ซีคอนบางแคจัดมหกรรม “ปอยหลวง” ร่วม “เชิดชูครูบาเจ้าศรีวิชัย”

ข่าวศิลปวัฒนธรรม , 27 มี.ค. 2566, 15:33

ซีคอนบางแคจัดมหกรรม “ปอยหลวง” ร่วม “เชิดชูครูบาเจ้าศรีวิชัย”

ดิฉัน ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ ได้รับการประสานจาก “อาจารย์รำพัด โกฏแก้ว” แม่ครูภูมิปัญญาล้านนาด้านการสืบสานวัฒนธรรมประเพณี ท่านเป็นเจ้าของที่พัก-ร้านอาหารและแหล่งรวบรวมผ้าทอพื้นเมือง “เฮือนม่อนฝ้าย” (ตั้งอยู่แถวซอยข้างโรงพยาบาลลานนา) ว่าขอเชิญดิฉันมาร่วมเป็นวิทยากรเสวนาหัวข้อ “สู่ 150 ปีชาตกาล ครูบาเจ้าศรีวิชัย : จากผลงานพุทธศิลป์ ถึงสันติภาพภายใน” ณ Hall ใหญ่ชั้น 1 ของ ซีคอนบางแค เวลาบ่ายสามโมง ณ วันเสาร์ที่ 1 เมษายน 2566 ร่วมกับวิทยากรอีกสองท่านคือ ศ.เกียรติคุณ ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง และ อ.แสวง มาละแซม

ที่มาที่ไปเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมครั้งนี้ จากการสัมภาษณ์ แม่ครูรำพัด ทำให้ได้ข้อมูลว่า เป็นเวลานานกว่า 30 ปีแล้ว ที่แม่ครูได้รับมอบหมายให้เป็นแม่งานจัดกิจกรรมแนวสืบสานศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี โบราณคดี ศาสนา ในมิติต่างๆ เกี่ยวกับ “ล้านนา” ปีละสองครั้ง ครึ่งปีแรกที่บางแค และครึ่งปีหลังที่บางนา เช่นบางปีแม่ครูกำหนดจัดใน Theme พระนางจามเทวีศรีหริภุญไชย บางครั้งใช้ Theme เสน่ห์เขลางค์นคร บางคราวใช้ Theme พระราชชายา เจ้าดารารัศมี เป็นต้น

ระหว่างวันที่ 23 มีนาคม – 2 เมษายน 2566 กิจกรรมด้านศิลปวัฒนธรรมประเพณีล้านนาในปีนี้ แม่ครูรำพัดกำหนดจัดใน Theme ที่ชื่อว่า “ปอยหลวง” คำๆ นี้เป็นภาษาพม่าผสมกับภาษาล้านนาดั้งเดิม เมื่อได้ยินคำนี้ ทุกท่านย่อมปิดตาเห็นภาพขบวนแห่ตระการตา ในงานบุญต่างๆ ที่ชาวล้านนาจัดขึ้น โดยแม่ครูรำพัดกล่าวว่า

“บุคคลผู้มีคุณูปการที่ทำให้งานปอยหลวงเกิดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ก็คือตนบุญแห่งล้านนา ท่านครูบาเจ้าศรีวิชัยนั่นเอง เพราะทุกกิจกรรมที่ท่านทำ จะมีผู้คนหลั่งไหลมาจากทั่วทุกสารทิศเดินทางมาร่วมทำบุญกับท่าน ดังนั้น เมื่อพี่ดำริจัดกิจกรรมชื่อ “ปอยหลวง” จึงย่อมหนีไม่พ้นที่จะต้องเชิดชูเรื่องราวของครูบาเจ้าศรีวิชัยไปด้วยพร้อมๆ กันค่ะ”

แล้วทำไมเมื่อพูดถึงคำว่า “ปอยหลวง” คนล้านนาต้องนึกถึง “ครูบาเจ้าศรีวิชัย” ลองมาดูความหมายของคำนี้กัน ศาสตราจารย์ ดร.มณี พยอมยงค์ กล่าวไว้ในหนังสือ “ประเพณีล้านนาไทย” ว่า 

“ปอยหลวง คืองานฉลองถาวรวัตถุของวัด หรือการฉลองสิ่งก่อสร้างที่ประชาชนช่วยกันทำขึ้นเพื่อเป็นประโยชน์แก่สาธารณชน มีโรงเรียน และหอประชุม เป็นต้น ประชาชนในล้านนานิยมทำการฉลองครั้งใหญ่”

นอกจากนี้ท่านพ่อครูมณียังอธิบายรากศัพท์ของคำว่า “ปอย” ว่าเป็นคำเดียวกันกับคำว่า “ปาเวณี/ปเวณิ์” ของชาวพม่าที่เรียกคำว่า ปาเวณี เป็น “ปอย” เพราะออกเสียงปาเวณี แบบชาวล้านนาไม่ได้ แท้จริงคือคำเดียวกัน ทำให้ชาวล้านนานิยมใช้คำว่า “ปอย” แทน “ปาเวณี” ตามไปด้วย เพราะเป็นคำที่สั้น กระชับมากกว่าที่จะเรียกยาวๆ ว่า “งานปาเวณีหลวง”

ต่อมาคำว่า “ปอย” ยังได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของภาษาล้านนา เช่นเกิดคำว่า “เอามาฮอมมาปอยกัน” ฮอม แปลว่า รวม เอามาฮอมมาปอย หมายถึง มาร่วมกันทำบุญคนละเล็กคนละน้อย 

พ่อครูมณียังกล่าวต่อไปว่า ชาวล้านนาเรียกงานประเพณีที่ต้องมีการรวมตัวกันแทบทุกงานว่า “งานปอย” เช่น งานปอยหน้อย (บวชเณร / บวชลูกแก้ว) ปอยข้าวสังฆ์ (ทำบุญอุทิศถึงญาติที่ล่วงลับ) ปอยล้อ (งานศพพระสงฆ์) 

ส่วนต้นกำเนิดของงาน “ปอยหลวง” หรืองานบุญใหญ่ (หลวง = ใหญ่) ที่เน้นการระดมเงินทุนผ้าป่าคณะใหญ่ เพื่อนำปัจจัยมาใช้สอยเป็นค่าซื้อวัสดุก่อสร้างก็ดี หรือเฉลิมฉลองเสนาสนะหลังจากสร้างเสร็จแล้วก็ดี ทั้งพ่อครูมณี พยอมยงค์ และปราชญ์ล้านนาท่านอื่นๆ อาทิ พ่อหนานศรีเลา เกษพรหม รวมถึงแม่ครูรำพัด เห็นตรงกันว่า บุคคลผู้มีส่วนกระตุ้นให้งาน “ปอยหลวงล้านนา” ทรงพลัง เกิดพลานุภาพมากที่สุด และยังดำรงสืบมาจนถึงปัจจุบันก็คือ “ครูบาเจ้าศรีวิชัย”

เหตุที่ท่านสร้างเสนาสนะตามวัดต่างๆ มากกว่า 300 แห่ง แน่นอนว่าการเฉลิมฉลองกุฏิ อุโบสถ ศาลาการเปรียญ หอธัมม์ การยกช่อฟ้าวิหาร การยกยอดฉัตรพระธาตุ หรือการเบิกพระเนตรพระเจ้า พระประธานในพระวิหาร ย่อมเกิดขึ้นอย่างแพร่สะพัดไม่เว้นแต่ละวัน ไม่เว้นแต่ละพื้นที่ตามมาด้วย ขอให้ทุกท่านลองจินตนาการบรรยากาศของงานปอยหลวงในยุคครูบาฯ ว่าจะถี่และบ่อยแค่ไหนในแต่ละเดือน

ส่วนมหรสพที่ตามพ่วงมากับงานปอยหลวงนั้น ไม่ว่าการแห่ขันโตก การฟ้อน การละเล่นดนตรีต่างๆ ปรากฏมีมาแล้วตั้งแต่เอกสาร “ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่” ฉบับปริวรรตโดย ศ.อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว ภาคีราชบัณฑิต ได้ทำการแปลร่วมกับ ดร. เดวิด เค วัยอาจ กล่าวถึงบรรยากาศงานปอยหลวงสมัยพระเจ้ากาวิละที่เวียงป่าซาง (ปัจจุบันคือวัดอินทขีล อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน) ไว้ว่า

“เถิงสก 1156 ตัว (พ.ศ. 2337) ศรัทธาเจ้ามหาอุปราชา (พระเจ้ากาวิละ) ได้สร้างวิหารวัดอินทขีล แลได้สร้างพระพุทธรูปเจ้า 1 องค์ ไว้เป็นที่ไหว้และปูชาแก่คนและเทวดาทั้งหลาย สมณพราหมณ์ทั้งหลาย ได้อบรมสมโภชฉลองเบิกบายกระทำบุญหื้อทานเล่นมหรสพเป็นปอยลาม อันใหญ่เป็นปฐมวารในปีนั้น”

ด้วยเหตุนี้ ที่ใดมีงานปอยหลวง แม้จะเกี่ยวกับการพระศาสนา ณ ที่แห่งนั้นย่อมต้องมีมหรสพงานรื่นเริงบันเทิงใจตามไปด้วย เมื่อแม่ครูรำพัดคิด Theme ปอยหลวง เชื่อมโยงเข้ากับ Theme ครูบาเจ้าศรีวิชัย ดังนี้แล้ว จึงได้เปิดพื้นที่ให้ผู้สัญจรไปมาในห้างซีคอนบางแค ได้สัมผัสถึงกลิ่นอายวัฒนธรรมล้านนาในมิติต่างๆ ที่ถูกนำมาหลอมรวมภายใต้คำว่า “ปอยหลวง” ทั้งอาหาร ดนตรี การขับลำนำกวี (จ๊อย คร่าว ซอ) นาฏศิลป์ การแสดง การละเล่น คำสวด คำไหว้ เสื้อผ้าหน้าผม และที่ขาดไม่ได้เลยคือ กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับครูบาเจ้าศรีวิชัย ทั้งบอร์ดนิทรรศการ สารคดีวีทีอาร์ และเวทีเสวนากึ่งวิชาการ

“พี่ตั้งใจจะให้กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งในการประชาสัมพันธ์ ร่วมผลักดันให้ครูบาเจ้าศรีวิชัยเป็นบุคคลสำคัญของโลกต่อยูเนสโกด้วย แม้ตอนนี้ทราบมาว่า หน่วยงานภาครัฐตั้งแต่ระดับนายกรัฐมนตรี สว. ผู้ทรงคุณวุฒิ รวมไปถึงผู้ว่าราชการจังหวัดในดินแดนล้านนา 8 จังหวัด (ลำพูน เชียงใหม่ ลำปาง เชียงราย พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน น่าน) กับอีกสองจังหวัดภาคเหนือตอนล่างที่มีความเกี่ยวข้องกับครูบาฯ คือสุโขทัย และตาก ได้ร่วมจับมือกันเซ็น MOU ลงนามจัดทำแผนแม่บทร่วมกันแล้ว แต่ตัวพี่ในฐานะคนลูกหลานชาวล้านนา เกิดเชียงใหม่ เคยทำงานและอาศัยอยู่แทบทุกจังหวัดในล้านนา ทั้งเป็นหนึ่งในกรรมการมูลนิธิสถาบันครูบาเจ้าศรีวิชัย ที่เชียงใหม่ (สำนักงานอยู่ตรงข้ามวัดศรีโสดา เชิงดอยสุเทพ) ก็ขอปวารณาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนให้การนำเสนอข้อมูลต่อองค์การยูเนสโกนั้นสำเร็จ นี่คือเหตุผลว่าทำไมพี่จึงเชิญ ดร.เพ็ญ อ.ธเนศวร์ และ อ.แสวง ลงมาจากเชียงใหม่ มาร่วมพูดคุยถึงคุณูปการของท่านครูบาเจ้าศรีวิชัยกัน”

กิจกรรม “ปอยหลวง” ที่แม่ครูรำพัดเป็นแม่งานจัดให้ซีคอนบางแคในช่วงประมาณสัปดาห์เศษๆ นี้ อาจช่วยทำให้ “คนล้านนาพลัดถิ่น” หายคิดถึงบ้านลงได้บ้าง เพราะเมื่อเข้าไปปั๊บท่านจักได้สูดกลิ่นหอมกรุ่นของไส้อั่ว น้ำพริกอ่อง ข้าวซอย ข้าวหนุกงา ข้าวกันจิ้น ฯลฯ รสชาติดั้งเดิม ได้ยินเสียงสะล้อซอซึง ผู้คนนุ่งซิ่น อู้คำเมือง อีกทั้งคนที่ไม่ใช่ชาวเหนือ ยิ่งถือเป็นโอกาสอันดีมาก ที่จักได้มาศึกษาเรียนรู้เรื่องเครื่องแต่งกาย อาหารการกิน ดนตรี ฟ้อนรำของชาวล้านนาได้

สุดท้ายที่ไม่อยากให้ทุกคนพลาดคือรายการเสวนาหัวข้อ “สู่ 150 ปีชาตกาล ครูบาเจ้าศรีวิชัย : จากผลงานพุทธศิลป์ ถึงสันติภาพภายใน” ณ Hall ใหญ่ชั้น 1 ของ ซีคอนบางแค วันเสาร์ที่ 1 เมษายน 2566 ระหว่างเวลา 15.00-17.00 น. รายการนี้แม่ครูรำพัดจะเป็นผู้เปิดประเด็นก่อนท่านแรก ว่าครูบาเจ้าศรีวิชัยมีความสัมพันธ์ ผูกพัน และมีคุณูปการต่อคำว่างาน “ปอยหลวง” อย่างไร

จากนั้น ดิฉัน ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ ในฐานะที่เคยเป็นบรรณาธิการเรียบเรียงหนังสือสามเล่มชุด “ครูบาเจ้าศรีวิชัย” ความหนา 1,500 หน้า ให้แก่สมาคมชาวลำพูนระหว่างปี 2557-2562 จะบรรยายเรื่องประวัติความเป็นมาของครูบาเจ้าศรีวิชัยในแต่ละช่วงวัย ว่าท่านมีพัฒนาการในการสร้างผลงานอะไรบ้าง เพราะงานพุทธศิลป์เหล่านั้นทำให้ชีวิตของท่านต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับสถานที่แต่ละแห่งในมิติที่ต่างกัน ท่านต้องพานพบผู้คนหลากอาชีพ หลายชนชาติ ต่างชนชั้น แผกสถานะ ท่านต้องผ่านสถานการณ์ทางการเมือง วิกฤติเศรษฐกิจ และความผันผวนทางศาสนาอย่างไรบ้าง

วิทยากรคนถัดมาคือ อาจารย์แสวง มาละแซม ปราชญ์ล้านนาด้านยองศึกษา และประธานกรรมการฝ่ายวิชาการ มูลนิธิสถาบันครูบาเจ้าศรีวิชัย (หน้าวัดศรีโสดา เชียงใหม่) จะชวนตั้งคำถามว่า ได้เกิด “วรรณกรรม วาทกรรม และกิจกรรม” ชิ้นสำคัญอะไรบ้าง ที่ถูกผลิตซ้ำอย่างยาวนานและต่อเนื่อง ทั้งๆ ที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยละสังขารไปนานมากแล้วกว่า 80 กว่าปี ปกติพระรูปอื่นๆ โดยเฉพาะพระชาวบ้านที่อยู่ในชนบทห่างไกล ไร้สมณศักดิ์ เมื่อจากโลกไปแล้ว ไม่มีตัวตนแล้ว มักไม่มีใครกล่าวขวัญถึงอีกเลย แต่ไฉนพระรูปนี้ จึงกลายเป็นบุคคลที่มีผู้โจษขานถึงมากที่สุดในล้านนา และน่าจะมากที่สุดรูปหนึ่งในประเทศไทยด้วย แสดงว่าครูบาเจ้าศรีวิชัยต้องมีอะไรที่ “ไม่ธรรมดา”

วิทยากรคนสุดท้าย ในฐานะนักรัฐศาสตร์ นักวิพากษ์สังคม ศาสตราจารย์เกียรติคุณธเนศวร์ เจริญเมือง แห่งคณะรัฐศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จะมาตั้งคำถามคล้ายๆ กับอาจารย์แสวง ว่าทำไมคนรุ่นหลังจึงให้ความสำคัญต่อครูบาเจ้าศรีวิชัยสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน มีบริบทพิเศษอันใด หรือมีกระแสอะไรที่ควรตั้งข้อสังเกต อยากชี้ให้เห็นว่า กว่าจะถึงวันนี้ ครูบาเจ้าศรีวิชัยต้องผ่านเส้นทางการถูกมองภาพลักษณ์มาแล้วอย่างไรบ้าง 

และท้ายสุดจะเปิดเวทีระดมความเห็นจากผู้ชมผู้ฟังที่ไปร่วมงาน ว่าเราจะร่วมขับเคลื่อนให้การนำเสนอครูบาเจ้าศรีวิชัยเป็นบุคคลสำคัญของโลก บรรลุถึงเป้าหมายได้อย่างไรกันบ้าง ในฐานะประชาชนกรือภาคประชาสังคม

 

21

ข่าวอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ส่งมอบรถใหม่ HyundaiSTARIA Premium with Sunroof (Euro5) สีขาว เป็นรถยนต์น่าใช้สำหรับครอบค...

เอชดีเจมอเตอร์ ฮุนไดเชียงใหม่ โดยที่ปรึกษาการขายเซลส์มุ้ย ร่วมแสดงความยินดีพร้อมส่งมอบรถใหม่ให้กับคุณแคทริน อินต๊ะมา เป็นรถยนต์ ฮุนไดSTARIA Premium with Sunroof (Euro5) สีขาว ขอขอบคุณที่ให้เกียรติมาเป...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 16 ม.ค. 2568, 18:44
  • |
  • 63

ส่งมอบไปอีก 1 คันแล้ว สำหรับรถยนต์ Hyundai STARGAZER X6 สีบรอนทอง สุดสวย ที่ผ่านมา

ส่งมอบรถใหม่ให้กับลูกค้า ที่ปรึกษาการขาย เอชดีเจ มอเตอร์ ฮุนไดเชียงใหม่ เซลส์แนน ร่วมแสดงความยินดีพร้อมส่งมอบรถใหม่ให้แก่คุณวิระดา ชวลิต Hyundai STARGAZER X6 สีบรอนทอง ออกไปจากโชว์รูม เอชดีเจมอเตอร์ ท...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 11 ม.ค. 2568, 14:08
  • |
  • 98

ส่งมอบรถใหม่ Hyundai CRETA ALPHA สีดำ เป็นรถยนต์น่าใช้สำหรับครอบครัว

 เอชดีเจมอเตอร์ ฮุนไดเชียงใหม่ โดยที่ปรึกษาการขายเซลส์แนน ร่วมแสดงความยินดีพร้อมส่งมอบรถใหม่ให้กับคุคุณ KYUNG HEE LEE เป๋ฯรถยนต์ Hyundai CRETA ALPHA สีดำ ขอขอบคุณที่ให้เกียรติมาเป็นครอบครัวฮุนได...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 8 ม.ค. 2568, 12:35
  • |
  • 111

ส่งมอบรถใหม่ Hyundai STARGAZER Smart 6 With Black Roof สีแดง เป็นรถยนต์น่าใช้สำหรับครอบคร...

เอชดีเจมอเตอร์ ฮุนไดเชียงใหม่ โดยที่ปรึกษาการขายเซลส์แนน ร่วมแสดงความยินดีพร้อมส่งมอบรถใหม่ให้กับคุณเอนก ชิตเกษร Hyundai STARGAZER Smart 6 With Black Roof สีแดง ขอขอบคุณที่ให้เกียรติมาเป็นครอบครัวฮุนไ...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 3 ม.ค. 2568, 10:17
  • |
  • 195

เหลืออีกสองวัน Lanna Auto Sale 18-25 ธันวา 67 ที่เซ็นทรัลเ แอร์พอร์ต รถไฟฟ้าน่าใช้ราคาน่าต...

กระแสรถยนต์ไฟฟ้าในบ้านเราเริ่มได้รับความสนใจจากผู้ใช้คนเมืองมากขึ้นทุกวัน ตามท้องถนนในเชียงใหม่ทุกวันนี้รถที่ขับไปขับมาสังเกตุดูได้เลยต้องมีรถยนต์ไฟฟ้าชับสวนมาหรือขับตามเรามาหลากหลายรุ่น นั่นแสดงถึงรถ...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 24 ธ.ค. 2567, 13:13
  • |
  • 223

อีซูซุ ศาลา เชียงใหม่ จัด ISUZU 2.2 Ddi MAXFORCE พลังแรง ท้าลอง ในศูนย์ประชุมนานาชาติเชียง...

ใกล้สิ้นปีหลายค่ายรถยนต์จัดงานอีเว้นท์กันตลอดทั้งเดือน โดยเฉพาะค่ายอีซูซุที่มีรถยนต์ออกใหม่ทั้งเครื่องยนต์ใหม่ แรงขึ้น เร็วขึ้น วันนี้เราพาท่านไปเที่ยวชมงานนี้กันซึ่งจัดขึ้นภายในศูนย์ประชุมนานาชาติเชี...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 22 ธ.ค. 2567, 16:33
  • |
  • 238
Sytiq Company

ออกแบบพัฒนาโปรแกรมและแอพลิเคชั่น

โดยบริษัทไซทิค ติดต่อ:0819507128

Sytiq Company

ออกแบบและติดตั้ง Home Automation

โดยบริษัทไซทิค ติดต่อ:0819507128