"อภิสิทธ์" ลั่นเกษตรไทยถึงเวลายกเครื่อง ชี้โลกร้อน ปัญหาขาดแคลนปุ๋ย เทรนด์สุขภาพบีบให้ต้องปรับตัว รัฐต้องอัดงบช่วยเปลี่ยนเทคโนโลยีลดต้นทุน รื้อมาตรการประกันราคา เลิกให้แบบหว่าน “ณัฐพงศ์” จี้รัฐหนุนเอสเอ็มอีลุยตลาดโลกแข่งรายใหญ่
จากงานสัมมนาทางวิชาการ ในหัวข้อ"พลิกแผนปฏิรูปเกษตรไทยยุค 5 G” ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ ที่จัดขึ้นในวันที่ 7 ธันวาคม 256 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ขึ้นกล่าวปาฐกถา ในหัวข้อเรื่อง “ได้เวลายกเครื่องเกษตรไทย” โดยมีใจความสำคัญและให้ความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์การเกษตรไทยในปัจจุบันต้องได้รับการ“ยกเครื่อง”อย่างเร่งด่วนที่สุดเพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก
“เรามักจะภาคภูมิใจว่าภาคเกษตรไทยมีความได้เปรียบจากความอุดมสมบูรณ์ที่มีมาแต่ช้านาน ในน้ํามีปลา ในนามีข้าว เราจึงทําการเกษตรตามธรรมชาติ มีเหลือจากบริโภคภายในประเทศก็ส่งออก ไม่เคยต้องถูกกดดัน ให้เปลี่ยนแปลง แต่ปัจจุบัน เรามีครัวเรือนที่อยู่ในภาคเกษตรถึงร้อยละ 40 แต่ทํารายได้ไม่ถึงร้อยละ 10 ของ ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ จึงทําให้เกิดความเหลื่อมล้ำสูง เกษตรกรกลายเป็นกลุ่มผู้ยากจนที่รัฐต้องใช้ งบประมาณจํานวนมากในการให้ความช่วยเหลือ ที่สําคัญผลิตภาพของผลผลิตทางการเกษตรของเราต่ํา แม้ใน พืชผลที่เราส่งออกเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก”
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า จากนี้ไป จะมีหลายปัจจัยกดดันจากภายนอกเพิ่มขึ้น ได้แก่ ภาวะโลกร้อนที่ส่งผ ส่งผลกระทบ ต่อความอุดมสมบูรณ์ ปัญหาภัยพิบัติ ผนวกกับการกีดกันทางการค้าในลักษณะเดียวกับที่การประมงของไทย เผชิญมาแล้ว ภาวะสงครามยูเครน-รัสเซียที่ส่งผลให้เกิดปัญหาขาดแคลนปุ๋ย ซึ่งไทยต้องพึ่งพาการนําเข้าปุ๋ย เกือบทั้งหมด จําเป็นต้องมีมาตรการเตรียมการรับมือโดยด่วน
“แนวโน้มโลกให้ความสําคัญกับเรื่องสุขภาพมากขึ้น เน้นสินค้าออร์แกนิค การผลิตที่มุ่งความเป็นธรรมชาติไม่ใช้สารเคมี ส่งผลต่อความต้องการสินค้าเกษตรโดยตรง ขณะเดียวกันไทยมีคู่แข่งมากขึ้น โดยเฉพาะ เวียดนาม ถือเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวในหลาย ๆ สินค้า เช่น ข้าว ทุเรียน”
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า หัวใจของการยกเครื่อง คือ การนําเทคโนโลยีมาใช้เพื่อลดต้นทุนการจัดการเรื่องดิน น้ํา อากาศ ปรับตัวเข้าสู่การทําเกษตรแม่นยําเต็มรูปแบบ แต่การจะดําเนินการดังกล่าวได้ต้องเริ่มต้นด้วยการมี โครงการเพิ่มพูนทักษะ (Upskill) ให้เกษตรกรไทยเรียนรู้การใช้เครื่องมือสมัยใหม่เหล่านี้ พร้อมไปกับการได้รับ โอกาสจากการเพิ่มมูลค่าของสินค้าและการทําการตลาด โดยรัฐให้การสนับสนุนทั้งในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน และเงินทุนที่จะต้องใช้ในการปรับเปลี่ยน
นายอภิสิทธิ์ยังได้กล่าวต่อไปว่า รัฐควรใช้โอกาสในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ ปรับปรุงนโยบายของรัฐต่อภาคการเกษตร โดยนําเครื่องมือที่ใช้ในการสนับสนุนเกษตรกรในปัจจุบัน เช่น โครงการประกันรายได้ในการกําหนดเงื่อนไขและ สร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรปรับตัว และใช้โอกาสนี้ดําเนินนโยบายเกี่ยวกับการเพิ่มอํานาจการต่อรองของเกษตรกรและกลุ่มเกษตรกรเพื่อมิให้การเปลี่ยนแปลงเอื้อประโยชน์เฉพาะกับธุรกิจขนาดใหญ่ รวมทั้งสร้าง แพลตฟอร์มต่าง ๆ ให้เกษตรกรเข้าถึงตลาดโลกโดยตรงได้ง่ายขึ้น
“การเร่งปรับปรุงพัฒนาเกษตรกรไทยเป็นเรื่องเร่งด่วน ไทยหมดเวลาแล้ว ถ้าเรายังย่ําอยู่กับที่ จะแข่งขันใน ตลาดโลกไม่ได้แล้ว แต่หากการยกเครื่องประสบความสําเร็จ จะเป็นการยกระดับทั้งภาคการเกษตร ความ เป็นอยู่ของเกษตรกร แก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ํา ตลอดจนเสริมสถานะของประเทศไทยในภาวะที่โลกกําลังเผชิญกับปัญหาความมั่นคงด้านอาหาร” นายอภิสิทธิ์กล่าวในที่สุด
ด้านนายณัฐพงศ์ พันธเกียรติไพศาล ที่ปรึกษาประธานคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญา บรรยายหัวข้อ “เกษตรกรไทยกับเทรนด์ความยั่งยืน” ว่า สินค้าเกษตรไทยยังมีอนาคตมากในเวทีโลก โดยเฉพาะเกษตรแปรรูปด้านอาหาร และผลิตภัณฑ์ที่ใช้ด้านสุขภาพ แต่ปัญหาคือ ต้องมีการจัดสมดุลระหว่างผู้ส่งออก หรือผู้ประกอบการรายใหญ่ รายเล็ก ให้มีความสามารถด้านการแปรรูปและส่งออกใกล้เคียงกัน เพราะผู้ประกอบการขนาดเล็กจะสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าได้มากกว่า และกระจายซื้อวัตถุดิบจากเกษตรกรได้กว้างขวางกว่า ในราคาที่่เป็นธรรมกว่า โดยการลงทุนด้านเครื่องจักรในการแปรรูป เทคโนโลยี และวิทยาศาสตร์ด้านอาหารที่พัฒนาขึ้นอย่างมากและต้นทุนลดลง หากรัฐบาลมองความสัมพันธ์เหล่านี้ออก และมีนโยบายส่งเสริมที่ถูกจุด บูรณาการร่วมกับภาคการศึกษาวิจัย เอกขนขนาดกลางและขนาดเล็ก
“อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปจะเป็นอนาคตของประเทศ และส่งผลดีต่อประชาชนในประเทศมากกว่าอุตสาหกรรมอื่่น ๆ ทั้งหมดในอนาคต” นายณัฐพงศ์กล่าว