Little Buddha "ชี้ฟ้า-ชี้ดิน" พุทธศิลป์มหายานในล้านนา

ข่าวศิลปวัฒนธรรม , 23 ม.ค. 2566, 22:19

Little Buddha "ชี้ฟ้า-ชี้ดิน" พุทธศิลป์มหายานในล้านนา

           คำว่า Little Buddha หมายถึง เจ้าชายน้อยสิทธัตถะที่เพิ่งประสูติ เดินบนดอกบัว 7 ก้าว แล้วยกมือชี้ดินข้างหนึ่ง ชี้ฟ้าข้างหนึ่ง พร้อมประกาศว่า ชาตินี้ขอเกิดเป็นชาติสุดท้าย

          เจ้าหน้าที่กรมศิลปากรเคยพบ ประติมากรรมสำริด Little Buddha องค์แรกบนแผ่นดินสยามในห้องคูหาพระเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์วัดมหาธาตุสุโขทัย อายุกว่า 700 ปี แต่ต่อมาได้หายสาบสูญไปโดยมิจฉาชีพตั้งแต่หลังปี พ.ศ. 2496 เล็กน้อย เหลือแต่ภาพถ่ายขาวดำเก่าๆ เพียงภาพเดียวที่อดีตหัวหน้าหน่วยศิลปากรที่ 3 สุโขทัย คุณมะลิ โคกสันเทียะ เคยขอถ่ายไว้จากพระปลัดบุญธรรม เจ้าอาวาสวัดตระพังทอง ครั้นเมื่อท่านสึกโบราณวัตถุก็สูญตามไปด้วย

            เป็นประติมากรรมรูปเจ้าชายสิทธัตถะร่างอ้วนท้วน พระพักตร์กลมอิ่ม ตามรูปแบบศิลปะสุโขทัยยุคแรกสุด หรือที่นักโบราณคดีเรียกว่า "หมวดวัดตะกวน" คือรับอิทธิพลการทำพระวรกายอวบกลมมาจากทางลังกาเต็มๆ 

            ต่างกับ Little Buddha อีกองค์หนึ่ง รูปร่างผอมเพรียว ได้มาจากการขุดค้นทางโบราณคดีของสำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ (ปัจจุบันคือสำนัก 7) เมื่อ 17 กันยายน 2550 ซึ่งดิฉันได้อยู่ในเหตุการณ์ขณะที่กำลังขุดแต่งบริเวณฐานชั้นล่างลึกจากพื้นดินราวเมตรเศษของพระเจดีย์เชียงยันด้านทิศเหนือ ภายในวัดพระธาตุหริภุญชัย จังหวัดลำพูน  

 ทำไมถึงได้พบน้อยเหลือเกินในประเทศไทย?

            เหตุเพราะปางชี้ฟ้าชี้ดินนี้เป็นรูปแบบเฉพาะตามคติพระพุทธศาสนานิกายมหายาน ทำขึ้นครั้งแรกในประเทศจีน ราวพุทธศตวรรษที่ 11 ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อนในวัฒนธรรมอินเดียหรือลังกาในสายพุทธเถรวาท จากนั้นจีนได้ส่งอิทธิพลไปยังสายทิเบต เนปาล ญี่ปุ่น เกาหลี

            โดยปกติการทำรูปเคารพปางประสูติของอินเดียและกลุ่มอุษาคเนย์ นิยมแสดงด้วยรูปพระนางสิริมหามายาเหนี่ยวกิ่งไม้สาละ มีพระโอรสน้อยคลอดออกจากพระปรัศว์ (สีข้าง) ด้านขวา หรือไม่ก็แสดงออกด้วยปาง "คชลักษมี" คือทำรูปพระพุทธมารดาประทับนั่งขัดสมาธิบนดอกบัวหว่างกลางช้างสอง (หรือสี่) เชือกที่กำลังสรงน้ำอวยพร

            ดังนั้นจึงน่าสนใจยิ่งว่า ทั้งที่ลำพูนและสุโขทัย ต่างก็เป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาอันแข็งแกร่งของสายเถรวาทในอดีต แต่ไฉนกลับปรากฏประติมากรรมในรูปแบบเฉพาะของพุทธสายมหายาน หรือว่าประติมากรรมทั้งสองชิ้นนี้ คือประจักษ์พยานแห่งการเผยแผ่อิทธิพลของพุทธศาสนาสายมหายานที่ปะปนแทรกเข้ามาในอาณาจักรล้านนาและสุโขทัยอย่างแยบยล? 

ทำไมต้องชี้ฟ้าชี้ดิน?

            คัมภีร์พุทธประวัติทุกฉบับกล่าวตรงกันว่า ภายหลังจากที่พระนางสิริมหามายาทรงประสูติเจ้าชายสิทธัตถะ  กลางป่าที่ลุมพินีสถานแล้ว ทันทีที่เจ้าชายน้อยกำลังจะหย่อนพระบาทลงแผ่นดินพลันมีพุทธปาฏิหาริย์บังเกิดดอกบัวบานผุดขึ้นมารองรับให้ก้าวเดินจำนวนเจ็ดดอก

            ประเด็นเกี่ยวกับเรื่องเหลือเชื่อนี้สร้างความสงสัยคลางแคลงใจให้แก่พุทธศาสนิกชนที่เคารพเหตุผลและไม่เชื่อเรื่องฤทธิ์อำนาจที่พิสูจน์ไม่ได้มาทุกยุคทุกสมัย แต่ในท้ายที่สุดก็โล่งใจได้ เมื่อมีคำอธิบายชุดที่ว่า "การย่างเดินทั้ง 7 ก้าว" นี้เป็นเพียง "บุคคลาธิษฐาน" ว่าพระพุทธองค์จะทรงประกาศศาสนธรรมไปทั่วทั้งจักรวาลถึงเจ็ดทิศา

            ส่วนการชี้ฟ้าชี้ดินนั้น ทรงชี้ฟ้าและดินพร้อมกับขณะย่างเดินบนดอกบัวทั้งเจ็ดก้าว พลางตรัสให้ฟ้า-ดินมาร่วมเป็นสักขีพยานว่า

            “เราคือมหาบุรุษ และนี่จะเป็นพระชาติสุดท้ายของเราแล้ว!"

            คัมภีร์ฝ่ายมหายานตีความว่า การแสดงพระหัตถ์เบื้องขวายกขึ้นชี้ฟ้า และพระหัตถ์เบื้องซ้ายเหยียดลงชี้แผ่นดินนั้น เนื่องจากเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งฟ้าแลดิน 

            ซึ่งตรงกับคำทำนายพระสุบินนิมิตคราวที่พระนางสิริมหามายาทรงฝันเห็นช้างเผือกก่อนทรงพระครรภ์ หมายถึง ผู้มีบุญญาธิการที่กำลังจะมาจุติพระองค์นั้นย่อมต้องเป็นมหาบุรุษ ถ้าไม่เป็นใหญ่ทางโลกในระดับพระจักรพรรดิราช ก็ต้องเป็นใหญ่ทางธรรมในระดับพระมหาศาสดา ประหนึ่งผู้หยั่งรู้ฟ้าแลดิน 

            นัยความหมายของ "ฟ้า" และ "ดิน"  นัยแห่ง "ฟ้า" นั้นไม่ใช่เรื่องที่น่าสงสัยเท่ากับนัยแห่ง "ดิน" เพราะแผ่นฟ้านั้นบางเบา เทียบได้กับความร่มเย็นเป็นสุขและคุณธรรมที่จะทรงสั่งสอนแก่พุทธศาสนิกชน

            ที่น่าสนใจคือนัยแห่ง "ดิน" มากกว่า “พลิกแผ่นดินให้หงาย ทายแผ่นดินให้คว่ำ" เป็นคำที่ปรากฏอยู่ในคำทำนายพระชะตาของเจ้าชายสิทธัตถะ ว่าทรงเกิดมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ จะเห็นว่าในทางประติมานวิทยาได้ทำพระหัตถ์ซ้ายของเจ้าชายน้อยชี้ลงที่แผ่นดิน น่าจะหมายถึงการแผ่พระพุทธานุภาพให้แก่สรรพสัตว์ที่ร่วมสังสารวัฏ สัญลักษณ์ของดินหรือแผ่นดิน คือความหนักแน่น และยังหมายถึงสักขีพยาน เห็นได้จากอีกเหตุการณ์หนึ่งตอนใกล้ตรัสรู้ธรรม ขณะถูกมารผจญทรงชี้นิ้วเรียกแผ่นดินหรือพระแม่ธรณีให้มาร่วมเป็นพยานในการต่อสู้กับกิเลสมาร

            ภายหลังจากก้าวเดินได้เจ็ดก้าวแล้ว พญานาคสองตัวชื่อ "นันทะ" และ "อุปนันทะ" ได้เนรมิตบ่อน้ำทิพย์ขึ้นมาเพื่อ "สรงน้ำ" ถวายแด่เจ้าชายสิทธัตถะเป็นครั้งแรก

            ฉากนี้ชวนให้นึกถึงพิธี Baptise ถือศีลจุ่มของพระเยซูในศาสนาคริสต์มากทีเดียว รวมไปถึงการที่มหาบุรุษของโลกล้วนแล้วแต่ประสูติกลางดินกลางทราย กลางป่า กลางกองฟาง ทั้งสิ้นไม่ว่าเจ้าชายสิทธัตถะ พระเยซู พระมะหะหมัดของศาสนาอิสลาม แทบไม่มีศาสดาองค์ไหนถือกำเนิดบนราชบัลลังก์ท่ามกลางกองเงินกองทองเลยแม้จะมีชาติตระกูลสูง สะท้อนว่า "ดินก้อนแรก" ที่มหาบุรุษต้องสัมผัสคือการเรียนรู้ชีวิตคนที่ต้อยต่ำตั้งแต่รากหญ้าหรือจากดินขึ้นไปจนถึงฟ้า โดยไม่แบ่งชนชั้นวรรณะ

            น้ำจากท่อทั้งสองที่นาคพ่นมาสรงนั้น ท่อหนึ่งคือน้ำร้อน อีกท่อคือน้ำเย็น น้ำร้อนเปรียบได้กับความทุกข์ความร้อนรุมสุมทรวง นั่นคือการต้องเรียนรู้จักกับ "ทุกรกิริยาทางกาย" ส่วนน้ำเย็นนั้นเปรียบได้กับ "วิริยะทางจิต" คือสุดท้ายต้องทรงใช้น้ำใสเย็นเข้าชำระสะสางกิเลสและมลทินให้หมดสิ้นไป

            มีข้อน่าสังเกตว่า พุทธศาสนานิกายมหายาน เน้นเรื่องการพินิจความสมดุลและความขัดแย้งของ "คู่ที่อยู่ตรงกันข้าม" เพื่อมองทะลุให้เห็นโลกรอบด้าน เฝ้าสังเกตอนิจจลักษณ์อันผันแปรเปลี่ยนแปลงแบบ "หยิน-หยาง" เช่น กลางคืน-กลางวัน พระจันทร์-พระอาทิตย์ หญิง-ชาย ดิน-ฟ้า ร้อน-เย็น ทุกข์-สุข จน-รวย

นอกจากนี้ดิฉันได้พบประติมากรรมสำริดรูป “เจ้าชายน้อยยืนชี้ฟ้าชี้ดิน” อีกองค์หนึ่ง ที่วัดบวกค้าง ต.บวกค้าง อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นสมบัติตกทอดของวัด เก่าเก็บไว้นานหลายร้อยปี ปฏิมากรรมองค์นี้ ไฉนพระกรซ้าย-ขวาจึง ชี้ฟ้า-ชี้ดิน สลับข้างกับอีกสององค์ (สุโขทัย-ลำพูน) ซึ่งยกชี้ฟ้าด้วยกรขวา และชี้ลงดินด้วยกรซ้าย ในขณะที่ของสันกำแพงกลับชี้ฟ้าด้วยกรซ้าย และชี้ดินด้วยกรขวา จากการพิจารณาด้านขนาด วัดความสูงได้ประมาณ 14 ซ.ม. ถือว่าไล่เลี่ยกับอีกสององค์ 

            อนึ่ง ในจีน ทิเบต ไต้หวัน รูป Baby Buddha ที่มีอายุเก่าแก่หลายร้อยปี ก็มีการยกมือสลับข้างกันได้ตลอดเวลา ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว

            ในด้านพุทธศิลป์นั้น มีลักษณะผสมก้ำกึ่งกันระหว่างศิลปะหริภุญไชยและล้านนาตอนต้น กล่าวคือ พระพักตร์อูมใหญ่เกือบเหลี่ยม มีไรพระศกที่ขอบพระนลาฏ เม็ดพระศกโตพอง เหนือพระโอษฐ์คล้ายจะมีไรพระมัสสุ เม็ดพระถันนูนกลมซ้อนกันสองวง พระนาภีบุ๋ม ท้องพระอุทรนูน มีลีลากลิ่นอายของศิลปะหริภุญไชยสูงทีเดียว

            แต่ครั้นหันมาพิเคราะห์พระนาสิกโด่งแหลมไม่แบนใหญ่ กับพระเนตรเจาะลึกค่อนข้างรีไม่โตโปนถมึงทึง รวมทั้งพระหนุเป็นปม อันเป็นอัตลักษณ์ของศิลปะล้านนายุคเริ่มแรก จึงเชื่อว่าปฏิมากรรมชิ้นนี้ทำขึ้นในยุคล้านนามากกว่าหริภุญไชย และแน่นอนว่าต้องอยู่ในรัชกาลต้นๆ ไม่เกินสมัยพระญากือนาลงมา

            ซึ่งก็สอดรับกับประวัติความเป็นมาของวัดบวกค้าง  ที่กล่าวว่าสร้างตั้งแต่สมัยพระญากือนา (ราว พ.ศ.1900) ต่อมามีการบูรณะครั้งใหญ่ในรัชสมัยของพระญาติโลกราช จากนั้นยุคที่ล้านนาตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าอารามนี้ก็ร้างไป กระทั่งยุคที่พระญากาวิละอพยพชาวยองมาอยู่ใหม่เมื่อ 200 กว่าปี จึงได้มีการฟื้นฟูวัดนี้อีกครั้ง

            ไม่มีใครทราบว่าแต่เดิมนั้นวัดนี้เคยมีชื่อว่าอะไร ด้วยชื่อ "บวกค้าง" นั้นเป็นนามใหม่ ชาวยองบัญญัติขึ้นตามภูมิสถาน ของแอ่งน้ำใหญ่ที่มีหมู่ลิงค่างลงมาอาศัย จากค่างเขียนเพี้ยนเป็นค้างไป 

            มีข้อสังเกตว่า พระญากือนาแม้จะทรงเป็นกษัตริย์เมืองเชียงใหม่ แต่ยุคสมัยของพระองค์ได้มีสายสัมพันธ์ด้านพระพุทธศาสนาอย่างเหนียวแน่นกับสุโขทัยและลำพูน ด้วยในปี พ.ศ. 1912 ทรงอาราธนาพระสุมนเถระจากศรีสัชนาลัยให้มาเป็นพระสังฆราชแห่งล้านนา ก่อนเข้ามาอยู่เชียงใหม่ ได้จำพรรษาที่ลำพูนนานถึง 3 ปี

            นี่เป็นเพียงแนวคิดเบื้องต้น หากยึดพระญากือนาเป็นตัวตั้ง ก็จักได้พระสุมนเถระเป็นผู้เชื่อมโยง "เหตุการณ์สันนิษฐาน" ที่อาจจะเกี่ยวข้องกับการก่อเกิดงานปฏิมากรรมรูปดังกล่าวก็เป็นได้

อิทธิพลมหายานในล้านนา

            ศ.ดร.ผาสุข อินทราวุธ อธิบายว่าปฏิมากรรม "ปางดรรชนีมุทรา" ชี้ฟ้า-ชี้ดินนี้ ทำกันเฉพาะในประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาฝ่าย "มหายาน" เท่านั้น และท่านยังรู้สึกพิศวงเมื่อทราบข่าวว่าเคยมีการค้นพบที่สุโขทัย (ชิ้นแรก) เมื่อหลายทศวรรษมาแล้ว แต่ครั้นเมื่อโบราณวัตถุหายสาบสูญไปอยู่ในมือพ่อค้าของเก่า นักวิชาการก็ไม่มีใครหยิบยกประเด็นนี้มาพูดถึงกันอีก

            เราจะอธิบายปรากฏการณ์นี้กันอย่างไรต่อไป ในเมื่อ ณ บัดนี้ได้มีการค้นพบรูปพระโพธิสัตว์ปางประสูติเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มากถึง 3 องค์แล้ว ทั้งที่สุโขทัย ลำพูน และเชียงใหม่ อีกทั้งรูปแบบศิลปกรรมขององค์ที่สุโขทัยกับเชียงใหม่ต่างก็มีอายุร่วมสมัยกันกล่าวคือประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ 19 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 20 เว้นแต่ของลำพูนองค์เดียวที่สร้างในสมัยหริภุญไชย

            ข้อสำคัญ เป็นการพบในเขตดินแดนที่กล่าวกันว่าเป็นศูนย์กลางแห่งการนับถือพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์อย่างเหนียวแน่นเสียด้วย

            ดังนั้น เราควรยอมรับว่าอิทธิพลของลัทธิมหายาน ได้แทรกแฝงและปะปนอยู่คู่ขนานกับลัทธิลังกาวงศ์ มิเคยจางหายไปไหนเลย  โดยที่งานพุทธศิลป์ปางหลักๆ เช่นพระประธานปางมารวิชัย พระอัฏฐารส ล้วนทำขึ้นเนื่องในลัทธิลังกาวงศ์ แต่ฝ่ายมหายานก็มีงานพุทธปฏิมาแฝงอยู่ไม่น้อยด้วยเช่นกัน

11

ข่าวอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ส่งมอบรถใหม่ HyundaiSTARIA Premium with Sunroof (Euro5) สีขาว เป็นรถยนต์น่าใช้สำหรับครอบค...

เอชดีเจมอเตอร์ ฮุนไดเชียงใหม่ โดยที่ปรึกษาการขายเซลส์มุ้ย ร่วมแสดงความยินดีพร้อมส่งมอบรถใหม่ให้กับคุณแคทริน อินต๊ะมา เป็นรถยนต์ ฮุนไดSTARIA Premium with Sunroof (Euro5) สีขาว ขอขอบคุณที่ให้เกียรติมาเป...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 16 ม.ค. 2568, 18:44
  • |
  • 71

ส่งมอบไปอีก 1 คันแล้ว สำหรับรถยนต์ Hyundai STARGAZER X6 สีบรอนทอง สุดสวย ที่ผ่านมา

ส่งมอบรถใหม่ให้กับลูกค้า ที่ปรึกษาการขาย เอชดีเจ มอเตอร์ ฮุนไดเชียงใหม่ เซลส์แนน ร่วมแสดงความยินดีพร้อมส่งมอบรถใหม่ให้แก่คุณวิระดา ชวลิต Hyundai STARGAZER X6 สีบรอนทอง ออกไปจากโชว์รูม เอชดีเจมอเตอร์ ท...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 11 ม.ค. 2568, 14:08
  • |
  • 103

ส่งมอบรถใหม่ Hyundai CRETA ALPHA สีดำ เป็นรถยนต์น่าใช้สำหรับครอบครัว

 เอชดีเจมอเตอร์ ฮุนไดเชียงใหม่ โดยที่ปรึกษาการขายเซลส์แนน ร่วมแสดงความยินดีพร้อมส่งมอบรถใหม่ให้กับคุคุณ KYUNG HEE LEE เป๋ฯรถยนต์ Hyundai CRETA ALPHA สีดำ ขอขอบคุณที่ให้เกียรติมาเป็นครอบครัวฮุนได...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 8 ม.ค. 2568, 12:35
  • |
  • 118

ส่งมอบรถใหม่ Hyundai STARGAZER Smart 6 With Black Roof สีแดง เป็นรถยนต์น่าใช้สำหรับครอบคร...

เอชดีเจมอเตอร์ ฮุนไดเชียงใหม่ โดยที่ปรึกษาการขายเซลส์แนน ร่วมแสดงความยินดีพร้อมส่งมอบรถใหม่ให้กับคุณเอนก ชิตเกษร Hyundai STARGAZER Smart 6 With Black Roof สีแดง ขอขอบคุณที่ให้เกียรติมาเป็นครอบครัวฮุนไ...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 3 ม.ค. 2568, 10:17
  • |
  • 204

เหลืออีกสองวัน Lanna Auto Sale 18-25 ธันวา 67 ที่เซ็นทรัลเ แอร์พอร์ต รถไฟฟ้าน่าใช้ราคาน่าต...

กระแสรถยนต์ไฟฟ้าในบ้านเราเริ่มได้รับความสนใจจากผู้ใช้คนเมืองมากขึ้นทุกวัน ตามท้องถนนในเชียงใหม่ทุกวันนี้รถที่ขับไปขับมาสังเกตุดูได้เลยต้องมีรถยนต์ไฟฟ้าชับสวนมาหรือขับตามเรามาหลากหลายรุ่น นั่นแสดงถึงรถ...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 24 ธ.ค. 2567, 13:13
  • |
  • 232

อีซูซุ ศาลา เชียงใหม่ จัด ISUZU 2.2 Ddi MAXFORCE พลังแรง ท้าลอง ในศูนย์ประชุมนานาชาติเชียง...

ใกล้สิ้นปีหลายค่ายรถยนต์จัดงานอีเว้นท์กันตลอดทั้งเดือน โดยเฉพาะค่ายอีซูซุที่มีรถยนต์ออกใหม่ทั้งเครื่องยนต์ใหม่ แรงขึ้น เร็วขึ้น วันนี้เราพาท่านไปเที่ยวชมงานนี้กันซึ่งจัดขึ้นภายในศูนย์ประชุมนานาชาติเชี...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 22 ธ.ค. 2567, 16:33
  • |
  • 245
Sytiq Company

ออกแบบพัฒนาโปรแกรมและแอพลิเคชั่น

โดยบริษัทไซทิค ติดต่อ:0819507128

Sytiq Company

ออกแบบและติดตั้ง Home Automation

โดยบริษัทไซทิค ติดต่อ:0819507128