คำว่า “เวียงทาคาม” และ “ท่าเชียงทอง” เป็นชื่อบ้านนามเมืองที่ปรากฏในตำนานอย่างน้อยสามฉบับคือ ตำนานมูลศาสนา พงศาวดารโยนก และตำนานจามเทวีฉบับวัดทากาศ เป็นจุดที่ระบุว่า กระบวนเสด็จของพระนางจามเทวีใกล้มาถึงนครหริภุญไชยแล้ว พระนางจามเทวีโปรดให้พักไพร่พลที่นี่ก่อน จากนั้นสั่งให้นายขมังธนูยิงธนูสิงห์เข้าไปที่ชานเมืองหริภุญไชย ธนูตกลงที่ใด ก็จะไปสร้าง “เวียงเล็ก” เป็นพลับพลาชั่วคราวสักระยะ ก่อนที่จะเคลื่อนเข้าสู่ตัวพระนคร โดยให้ฤษีสุกกทันตะไปเจรจากับฤษีวาสุเทพเรื่องการเตรียมความพร้อมก่อน เนื้องหาของตำนานมูลศาสนา ซึ่งเป็นตำนานฉบับเก่าสุดเขียนเมื่อ 500 ปีที่แล้วมีดังนี้
“สถานที่นั้นจึงได้เรียกว่า ‘ปลาเต่า’ มาตราบเท่าถึงกาลบัดนี้ ลำดับแต่นั้นมาพระนางก็เสด็จขึ้นไปถึงสถานที่แห่งหนึ่งเป็นที่พึงใจนัก พระนางจึงตรัสสั่งให้ตั้งยังบ้านอันหนึ่งในที่ใกล้น้ำแม่ทา บ้านนั้นจึงได้ชื่อว่า ‘บ้านทา’ นั้นแล
ครั้งนั้น พระนางจามเทวีพร้อมด้วยหมู่รี้พล กับทั้งสุกกทันตฤษีก็ประทับอยู่ ณ ที่นั้นก่อน แล้วพระนางก็ให้สร้างยังพระเจดีย์องค์หนึ่งชื่อ ‘ปวิสิตปกะ’ แล้วพระนางก็ทรงกระทำสักการบูชาด้วยเครื่องบูชาทั้งหลายต่างๆ แล้วก็เสด็จจาก ‘บ้านทาคาม’ นั้น มาถึง ‘ท่าเชียงทอง’ พระนางก็ประทับอยู่ ณ ที่นั้น จึงตรัสถามคนทั้งหลาย ดูราชาวพ่อค้าชาวอาร์ทั้งหลาย แต่ที่นี้ไปถึงลพุนนั้นยังประมาณมากน้อยเท่าใด
คนทั้งหลายทูลตอบว่า ข้าแต่มหาราชเทวีเป็นเจ้า แต่ที่นี้ไปถึงเมืองลพุนนั้น ยังอีกครึ่งโยชน์ (หมายถึง ๘ กิโลเมตร-ผู้เขียน) เมื่อพระนางสดับถ้อยคำดังนั้น จึงตรัสว่า ดูราพ่อค้าชาวอาร์ทั้งหลาย อย่าเร่งรีบไปเมืองลพุนก่อน เราจักตั้งบ้านๆ หนึ่ง อยู่แต่ที่เหนือนี้ก่อน”[i]
หลังจากนั้น เป็นเหตุการณ์ที่พระนางจามเทวีให้นายธนูศิลป์ยิงธนูไปตกยังจุดที่จะสร้างเมืองชั่วคราว คือเวียงเล็กบริเวณวัดกู่ละมัก
ปัญหาที่ถกเถียงกันทุกวันนี้มีอยู่ว่า ตำนานสามฉบับที่กล่าวมานี้ เขียนแตกต่างไปจากตำนานจามเทวีพื้นบ้านอีกกลุ่มหนึ่ง เช่นฉบับพระมหาหมื่น วุฑฺฒิญาโณ และฉบับสมุดข่อยเชียงใหม่ ที่เรียกจุดเสี่ยงทายธนูว่า “ดอนทอง/ดอยทอง” ไม่เรียก “ท่าเชียงทอง” ซ้ำกว่าจะจึงจุดที่เรียกว่า ดอนทอง/ดอยทอง นั้น กระบวนเสด็จต้องผ่านจุดต่างๆ มากมาย แต่ในตำนานมูลศาสนา พงศาวดารโยนก กับวัดทากาศ เขียนแค่ว่า หลังจากดอยเต่าแล้ว ก็มาถึงจุดที่แม่น้ำทา (ทะรา/ทะลา) ไหลมาบรรจบกับแม่ปิง พระนางจามเทวีโปรดให้สร้างบ้านทาคาม/ทะละคาม/โทรคาม สร้างเจดีย์ปวิสิตตปกะ/วิปะสิทธิเจดีย์ขึ้น จากนั้นก็ถึง “ท่าเชียงทอง” แล้วยิงธนูเสี่ยงทายเลย
เพื่อให้เกิดความเข้าใจง่าย โปรดดูตารางเปรียบเทียบกันของตำนานทั้ง 5 ฉบับนี้
ลำดับที่ | ตำนานมูลศาสนา | พงศาวดารโยนก | ฉบับวัดทากาศ | ฉบับมหาหมื่น | ฉบับสมุดข่อยเชียงใหม่ | เหตุการณ์ที่เกี่ยวข้อง |
1 | ปลาเต่า | ดอนเต่า | ปลาเต่า | ปลาเต่า | ปลาเต่า | เป็นเมืองร้างมาก่อน ตั้งเมืองขึ้น ปลาเต่ารบกวน |
2 | บ้านทา(คาม) | บ้านโทรคาม | บ้านแม่ทรา | บ้านทะลา | บ้านทรา/ทราคาม | ที่ราบริมแม่น้ำทรา ตั้งบ้านขึ้น |
3 | เจดีย์ ปวิสิตปกะ | วิปะสิทธิเจดีย์ | วิสิตปัตตะ | ปวิสิตปต | ปวิสิตปตะ | พระนางกับสุกกทันตะฤษีสร้างเจดีย์องค์หนึ่ง |
4 | - | - | - | รอยพระบาท | รอยพระบาท | บูชารอยพระพุทธบาท |
5 | - | ฮอด | - | หอด | หอด | ตั้งเมืองจุดที่มีพระพุทธบาท |
6 | - | - | - | อังคะรัฏฐะ | อังครัฏฐะ | มาถึงเมืองเก่า |
7 | - | - | - | วังสะแคง | วังสะแกง | เรือพลิกตะแคง |
8 | - | - | - | แม่ขาว | แม่ขาน | เจอก้อนหินสีขาวอีกนัยหนึ่งสื่อถึงชาวบ้านขานรับ |
9 | ท่าเชียงทอง | ท่าเชียงทอง | ท่าเชียงทอง | ดอยทอง | ดอนทอง | จุดยิงธนูถามทางลำพูนอีกไกลไหม |
10 | บ้านรัมมกาคาม | วัดละปัก, บ้านระมัก | รัมมคาม | วัดอุดม, รามคาม, วัดกู่ละมัก | วัดอุดม | ตั้งเวียงเล็ก สร้างบ้านรมยคาม วัดกู่ละมัก |
เห็นได้ว่าตำนาน ๓ เล่มในกลุ่มแรก (มูลศาสนา พงศาวดารโยนก ฉบับวัดทากาศ) ไม่มีการกล่าวถึงสถานที่ ช่วงพระนางจามเทวีกราบรอยพระพุทธบาทที่เมืองฮอด ผ่านเมืองอังครัฏฐะ (จอมทอง) วังสะแกง แม่ขาว (แม่ขาน) มาจนถึงดอยทอง (ดอนทอง) หลังจากที่พระนางจามเทวีกับฤษีสุกกทันตะก่อพระเจดีย์ปวิสิตปตะ ที่บ้านทาคามเสร็จแล้วแต่อย่างใดเลย หมายความว่า สถานที่ในตำนานสามเล่มนี้ขาดหายไปช่วงยาวมาก นับจากบ้านทาคาม สร้างเจดีย์ ก็ข้ามมาถึงท่าเชียงทองจุดที่ยิงธนูเลย
ในขณะที่ตำนานกลุ่มที่สอง (พระมหาหมื่นกับสมุดข่อยเชียงใหม่) ก็เอาช่วงรอยพระบาท/อังครัฏฐะ/วังสะแกง/แม่ขาว(แม่ขาน) มาคั่นแทรกก่อน กว่าจะถึงจุดพุ่งธนูชื่อ ดอนทอง/ดอยทอง (มาบรรจบจุดเดียวกันกับที่กลุ่มแรกใช้ว่าท่าเชียงทอง) หากพิจารณาตามนี้ จากบ้านทาคามกว่าจะไปถึงท่าเชียงทองนั้นอยู่ไกลกันมาก
ในเมื่อตำนานทั้งสองกลุ่มเขียนค่อนข้างสับสน แต่ตำนานทุกฉบับทิ้งรหัสไว้ว่าจุดที่สร้างบ้านทาคามนั้น คือช่วงที่แม่น้ำปิงสบกับแม่น้ำทา เราควรพิจารณาคำว่าแม่น้ำทรา (ทะรา/ทา) นั้นมีกี่แห่ง อยู่ที่ไหนกันบ้างตามที่เราทราบกันดีนั้น ก็คือแม่น้ำทาสายที่ไหลมาจากขุนตานผ่าน อ.แม่ทาและ อ.ป่าซาง ยังจะพบแม่น้ำทาที่ชื่อซ้ำกันอีกสายในบริเวณเมืองฮอดอีกหรือไม่ จากการลงพื้นที่สำรวจเมืองฮอด ดิฉันไม่พบว่ามีแม่น้ำทาไหลมาบรรจบแม่น้ำปิงแต่อย่างใด มีเพียงคลองเล็กๆ สายอื่น และคลองเหล่านี้ก็ไม่เค้ารากศัพท์ของคำว่า ทรา/ทา/ทะลา
จุดที่พระนางจามเทวีถามทางพ่อค้าชาวอาร์(น่าจะหมายถึงพ่อค้าวัวต่างทางไกล ไม่จีนฮ่อ ก็ เงี้ยว หรือชาวอาหรับ?) คือตอนที่พระนางอยู่ท่าเชียงทอง/ดอนทอง/ดอยทอง ทรงได้คำตอบว่า เมืองลำพูนยังอยู่อีกยาวไกลประมาณ “ครึ่งโยชน์” หรือ “๔,๐๐๐ วา” เมื่อคำนวณตามสูตรคณิตศาสตร์แล้ว ๑ โยชน์ = ๑๖ กิโลเมตร, ครึ่งโยชน์จึงเท่ากับ ๘ กิโลเมตร เช่นเดียวกันกับ ๑ วา = ๒ เมตร, ๔,๐๐๐ วา = ๘,๐๐๐ เมตร = ๘ กิโลเมตรเท่ากัน
จากจุดที่เรียกว่าท่าเชียงทอง (ต.บ้านแป้น) ไปถึงใจกลางเมืองลำพูน มีระยะทาง ๘ กิโลเมตรพอดี ดิฉันและสิบเอกสุวิช ศรีวิราช รองประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอป่าซาง เคยวัดระยะทางจากใจกลางเมืองลำพูนบริเวณวัดพระธาตุหริภุญชัย มาจนถึงวัดกู่ละมัก พบว่ามีระยะทาง ๔ กิโลเมตร และจากวัดกู่ละมักวัดไปยังแหล่งโบราณสถานท่าเชียงทอง ใกล้จุดที่เรียกว่า “สบทา” ก็มีระยะทางยาวอีก ๔ กิโลเมตรเช่นเดียวกัน รวมเป็น ๘ กิโลเมตรพอดี สอดคล้องกับตำนาน ดังนั้นจึงมีความสมเหตุสมผลเป็นอย่างยิ่ง หากจะระบุว่าจุดที่ควรเป็น “ท่าเชียงทอง” นั้นต้องตั้งอยู่ทางใต้วัดกู่ละมักเพียง ๔ กิโลเมตรเท่านั้น
จุดนี้ก็คือจุดที่กรมศิลปากรดำเนินการขุดค้นหลักฐานทางโบราณคดีเมื่อปี ๒๕๕๑-๒๕๕๒ จากรายงานการขุดค้นพบว่าบริเวณดังกล่าวมีสภาพเป็นพื้นที่ราบกินอาณาเขตครอบคลุมฝั่งตะวันออกของแม่น้ำกวงและฝั่งเหนือ (หรือตะวันตก) ของแม่น้ำทา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โบราณสถานร้างตามแนวริมฝั่งแม่น้ำกวงพบว่ามีการตั้งถิ่นฐานของชุมชนยุคหริภุญไชยและก่อนประวัติศาสตร์จำนวนมาก ในส่วนที่เรียกว่า “ท่าเชียงทอง” นั้นได้พบซากเนินดินที่ยังเป็นป่ารกชัฏ ตลอดจนโบราณสถานซึ่งประกาศขึ้นทะเบียนวัดร้างจากข้อมูลสำนักงานพระพุทธศาสนามากกว่า ๑๒ แห่ง
สำนักศิลปากรที่ ๗ เชียงใหม่ (สมัยนั้นยังเรียกศิลปากรที่ 8) ได้ดำเนินการขุดแต่งโบราณสถานในกลุ่มท่าเชียงทอง เริ่มจากบริเวณทางเข้าบ้านสันมะกรูด ต.บ้านแป้น อ.เมือง จ.ลำพูน เลี้ยวซ้ายเข้าไปทางสวนลำไย จะพบซุ้มประตูโขง ซึ่งฐานรากค่อนข้างอยู่ในชั้นดิน จากนั้นพบวัดกู่เหลี่ยม (เรียกชื่อตามฐานเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยมซ้อนกันเป็นชั้นๆ คล้ายปิรามิด) และวัดกู่ดำ นอกจากนี้มี กู่สา วัดร้างสันมะโก (สันพะโค)จากการขุดแต่่งแหล่งโบราณคดีทั้งหมดนี้ พบโบราณวัตถุภาชนะเครื่องใช้สมัยหริภุญไชยปะปนกับสมัยล้านนา ได้ข้อสรุปว่าบริเวณนี้เป็นแหล่งชุมชนขนาดใหญ่ที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาแล้วตั้งแต่ยุคหริภุญไชย มีการใช้งานอย่างต่อเนื่องมาจนถึงยุคที่พม่าปกครองล้านนาราวพุทธศตวรรษที่ ๒๒
เมื่อนายขมังธนูได้ยิงธนูจากจุดท่าเชียงทองนั้นแล้ว ลูกธนูได้มาตกในจุดเสี่ยงทายที่ควรสร้างเวียงเล็กในระยะทางกึ่งกลางก่อนจะถึงนครหริภุญไชย จุดที่ธนูตกจึงเป็นสถานที่มงคลหรือสถานที่อันอุดม พระนางจามเทวีโปรดให้สร้างเจดีย์องค์หนึ่งครอบจุดที่ “ปืนธนูมงคล” ปักอยู่ เรียก "ละปัก" (หมายถึงลูกธนูของชาวลัวะ-ชาวเม็งเรียกโดยรวมว่าพวก "ละ" หรือ “ละว้า” มาตกปักอยู่) ต่อมาแผลงเป็น "กู่ละมัก"
ทุกวันนี้ โบราณสถาน “ท่าเชียงทอง” ที่ฝ่าวิกฤติความสับสน ทะเลาะถกเถียง ช่วงชิงพื้นที่ประวัติศาสตร์จากตำนานหน้าแรกของพระนางจามเทวีก่อนเคลื่อนสู่นครหริภุญไชย กลับอยู่ในสภาพถูกทิ้งร้าง จนทำให้ สภาวัฒนธรรมอำเภอป่าซางมีความประสงค์จะฟื้นฟูเวียงโบราณแห่งนี้ ทั้งเวียงทาคามและท่าเชียงทอง ด้วยการจัดกิจกรรมลงพื้นที่สำรวจทั้งสองแหล่งในวันพุธที่ 21 ธันวาคม 2565 ตั้งแต่เวลา 09.00 น.เป็นต้นไป ส่วนภาคบ่ายมีกิจกรรมล้อมวงเสวนาหัวข้อ “เวียงทาคาม-ท่าเชียงทอง” ประวัติศาสตร์หน้าแรกของนครหริภุญไชย สถานที่นัดเจอกันภาคเช้าโปรดติดตามดูหน้าเฟซบุ๊กของ Pensupa Sukkata ส่วนสถานที่เสวนาภาคบ่ายคือ บริเวณโบสถ์ร้าง หลังสถานีตำรวจภูธรอำเภอป่าซางหลังเก่า
[i] ตำนานมูลศาสนา, ๑๙๙