อีกหนึ่งเทศกาลที่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และต่างชาติ รอคอยกับ “เทศกาลงานประเพณีสงกรานต์เชียงใหม่” ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีของเดือนเมษายน โดยปีนี้ทางเทศบาลนครเชียงใหม่ ได้มีการจัดเตรียมกิจกรรม “ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมืองเจียงใหม่ ประจำปี 2566” เพื่อร่วมส่งเสริมศิลปะวัฒนธรรม และฟื้นฟูประเพณีล้านนาดั้งเดิม ผ่าน 14 กิจกรรม ทั่วเขตเทศบาลฯ ตั้งแต่วันที่ 12-16 เมษายน 2566
นายอัศนี บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ เชิญชวนพี่น้องในจังหวัดเชียงใหม่, จังหวัดใกล้เคียง, นักท่องเที่ยวจากทั่วเมืองไทย และนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เตรียมตัววางแผนการเดินทาง ที่พัก ร้านอาหาร และเส้นทางต่างๆ ที่จะนำทุกท่านร่วมสืบสานประเพณีล้านนากว่า 727 ปี และทำบุญไปพร้อมๆ กัน ผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่จะอิ่มใจไปกับพี่น้องชาวเชียงใหม่ โดยทางเทศบาลได้มีการจัดกิจกรรมไว้กว่า 14 กิจกรรมที่ไม่ควรพลาด อาทิ
1. พิธีบวงสรวงเศียรท้าวกบิลพรหม : วันที่ 12 เมษายน 2566 ณ สนง.เทศบาลนครเชียงใหม่ , 2. การประกวดเจดีย์ทราย : วันที่ 12 เมษายน 2566 ณ ข่วงประตูท่าแพ , 3. การประกวดประดิษฐ์ตุงล้านนา : วันที่ 12 เมษายน 2566 ณ ข่วงประตูท่าแพ
4. พิธียอสวยไหว้สา พระญามังราย : วันที่ 12 เมษายน 2566 ณ ลานราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์ , 5. ขบวนแห่พระพุทธสิหิงค์ และพระพุทธรูปสำคัญของจังหวัดเชียงใหม่ : วันที่ 13 เมษายน 2566 ณ วัดพระสิงห์ และเริ่มจากสี่แยกสันป่าข่อย – วัดพระสิงห์ฯ
6. การประกวดเครื่องสักการะล้านนา : วันที่ 13 เมษายน 2566 ณ ข่วงประตูท่าแพ , 7. การประกวดแม่ญิงขี่รถถีบกางจ้อง : วันที่ 13 เมษายน 2566 ณ ข่วงประตูท่าแพ
8. กิจกรรมการแสดง แสง สี เสียง และสื่อผสม สืบสานป๋าเวณีปี๋ใหม่เมืองเจียงใหม่ เชื่อมโยงถึงงานประเพณีสำคัญทางวัฒนธรรมของนครเชียงใหม่ : วันที่ 13-15 เมษายน 2566 ณ ลานราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์ , 9. ขบวนแห่ไม้ค้ำสะหลีและขนทรายเข้าวัด
: วันที่ 14 เมษายน 2566 ณ วัดบนถนนท่าแพ , 10. การแข่งขันลาบพื้นเมือง : วันที่ 15 เมษายน 2566 ณ ข่วงประตูท่าแพ , 11. การประกวดตีกลองปู่จา : วันที่ 15 เมษายน 2566 ณ ข่วงประตูท่าแพ , 12. กิจกรรมการแสดงศิลปวัฒนธรรม 727 ปี สะหลีปี๋ใหม่เมือง : วันที่ 13-15 เมษายน 2566 ณ ลานราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์ , 13. กิจกรรมสรงน้ำพระพุทธรูปสำคัญของเมืองเชียงใหม่ 11 วัดมงคลในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ และ 14. กิจกรรมพิธีอัญเชิญน้ำศักดิ์สิทธิ์
ทั้งนี้ทางเทศบาลนครเชียงใหม่ ยังคงปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมประเพณีล้านนาตั้งแต่ดังเดิม และคงความเป็นเมืองพุทธด้วยการ เชิญชวนเข้าวัดทำบุญ ปักตุงแบบล้านนา ขนทรายเข้าวัด และร่วมก่อเจดีย์ทราย และยังจัดกิจกรรมสืบสานวัฒนธรรมอีกกว่า 14 กิจกรรม สามารถติดตามกิจกรรมอื่นๆ ในเทศกาลงานประเพณีสงกรานต์เชียงใหม่ “สืบฮีตโตยฮอย เมืองเจียงใหม่ 727 ปี” ได้ทาง FB : https://www.facebook.com/cmmayor