ม.ราชภัฏเชียงใหม่ เตรียมจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ “ครบรอบ 100 ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่” ในปี พ.ศ. 2567
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา รองศาสตราจารย์ ดร.ชาตรี มณีโกศล รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ เป็นประธานการแถลงข่าว “ก้าวสู่ 100 ปี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่” ในปีพุทธศักราช 2567 โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.วัชรพงษ์ วัฒนกูล และผู้ช่วยศาสตราจารย์พรพิมล วงศ์สุข รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ร่วมแถลงข่าว ณ ห้องสื่อสารมวลชน อาคารหอประชุมทีปังกรรัศมีโชติ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ศูนย์แม่ริม อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่
รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ เป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกของภาคเหนือ ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2467 ในนาม “โรงเรียนฝึกหัดครูกสิกรรมประจำมณฑลพายัพ” โดยมี เจ้าชื่น สิโรรส เป็นครูใหญ่ ต่อมาในปีพุทธศักราช 2503 ได้ยกฐานะเป็น “วิทยาลัยครูเชียงใหม่” เปิดสอนในระดับประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาขั้นสูง (ป.กศ.สูง) และเปิดสอนในระดับปริญญาตรี มาตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2517 จากนั้นในปีพุทธศักราช 2535 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนาม “สถาบันราชภัฏ” แทนคำว่า “วิทยาลัยครู” โดยมีตราสัญลักษณ์ประจำสถาบันเป็นตราพระราชลัญจกรประจำพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2535 จวบจนกระทั่งเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2547 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกา ธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ลงพระปรมาภิไธย ในพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547 มีผลให้ “สถาบันราชภัฏ” มีสถานภาพเป็นนิติบุคคล และใช้ชื่อ “มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่” โดยกำหนดให้ วันที่ 1 พฤษภาคม เป็นวันสถาปนามหาวิทยาลัย
ในวาระครบรอบ 100 ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ในปีพุทธศักราช 2567 มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ได้กำหนดจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ ระหว่างวันที่ 1 – 5 พฤษภาคม 2567 ประกอบด้วย 5 กิจกรรมหลัก คือ กิจกรรมด้านการผลิตและพัฒนาครู กิจกรรมด้านวิจัยและวิชาการ กิจกรรมด้านศิลปะและวัฒนธรรม กิจกรรมด้านการพัฒนาท้องถิ่น และการจัดงานคืนสู่เหย้าชาวดำ - เหลือง เฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปี ราชภัฏเชียงใหม่
รองศาสตราจารย์ ดร.วัชรพงษ์ วัฒนกูล รองอธิการบดี กล่าวว่า มหาวิทยาลัยได้มุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาท้องถิ่นให้ก้าวสู่ระดับสากลอย่างยั่งยืน โดยเน้น 2 กรอบหลักคือ งานวิจัยและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งไม่เน้นเฉพาะระดับอุดมศึกษา แต่เป็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในทุกช่วงวัย และงานวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับชุมชนทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม โดยมีการดำเนินงานเพื่อการวิจัยและพัฒนารวมกว่า 1,984 โครงการ เฉลี่ยปีละกว่า 300 โครงการ เข้าไปพัฒนาพื้นที่ไม่น้อยกว่า 99 ตำบล พร้อมดำเนินการจดลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร อนุสิทธิบัตรไปแล้ว 78 ผลงานและตั้งเป้าหมาย 100 ผลงาน ในโอกาสครบรอบ 100 ปี ซึ่งเป็นผลงานที่โดดเด่นเป็นที่ยอมรับทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับชาติและนานาชาติ ขณะเดียวกันในด้านการเรียนรู้ได้มีการส่งเสริมให้นักศึกษาก้าวทันความเป็นสากล โดยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วโลกกว่า 20 มหาวิทยาลัย
ในโอกาสก้าวย่างครบรอบ 100 ปี และก้าวสู่ศตวรรษใหม่ของการพัฒนา การจัดกิจกรรมด้านวิจัย และวิชาการ จะได้แสดงถึงการขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคมของมหาวิทยาลัย อาทิ งานวิจัยพัฒนาท้องถิ่น การพัฒนาทักษะเดิม Reskill เพิ่มเติมทักษะใหม่ Upskill รวมถึงดำเนินการพัฒนาชุมชนอย่างต่อเนื่อง เช่นโครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย (Reinventing university) หรือโครงการนวัตกรรมสร้างรอยยิ้มของ บริษัท ปตท. มหาชน จำกัด การพัฒนาชุมชน OGOP บนพื้นฐานของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงร่วมกับสำนักงานสมเด็จพระราชินีประเทศภูฏาน หลักสูตรพัฒนาทักษะสำหรับนักศึกษา ศิษย์เก่าและประชาชนทุกช่วงวัยผ่านระบบออนไลน์ (Life Long Learning; http://lifelong.cmru.ac.th/) การให้ทุนการศึกษาแก่นักศึกษา บุตรของศิษย์เก่า และนักศึกษาในและต่างประเทศเพื่อแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมนานาชาติ (Multicultural Scholarship) การประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติของทุกคณะและหน่วยงานร่วมต่าง ๆ ตั้งแต่เดือนนี้ถึงพฤษภาคม 2567 เช่นการประชุม “ล้านนาศึกษา” ของสาขาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ การประชุมวิชาการและนิทรรศการสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนและงานฐานทรัพยากรท้องถิ่น ระดับภูมิภาค ครั้งที่ 7 และการประชุมวิชาการระดับนานาชาติ ในหัวข้อ “Sustainable Community Development for the Next Century” โดยจะมีมหาวิทยาลัยไทยและจากทั่วโลกกว่า 20 มหาวิทยาลัยเข้าร่วมเสนอผลงาน การพัฒนาที่ยั่งยืนของแต่ละหน่วยงาน รวมถึงการเชิญวิทยากรรับเชิญ (keynote speaker) ที่เป็นที่รู้จักในระดับสากลมาบรรยายในงาน ในวันที่ 2 พฤษภาคม 2567
ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์พรพิมล วงศ์สุข รองอธิการบดี กล่าวว่า สำหรับการจัดกิจกรรมด้านศิลปะและวัฒนธรรม ด้วยการให้ความสำคัญต่อการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมของท้องถิ่นและของชาติ เพื่อให้คณาจารย์ บุคลากร นักศึกษา นักเรียน และผู้สนใจ ได้ตระหนักในคุณค่าเกิดความสำนึกรักและภาคภูมิใจในศิลปะวัฒนธรรม ทางคณะกรรมการดำเนินการจัดกิจกรรมฯ โดยมีสำนักศิลปะและวัฒนธรรม เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ ได้เริ่มดำเนินกิจกรรมตั้งแต่ปี 2566 ไปจนถึงปี 2567 ประกอบด้วยกิจกรรมสำคัญ ๆ อาทิ ข่วงผญาล้านนา : การสืบสานองค์ความรู้เรื่อง “กลองล้านนา” ซึ่งจะได้มีการจัดอบรม การประกวด และจัดทำสื่อการเรียนรู้ การมอบรางวัลเพชรราชภัฏ เพชรล้านนา รวมถึงการอภิปรายเชิงวิชาการความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมล้านนา
และที่ขาดไม่ได้คือการจัดงานคืนสู่เหย้าชาวดำ - เหลือง เฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปี ราชภัฏเชียงใหม่ ซึ่งจะได้ขึ้นเพื่อต้อนรับศิษย์เก่าวิทยาลัยครู สถาบันราชภัฏเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่กลับมาเยี่ยมชมสถานศึกษา ร่วมกันเฉลิมฉลอง และร่วมเป็นเครือข่ายในการพัฒนามหาวิทยาลัยอย่างแน่นแฟ้น ต่อไป