พระบฏคือจิตรกรรมบนผืนผ้า ภาษาล้านนาเรียกตุงค่าวธัมม์ บทความนี้ขอนำเสนอความงามและคำอธิบายภาพพระบฏที่วัดพระยืน ต.เวียงยอง อ.เมือง จ.ลำพูน เขียนขึ้นราวสมัยปลายรัชกาลที่ 5 ต่อต้นรัชกาลที่ 6 มีจำนวน 25 ผืน เขียนเรื่อง “มหาเวสสันดรชาดก” แบ่งเป็น 13 กัณฑ์
ผืนที่เขียนเรื่อง 1 ทุติมาลัย, ผืนที่ 2 ปฐมมาลัย, ผืนที่ 3-4 กัณฑ์ทศพร, ผืนที่ 5 กัณฑ์หิมพานต์, ผืนที่ 6-7 ทานกัณฑ์, ผืนที่ 8-9 กัณฑ์วนประเวศน์, ผืนที่ 10-11 กัณฑ์ชูชก, ผืนที่ 12 กัณฑ์จุลพน, ผืนที่ 13 กัณฑ์มหาพน, ผืนที่ 14 กัณฑ์กุมารบรรพ์, ผืนที่ 15 กัณฑ์มัทรี, ผืนที่ 16 กัณฑ์สักกบรรพ์, ผืนที่ 17-21 กัณฑ์มหาราช, ผืนที่ 22-23 กัณฑ์ฉกษัตริย์ และผืนที่ 24-25 นครกัณฑ์
การจัดเรียงพระบฏต้องเริ่มต้นจากผืนที่เขียนเรื่อง “พระมาลัยต้น-มาลัยปลาย” หรือปฐมมาลัย-ทุติยมาลัย ปรากฏในคัมภีร์พระมาลัยสูตร พระมาลัยคือพระอรหันตสาวก อาศัยอยู่บ้านกัมโพช แคว้นโลหะชนบท ทวีปลังกา เป็นผู้มีฤทธิ์ สามารถเหาะไปยังนรกและสวรรค์ได้ แล้วนำสิ่งที่พบเห็นมาเทศนาแก่มนุษย์ ทำให้เกิดความเชื่อในเรื่องบาปบุญคุณโทษ
เนื้อหาพระบฏสองชิ้นแรก ไม่ว่าวัดก็ตาม มักนำเสนอด้วย “ปฐมมาลัย – ทุติยมาลัย” แสดงเหตุการณ์ขณะที่พระมาลัยกำลังบิณฑบาต มีชายเข็ญใจเก็บดอกบัว 8 ดอกมาถวาย และทำการอธิษฐานจิตขอให้พ้นจากความทุกข์ยาก จากนั้นพระมาลัยนำดอกบัวไปบูชาต่อที่พระเจดีย์จุฬามณีในเทวโลกทั้ง 8 ทิศ ขณะนั้นท้าวสักกะ (พระอินทร์) จึงสั่งให้เทวบุตร เทพธิดามาร่วมฟ้อนแสดงความยินดี
ทุติยมาลัย เป็นตอนที่พระมาลัยรอพบพระโพธิสัตว์ศรีอาริยเมตรไตรย ซึ่งจะเสด็จมายังเจดีย์จุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เฉพาะวัน 8 ค่ำ 14 ค่ำ และ 15 ค่ำ จากนั้นจึงมีการเสวนากัน พระมาลัยสอบถามพระศรีอาริยเมตไตรยว่า หากคนเราอยากเกิดร่วมสมัยกับพระพุทธเจ้าจักต้องทำบุญอย่างไรบ้าง
พระโพธิสัตว์ตอบว่า “ให้ฟังเทศน์มหาเวสสันดรชาดก อันประดับด้วยคาถาพันหนึ่งภายในวันเดียว พร้อมกับบูชาด้วยประทีปพันดวง ดอกบัวพันหนึ่ง นิลุบลพันหนึ่ง ดอกผักตบพันหนึ่ง ดอกกาสะลองพันหนึ่ง ช่อ (ธงสามเหลี่ยมเล็กๆ) พันผืน และข้าวพันก้อน”
ด้วยเหตุนี้ ในพิธีสวดเทศน์มหาชาติ เรียกว่าการ “ตั้งธรรมหลวง” ในช่วงประเพณียี่เป็ง จะนำเอาไม้ไผ่ขัดแตะจำนวนสองแผ่นกระหนาบดอกกาสะลองไว้เป็นแผง แขวนไว้รอบๆ ธรรมาสน์ อันมีที่มาจากคัมภีร์ทุติยมาลัย ดังนั้นภาพพระบฏแผ่นถัดไป จึงเป็นกัณฑ์ต่างๆ ของเรื่องเวสสันดร ดังนี้
กัณฑ์ที่ 1 กัณฑ์ทศพร
เป็นกัณฑ์ที่พระอินทร์ (ท้าวสักกะ) ประสาทพรแก่พระนางผุสดีเทพอัปสร (เป็นชายาของท้าวสักกะ) ที่อยู่บนสวรรค์ ก่อนที่จะสิ้นบุญจุติลงมาเป็นพระราชมารดาของพระเวสสันดร ท้าวสักกะพานางผุสดีไปประทับยังสวนนันทวันในเทวโลก พร้อมให้พร 10 ประการ คือ 1.ให้ได้อยู่ในปราสาทของพระเจ้าสิริราชแห่งนครสีพี 2.ขอให้มีจักษุดำดุจนัยน์ตาลูกเนื้อ 3.ขอให้คิ้วดำสนิท 4.ขอให้พระนามว่า ผุสดี 5.ขอให้มีโอรสที่ทรงเกียรติยศเหนือกษัตริย์ทั้งหลายและมีใจบุญ 6.ขอให้มีครรภ์ที่ผิดไปจากสตรีสามัญคือแบนราบในเวลาทรงครรภ์ 7.ขอให้มีถันงามอย่ารู้ดำและหย่อนยาน 8.ขอให้มีเกศาดำสนิท 9.ขอให้มีผิวงาม และ 10.ข้อสุดท้ายขอให้มีอำนาจปลดปล่อยนักโทษได้
กัณฑ์ที่ 2 หิมพานต์
พระนางผุสดีลงมาจากสวรรค์เป็นชายาของพระเจ้าสญชัย ช่วงที่กำลังประสูติพระโอรสนามว่า “เวสสันดร” นั้นได้มีนางช้างฉัททันต์ตกลูกเป็นช้างเผือกขาวบริสุทธิ์ ยกเป็นช้างต้นคู่บารมีให้มีนามว่า “ปัจจัยนาค” (ปัจจัยนาเคนทร์) เมื่อพระเวสสันดรเจริญชนม์ 16 พรรษา พระราชบิดาก็ยกสมบัติให้ครองและทรงอภิเษกกับนางมัทรี ธิดาจากราชวงศ์มัททราช มีพระโอรสชื่อชาลี ราชธิดาชื่อกัณหา พระเวสสันดรสร้างโรงทาน บริจาคทานแก่ผู้เข็ญใจ พระเจ้ากาลิงคะแห่งนครกลิงครัฐได้ส่งพราหมณ์มาขอพระราชทานช้างปัจจัยนาคเพราะเมืองแห้งแล้ง พระองค์พระราชทานให้ พระเจ้าสญชัยจึงเนรเทศพระเวสสันดรออกนอกพระนครสีพีให้ไปอยู่เขาวงกต
กัณฑ์ที่ 3 ทานกัณฑ์
ก่อนที่พระเวสสันดรพร้อมด้วยพระนางมัทรี ชาลี และกัณหาออกจากพระนคร ได้ทูลขอพระราชทานโอกาสบำเพ็ญมหาสัตสดกทาน คือการให้ทานครั้งยิ่งใหญ่ อันได้แก่ ช้าง ม้า โคนม นารี ทาสี ทาสา สรรพวัตถาภรณ์ต่างๆ รวมทั้งสุราบานอย่างละ 700
กัณฑ์ที่ 4 วนประเวศน์
เมื่อออกจากนครสีพี สี่กษัตริย์เดินดงบ่ายพระพักตร์สู่เขาวงกต จุดแรกที่ไปถึงคือนครเจตราช ทั้งสี่กษัตริย์แวะเข้าประทับพัก ณ ศาลา กษัตริย์ผู้ครองนครเจตราชได้ทูลให้เสด็จครองเมือง แต่พระเวสสันดรทรงปฏิเสธ เมื่อเสด็จถึงเขาวงกตได้พบศาลาอาศรม ซึ่งท้าววิษณุกรรมเนรมิตตามพระบัญชาของท้าวสักกะเทวราช กษัตริย์ทั้งสี่จึงทรงผนวชเป็นฤๅษีพำนักในอาศรมสืบมา
กัณฑ์ที่ 5 ชูชก
ในแคว้นกาลิงคะมีพราหมณ์แก่ชื่อชูชก พำนักในบ้านทุนวิฐ (ทุนวิฏฐะ) เที่ยวขอทานในเมืองต่างๆ เมื่อได้เงินถึง 100 กหาปณะ จึงนำไปฝากไว้กับพราหมณ์ผัวเมีย สองคนนี้นำเงินไปใช้เป็นการส่วนตัว เมื่อชูชกมาทวงเงินคืนจึงยกนางอมิตดาลูกสาวให้ นางอมิตดาเมื่อมาอยู่ร่วมกับชูชกได้ทำหน้าที่ของภรรยาที่ดี ทำให้ชายในหมู่บ้านเปรียบเทียบกับภรรยาตน หญิงในหมู่บ้านเกลียดชังรุมทำร้ายทุบตีนางอมิตดา ชูชกจึงเดินทางไปทูลขอกัณหา-ชาลีเพื่อเป็นทาสรับใช้ เมื่อเดินทางมาถึงเขาวงกตก็ถูกขัดขวางจากพรานเจตบุตรผู้รักษาประตูป่า
กัณฑ์ที่ 6 จุลพน
เป็นกัณฑ์ที่ผ่านละเมาะไม้ ป่าโปร่ง ชูชกได้ชูกลักพริกขิงแก่พรานเจตบุตรอ้างว่าเป็นพระราชสาสน์ของพระเจ้าสญชัย พรานเจตบุตรหลงกลจึงได้พาชูชกไปยังต้นทางที่จะไปอาศรมอจุตฤๅษี (อัจจุตฤๅษี)
กัณฑ์ที่ 7 มหาพน
เป็นกัณฑ์ป่าใหญ่ เมื่อถึงอาศรมฤๅษี ชูชกได้พบกับอจุตฤๅษี ชูชกใช้คารมหลอกล่ออจุตฤๅษีให้บอกทางสู่อาศรมพระเวสสันดร จนอจุตฤๅษี ให้ที่พักหนึ่งคืนและบอกเส้นทางไปยังอาศรมพระเวสสันดร
กัณฑ์ที่ 8 กุมารบรรพ์ (กุมมาร)
เป็นกัณฑ์ที่พระเวสสันดรทรงกระทำมหาทานแก่เฒ่าชูชก พระนางมัทรีฝันร้ายเหมือนบอกเหตุแห่งการพลัดพราก รุ่งเช้าเมื่อนางมัทรีเข้าป่าหาอาหารชูชกจึงเข้าเฝ้าทูลขอกุมารา-กุมารี สองกุมารพากันลงไปซ่อนตัวอยู่ที่สระบัว พระเวสสันดรลงเสด็จติดตามสองกุมาร แล้วจึงมอบให้แก่ชูชก
กัณฑ์ที่ 9 กัณฑ์มัทรี
เป็นกัณฑ์ที่นางมัทรีตัดความห่วงหาอาลัยในสายเลือด อนุโมทนาทานโอรส-ธิดาแก่ชูชก พระนางมัทรีเดินเข้าไปหาผลไม้ในป่าลึกจนคล้อยเย็น เดินทางกลับอาศรม มีเทวดาแปลงกายเป็นเสือนอนขวางทางจนค่ำ เมื่อกลับถึงอาศรมไม่พบโอรส-ธิดา พระเวสสันดรได้กล่าวต่อว่านางว่านอกใจ นางออกเที่ยวหาโอรส-ธิดา กลับมาสิ้นสติต่อเบื้องพระพักตร์ พระองค์ทรงตกพระทัยลืมตนว่าเป็นดาบส ทรงเข้าอุ้มนางมัทรีและทรงกันแสง เมื่อนางมัทรีฟื้น เวสสันดรจึงบอกความจริงว่าได้ประทานโอรส-ธิดาแก่ชูชกแล้ว หากชีวิตไม่สิ้นคงจะได้พบลูกทั้งสองอีกครั้ง นางจึงได้ทรงอนุโมทนา
กัณฑ์ที่ 10 สักกบรรพ
ท้าวสักกะเทวราชแปลงเป็นพราหมณ์เพื่อทูลขอนางมัทรี พระเวสสันดรพระราชทานให้ นางมัทรีก็ยินดีอนุโมทนาเพื่อร่วมทานบารมีให้สำเร็จพระสัมโพธิญาณ เป็นเหตุให้เกิดแผ่นดินไหวสะท้าน ท้าวสักกะเทวราชในร่างพราหมณ์ขอฝากนางมัทรีไว้ก่อนยังไม่รับไป ในที่สุดท้าวสักกะบอกความจริงถวายนางมัทรีคืนพร้อมถวายพระพร 8 ประการ
กัณฑ์ที่ 11 มหาราช
เป็นกัณฑ์ที่เทพเจ้าจำแลงองค์ ทำนุบำรุงขวัญสองกุมารก่อนเสด็จนิวัติถึงมหานครสีพี เมื่อเดินทางผ่านป่าใหญ่ชูชกผูกสองกุมารไว้ที่โคนต้นไม้ ส่วนตนปีนขึ้นไปนอนบนต้นไม้ เหล่าเทวดาจึงแปลงร่างลงมาปกป้องสองกุมาร จนเดินทางถึงกรุงสีพี พระเจ้าสญชัยเกิดนิมิตฝันตามคำทำนาย ยังความปีติปราโมทย์ เมื่อเสด็จลงหน้าลานหลวงตอนรุ่งเช้าทอดพระเนตรเห็นชูชกพากุมารน้อยสองพระองค์มา ทรงทราบความจริงจึงพระราชทานค่าไถ่คืน ต่อมาชูชกก็ดับชีพตักษัยด้วยเพราะความตะกละตะเตโชธาตุไม่ย่อย ชาลีได้ทูลขอให้ไปรับพระบิดาพระมารดานิวัติพระนคร ในขณะเดียวกันเจ้านครกลิงคะได้คืนช้างปัจจัยนาคแก่นครสีพี
กัณฑ์ที่ 12 ฉกษัตริย์
พระเจ้าสญชัยใช้เวลา 1 เดือนกับ 23 วัน จึงเดินถึงเขาวงกต เสียงโห่ร้องของทหารทั้ง 4 เหล่า พระเวสสันดรทรงคิดว่าเป็นข้าศึกมารบนครสีพี จึงชวนนางมัทรีขึ้นไปแอบดูที่ยอดเขานางมัทรีเห็นกองทัพพระบิดา ได้ตรัสทูลพระเวสสันดร ครั้นหกกษัตริย์ได้พบหน้ากันทรงกันแสงสุดประมาณถึงวิสัญญีภาพสลบลง ทั้งทหารเหล่าทัพ ทำให้ป่าใหญ่สนั่นครั่นครื้น ท้าวสักกะเทวราชทรงบันดาลให้ฝนตกประพรมหกกษัตริย์และทวยหาญได้หายเศร้าโศก
กัณฑ์ที่ 13 นครกัณฑ์
พระเจ้าสญชัยตรัสสารภาพผิด เมื่อทุกพระองค์เสด็จกลับสู่สีพีนคร พระเวสสันดรขึ้นครองราชย์แทนพระราชบิดา ทรงรับสั่งให้ชาวเมืองปล่อยสัตว์ที่กักขัง ครั้นยามราตรี พระเวสสันดรทรงปริวิตกว่า รุ่งเช้าประชาชนจะแตกตื่นมารับบริจาคทาน พระองค์จะประทานสิ่งใดแก่ประชาชน ท้าวโกสีย์ได้ทราบจึงบันดาลให้มีฝนแก้ว 7 ประการ ตกลงมาในนครสีพีสูงถึงหน้าแข้ง พระเวสสันดรประกาศให้ประชาชนขนเอาตามปรารถนา ที่เหลือให้ขนเข้าคลังหลวง ในการต่อมาพระเวสสันดรเถลิงราชสมบัติปกครองนครสีพีโดยทศพิธราชธรรมบ้านเมืองร่มเย็นเป็นสุขตลอดพระชนมายุ
หมายเหตุ พระบฏเก็บรักษาในพิพิธภัณฑ์วัดพระยืน ท่านผู้สนใจสามารถประสานขอทางวัดเข้าชมได้