สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จัดการประชุมสัมมนา "เพิ่มศักยภาพ SME ไทย ด้วยแผนการส่งเสริม SME ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2566-2570)" และการเสวนา "รัฐ x เอกชน ร่วมเสริมศักยภาพ SME ไทย" เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์2566 ณ โรงแรมเชียงใหม่แกรนด์วิว จังหวัดเชียงใหม่ โดย รศ.ดร.วีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการ สสว. กล่าวเปิดงานผ่านระบบซูมจาก สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สำนักงานใหญ่ มีนักธุรกิจSME เข้าร่วมกว่า100 คน
ด้าน ดร.อภิรดี ขาวเธียร ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สสว. กล่าวถึงเรื่อง การส่งเสริม SME ภายใต้แผนการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2566-2570) ว่า แผนการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2566-2570) มีวิสัยทัศน์คือ "ไทยมี SME ที่เข้มแข็ง มีศักยภาพและสามารถแข่งขันได้" มีพันธกิจดังนี้ 1.ส่งเสริม SME ทุกกลุ่มอย่างครอบคลุมให้เข้มแข็งและเติบโต 2.สร้างโอกาสทางการตลาดเพื่อยกระดับศักยภาพธุรกิจให้มีความสามารถในการแข่งขัน และ3.พัฒนาระบบนิเวศให้เอื้อต่อการเติบโตที่ยั่งยืนของธุรกิจ
ส่วนเป้าหมายของแผนต้องการให้ภาคธุรกิจ SME ไทยมีบทบาททางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งมากขึ้นในทุกระดับ สามารถสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ และมีส่วนช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้ ขณะที่ตัวชี้วัด ต้องการให้สัดส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมของภาคธุรกิจ SME ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ เพิ่มเป็นร้อยละ 40 ในปี 2570
ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สสว. กล่าวว่า ในการที่จะบรรลุวิสัยทัศน์และเป้าหมายที่กำหนดไว้ แผนการส่งเสริม SME ในระยะ 5 ปีข้างหน้า จึงกำหนดแนวทางการดำเนินงานไว้ 3 ประเด็นการส่งเสริม ดังนี้ ประเด็นการส่งเสริมที่ 1 สร้างการเติบโตที่ครอบคลุมทุกกลุ่ม มุ่งเน้นการพัฒนาผู้ประกอบการในแต่ละกลุ่มที่มีระดับศักยภาพต่างกัน มีสถานภาพ ปัญหาและความต้องการที่แตกต่างกัน ประกอบด้วย 7 กลยุทธ์ คือ1.พัฒนาธุรกิจในระยะเริ่มต้นให้เริ่มธุรกิจได้อย่างมั่นคง 2.ยกระดับธุรกิจที่มุ่งเติบโตให้มีศักยภาพในการแข่งขัน 3.ยกระดับธุรกิจสู่การแข่งขันระดับโลก 4.ฟื้นฟูธุรกิจที่ประสบปัญหาให้ฟื้นตัว 5.ช่วยเหลือธุรกิจยังชีพให้สามารถอยู่รอดได้ 6.สนับสนุนผู้ประกอบการสูงอายุในการดำเนินธุรกิจ 7.ส่งเสริมเกษตรกรสู่การทำธุรกิจแบบมืออาชีพ
ประเด็นการส่งเสริมที่ 2 สร้างการเติบโตแบบมุ่งเป้า ให้ความสำคัญกับการพัฒนาการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง ทั้งเรื่องการสนับสนุนการตลาดที่รอบด้าน และการส่งเสริม SME กลุ่มที่มีศักยภาพให้สามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้ ประกอบด้วย 2 กลยุทธ์ คือ สร้างส่วนแบ่งตลาดในประเทศให้เพิ่มขึ้น และส่งเสริมการเข้าสู่สากล
ประเด็นการส่งเสริมที่ 3 พัฒนาสภาพแวดล้อมให้สนับสนุนการเติบโตของธุรกิจ เป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยให้ SME สามารถเริ่มธุรกิจและเติบโตได้เต็มศักยภาพ ประกอบด้วย 6 กลยุทธ์ คือ สนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุน , สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม , สร้างความพร้อมของแรงงานและบุคลากร , มีศูนย์กลางในการให้ข้อมูล องค์ความรู้ และบริการ , ปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบให้ไม่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ และพัฒนาระบบข้อมูลเพื่อสนับสนุนการกำหนดนโยบาย
ดร.อภิรดี กล่าวอีกว่า การส่งเสริมและพัฒนา SME ภายใต้แผนการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ฉบับที่ 5 (พ.ศ.2566-2570) ได้กำหนดให้มีการดำเนินงานที่สำคัญและส่งผลกระทบสูงต่อการพัฒนาและแก้ไขปัญหาให้กับ SME ดังนี้-การค้ำประกันสินเชื่อ/ความรู้ทางการเงิน/การร่วมลงทุน-ตัวกลางด้านเครดิตให้กับ SME-การให้สินเชื่อโดยไม่อิงหลักประกัน/การมีหลักฐานบนระบบดิจิทัลให้สถาบันการเงิน-การสนับสนุนให้ขยายขนาดธุรกิจ/ผู้ให้บริการธุรกิจ/Platform การให้บริการ-การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ/การจัดซื้อจัดจ้างภาคเอกชน/กฎหมายแข่งขันทางการค้า-National E-Commerce Platform-ตัวแทนส่งเสริมสินค้า SME ในต่างประเทศ (National Intelligence Center)-เชื่อมโยง SME เข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานโลก-การประยุกต์ใช้ BCG ในการดำเนินธุรกิจ-Reskill / Upskill / New Skill / Foreign Talent -การเข้าสู่ระบบ
ด้านปัจจัยแห่งความสำเร็จ นั้นเพื่อให้การขับเคลื่อนแผนไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม และเกิดผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายตามแนวทางที่แผนได้กำหนดไว้ จำเป็นต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญ ดังนี้ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ทำหน้าที่เป็น System Integrator กำกับดูแล ประสานงาน และบูรณาการการขับเคลื่อนการดำเนินงาน รวมทั้งติดตามและประเมินผลการส่งเสริมและพัฒนา SME อย่างมีเอกภาพ เป็นระบบครบวงจรตามหลักการ PDCA จัดให้มีงบประมาณเพื่อการส่งเสริม SME รวมไว้ที่กองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่เดียว สำหรับจัดสรรงบประมาณเพื่อการส่งเสริม SME โดยสามารถพิจารณาโครงการได้ตามแผน รวมทั้งมีกลไกการจัดสรรงบประมาณที่ยืดหยุ่น เพียงพอ และต่อเนื่อง และมีการจัดทำดัชนีการปฏิบัติงานการส่งเสริม SME เพื่อชี้วัดความสำเร็จ รวมไปถึงการติดตามการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ในช่วงการเสวนา "รัฐ x เอกชน ร่วมเสริมศักยภาพ SME ไทย" โดยนางสาวลลนา เถกิงรัศมี ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายและแผนส่งเสริม SMEs สสว. กล่าวถึงการเป็น System Integrator ในการบูรณาการภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อร่วมส่งเสริม สนับสนุนการพัฒนาศักยภาพ SME ขณะที่นางพรวิภา ตั้งเจริญมั่นคง ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักงานภาคเหนือ ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้กล่าวถึง สถานการณ์เศรษฐกิจในพื้นที่ภาคเหนือ และแนวทางการ เข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการ SME ด้าน รศ.ดร.ยุทธนา พิมลศิริผล ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมอาหารและบรรจุภัณฑ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึง Trend การพัฒนาผลิตภัณฑ์/บรรจุภัณฑ์ตามแนวทางการทำธุรกิจ BCG และแนวทางการส่งเสริม สนับสนุนผู้ประกอบการ SME ในพื้นที่ภาคเหนือ และนางสาวพิมกณิฎ กุลโตวิจิตรวงศ์CEO บริษัท ดี.ดี. เพาเวอร์ จำกัด กล่าวถึง แนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือวัสดุทางการแพทย์ (ปัญหา/อุปสรรค ความต้องการรับความช่วยเหลือจากภาครัฐ )