มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับ เครือข่าย 12 สถาบันอุดมศึกษา จ.เชียงใหม่ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการให้ความรู้ การส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมือง และร่วมรณรงค์ให้ประชาชนไปใช้สิทธิ์ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทั้งแบบบัญชีรายชื่อและแบบแบ่งเขตในวันเลือกตั้ง ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. กำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม 2566 และวันเลือกตั้งล่วงหน้าในวันอาทิตย์ที่ 7 พฤษภาคม 2566 จึงได้เปิดพื้นที่จัดกิจกรรมสร้างสรรค์ทางการเมือง งานเสวนานโยบายพรรคการเมือง “The Choice เลือกตั้ง 2566 @CMU” เมื่อวันอาทิตย์ที่ 30 เมษายน 2566 เวลา 15.00 – 18.30 น. ณ หอประชุม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
โดยเวทีเสวนานโยบายพรรคการเมือง “The Choice เลือกตั้ง 2566 @CMU”นี้ เป็นการเปิดโอกาสให้แต่ละพรรคการเมืองได้แสดงวิสัยทัศน์ นำเสนอนโยบาย พร้อมทั้งร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหาของจังหวัดเชียงใหม่ ในเรื่องการศึกษา และประเด็นที่นักศึกษาสนใจร่วมกับนักศึกษาและประชาชนผู้สนใจทั่วไป โดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้เชิญหัวหน้าพรรคการเมือง หรือบุคคลที่พรรคการเมืองมีมติเสนอสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี (แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี) หรือ ตัวแทนของพรรคการเมือง สำหรับพรรคการเมืองที่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่แบบแบ่งเขตครบทั้ง 10 เขต ได้แก่
พรรคก้าวไกล : นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ , พรรคไทยสร้างไทย : นายศิธา ทิวารี , พรรคประชาธิปัตย์ : ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม , พรรคเพื่อไทย : นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี , พรรครวมแผ่นดิน : นายพรชัย จิตรนวเสถียร และพรรคเสรีรวมไทย : ว่าที่ร้อยโท ดร.จอห์นนพดล วศินสุนทร
ขณะที่ มาดามหยก-นางสาวกชพร เวโรจน์ ประธานที่ปรึกษาพรรครวมแผ่นดิน และหัวหน้าสาขาภาคเหนือเดินทางมาพร้อมผู้สมัครส.ส.เชียงใหม่และผู้สนับสนุน และได้ให้สัมภาษณ์ก่อนที่จะเข้าร่วมเวทีเสวนาว่า เข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายก่อนที่จะมีการเลือกตั้งวันที่ 14 พ.ค.66 นี้สำหรับพรรครวมแผ่นดินยังมั่นใจว่าจะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้สนามการเลือกตั้งของจังหวัดเชียงใหม่ โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้องของประชาชนและเขตเศรษฐกิจพิเศษด้านการท่องเที่ยว รวมทั้งนโยบายเชียงใหม่มหานคร
“หลายๆ พรรคจะพูดถึงนโยบายการแจกและเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน แต่พรรครวมแผ่นดินเราเน้นเรื่องการหารายได้เข้าประเทศเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ถึงแม้ว่าจะมีการสำรวจโพลเกี่ยวกับความนิยมในพรรคการเมืองหลายๆ ครั้งและพรรครวมแผ่นดินไม่ได้ติดใน 5 อันดับด้วยก็เป็นธรรมดาเพราะพรรครวมแผ่นดินและพรรคเล็กอื่นๆก็ไม่มีชื่อติดอันดับความนิยม แต่เรายังเชื่อมั่นโพลรายบุคคลและพรรครวมแผ่นดินซึ่งเป็นพรรคใหม่เราได้เริ่มเข้าไปอยู่ในใจของประชาชนแล้ว”มาดามหยก กล่าวและว่า
จริงๆ การเลือกตั้งครั้งนี้ตนไม่ได้ซีเรียสกับผลการเลือกตั้งว่าจะสามารถเจาะที่นั่งส.ส.เขตในพื้นที่เชียงใหม่ได้ แค่อยากเป็นส่วนหนึ่ง เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ภาคเหนือ เชียงใหม่เป็นพื้นที่ของพรรคการเมืองใหญ่ที่แย่งชิงเก้าอี้กัน แต่สำหรับพรรครวมแผ่นดินเราขอคะแนนประชาชนให้เลือกพรรค แม้นว่าผู้สมัครส.ส.เขตของเราจะเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ แต่ถ้าประชาชนในพื้นที่ยังรัก ยังชอบคนเดิมก็ขอให้แบ่งใจลงคะแนนเลือกพรรคให้รวมแผ่นดิน
น.ส.กชพร กล่าวด้วยว่า พรรครวมแผ่นดินอยากจะปักหมุดให้มีส.ส. ซึ่งรายชื่อปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคลำดับ 1-3 เป็นคนเชียงใหม่ ถ้าประชาชนเลือกพรรครวมแผ่นดินก็จะได้ส.ส.คนเชียงใหม่เข้าสภาฯด้วยเช่นกัน และพรรครวมแผ่นดินเราไม่เลือกข้าง เราเป็นพรรคกลางๆ สามารถทำงานร่วมกับทุกพรรคที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้ ซึ่งช่วงโค้งสุดท้ายนี้ตนก็จะลงพื้นที่ให้มากขึ้นเพื่อพบปะพี่น้องประชาชนและแสดงความเห็นตลอดจนรับฟังความเห็นจากประชาชนเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติงานจริง โดยพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับการตอบรับจากประชาชนอย่างดีคือเชียงใหม่ กรุงเทพและภาคอีสานที่ตนได้ลงพื้นที่ต่อเนื่อง ส่วนภาคใต้ทางหัวหน้าพรรคเป็นผู้ลงพื้นที่กับผู้สมัครส.ส.