บทความนี้ตอนที่แล้ว ดิฉันได้พาผู้อ่านไปเยือนสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ในจังหวัดพะเยา ตามโครงการ “สหพันธ์สัญจร” ซึ่งจัดขึ้นโดยความร่วมมือของคณะกรรมการ “สมาคมสหพันธ์ท่องเที่ยวภาคเหนือ 17 จังหวัด” หรือมีชื่อย่อว่า สสทน. ระหว่างวันที่ 25-26 มกราคม 2566 ซึ่งจังหวัดลำพูนที่ดิฉันเป็นนายกสมาคมอยู่นั้นก็พาเพื่อนสมาชิกจำนวน 44 คน เดินทางไปร่วมกิจกรรมในวันเวลาดังกล่าว และแถมพาเที่ยวสถานที่พิเศษเพิ่มเติมหลังจากเสร็จโปรแกรมหลักอีกด้วย
ทริปดังกล่าว ดิฉันใช้สโลแกนในการทำแบนเนอร์ว่า “ตามรอยวัดของครูบาเจ้าศรีวิชัยในเมืองพะเยา” ซึ่งในทริปนี้เราแวะวัดที่เป็นผลงานของท่านตนบุญแห่งล้านนาถึง 3 แห่ง ได้แก่ วัดพระธาตุจอมทอง วัดลี และวัดพระธาตุขิงแกง กับอีกสโลแกนหนึ่งคือ “ทัวร์สามวันเที่ยวสามเวียง : เวียงพยาว เวียงลอ และเวียงบัว”
เรื่องราวของวัดพระธาตุจอมทองกับวัดลี ดิฉันได้กล่าวอย่างละเอียดไปแล้วในฉบับก่อน ยังขาดพระธาตุขิงแกง ส่วนเวียงพยาว กับเวียงลอ ก็ได้กล่าวไปบ้างแล้วแม้จะไม่ละเอียดนัก ยังขาดแค่เวียงบัว ที่ยังไม่ได้พรรณนาถึงความสำคัญ ดังนั้นคอลัมน์ “อารยศิลป์ถิ่นล้านนา” ฉบับนี้ จึงขอกล่าวถึง 4 หัวข้อหลักๆ ได้แก่ 1. จุดชมวิว “ภูลังกา” 2. พระเจ้านั่งดิน 3. พระธาตุขิงแกง 4. เวียงบัว
ภูลังกา อีกหนึ่งความท้าทาย
ช่วงบ่ายของวันที่ 2 (หมายถึงวันพฤหัสบดีที่ 26 มกราคม 2566) เพื่อนสมาชิก สสทน. 17 จังหวัดต่างแยกย้ายกันกลับภูมิลำเนา สสทน. บางจังหวัดจัดทริปกันเองไปต่อ ดังเช่น สสทน.ลำพูน ออกจากจุดเที่ยวด้วยกันที่สุดท้ายคือ เวียงลอ อำเภอจุน คณะเรามุ่งหน้าไปยังอำเภอปง โดยใช้เส้นอำเภอเชียงคำ ทำให้ผ่าน “วัดพระเจ้านั่งดิน” จึงพาคณะแวะกราบสักหน่อยก่อน
จากนั้น ออกเดินทางไปยังหน่วยอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า “ภูลังกา” ซึ่งหลายท่านไม่ทราบว่าที่แห่งนี้เป็นหน่วยย่อยของอุทยานแห่งชาติถ้ำสะเกิน ตัวอุทยานตั้งอยู่รอยต่อระหว่างอำเภอปง จังหวัดพะเยา และอำเภอสองแคว จังหวัดน่าน เมื่อไปถึงหน่วยอนุรักษ์ฯภูลังกา พวกเราต้องเปลี่ยนไปนั่งรถ 4 Wheels เพื่อขึ้นไปยังจุดชมวิว ดูความงาม 360 องศาจากยอดภูลังกา และรอชมพระอาทิตย์ตก
ขอสารภาพตามตรงว่า ความประทับใจอย่างสุดซึ้งของพวกเราคือช่วงระหว่างทางที่รถของอุทยานพาขึ้นภูลังกาประมาณเกือบครึ่งชั่วโมงนั่นเอง เพราะช่วงนั้นเป็นถนนลูกรัง เป็นป่าบริสุทธิ์ที่เข้าถึงยาก ทางชัน แต่ละคนสูดโอโซนรับออกซิเจนบริสุทธิ์เต็มสองปอด
จุดชมวิวบนภูลังกานั้น มีทางเลือกสองทาง หากไม่มุ่งมั่นไปชมพระอาทิตย์ขึ้น ก็ควรไปถึงตอนพระอาทิตย์ใกล้ตก คณะเราเลือกอันหลัง ซึ่งก็มีข้อควรระวังเป็นอย่างยิ่ง เพราะหลังจากที่พระอาทิตย์ลับขอบฟ้าปั๊บ ทุกอย่างมืดสนิท การเดินทางลงจากเขาจึงต้องใช้ความระมัดระวังมากเป็นพิเศษ ไหนจะต้องนั่งรถ 4 Wheels กลับลงมายังหน่วยอนุรักษ์ฯ อีก และจากหน่วยอนุรักษ์ต้องเดินทางไปยังรีสอร์ต “ภูลังกาบ้านสวน” อีก เพื่อรับประทานอาหารค่ำ “หมูกระทะ” ปาร์ตี้ระหว่างเพื่อนสมาชิกเก่า-ใหม่ สสทน.ลำพูน ดังนั้นต้องเผื่อระยะเวลาการเดินทางลงจากจุดชมวิวมาถึงที่พักไว้ประมาณเกือบ 2 ชั่วโมง
พระเจ้านั่งดิน หลบสายตาพระเจ้าตนหลวง
แม้จะเป็นจุดทางผ่านจากเวียงลอไปยังภูลังกา แต่ “พระเจ้านั่งดิน” เมืองพะเยา ก็ถือว่าเป็นจุดที่ไม่ควรมองข้าม พระเจ้านั่งดิน หรือบ้างเรียก “พระมหาเจ้านั่งดิน” เป็นพระหินทรายสกุลช่างพะเยา มีจารึกระบุว่าสร้างในปี พ.ศ. 2024 (จ.ศ. 1213) อันเป็นศักราชที่สอดรับกับพุทธลักษณะที่เราเห็น คือองค์ประดิษฐานอย่างปลอดภัยในตู้กระจก
ความเป็นมาของการสร้างพระพุทธรูปในระดับเสมอพื้นดิน กล่าวกันว่า สาเหตุที่ไม่สามารถยกพระพุทธรูปองค์ดังกล่าวขึ้นประทับนั่งบนฐานชุกชี (แท่นแก้ว) ได้ ทั้งๆ ที่เป็นพระประธานในพระวิหาร ก็เนื่องมาจาก ณ ความสูงในระดับที่เมื่อยกพระพุทธรูปขึ้นบนแท่นแก้วแล้วนั้น จักเป็นจุดที่ตรงกันกับสายพระเนตรของพระเจ้าตนหลวง แห่งวัดศรีโคมคำ ริมกว๊านพะเยา มองลงมาตกกระทบพอดิบพอดี
ทำให้แม้ชาวบ้านจะมีความพยายามช่วยกันยกพระพุทธรูปองค์นี้ขึ้นประทับบนฐานชุกชีระดับสูงกี่ครั้งกี่คราก็ตาม ก็ไม่อาจกระทำได้สำเร็จ สุดท้ายต้องอัญเชิญพระประธานนั่งในระดับพื้นดินมีเพียงฐานบัวเตี้ยๆ รองรับเท่านั้น
ศาสตราจารย์อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว ภาคีราชบัณฑิต ผู้เชี่ยวชาญด้านล้านนาศึกษา เขียนงานวิจัยเรื่อง “พระพุทธรูปตามคติชาวล้านนา” ได้สัมภาษณ์เจ้าอาวาสวัดพระเจ้านั่งดินเมื่อ พ.ศ. 2533 ได้ความว่า
“ชาวล้านนาเชื่อว่า สถานที่ใดก็ตามที่อยู่ตรงกับจุดที่สายพระเนตรพระพุทธรูปองค์สำคัญทอดตกลงมาแห่งนั้น ถือเป็นบริเวณที่ไม่เหมาะสมที่จะตั้งบ้านเรือนที่อยู่อาศัย เจ้าของบ้านและทุกคนจะอยู่ไม่สุขสบาย ไม่เจริญรุ่งเรืองในชีวิต อาจเจ็บไข้ (ขึด) เพราะแม้แต่พระพุทธรูปก็ยังไม่อาจจะประทับอยู่ในบริเวณที่สายพระเนตรพระพุทธรูปตกทอดมาถึงนั้นได้เลย”
ดังนั้น พระพุทธรูปหินทรายองค์ดังกล่าว จำต้องหลบสายพระเนตรของพระเจ้าตนหลวง ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว พระเจ้าตนหลวงประดิษฐานอยู่ค่อนข้างไกลมาก แถบกว๊านพะเยา คนละอำเภอเลยทีเดียว แต่เนื่องด้วยพระเจ้าตนหลวงมีขนาดใหญ่โตมาก ชาวพะเยาจึงเชื่อว่าจุดที่สายตาของพระเจ้าตนหลวงตกกระทบนั้น คือบริเวณฐานชุกชีในวิหารวัดพระเจ้านั่งดินที่อำเภอเชียงคำพอดี
เมื่อพระประธานไม่อาจทนนั่งในแนวสายพระเนตรของพระเจ้าตนหลวงได้ จึงหลบสายตาลงมาประทับบนพื้นในวิหาร ชาวบ้านจึงเรียกชื่อว่า “พระเจ้านั่งดิน” หรือ “พระมหาเจ้านั่งดิน”
พระธาตุขิงแกง เครื่องปลูกของฝังพระพุทธศาสนา
วันศุกร์ที่ 27 มกราคม หลังจากชมพระอาทิตย์ขึ้นที่รีสอร์ตแล้ว คณะเราเดินทางจากอำเภอปง สู่อำเภอจุน ไปยัง “พระธาตุขิงแกง” 1 ในพระธาตุศักดิ์สิทธิ์ของล้านนา ผลงานการบูรณปฏิสังขรณ์ของครูบาเจ้าศรีวิชัย ชมกระจกสีสวยงามวิจิตร รูปปั้นครูบาฯ รุ่นเก่าสุด
พระธาตุขิงแกงตั้งอยู่เลขที่ 318 บ้านธาตุขิงแกง หมู่ที่ 5 ต.พระธาตุขิงแกง อ.จุน ภายในองค์พระธาตุขิงแกงบรรจุพระเกศาธาตุและพระบรม สารีริกธาตุส่วนพระบาทเบื้องขวา
ที่มาของชื่อ “ขิงแกง” ตํานานกล่าวไว้ว่าเป็นชื่อของขิงพันธุ์พื้นเมืองที่มีแง่งขนาดเล็กแต่ส่งกลิ่นแรง ซึ่งสองตายายได้นํามาถวายแด่พระพุทธเจ้าในคราวที่พระองค์เสด็จมาโปรดสัตว์โลก ณ บริเวณแห่งนี้ หลังจากที่สองตายายได้ถวายหมากเต้าหมากแตง (แตงโมและแตงไทย) แล้ว ก็มีความประสงค์ที่จะถวายพืชที่ “เป็น เครื่องปลูกของฝัง” ให้แก่พระพุทธองค์ เพื่อให้หยั่งรากลึกเป็นหมุดหมายสัญลักษณ์แห่งการเสด็จมาของพุทธองค์
ครูบาเจ้าศรีวิชัยบูรณะพระธาตุขิงแกงช่วงระหว่าง พ.ศ. 2472 -2475 โดยชาวบ้านได้นิมนต์ครูบาเจ้าศรีวิชัยมาบูรณะพระธาตุ ปัจจุบันพระธาตุขิงแกงมีฐานกว้าง 15 เมตร สูง 20 เมตร มีซุ้มจระนําประดิษฐานพระพุทธรูปทั้ง 4 ทิศ องค์ระฆังทรงแปดเหลี่ยมประดับกระจกสีชิ้นเล็กๆ เน้นสีเหลืองทองกับสีน้ำเงินอมม่วงตัดกันดูขับตา ถือว่าเป็นเจดีย์ที่มีความวิจิตรมากที่สุดองค์หนึ่งในประเทศไทย บนยอดประดับด้วยฉัตร ด้านข้างองค์พระธาตุทางทิศเหนือประดิษฐานรูปปั้นครูบาเจ้าศรีวิชัยรุ่นเก่า ปั้นโดยลูกศิษย์ผู้อยู่ใกล้ชิด มีงานประเพณีสรงน้ำพระธาตุขิงแกงประจําปีเดือน 7 เป็ง (เดือน 7 เหนือ ขึ้น 15 ค่ำ ประมาณเดือนเมษายน)
เตาเวียงบัว เตารุ่นเก่าสุดในยุคล้านนา
จากนั้นคณะเราเดินทางไปรับประทานอาหารกลางวัน ณ กว๊านพะเยา และไปแหล่งโบราณคดีชุมชน “เตาเวียงบัว” ต.แม่กา อ.เมือง ชมเครื่องถ้วยสมัยล้านนารุ่นเก่าสุด ในบรรดาเครื่องปั้นดินเผาทั้งหมด (ทั้งนี้ไม่นับเครื่องปั้นดินเผาชนิดไม่เคลือบของลำพูน ซึ่งเป็นสมัยหริภุญไชย เก่ากว่าสมัยล้านนา) กล่าวกันเฉพาะเตาเผาสมัยล้านนา พบว่าเครื่องถ้วยจากเตาเวียงบัวมีความเก่าแก่มากกว่า เครื่องถ้วยจากเตาเมืองพาน และเตาเวียงกาหลง (สองแห่งนี้อยู่ในจังหวัดเชียงราย) เก่ากว่าเตาวังเหนือ (ลำปาง) และเก่ากว่าเตาที่สันกำแพง แม่ออน (เชียงใหม่)
มีแหล่งเตาเผาเพียงอีกแห่งเดียวที่พอจะมีอายุเก่าแก่สูสีกับเตาเวียงบัวได้คืออายุสมัยต้นอาณาจักรล้านนาราว 700 ปี คือเตาบ้านบ่อสวก จังหวัดน่าน นอกจากนั้นเตาที่เหลือทั้งหมด (เตาเมืองพาน เตาเวียงกาหลง เตาวังเหนือ เตาสันกำแพง) ล้วนแต่มีอายุประมาณ 500 ปี
ข้อมูลที่เราได้รับจากคนในพื้นที่ พบว่ามีเศษเตาเผากระจัดกระจายอยู่ในหมู่บ้านมากกว่า 40 หลุม ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ของเอกชน บางแห่งไม่เปิดให้นักโบราณคดีมาทำการขุดค้น บางแห่งถูกมิจฉาชีพลักลอบขุดหาสมบัติเพื่อนำไปขาย แตกหักกระจุยกระจาย
ส่วนบริเวณเตาเวียงบัวที่คณะเราไปเยี่ยมชมศึกษาดูงานแห่งนี้ เจ้าของพื้นที่ได้ยกให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน มีการนำเสนอ 3 ส่วน 1. ส่วนของเศษเครื่องปั้นดินเผาที่ฝังปะปนกับเนื้อดินในสภาพเดิม (Site Museum) 2. ส่วนของพิพิธภัณฑ์จัดแสดงนิทรรศการเครื่องถ้วยจากเตาเวียงบัว คัดเลือกใบที่สมบูรณ์ นำเสนอลวดลายต่างๆ ที่ช่างในอดีตนำมาเป็นตราประทับ 3. ส่วนโซนด้านหลัง เป็นการฟื้นฟูแหล่งเตาเผาขึ้นมาใหม่ ด้วยการศึกษาค้นคว้าของคนในชุมชน ว่าควรนำดินจากแหล่งใดมาผสมอะไรบ้าง ต้องเผากี่องศา ต้องใช้น้ำเคลือบที่ทำจากขี้เถ้าด้วยการเผาไม้ชนิดใด จึงจะทำให้เมื่อเผาออกมาแล้วได้ผลผลิต สีสัน และความแกร่งของเนื้อภาชนะ ที่ใกล้เคียงกับเครื่องปั้นดินเผาของเตาเวียงบัวเมื่อ 700 ปีก่อนมากที่สุด ในที่นี้ได้คำตอบว่า ต้องใช้กิ่งไม้มะม่วงที่มีอายุเกิน 100 ปีขึ้นไป
คณะของพวกเราชมแหล่งเตาเวียงบัวเป็นจุดสุดท้าย เวลา 15.00 ตรง ออกเดินทางกลับเชียงใหม่-ลำพูน ถือเป็นทริป 3 วัน 2 คืน ที่วิเศษยิ่ง ได้เสพความรู้คู่ความสุขและความสนุกสนาน ครบทุกรสชาติ