วัดเชตวันหนองหมู ตั้งอยู่ที่บ้านไร่ ตำบลอุโมงค์ อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน ใกล้กับลำน้ำปิงห่าง (แม่ปิงสายเก่า) สามารถเดินทางมาได้สะดวก ทั้งจากเส้นซุปเปอร์ไฮเวย์สายลำปาง-เชียงใหม่ในช่วงเลยแยกเหมืองง่า-ลำพูน หรือจะมาเส้นถนนต้นยาง-ขี้เหล็ก รวมทั้งถนน local road (ถนนเลียบทางรถไฟ) ก็สะดวกทุกสาย
วัดนี้เป็นวัดแห่งแรกของจังหวัดลำพูนที่ได้รับรางวัล อาคารอนุรักษ์ดีเด่นของสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ตั้งแต่ปี 2536 โดยวัดมีถนนตัดเป็นสองส่วน ฟากทิศใต้เป็นเขตที่มีการสร้างพระเจดีย์หลายองค์ กับฟากทิศเหนือเป็นเขตพระอาราม ซึ่งเขตทิศเหนือนี้ยังแบ่งออกเป็น 2 โซนย่อยๆ คือโซนด้านทิศตะวันตกเป็นเขตพุทธาวาส ประกอบด้วยวิหาร หอธัมม์ อุโบสถ กับเขตสังฆาวาส และด้านทิศตะวันออก มีต้นโพธิ์และไม้มงคลขนาดมหึมาหลายต้น กับ “มณฑปหลังงาม” ที่เรากำลังจะโฟกัสอยู่นี้
ก่อนอื่นมาพินิจถึงชื่อวัด “เชตวันหนองหมู” มาจากคำสองคำ คือ “เชตวัน” กับ “หนองหมู” คำว่า “เชตวัน” เป็นที่ทราบกันดีว่า หากวัดใดใช้ชื่อนี้ แสดงว่าต้องการรำลึกถึง วัดแห่งแรกในโลกคือ “สวนเจ้าเชตุที่ท่านอนาถบิณฑิกะเศรษฐี” เป็นผู้สร้างเมื่อครั้งยุคพุทธกาล
สิ่งที่น่าสนใจคือ ในลำพูนมีวัดเชตวันหลายแห่งมาก ที่เก่าสุดคือ
1. วัดร้างเชตวันดอนแก้ว ที่ตำบลเวียงยอง อำเภอเมืองลำพูน สร้างโดยพระญาสรรพสิทธิ์ ตั้งแต่สมัยหริภุญไชย วัดนี้ปัจจุบันไม่มีแล้ว บางส่วนกลายเป็นวัดต้นแก้ว
2. วัดเชตวันหนองผำ ตำบลริมปิง อำเภอเมืองลำพูน บางท่านว่าเก่าถึงสมัยพระนางจามเทวี แต่เท่าที่ดิฉันตรวจสอบพื้นที่ ยังไม่พบหลักฐานด้านโบราณคดีที่เก่าแก่ไปถึงสมัยของพระนาง
3. วัดเชตวันป่าตึง หรือเชตวันธรรมาราม อรัญวาสี บ้านป่าตึง ตำบลเหมืองจี้ อำเภอเมืองลำพูน ดิฉันยังไม่เคยลงสำรวจเก็บข้อมูล
และ 4. วัดเชตวันหนองหมู ที่เรากำลังพูดถึงอยู่นี้ เคยมีชื่อเรียกแบบบ้านๆ ว่า “วัดบ้านไร่” กระทั่งเกิดเหตุการณ์สำคัญ ในปี 2440 เจดีย์องค์เก่าที่เคยตั้งด้านทิศตะวันออกของวัด (คือจุดที่เป็นมณฑปปัจจุบัน) ได้พังทลายลงมา ณ จุดนั้นเองต่อมาได้สร้างมณฑปแทนที่
ครูบาคำแสนผู้เป็นเจ้าอาวาส ได้ไถปรับพื้นที่จุดที่เจดีย์เคยถล่มเมื่อปี 2445 ได้พบอิฐก้อนหนึ่งมีตัวอักษรพื้นเมืองล้านนาจารึกคำว่า “วัดเชตวัน” (ไม่แน่ใจว่าเป็นอักษรฝักขามหรือตั๋วเมือง และไม่ทราบว่าปัจจุบัน อิฐก้อนดังกล่าวเก็บไว้ที่ไหน) ทำให้มีการเปลี่ยนชื่อจากวัดบ้านไร่ เป็นวัดเชตวัน ตามชื่อในจารึกดั้งเดิมตั้งแต่นั้นมา
ในบรรดาวัดที่ชื่อเชตวัน 3-4 แห่งในลำพูนนี้ ดิฉันไม่ทราบว่าวัดใดคือวัดเชตวันที่พระภิกษุจากหริภุญไชย ที่ถูกอาราธนาไปบวชใหม่ในนิกายสวนดอกเชียงใหม่สมัยพระญากือนา ราวพ.ศ. 1900 ต้นๆ แล้วต่อมาได้แยกกลับมาตั้งสำนักอยู่ที่ลำพูน? จะใช่ที่วัดเชตวันหนองหมูนี้ได้หรือไม่?
ส่วนคำถามที่ว่า ทำไมต้องมีคำว่า “หนองหมู” ต่อท้าย แน่นอนว่า ความที่มีวัดเชตวันหลายแห่ง หากไม่มีคำสร้อยหรือคำขยายตามมา อาจทำให้ผู้ฟังสับสน จึงเรียก เชตวันหนองผำ เชตวันป่าตึง เชตวันหนองหมู และเชตวันดอนแก้ว
คำว่า “หนองหมู” นี้บางท่านบอกว่าเป็นคำเรียกที่เพี้ยนมาจาก “หนองหมู่” มากกว่า
บ้านหนองหมู่หรือหนองหมูนี้ เป็นบ้านเกิดของบุคคลสำคัญท่านหนึ่งที่มีคุณูปการต่อชาวลำพูนอย่างสูง คือ ผ้าขาวดวงตา ปัญญาเจริญ หนึ่งในลูกศิษย์รูปสำคัญของครูบาเจ้าศรีวิชัย ผ้าขาวดวงตาเป็นผู้นำอัฐิครูบาเจ้าศรีวิชัยขึ้นไปไว้บนดอยงุ้ม บั้นปลายชีวิตของท่านพำนักอยู่ที่บ้านธิ ทำให้คนทั่วไปคิดว่าท่านเป็นคนที่นั่น
มณฑปพระไสยาสน์ หรือมณฑปพระพุทธบาท
มีรูปทรงแปลกพิเศษไม่เหมือนที่อื่น จุดเด่นของมณฑปมีดังนี้
๏ ผังของมณฑปเป็นทรงจัตุรมุข มีบันไดนาคขึ้นทางทิศตะวันตกเพียงด้านเดียว บันไดนี้มีความงามสง่า เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่พี่น้องชาวตำบลอุโมงค์ นิยมมาทำพิธี “ตักบาตรเทโว” ช่วงวันออกพรรษา
๏ การจะขึ้นมณฑปหลังนี้ได้ต้องเดินข้ามสระน้ำที่ขุดขึ้นล้อมรอบตัวมณฑปทั้ง 4 ด้าน การสร้างอาคารตั้งอยู่กลางน้ำ เป็นองค์ประกอบหนึ่งของคติจักรวาล ว่าเขาพระสุเมรุ แกนกลางโลกตั้งอยู่ท่ามกลางมหาสมุทรทั้ง 4
๏ มณฑปหลังนี้มี 3 ชั้น ชั้นล่างเป็นฐานขนาดใหญ่ ชั้นที่สองเมื่อขึ้นบันไดไป เราต้องลอดท้องพญานาค สามารถใช้เป็นลานประทักษิณที่ระเบียงกลางแจ้งได้อีกชั้น ชั้นบนสุดมีระเบียงให้เดินรอบอาคารใต้หลังคาคลุม ไม่ใช่เดินกลางแจ้งเหมือนชั้นที่ 2
๏ ฐานชั้นล่างสุด สุดแสนจะพิสดาร ไม่ได้ทำเป็นเสาค้ำยันอาคารแบบธรรมดา ตรงๆ แบบที่อื่น แต่ทำเป็นเสาเฉียงแผ่นใหญ่ ซ้อนกันถี่ๆ ด้านทิศเหนือกับใต้เป็นแผ่นเฉียงเรียบแบบหน้ากระดาน ด้านทิศตะวันออกกับตะวันตกเป็นเสาอวบๆ มนๆ เป็นแท่งโค้งนูนใหญ่ยาวลงมาคล้ายงวงช้างหรือขาช้าง สันนิษฐานว่าตั้งใจจะสื่อถึง ช้างค้ำจักรวาล มาจากคติพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ ที่ครั้งหนึ่งช้างเคยอุปัฏฐากพระพุทธองค์ในช่วงที่ทรงปลีกวิเวกที่ป่าเลไลยก์ ซึ่งปกติแล้วการใช้รูปช้างมาค้ำยันพระเจดีย์นั้น มักใช้ช้างแบบเต็มตัว แต่ในที่นี้เป็นการประยุกต์ตัวช้างด้วยการลดรูปให้เหลือแค่ขาหรืองาช้างเท่านั้น (เชิงนามธรรม)
๏ ทั้งฐานชั้นล่างและผนังลานประทักษิณชั้นที่สอง ทำเป็นประติมากรรมบุคคลปูนปั้นระบายสีในซุ้มโค้งติดผนังโดยรอบ พบว่ามีความแตกต่างกันในแต่ละชั้น ดังนี้ ชั้นล่างเป็นรูปบุคคลที่เป็นปุถุชนฆราวาสสลับปะปนกันไปกับรูปพระภิกษุสามเณร ในขณะที่ชั้นที่สอง เป็นรูปเพศบรรพชิตล้วนๆ บ้างเป็นพระภิกษุสามเณร ยืนคู่บ้าง ยืนกลุ่มสามคนบ้าง บ้างถือตาลปัตร บ้างสะพายย่าม เป็นฝีมือปั้นปูนของสล่า ที่มีเชื้อสายผสม ระหว่าง พม่า ไทใหญ่ และชาวยอง
๏ นอกจากนี้ ณ ซุ้มข้างล่างรายรอบมณฑปทั้งสี่มุม ก็มีรูปปั้นบุคคลเช่นกัน แต่เป็นรูปโยมอุปัฏฐาก หลากหลายชาติพันธุ์ ทั้งพม่า ไทใหญ่ จีน แขก ลื้อ ยอง เป็นงาน Folk พื้นบ้าน ที่ไม่เน้นกายวิภาค (Anatomy) ถือเป็นเสน่ห์อีกสิ่งหนึ่งของมณฑปหลังนี้
๏ ถัดขึ้นไปอาคารชั้นที่สามตอนบนสุด มีห้องประดิษฐานรอยพระพุทธบาท กับมีพระพุทธไสยาสน์ 1 องค์ ศิลปะแบบพม่า ตั้งบังรอยพระบาทไว้ ครูบาคำแสนขอให้เพื่อนสนิทที่เป็นสล่าชาวพม่าชื่อ หม่องโม่ส่วย เป็นผู้ออกแบบก่อสร้าง
น่าแปลกที่ชั้นนี้ รอยพระพุทธบาทแทบจะซ่อนอยู่หลังพระไสยาสน์อย่างมิดชิด
กล่าวโดยรวม มณฑปแห่งนี้มีความงามของเครื่องไม้ที่รองรับชั้นหลังคา ปูนหล่อประดับระเบียงลูกกรงแบบเรขาคณิต มีการวางจังหวะจะโคน สอดล้อกับซุ้มโค้ง ดูเรียบง่ายไม่รกรุงรังแต่มีเสน่ห์ เป็นสุดยอดของสถาปัตยกรรมชิ้นเยี่ยม ที่มีความเป็นหนึ่งเดียว ไม่เหมือนที่อื่นใด สมควรแล้วที่จะเข้าตากรรมการสมาคมสถาปนิกสยาม ตั้งแต่เมื่อ 30 ปีก่อน
ส่วนความหมายของการทำอาคารสามชั้น ที่มีการประดิษฐานสิ่งที่แตกต่างกันนั้น ยังไม่มีใครศึกษา
ดิฉันลองถอดรหัสตีความสัญลักษณ์ไว้ดังนี้ ว่าอาคารหลังนี้ น่าจะสร้างขึ้นด้วยแนวคิดที่คล้ายคลึงกับศาสนสถานสำคัญระดับโลกคือ บุโรพุทโธ ที่เกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย โดยที่บุโรพุทโธแบ่งอาคารทั้ง 3 ชั้นดังนี้
ชั้นล่างสุด หมายถึงกามภพ สะท้อนถึงชีวิตฆราวาสก่อนออกบวช ยังมีความข้องเกี่ยวกับเรื่องทางโลกียวิสัย ที่บุโรพุทโธแสดงออกด้วยการแกะสลักภาพนูนต่ำที่ผนังระเบียงเป็นพุทธประวัติ และชาดก 550 พระชาติ อาจเทียบได้กับที่มณฑปพระพุทธไสยาสน์ของวัดเชตวันหนองหมู ที่ทำภาพปูนปั้นรายรอบฐานอาคารสลับกับงวงช้าง เป็นเรื่องราวผสมผสานกันมีทั้งนักบวชและฆราวาส เนื่องจากชั้นกามภูมิยังมีเรื่องราวของชีวิตทางโลกย์ๆ แฝงอยู่
ชั้นที่สอง หมายถึงรูปภพ หรือรูปภูมิ คือตัดขาดเรื่องกาม ปลีกวิเวกออกบวชแล้ว แต่ยังคงเหลือรูปกายเนื้อที่ห่อหุ้มจิตวิญญาณอันบริสุทธิ์ไว้ แสดงออกด้วยรูปนักบวชล้วนๆ กล่าวคือ พยายามตัดกิเลสมารแล้ว แต่ยังมีรูปกายเนื้อหุ้มห่ออยู่
ชั้นบนสุด หมายถึงอรูปภพ คือตัดสิ้นกิเลสตัณหาทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งกายเนื้อแบบหยาบๆ ที่บุโรพุทโธนั้นแสดงออกด้วยสัญลักษณ์รูป พระพุทธองค์ซ่อนในตาข่ายโปร่ง และในที่สุดเหลือสถูปองค์เดียว
ในขณะที่ชั้นบนสุดของวัดเชตวันหนองหมู หากประดิษฐานเฉพาะรอยพระบาทเพียงสิ่งเดียวก็น่าจะเข้าเค้าความหมายของอรูปภพได้เช่นกัน เพราะรอยพระพุทธบาท หมายถึงการยาตรา ย่างก้าวไปข้างหน้าเพื่อจาริกเทศนาธรรม และในที่สุดพระพุทธองค์ทรงทิ้งไว้เพียงรอยเท้าแต่ปราศจากรูปกายเนื้อใดอื่น
ในที่นี้มีพระพุทธรูปปางไสยาสน์ (พระนอน) วางกั้นคล้ายเป็นฉากอยู่ด้านหน้ารอยพระพุทธบาท พบว่าอายุการก่อสร้างพระนอนนี้ทำขึ้นภายหลังรอยพระพุทธบาทเกือบ 20 ปี อาจเป็นการสร้างเพื่อใช้ปิดซ่อนรอยพระพุทธบาทไว้ไม่ให้มิจฉาชีพเห็น
ดิฉันเชื่อว่ามาถึงบรรทัดนี้แล้ว ทุกท่านที่ได้อ่านคงอยากเดินทางไปชมมณฑปมหัศจรรย์ วัดเชตวันหนองหมูให้ประจักษ์แก่สายตาตัวเอง แล้วท่านจะค้นพบว่าที่นี่คือสุดยอดของงานสถาปัตยกรรมชิ้นเยี่ยมอย่างแท้จริง