สมาคมการบินภาคเหนือเดินหน้ากระตุ้นให้เชียงใหม่เป็นศูนย์กลางการบินทั่วไป เพื่อการท่องเที่ยวเชิงอากาศยาน จัดโครงการสัมมนาส่งเสริมการท่องเที่ยวและกีฬาเชิงอากาศยานและการสร้างเครือข่ายสนามบินขนาดเล็กทั่วประเทศ เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยวใหม่ หวัง ตั้งเป้าเชียงใหม่-ภาคเหนือเป็นศูนย์กลางด้านการผลิตบุคลากร และสร้างงานเกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมการบินทั่วไปที่จะประกอบ ซ่อม สร้าง การฝึกอบรมด้านการบินในพื้นที่ในอนาคตคาดจะสร้างรายได้ให้กับพื้นที่ไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี
สมาคมการบินภาคเหนือ จัดสัมมนาส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอากาศยาน (Aviation Tourism) และกีฬาและการสร้างเครือข่ายสนามบินขนาดเล็กทั่วประเทศ โดย ดร.สันติ ป่าหวาย หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมกับ พลเอก ธงชัย สาระสุข รองประธานคณะกรรมาธิการ และประธานคณะอนุกรรมาธิการติดตามเสนอแนะ เร่งรัด การปฏิรูปประเทศ และการจัดทำและการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติด้านการกีฬา ดร.ณพศิษฏ์ จักรพิทักษ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย นางสาวภัทรอนงค์ ณ เชียงใหม่ ผู้อำนวยการภูมิภาคภาคเหนือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย นายพัลลภ แซ่จิว ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ และนายดำรงค์ องอาจ นายกสมาคมการบินภาคเหนือ รวมถึงผู้แทนสมาคมการบินทั่วประเทศ เข้าร่วมงาน ณ ห้องประชุม 1 โรงแรมเชียงใหม่แกรนด์วิว จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2565
นายดำรงค์ องอาจ นายกสมาคมการบินภาคเหนือ กล่าวว่า ทางสมาคมฯ มีเป้าหมายที่จะส่งเสริมให้จังหวัดเชียงใหม่ก้าวสู่ศูนย์กลางการบินทั่วไป หรือ (General Aviation) ซึ่งถือว่าเชียงใหม่มีศักยภาพสูงมากเพราะปัจจุบันมีธุรกิจท่องเที่ยวแบบเครื่องบินขนาดเล็ก เครื่องบินขนาดเบา ร่มบิน ร่มร่อน รวมถึงบอลลูนจำนวนมาก เป็นกิจกรรมทางอากาศที่สามารถส่งเสริมกระตุ้นการท่องเที่ยวและสร้างแรงบันดาลใจด้านการบินให้เยาวชนและผู้สนใจได้เข้าสู่ธุรกิจและอุตสาหกรรมด้านการบินด้วยและหากสามารถให้เกิดการลงทุนในพื้นที่ได้จะเกิดเงินหมุนเวียนมากกว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี เป้าหมายในอนาคตคือการส่งเสริมให้จังหวัดเชียงใหม่ศูนย์กลางของการบินทั่วไป ที่ครอบคลุม การบินส่วนบุคคล, การบินช่วยเหลือทางการแพทย์, อากาศยานไร้คนขับ,การฝึกบิน, การบินเช่าเหมาลำทั้งในรูปแบบ Air charter และ Air taxi ,การบินของ Private Jet,การบินแบบ Corporate aviation, สมาคมการบินหรือ Aeroclub, การบินชมภูมิประเทศ, การบินถ่ายภาพทางอากาศ,การบินเพื่อป้องกันปัญหาฝุ่นควันภาคเหนือเป็นต้น ทางสมาคมฯ ได้จัดโครงการสัมมนาส่งเสริมการท่องเที่ยวและกีฬาเชิงอากาศยานและการสร้างเครือข่ายสนามบินขนาดเล็กทั่วประเทศขึ้นในวันที่ 3 ธันวาคม 2565 มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อเป็นการให้ข้อมูล แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในเชิงกฎระเบียบ โอกาสทางธุรกิจ และการสร้างเครือข่ายนักบิน และสนามบินทั่วประเทศ เพื่อแสดงศักยภาพ สร้างเครือข่ายด้านธุรกิจการบินทั่วไป บุคคลที่เกี่ยวข้องในการการเตรียมความพร้อม ในการยกระดับอุตสาหกรรมและธุรกิจอากาศยานทั่วไปในระดับนานาชาติในอนาคต อันจะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่จะส่งเสริมให้เกิดการตื่นตัวด้านธุรกิจการบินในพื้นที่เมืองท่องเที่ยวทั่วประเทศ รวมถึงส่งเสริมให้เกิดการผลิตบุคลากร และเกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมการบินในอนาคต ประการสำคัญคือการกระตุ้นภาคเศรษฐกิจท่องเที่ยวที่จะสร้างรายได้ต่อท้องถิ่นชุมชนตามมา
ด้านดร.สันติ ป่าหวาย หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ในขณะนี้เข้าสู่ฤดูการท่องเที่ยวเต็มตัว มีการจัดงานเทศกาลที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นทำให้ทำให้แนวโน้มจำนวนผู้โดยสาร และเที่ยวบินเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เฉพาะในเดือนตุลาคม 2565 ท่าอากาศยานเชียงใหม่มีผู้โดยสารเฉลี่ยวันละประมาณ 19,000 คน เป็นผู้โดยสารภายในประเทศกว่า 18,300 คน ผู้โดยสารระหว่างประเทศกว่า 700 คน จำนวนเที่ยวบินเฉลี่ยวันละ 110-120 เที่ยวบิน เป็นเที่ยวบินภายในประเทศประมาณ 114 เที่ยวบิน และเที่ยวบินระหว่างประเทศประมาณ 6 เที่ยวบิน ทั้งนี้คาดการณ์หลังจากนี้ไปถึงต้นปีหน้า จะมีจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ยวันละประมาณ 21,000 คน หรือเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 10 และคาดว่าในปีนี้ จะมีนักท่องเที่ยวเข้าสู่จังหวัดเชียงใหม่ประมาณ 6 ล้านคน แบ่งเป็นคนไทย 5.6 ล้านคน และนักท่องเที่ยวต่างประเทศอีกประมาณ 4 แสนคน สร้างรายได้ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท การฟื้นตัวอยูประมาณ 50% ส่วนในปีหน้า คาดว่ากิจกรรมการท่องเที่ยวของเชียงใหม่ให้สามารถสร้างรายได้หมุนเวียนในพื้นที่ในปี 2566 ประมาณ 70,000 ล้านบาท จากกิจกรรมในพื้นที่ที่เพิ่มขึ้น “การส่งเสริมให้จังหวัดเชียงใหม่ก้าวสู่ศูนย์กลางการบินแบบทั่วไป การสร้างอาชีพใหม่ด้านศูนย์ซ่อมบำรุง รวมถึงการเป็นเมืองการบินภาคเหนือในอนาคต นอกจากจะสร้างการจ้างงาน ยกระดับรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำในพื้นที่ ก็จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวให้ผู้รักการบินได้มาเรียนรู้พัฒนาการ เทคโนโลยี ด้านการบิน และประวัติศาสตร์การบินของจังหวัดเชียงใหม่ และภาคเหนือได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะได้ ส่งเสริมให้เยาวชน ได้เข้าถึงและมีแรงบันดาลใจในเรื่องของด้านการบิน ตลอดจนการสร้างความสัมพันธ์ และสร้างความรู้ด้านกิจกรรมอากาศยานในภาคเหนือ ให้เกิดการแลกเปลี่ยนและมีกิจกรรมร่วมกันในระดับนานาชาติ ซึ่งท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงใหม่ได้” หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ล่าสุดหวัดเชียงใหม่ ได้เป็นเจ้าภาพจัดงาน The Route Asia Development Forum ที่เลื่อนการจัดงานมาเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ถือเป็นการประชุมเจรจาธุรกิจด้านการบินที่ใหญ่ที่สุดในโลกเป็นการเจรจาธุรกิจแบบ Face to Face meeting มีผู้เข้าร่วมงานเป็นผู้บริหารระดับสูงของสายการบินและสนามบินจากทั่วโลก มีวัตถุประสงค์ในการชักจูงสายการบินให้สนใจมาเปิดทำการบินกับสนามบินทั้ง 6 แห่งของ AOT รวมทั้งการสร้างเครือข่ายเส้นทางการบินระหว่างสนามบินเป้าหมายอีกด้วย โดยการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย ได้รับมอบการเป็นเจ้าภาพการจัดงาน RAS2020 อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2562 ณ เมืองเซบู ประเทศฟิลิปปินส์ สำหรับงาน The Routes Asia Development Forum 2020 ถือเป็นอีกครั้งในรอบ 14 ปี ของประเทศไทย ที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดงาน นับว่าเป็นโอกาสสำคัญของประเทศไทยที่ได้ให้การต้อนรับผู้เข้าร่วมงานจากธุรกิจการบินทั่วโลก ซึ่งจะเป็นการแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของท่าอากาศยาน ความก้าวหน้าของเครือข่ายโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมทางอากาศ รวมทั้งความพร้อมและคุณภาพของภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง การจัดงานดังกล่าวจะเป็นการเปิดพื้นที่สำคัญในการต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุมจากธุรกิจการบินทั่วโลก