วัดล่ามช้างเป็นแหล่งเรียนรู้ทางด้านศิลปวัฒนธรรมอีกแห่งหนึ่งในจังหวัดลำพูน ที่เปี่ยมไปด้วยคุณค่าทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี ศิลปะ สถาปัตยกรรม ภูมิทัศน์ และความเป็นมาของการตั้งถิ่นฐานชุมชนชาวยอง ปัจจุบัน ตั้งอยู่เลขที่ 65 บ้านล่ามช้าง หมู่ที่ 3 ตำบลประตูป่า อำเภอเมืองลำพูน
จากบันทึกประวัติของวัดล่ามช้าง ระบุว่ามีการฟื้นวัดร้างขึ้นมาใหม่เมื่อประมาณ พ.ศ. 2395 โดยชุมชนชาวยองที่อพยพมาในสมัยพระญากาวิละ (ต้นรัตนโกสินทร์) โดยชาวบ้านละแวกนั้นซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนไทเชื้อสายยองได้พร้อมใจกัน นิมนต์ครูบาญาวิชัย ญาณวิชโย มาเป็นผู้สร้างวัด จากนั้นมีเจ้าอาวาสอีกหลายรูป ที่ช่วยกันค่อยๆ ก่อสร้างเสนาสนะเพิ่มเติมจนสมบูรณ์
ชื่อวัดล่ามช้างปรากฏในศิลาจารึกวัดต้นผึ้ง
จากข้อมูลที่ได้จากศิลาจารึกวัดต้นผึ้ง (ลพ.8) ซึ่งวัดต้นผึ้งตั้งอยู่ไม่ไกลกัน คืออยู่ที่ตำบลเหมืองง่า อำเภอเมืองลำพูน ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญไชย นั้น พบว่ามีการปรากฏชื่อของ “วัดล่ามช้าง” ในนาม “วัดล่ามช้างไชยอาราม” อยู่ในศิลาจารึกแท่งดังกล่าวนี้ด้วย
ศิลาจารึกหลักนี้เขียนขึ้นบนหินทรายในปี พ.ศ.1987 อันตรงกับสมัยของพระเจ้าติโลกราช ใช้ตัวอักษรไทล้านนา ประเภทฝักขาม ตัวเลขอักษรธัมม์ ภาษาไทยวน มีข้อความเรื่องที่จารึก ปริวรรตถอดความเป็นภาษาที่เข้าใจง่ายได้ว่า
- “พ.ศ.1987 นายคำสน หัวหน้านายเกวียน ขอเงิน 1,500 จากนักบุญและพระภิกษุชั้นผู้ใหญ่ ได้แก่ มหาเถรอริยวังโส วัดป่าขี้เหล็ก มหาเถรเจ้าญาณรังสี วัดดอนไชย มหาสามีเจ้าอดุลญาณมังคละ วัดงาวทาง กับมหาสามีญาณสาคร วัดป่าล่ามช้างไชยอาราม จากนั้นจึงถวายภรรยา บุตร และข้าทาสไว้เป็นข้าของพระพุทธรูปประธาน บ้านผึ้งเหนือและบ้านผึ้งใต้ถวายชาด เงิน เบี้ย และข้าว แด่พระเจดีย์ ผู้อุปัฏฐากพระประธานมีสิทธิ์รับผลประโยชน์จากสิ่งของที่ได้ถวายไว้นั้น”
จากข้อความดังกล่าว พบว่ามีรายชื่อของพระมหาเถรระดับสูงที่ทรงสมณศักดิ์หลายรูปในสมัยพระเจ้าติโลกราช พร้อมกับระบุชื่อวัดที่อยู่ในเขตหริภุญไชยนคร (ลำพูน) อีกหลายแห่ง อาทิ
วัดป่าขี้เหล็ก ปัจจุบันคือวัดขี้เหล็ก ทางไปนิคมอุตสาหกรรม ต.บ้านกลาง อ.เมือง จ.ลำพูน
วัดดอนไชย ไม่แน่ใจว่าหมายถึงวัดใดในลำพูน เพราะปัจจุบันที่อำเภอบ้านธิ มีชื่อวัดศรีดอนชัยถึงสองแห่งคือทั้งที่ตำบลห้วยยาบ และตำบลบ้านธิ ในขณะที่ห้วยยาบระบุว่าวัดศรีดอนชัยสร้างโดยชาวไทใหญ่ เดิมเป็นป่าแงะ ชาวบ้านจึงเรียกวัดสันต้นแงะ แต่ที่ตำบลบ้านธิบอกว่าเป็นวัดบนที่สร้างบนสันดอน เดิมชื่อวัดสันดอนไจย นอกจากนี้แล้วที่ยังมีวัดดอนชัย ที่บ้านเหล่าหมุ้น ตำบลเหล่ายาว อำเภอบ้านโฮ่งอีกแห่งหนึ่ง แต่วัดนี้ระบุว่าเดิมชื่อวัดเด่นผักกุ่ม ทั้งนี้ยังมีวัดศรีดอนไชยในจังหวัดเชียงใหม่อีก 3-4 แห่ง
วัดงาวทาง ไม่ทราบว่าหมายถึงวัดใด สันนิษฐานว่าเป็นวัดร้างแห่งไปแล้วในเส้นต้นยาง-ขี้เหล็ก
วัดต้นเผิ้ง ปัจจุบันคือวัดต้นผึ้ง ถนนสายลำพูน-ใหม่ หมู่ที่ 1 ตำบลเหมืองง่า อำเภอเมืองลำพูน
วัดป่าล่ามช้างไชยอาราม ก็คือวัดล่ามช้างนั่นเอง การปรากฏชื่อวัดป่าล่ามช้างไชยอารามในศิลาจารึกวัดต้นผึ้งเช่นนี้ ทำให้ทราบว่าวัดล่ามช้างมิได้เป็นวัดใหม่ที่เพิ่งสร้างขึ้นโดยชาวไทยองเมื่อราว 200 ปีมานี้เท่านั้น แต่ทว่าเป็นวัดเก่าแก่อย่างน้อยก็มีมาแล้วก่อน พ.ศ. 1987 ในสมัยพระเจ้าติโลกราช แห่งอาณาจักรล้านนา ซ้ำยังเป็นวัดสำคัญในลักษณะวัดหลวงที่พระมหากษัตริย์ทรงอุปถัมภ์ค้ำจุน ถึงกับมีศักยภาพสูงพอที่จะบริจาคปัจจัยให้นายกองเกวียนนายหนึ่ง (นายคำสน) มาอุปัฏฐากพระธาตุเจดีย์ในฐานะ “ข้าพระธาตุ” ได้
หลักฐานทางโบราณคดีที่เชื่อว่าน่าจะมีมาแล้วตั้งแต่สมัยพระเจ้าติโลกราช ได้แก่ บ่อน้ำบาดาลทรงกลม และสระน้ำ (บาราย) รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีบันไดขึ้นลงก่อด้วยอิฐ ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านหน้าของวัดเยื้องกับพระวิหารหลวงไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้
นอกจากนี้แล้ว จากคำบอกเล่าของชุมชนภายในพื้นที่เล่าว่านอกกำแพงวัดทางทิศใต้ เคยมีการพบซากดินกี่หรือซากอิฐเผากระจายเกลื่อน หลบซ่อนอยู่กลางพงป่า โบราณสถานร้างบางซากมีร่องรอยของฐานเจดีย์ บ้างก็น่าจะเป็นวิหารเก่า แต่ปัจจุบันยังไม่ได้มีการสำรวจอย่างเป็นทางการโดยกรมศิลปากรแต่อย่างใด
อนึ่ง ชื่อของวัดล่ามช้างนั้น ปราชญ์ชาวบ้านเล่าว่า เคยได้ยินมุขปาฐะที่เล่าขานสืบต่อๆ กันมาว่า ณ สถานที่บริเวณนี้เคยเป็นจุดพักขบวนช้างทรงของกษัตริย์เชียงใหม่ก่อนเสด็จเข้าสู่เมืองลำพูน สะท้อนให้เห็นว่า การตั้งชื่อวัดหรือชื่อบ้านนามเมืองของชาวยองในยุคหลัง นอกจากจะตั้งชื่อตามตำนานพระเจ้าเลียบโลก ตามลักษณะภูมิประเทศ ตามชื่อพันธุ์ไม้พืชสัตว์ หรือยกเอาชื่อหมู่บ้านเดิมที่เคยเรียกในรัฐฉานก่อนอพยพมาใช้ใหม่แล้ว ยังมีการคงชื่อดั้งเดิมที่ตกค้างมาตั้งแต่สมัยหริภุญไชยหรือสมัยล้านนาอีกด้วย
พระวิหารหลวง
พระวิหารหลวงถือว่ามีขนาดใหญ่มากกว่าวัดทั่วไป ทางเข้าด้านหน้ามีช่วงเสาที่รองรับหน้าแหนบ (หน้าบัน) ในลักษณะ 5 ห้อง เดิมเป็นวิหารเครื่องไม้ ต่อมามีการบูรณปฏิสังขรณ์ใหม่จึงใช้เครื่องคอนกรีตแทนที่ วิหารหลังนี้ยังคงเหลือร่องรอยของการนำ “หน้าแหนบ” หรือหน้าบันที่แกะสลักลวดลายด้วยไม้ปิดทองบนแผ่นกระจกจืน (ตะกั่ว) ที่พื้นหลังของวิหารหลังเดิมมาใช้ใหม่ แต่มีการเปลี่ยนแปลงวัสดุจากพื้นหลังที่เคยเป็นกระจกจืนก็กลายเป็นกระจกเกรียบหรือกระจกเงาแบบสมัยใหม่ และจากเสาประดับผนังที่เป็นทรงกลมทำด้วยเครื่องไม้ ก็เปลี่ยนมาเป็นเสาคอนกรีตทรงสี่เหลี่ยมย่อมุมถี่ๆ แบบรัตนโกสินทร์
ลวดลายบนหน้าแหนบของวิหารวัดล่ามช้าง แม้จะมีการปรับเปลี่ยนวัสดุใหม่ แต่ยังคงเหลือเค้าความงามฉายชัดอยู่มากผ่านลวดลายกระหนกก้นขอดแบบล้านนาที่แทรกลาย “ดอกกาลกัป” (คนเหนือเรียกว่า “ลายบักขะนัด) เนื่องจากเห็นว่าคล้ายกับลายหัวสับปะรด โดยที่หน้าแหนบตอนล่างในส่วนที่เรียกว่า “โก่งคิ้ว” (ภาคกลางเรียกสาหร่ายรวงผึ้ง) มีการตกแต่งเศียรพญานาคและตัวมังกร (กิเลน) อย่างอ่อนช้อยแต่ทรงพลัง
ภายในพระวิหารมีโบราณวัตถุที่น่าสนใจหลายชิ้น อาทิ กลุ่มพระพุทธรูปประธานเป็น “พระเจ้าทั้งห้า” บนแท่นแก้ว นอกจากนี้ยังมีสัตตภัณฑ์ (เชิงเทียน) และธรรมมาสน์ ทรงธรรมปราสาท (ธรรมาสน์ยอดปราสาท) ชิ้นเยี่ยมอีกด้วย
พระอุโบสถ
พระอุโบสถหลังเดิมเป็นเครื่องปูน ตกแต่งรายละเอียดของระเบียงลูกกรง และองค์ประกอบของบานหน้าต่างประตูด้วยปูนหล่อในแม่พิมพ์ สร้างราว 60 กว่าปี แต่ต่อมามีการบูรณปฏิสังขรณ์ใหม่
กุฏิไม้
มีทรวดทรงที่งดงามมาก เป็นเรือนไม้แฝดสองหลังเชื่อมด้วยบันไดทางขึ้นตอนกลาง ประดับหลังคาหน้าจั่วด้วยเครื่องสรไน (สะระไน) และฉลุไม้ที่ราวระเบียงลูกกรงด้วยลายพันธุ์พฤกษา ตามความนิยมของชาวยองในยุคนั้น เดิมหลังคากุฏิเคยมุงด้วยกระเบื้องว่าวสีเทา แต่ต่อมาในปี พ.ศ. 2548 ได้เกิดลมพายุลูกเห็บในช่วงเปลี่ยนจากฤดูหนาวมาเป็นฤดูแล้ง ทำให้หลังคากุฏิวัดได้รับความเสียหาย จึงเปลี่ยนมาเป็นกระเบื้องลอนลูกฟูกดังที่เห็นปัจจุบันใช้เป็นอาคารเก็บเครื่องอัฏฐบริขารของวัดเนื่องจากมีการสร้างกุฏิหลังใหม่ให้พระเณรแทน ในอนาคตทางวัดบอกว่าจะใช้กุฏิหลังนี้จัดทำพิพิธภัณฑ์โบราณวัตถุของวัดต่อไป
โรงเรียนพระปริยัติธรรม
เดิมมีสองชั้น เป็นศูนย์กลางการศึกษาสามเณร เคยจัดตั้งที่อ่านหนังสือพิมพ์ประจำหมู่บ้าน แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป ไม่มีการใช้สอยงานอาคารหลังนี้ในฐานะโรงเรียนอีก จึงได้รื้อชั้นบนออกเหลือชั้นล่างเพียงชั้นเดียว เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ปัจจุบันเป็นโรงเก็บของ
หอธัมม์ “เพชรน้ำหนึ่ง” แห่งเมืองลำพูน
หอธัมม์ หรือหอไตร (หอพระไตรปิฎก) สร้างในยุคเจ้าอธิการขัน คมฺภีรวํโส ดังที่รู้จักกันในนามของครูบาคัมภีระ(ปกครองวัดระหว่างปี พ.ศ. 2445-2460)
หอธัมม์ของวัดล่ามช้างปัจจุบันมีอายุ 108 ปี มีลักษณะพิเศษคือเป็นอาคารทรงโรงแบบสี่เหลี่ยมผืนผ้าก่ออิฐถือปูนซ้อนกันสองชั้น เป็นศิลปะแบบยองผสมตะวันตก สาเหตุที่สถาปัตยกรรมสมัยนี้สร้างด้วยรูปแบบผสมระหว่าง ยอง + ไทใหญ่ (เงี้ยว) + ตะวันตก เนื่องมาจากเป็นยุคที่อังกฤษเข้ามาทําสัมปทานค้าไม้ในเมืองเหนือ เช่นบริษัทบอร์เนียว บริษัทบอมเบย์เบอร์มา คนในบังคับของอังกฤษส่วนใหญ่เป็นชาวพม่าไทใหญ่ มีการติดต่อเดินทางไปมาระหว่างกรุงอังวะ มัณฑะเลย์ ทําให้มีการนํานายช่างหรือสล่าชาวพม่าเชื้อสายไทใหญ่เข้ามาประกอบอาชีพก่อสร้างอาคารมากมายในล้านนาทั่วทุกจังหวัด เกิดการใช้ลักษณะ Arch โค้งรูปเกือกม้า การใช้เสาบิดเกลียว ปูนปั้นรูปกามเทพ นักดนตรี บุรุษไปรษณีย์ ริบบิ้นเป็นลอนยาวสยาย ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นอิทธิพลแบบตะวันตก
ในขณะเดียวกัน การตกแต่งมุมผนังอาคารด้านนอกด้วยรูปปูนปั้นระบายสีทําเป็นรูปเทวบุตร เทวดาประนมกรในลักษณะผู้เฝ้าศาสนสถาน และทํารูปลายหม้อน้ำแห่งความอุดมสมบูรณ์ (ปูรณฆฏะ) หรือหม้อดอกตกแต่งตามช่องโค้งเหนือบานประตูหน้าต่าง ลายหม้อดอกนี้เป็นสัญลักษณ์แห่งการโปรยพรให้แก่ผู้มาสักการะ ที่พิเศษคือยอดของหม้อดอกทำเป็นรูปคล้ายรัศมีของพระมหาพิชัยมงกุฎ ที่อาจได้รับอิทธิพลมาจากกรุงรัตนโกสินทร์ นอกจากนี้ยังมีการโชว์พื้นผิวของบานประตูด้วยเทคนิคการขูดร่องลึกเป็นเส้นริ้วขนานกันไปแบบทิ้งจังหวะช่องไฟอย่างทรงพลัง
การทำริบบิ้นโดยรอบอาคารก็ดี หรือการทำหม้อดอกที่คล้ายพระมหาพิชัยมงกุฎก็ดี น่าจะต้องการสื่อความหมายถึงการร่วมเฉลิมฉลองพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6
พระมหาธาตุเจดีย์ศรีจอมยอง
เนื่องจากวัดล่ามช้างเป็นวัดร้างเก่า พระธาตุเจดีย์องค์เดิมตั้งแต่สมัยพระเจ้าติโลกราชได้ล่มสลายกลายเป็นซากปรักหักพังไปแล้ว ทำให้สมาคมฅนยอง และสมาคมชาวยอง ภายใต้การนำบุญของอาจารย์รัตน์ ปาละพงศ์ ผู้จัดการร้านผึ้งน้อยเบเกอรี่ ได้ดำริจัดสร้างพระเจดีย์ประจำวัดล่ามช้าง โดยใช้รูปแบบของพระมหาธาตุศรีจอมยองแห่งเมืองยองหรือมหิยังคณะในรัฐฉาน ประเทศสาธารณรัฐสหภาพเมียนมาร์มาเป็นต้นแบบ ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมแบบล้านนาที่สถาปนาโดยพระเจ้าติโลกราชในช่วงที่มีการเผยแผ่ศาสนาพุทธนิกายป่าแดงขึ้นสู่แผ่นดินเชียงตุง (เขมรัฐนคร) และมหิยังคนคร (เมืองยอง) ระหว่าง พ.ศ. 1984-2030