เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ (ธปท. สภน.) จัดงานสัมมนาทางวิชาการ ประจำปี 2565 “Moving beyond the curve: ก้าวข้ามความท้าทาย สู่อนาคตเศรษฐกิจการเงินใหม่ภาคเหนือ” ณ อาคารอเนกประสงค์ ธปท. สภน. จ.เชียงใหม่ เพื่อให้ภาคธุรกิจและประชาชนในภาคเหนือได้รับทราบทิศทางเศรษฐกิจการเงินและนโยบาย ธปท. รับฟังมุมมองเกี่ยวกับอนาคตเศรษฐกิจภาคเหนือ และแนวทางปรับตัวเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนาทั้งภาคธุรกิจ การเงิน การศึกษา ภาคราชการ และประชาชนทั่วไปประมาณ 200 คน
ในงาน ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย แสดงปาฐกถาพิเศษในช่วงสนทนากับผู้ว่าการฯ เรื่อง “ก้าวข้ามความท้าทาย วางนโยบายสู่อนาคต” ฉายภาพเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง คาดว่าอัตราการขยายตัวปี 2565 อยู่ที่ 3.3% และปี 2566 ที่ 3.8% ตามรายได้แรงงานปรับดีขึ้น และการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว เช่นเดียวกับเศรษฐกิจภาคเหนือที่ทยอยฟื้นตัว แต่ช้ากว่าประเทศ โดยมีความท้าทายที่ต้องก้าวข้าม ทั้งปัญหาเชิงโครงสร้างที่ภาคเหนือพึ่งพิงภาคเกษตรสูง มีประชากรสูงวัยที่สุดในประเทศ และยังไม่ได้ประโยชน์จากการค้ากับเพื่อนบ้านได้อย่างเต็มที่ แนวทางพัฒนาต้องสร้างความเติบโตของสังคมเมือง (urbanization) ในภาคเหนือให้มากขึ้น เพื่อดึงดูดแรงงานรุ่นใหม่ให้อยู่ในพื้นที่เป็นพลังพัฒนาในระยะยาว สร้างชนชั้นกลางเพิ่มเพื่อเป็นกำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจเช่นตัวอย่างในต่างประเทศ เพราะความมั่งคั่งมาจากสังคมเมืองที่เติบโต ด้านนโยบายการเงิน ธปท. ได้ปรับเพื่อ smooth takeoff เป้าหมายคือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจต้องไม่สะดุด โดยขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อไม่ให้เป็นภาระจนเกินไปต่อกลุ่มเปราะบาง แต่ก็จำเป็นต้องทำเพื่อดูแลไม่ให้เงินเฟ้อสร้างภาระเพิ่มเติมให้แก่ประชาชนและธุรกิจ
ตามด้วยงานศึกษา “กระแสดิจิทัลและความความยั่งยืน กับโอกาสยกระดับเศรษฐกิจการเงินภาคเหนือ” โดย ดร.ธนพร ศุภเศรษฐสิริ และ นางสาวอวิกา พุทธานุภาพ ธปท. สภน. นำเสนอภาพกระแสดิจิทัลและความยั่งยืนที่มาแรงและเร็วที่จะมากระทบเศรษฐกิจภาคเหนือ เป็นโอกาสในการยกระดับเศรษฐกิจภาคเหนือจากโครงสร้างที่ "กระจุกตัวและมูลค่าเพิ่มน้อย" ไปสู่ "เศรษฐกิจมูลค่าสูงและยั่งยืน" ผ่านการนำเสนอ 5 ภาพเศรษฐกิจในอนาคตที่อาจเป็นทางเลือกให้กับภาคธุรกิจ ได้แก่ เกษตรอัจฉริยะ อาหารแห่งอนาคต การผลิตที่มีมาตรฐานความยั่งยืน การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและเชิงสร้างสรรค์ โดยภาคการเงินจะเป็นตัวช่วยสำคัญที่สนับสนุนให้ภาคธุรกิจผ่านการดำเนินนโยบายสำคัญ 3 ด้าน 1) เปิดกว้างให้ภาคการเงินแข่งขันมากขึ้น เพื่อให้เกิดบริการที่หลากหลายและตอบโจทย์ผู้ใช้บริการ 2) พัฒนาระบบการเงินให้เอื้อต่อการทำธุรกิจดิจิทัลมากขึ้น และ 3) จัดทำแนวนโยบายด้านการเงินเพื่อสนับสนุนให้ธุรกิจและครัวเรือนปรับตัวสู่ความยั่งยืน
และช่วงสุดท้าย เป็นการเสวนาหัวข้อ “สู่อนาคตธุรกิจยุคใหม่ ก้าวอย่างไรให้ยั่งยืน” โดยผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ท่าน ได้แก่ ดร.องอาจ กิตติคุณชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) และประธานกิตติมศักดิ์ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ นางสาวนิดา วงศ์พันเลิศ Managing Owner 137 Pillars Hotels & Resorts และ ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ โดยมี นางสาวนฤมล เวสารัชกิจ รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารและสื่อสารองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นผู้ดำเนินการ วิทยากรได้แลกเปลี่ยนมุมมอง ประสบการณ์ และตอบคำถามในประเด็นที่เกี่ยวกับอนาคตธุรกิจยุคใหม่ ภายใต้กระแสดิจิทัลและความความยั่งยืน
โดยด้านอุตสาหกรรมมีความจำเป็นใช้เทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพและรักษาคุณภาพการผลิต ซึ่งปัจจุบันเทคโนโลยีเข้าถึงง่ายและราคาถูกลงมาก รวมทั้งขยายผลสู่เกษตรอัจฉริยะเพื่อยกระดับผลผลิตต่อไร่ รวมทั้งควรกระจายตลาดเพื่อลดความเสี่ยงของธุรกิจ ด้านการท่องเที่ยวเห็นว่ากระแสการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเป็นตลาดที่มีศักยภาพและเติบโตสูง ลูกค้ากลุ่มสหรัฐอเมริกาและยุโรปมีค่าใช้จ่ายต่อคนสูง ธุรกิจต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนา package ให้เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละกลุ่ม ทั้งกิจกรรมและระยะเวลาที่พำนัก ในส่วนของภาคการศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีความพร้อมในการสนับสนุนภาคธุรกิจ โดยมีทุนวิจัยที่จะสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีให้ผู้ประกอบการ มีโครงการให้ความรู้แก่ startup ทั้งด้านการพัฒนาธุรกิจ การเงิน การตลาด เป็นต้น
ในประเด็นคำถามที่เกี่ยวกับ ธปท. เรื่องความเป็นไปได้การอุดหนุนอัตราดอกเบี้ยให้กับ SMEs นั้น เป็นประเด็นที่อาจส่งผลต่อการเข้าถึงสินเชื่อในอนาคต เพราะดอกเบี้ยที่ต่ำไปจะไม่สะท้อนความเสี่ยงที่แท้จริงของลูกหนี้ ธปท. จึงอยู่ระหว่างการผลักดันให้เกิดการคิดดอกเบี้ยให้สอดคล้องกับความเสี่ยงของลูกหนี้ (Risk-based pricing) โดยใช้ข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ ที่จะมากับการพัฒนาด้านดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งสำหรับลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงสูง จะต้องใช้กลไกประกันความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพควบคู่ไปด้วย ในส่วนของแผนงานสำหรับภูมิภาคต่าง ๆ ของ ธปท. นั้น มีการจัดทำให้สอดคล้องกับทิศทางของสำนักงานใหญ่และประเทศในภาพรวม ซึ่งจะมุ่งเน้นการนำมาปฏิบัติได้จริงเป็นหลัก (https://www.bot.or.th/Thai/PressandSpeeches/Speeches/Gov/BOTPolicyDirection.pdf)
โดยล่าสุด ในปี 2565 ธปท. ได้เผยแพร่นโยบายภูมิทัศน์ทางการเงินไทยเพื่อเศรษฐกิจและการเติบโตอย่างยั่งยืน ที่เน้นการวางโครงสร้างพื้นฐานให้กับระบบการเงิน ในการสนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัล การเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว การแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืน และการปรับกฎระเบียบเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจการเงินไทยด้วย นอกจากนี้ ผู้ร่วมสัมมนายังให้ความสนใจกับข้อมูลเศรษฐกิจการเงินของภูมิภาค ซึ่งบางส่วน ธปท. เผยแพร่อยู่แล้ว และหากมีการศึกษาเชิงลึกเพิ่มเติม จะดำเนินการเผยแพร่ต่อไป
ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจภาคเหนือฟื้นตัวได้ค่อนข้างช้า โดยเฉพาะแรงกระทบจากปัญหาเงินเฟ้อ และปัญหาหนี้ครัวเรือนกลุ่มเปราะบางคือเกษตรกรและคนวัยเกษียณ ซึ่งนโยบายทางการเงินของ ธปท.ในการแก้ปัญหาเงินเฟ้อก็คือ การเพิ่มอัตราดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบข้างเคียงมาก เพราะหากปล่อยให้เงินเฟ้อพุ่งไปไม่หยุด ต้นทุนก็จะเพิ่มสูงขึ้น เศรษฐกิจจะเดินต่อไม่ได้ จึงต้องใช้แนวทางขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งถือว่ามีผลกระทบน้อยกว่าเมื่อเทียบกับเงินเฟ้อ
ขณะเดียวกันปัญหาหนี้ครัวเรือนภาคเหนือ พบว่าราว 60% เป็นหนี้คงที่ ทั้งนี้ ธปท.ได้เร่งแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนแบบครบวงจร ได้แก่ 1.การเร่งแก้หนี้เดิม 2.การแก้หนี้ให้ถูกหลักการ เช่น การพักหนี้ ความเป็นจริงดอกเบี้ยยังคงวิ่งไปทุกวัน และยิ่งกลุ่มคนเป็นหนี้คือเกษตรกรสูงวัย กว่าจะเคลียร์หนี้ได้หมดจึงต้องใช้เวลานาน การพักหนี้ไปเรื่อย ๆ จึงไม่ใช่วิธีแก้ปัญหา
ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวต่อว่า ในปี 2566 จะเห็นภาพที่ไม่ดีนักของเศรษฐกิจโลก กล่าวคือ เศรษฐกิจโลกในปีหน้าจะชะลอตัวอย่างมาก และจะเกิดความผันผวนในตลาดการเงินโลก แต่ผลกระทบที่จะเกิดกับภาคเหนือย่อมจะมีบ้าง แต่คงไม่มากนัก เพราะภาคเหนือยังมีแรงขับเคลื่อนของภาคท่องเที่ยวที่เริ่มฟื้นกลับมา ก็จะเป็นตัวพยุงเศรษฐกิจเอาไว้ได้ แม้ปีหน้าเศรษฐกิจโลกชะลอตัว แต่นักท่องเที่ยวต่างชาติจะยังคงเดินทางมาประเทศไทยหลังโควิดเริ่มคลี่คลายลง คนยังอยากเดินทางท่องเที่ยว แต่อาจจะยังไม่กลับมาคึกคักเหมือนช่วงก่อนโควิด โดยรวมเศรษฐกิจประเทศไทยจะเติบโตได้อยู่แต่จะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป