บสย. ปลื้ม SMEs เข้าถึงแหล่งทุนเพิ่ม ไตรมาส 1/2566 เติบโตทะลุเป้า อนุมัติค้ำพุ่ง 196% วงเงิน 32,199 ล้านบาท ช่วย SMEs ได้สินเชื่อกว่า 8,900 ราย สร้างสินเชื่อในระบบเศรษฐกิจ 36,609 ล้านบาท ก่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจ 132,982 ล้านบาท คิดเป็น 4.13 เท่าของวงเงินค้ำประกัน และรักษาการจ้างงานรวมได้กว่า 226,641 ตำแหน่ง เผยปัจจัยบวก ผลจากการเร่งขยายความช่วยเหลือ SMEs และรายย่อย Micro ฟื้นฟูกิจการของสถาบันการเงิน มั่นใจไตรมาส 2 กลไกรัฐหนุนมาตรการค้ำประกัน “บสย. SMEs เข้มแข็ง” 50,000 ล้านบาท พร้อมยกระดับ ศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs ปั้นโมเดลใหม่ขยายตัวสู่ภูมิภาค ตามแผนขับเคลื่อนองค์กรสู่ Digital SMEs Gateway
นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า ผลดำเนินงานค้ำประกันสินเชื่อ ไตรมาส 1/2566 (1 ม.ค.-31 มี.ค.) เติบโตเกินเป้าที่วางไว้ 196% อนุมัติค้ำประกันสินเชื่อ รวม 32,199 ล้านบาท อนุมัติหนังสือค้ำประกัน (LG) รวม 9,147 ฉบับ ช่วยผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับสินเชื่อกว่า 8,900 ราย ในจำนวนนี้มีลูกค้ารายใหม่ 4,719 ราย ก่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจ (Economic Benefit) 132,982 ล้านบาท คิดเป็น 4.13 เท่าของวงเงินค้ำประกัน โดยคิดเป็นสัดส่วนการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs (SME Penetration Rate) 23.57% และรักษาการจ้างงานรวมได้กว่า 226,641 ตำแหน่ง
วงเงินอนุมัตค้ำประกันสินเชื่อ 32,199 ล้านบาท มาจาก 4 โครงการ ได้แก่
1.โครงการค้ำประกันสินเชื่อ พ.ร.ก.สินเชื่อฟื้นฟู วงเงิน 22,053 ล้านบาท (69%) ค้ำต่อรายเฉลี่ย 5.81 ล้านบาท
2.โครงการค้ำประกันสินเชื่อ ที่ บสย. พัฒนาขึ้น หรือ Commercial Product ( BI7 ,Renew ,RBP )
วงเงิน 8,744 ล้านบาท (27%) ค้ำต่อรายเฉลี่ย 2.10 ล้านบาท
3.โครงการ “บสย. SMEs เข้มแข็ง” (PGS10) ลงนาม MOU ร่วมกับ 18 สถาบันการเงิน เมื่อ 15 มีนาคม 2566 วงเงิน 755 ล้านบาท ค้ำต่อรายเฉลี่ย 0.99 ล้านบาท
4.โครงการอื่นๆ วงเงิน 647 ล้านบาท ค้ำเฉลี่ยต่อราย 1.55 ล้านบาท
ปัจจัยที่ส่งผลต่อยอดอนุมัติค้ำประกันสินเชื่อไตรมาส 1 สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้กว่าเท่าตัว มาจากการเปิดตัวผลิตภัณฑ์สินเชื่อของสถาบันการเงินต่างๆ ตามมาตรการรัฐ เพื่อเร่งขยายความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs และรายย่อย Micro ให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ผ่านกลไกค้ำประกันสินเชื่อ ของ บสย. โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการค้ำประกันสินเชื่อดอกเบี้ยถูก ( พ.ร.ก. สินเชื่อฟื้นฟู เฟส 2 ) มีการอนุมัติวงเงินค้ำประกันสินเชื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงสินเชื่อสูงถึง 22,053 ล้านบาท ผลจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภาคท่องเที่ยว และจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น การบริโภคภายในประเทศที่ขยายตัวต่อเนื่อง และการขยายตัวของภาคการเกษตร โดย 5 อันดับกลุ่มธุรกิจค้ำประกันสูงสุด ได้แก่
1.กลุ่มธุรกิจบริการ 10,351 ล้านบาท สัดส่วน 32.1% เพิ่มขึ้น 4.8% (เทียบระยะเวลาเดียวกันของปีก่อน )
2.กลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม 2,981 ล้านบาท สัดส่วน 9.3%
3.กลุ่มการผลิตสินค้าและการค้า 2,787 ล้านบาท สัดส่วน 8.7%
4.กลุ่มยานยนต์ 2,786 ล้านบาท สัดส่วน 8.7% เพิ่มขึ้น 2.4% (เทียบระยะเวลาเดียวกันของปีก่อน )
5.กลุ่มเกษตรกรรม 2,675 ล้านบาท สัดส่วน 8.3%
6.อื่นๆ 10,619 ล้านบาท
สำหรับแผนงาน ไตรมาส 2 บสย. ตั้งเป้าค้ำประกันสินเชื่อ 23,200 ล้านบาท ผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อ “บสย.SMEs เข้มแข็ง” วงเงิน 50,000 ล้านบาท และโครงการที่ บสย. พัฒนาขึ้น หรือ Commercial Product สำหรับมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูและสินเชื่อเพื่อการปรับตัว ได้รับความเห็นชอบอนุมัติขอขยายเวลาออกไปอีก 1 ปี สิ้นสุดโครงการ 9 เมษายน 2567
ทั้งนี้ บสย. ได้เตรียมยกระดับการบริการศูนย์ให้คำปรึกษาทางการเงิน SMEs หรือ บสย. F.A.Center โมเดลใหม่ เพื่อความสะดวก รวดเร็วแก่ผู้เข้ารับคำปรึกษา โดยเตรียมขยายบริการสู่ภูมิภาค การจับคู่ความร่วมมือระหว่าง บสย. กับหน่วยงานต่างๆ ในการส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงสินเชื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มธุรกิจเพื่อความยั่งยืน BCG Model โดย บสย. เตรียมเปิดตัว ผลิตภัณฑ์ค้ำประกันสินเชื่อ Smart Green ฟรีค่าธรรมเนียม 4 ปี ค้ำประกันตั้งแต่ 1 - 40 ล้านบาท