มีกิจกรรมย่อยๆ พอเป็นสังเขปดังนี้ พิธีอัญเชิญพระอุปคุตขึ้นมาจากแม่น้ำ การประกวดหนูน้อย ประกวดขโมด (สะตวง) เสาสี่ก้านภายในใส่สิ่งของเครื่องอุปโภค บริโภค อุทิศให้บรรพชนและเป็นการปล่อยเคราะห์ มีพิธีทางพราหมณ์ เช่นการบวงสรวงด้วยการเป่าสังข์ ตีกลองสะบัดชัย ฟ้อนไฟ ฟ้อนดาบ ฯลฯ มีพิธีทางพระ ทางวัดกู่ละมักและนายกเทศมนตรีตำบลต้นธงได้นิมนต์ พระเทพรัตนนายก เจ้าคณะจังหวัดลำพูน และเป็นเจ้าอาวาสวัดพระธาตุหริภุญชัย เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ ทำพิธีสวดสะเดาะเคราะห์ปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายออกไปจากชีวิต

            จากนั้นเจ้าของขโมดแต่ละดวง ที่ร่วมนำมาประกวดด้วยความร่วมมือของประชาชนหมู่บ้านต่างๆ ในเขตตำบลต้นธง เช่น บ้านศรีย้อย บ้านพันตาเกิน บ้านสันต้นธง เป็นต้น ไปจนถึงเครือข่ายพี่น้องชาวลำพูนที่อาศัยในเขตพื้นที่อื่น เช่น บ้านแป้น (อบต.ท่าเชียงทอง) บ้านหนองหนาม และที่น่าสนใจยิ่งคือ พี่น้องชาวมอญบ้านหนองดู่ บ้านบ่อคาว ตำบลบ้านเรือน อำเภอป่าซาง ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดประเพณีลอยหะโม้ดนี้

            ถือเป็นประเพณีหนึ่งเดียวในลำพูน หนึ่งเดียวในล้านนา หนึ่งเดียวในสยาม และหนึ่งเดียวในโลก ที่นักท่องเที่ยวห้ามพลาด ปีนี้ไม่ทันไม่เป็นไร ปีหน้าฟ้าใหม่ต้องท่องไว้ในใจ ต้องกาปฏิทินตัวแดงๆ ไว้ล่วงหน้าเลยว่า เรามีนัดกับวัดกู่ละมัก จังหวัดลำพูน ก่อนงานลอยกระทงสากล 1 สัปดาห์

43

ข่าวอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ส่งมอบรถใหม่ HyundaiSTARIA Premium with Sunroof (Euro5) สีขาว เป็นรถยนต์น่าใช้สำหรับครอบค...

เอชดีเจมอเตอร์ ฮุนไดเชียงใหม่ โดยที่ปรึกษาการขายเซลส์มุ้ย ร่วมแสดงความยินดีพร้อมส่งมอบรถใหม่ให้กับคุณแคทริน อินต๊ะมา เป็นรถยนต์ ฮุนไดSTARIA Premium with Sunroof (Euro5) สีขาว ขอขอบคุณที่ให้เกียรติมาเป...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 16 ม.ค. 2568, 18:44
  • |
  • 58

ส่งมอบไปอีก 1 คันแล้ว สำหรับรถยนต์ Hyundai STARGAZER X6 สีบรอนทอง สุดสวย ที่ผ่านมา

ส่งมอบรถใหม่ให้กับลูกค้า ที่ปรึกษาการขาย เอชดีเจ มอเตอร์ ฮุนไดเชียงใหม่ เซลส์แนน ร่วมแสดงความยินดีพร้อมส่งมอบรถใหม่ให้แก่คุณวิระดา ชวลิต Hyundai STARGAZER X6 สีบรอนทอง ออกไปจากโชว์รูม เอชดีเจมอเตอร์ ท...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 11 ม.ค. 2568, 14:08
  • |
  • 94

ส่งมอบรถใหม่ Hyundai CRETA ALPHA สีดำ เป็นรถยนต์น่าใช้สำหรับครอบครัว

 เอชดีเจมอเตอร์ ฮุนไดเชียงใหม่ โดยที่ปรึกษาการขายเซลส์แนน ร่วมแสดงความยินดีพร้อมส่งมอบรถใหม่ให้กับคุคุณ KYUNG HEE LEE เป๋ฯรถยนต์ Hyundai CRETA ALPHA สีดำ ขอขอบคุณที่ให้เกียรติมาเป็นครอบครัวฮุนได...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 8 ม.ค. 2568, 12:35
  • |
  • 107

ส่งมอบรถใหม่ Hyundai STARGAZER Smart 6 With Black Roof สีแดง เป็นรถยนต์น่าใช้สำหรับครอบคร...

เอชดีเจมอเตอร์ ฮุนไดเชียงใหม่ โดยที่ปรึกษาการขายเซลส์แนน ร่วมแสดงความยินดีพร้อมส่งมอบรถใหม่ให้กับคุณเอนก ชิตเกษร Hyundai STARGAZER Smart 6 With Black Roof สีแดง ขอขอบคุณที่ให้เกียรติมาเป็นครอบครัวฮุนไ...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 3 ม.ค. 2568, 10:17
  • |
  • 191

เหลืออีกสองวัน Lanna Auto Sale 18-25 ธันวา 67 ที่เซ็นทรัลเ แอร์พอร์ต รถไฟฟ้าน่าใช้ราคาน่าต...

กระแสรถยนต์ไฟฟ้าในบ้านเราเริ่มได้รับความสนใจจากผู้ใช้คนเมืองมากขึ้นทุกวัน ตามท้องถนนในเชียงใหม่ทุกวันนี้รถที่ขับไปขับมาสังเกตุดูได้เลยต้องมีรถยนต์ไฟฟ้าชับสวนมาหรือขับตามเรามาหลากหลายรุ่น นั่นแสดงถึงรถ...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 24 ธ.ค. 2567, 13:13
  • |
  • 220

อีซูซุ ศาลา เชียงใหม่ จัด ISUZU 2.2 Ddi MAXFORCE พลังแรง ท้าลอง ในศูนย์ประชุมนานาชาติเชียง...

ใกล้สิ้นปีหลายค่ายรถยนต์จัดงานอีเว้นท์กันตลอดทั้งเดือน โดยเฉพาะค่ายอีซูซุที่มีรถยนต์ออกใหม่ทั้งเครื่องยนต์ใหม่ แรงขึ้น เร็วขึ้น วันนี้เราพาท่านไปเที่ยวชมงานนี้กันซึ่งจัดขึ้นภายในศูนย์ประชุมนานาชาติเชี...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 22 ธ.ค. 2567, 16:33
  • |
  • 235
Sytiq Company

ออกแบบพัฒนาโปรแกรมและแอพลิเคชั่น

โดยบริษัทไซทิค ติดต่อ:0819507128

Sytiq Company

ออกแบบและติดตั้ง Home Automation

โดยบริษัทไซทิค ติดต่อ:0819507128