ระหว่างวันที่ 18-20 พฤษภาคม 2566 สมาคมสหพันธ์ท่องเที่ยวภาคเหนือจังหวัดลำพูน (สสทน.ลำพูน) จัดกิจกรรมพิเศษ “สหพันธ์สัญจรไปเมืองแพร่” ภายใต้ Theme “เที่ยวเท่เสน่ห์แพร่” อันเป็นกิจกรรมหลักของสมาคมใหญ่ที่มีชื่อว่า สมาคมสหพันธ์ท่องเที่ยวภาคเหนือ 17 จังหวัด ที่เรามีสัญญาใจ ตั้งแผนไว้ว่าทุกๆ 3-4 เดือน จะพาคณะเพื่อนสมาชิกของจังหวัดต่างๆ ยกพลเวียนไปเยี่ยมเยียนซึ่งกันและกัน ซึ่งมาถึงคิวที่ “แพร่” อาสาเป็นเจ้าภาพ
ดิฉันในนามของนายกสมาคมสหพันธ์ท่องเที่ยวภาคเหนือจังหวัดลำพูนได้พาเพื่อนสมาชิกจำนวน 70 คนไปเที่ยวเมืองแพร่เป็นเวลา 2 คืน 3 วัน 5 อำเภอ (อำเภอเมือง เด่นชัย สูงเม่น สอง และลอง) เราจัดบริการรถตู้ ที่พัก อาหารรวม 8 มื้อ ทริปสิ้นสุดลงแล้ว ขอบันทึกความประทับใจที่ไม่อาจลืมไว้ เผื่อมีผู้สนใจอยากนำโปรแกรมนี้ไปประยุกต์ใช้
วันแรก ราตรีฟ้าคราม (Indigo Blue Night)
จุดแรกที่คณะเราพาไปคือ วัดสุ่งเหม้น (สูงเม่น) วัดประจำ อ.สูงเม่น วัดนี้เป็นวัดที่มีคัมภีร์ใบลานมากที่สุดในโลก รวบรวมโดย “ครูบามหาป่ากัญจนะอรัญวาสีมหาเถร” พระภิกษุจากเมืองแพร่ ผู้กลายมาเป็นสังฆราชาแห่งนครเชียงใหม่ ฝากผลงานชิ้นสำคัญไว้คือ การหล่อกังสดาลหลวงวัดพระธาตุหริภุญชัย ณ วัดนี้ ทางวัดได้จัดให้มีกิจกรรมเวียนเทียนพระธัมม์คัมร์ การทานธัมม์ และรับมอบธัมม์ไปอ่าน
ภาคบ่ายสัมผัส Phrae Miracle หรือความมหัศจรรย์ของแหล่งท่องเที่ยวเมืองแพร่ซึ่งมีมากมายเกินพรรณนา แต่ทางผู้จัดตัดใจคัดเลือกมานำเสนอเพียง 4 แห่ง
1.วัดจอมสวรรค์ เป็นวัดที่มีศิลปะสถาปัตยกรรมแบบไทใหญ่อันวิจิตรบรรจงที่สุด วัดนี้ตั้งอยู่ใจกลางเมืองแพร่ ได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาและวัฒนธรรมไทใหญ่มาเป็นผู้บรรยายคือ “คุณหนึ่งปานศิลป์”
2. คุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่ อาคารตกแต่งลวดลายแบบ “ขนมปังขิง” (Gingerbread) ที่อลังการที่สุด สร้างโดยเจ้าผู้ครองนครแพร่องค์สุดท้าย เจ้าหลวงพิริยะเทพวงค์ ที่นี่สามารถศึกษาเรื่องราวได้รอบด้าน ทั้งประวัติศาสตร์ความเป็นไปของเมืองแพร่ (รวมเรื่องราว “กบฏเงี้ยวเมืองแพร่” ด้วย) ทั้งด้านการออกแบบเครื่องเรือนเฟอร์นิเจอร์ โคมไฟ ตู้โต๊ะ ทั้งดื่มด่ำกับภาพถ่ายเก่า การศึกษาวิถีชีวิต เครื่องใช้ไม้สอย
3. ลอดอุโมงค์หมื่นยันต์ที่วัดจอมคีรีชัย (ห้วยกูด) อ.เด่นชัย ขึ้นชื่อเรื่องการรักษาโรคให้หายป่วยด้วย “มีดหมอ” โดย “หลวงพ่อสิน” เป็นผู้รวบรวม “เหล็กไหล” ที่ได้มาจากถ้ำลึกในจังหวัดสุราษฎร์ธานี
4. งานมินิแพร่คราฟต์ ฝึกทำผ้ามัดย้อม วิธีการต้มห้อม การย้อมคราม งานหัตถกรรม ตัดตุง จักสาน เขียนรูป เย็บปักถักร้อย กิจกรรมนี้จัดที่ร้านบายศรี
ช่วงค่ำ ทุกคนมาในชุดหม้อห้อม หรือชุดโทนสีฟ้าคราม อันเป็นอัตลักษณ์เมืองแพร่ เพื่อร่วมงานสังสรรค์ “ราตรีฟ้าคราม” (Indigo Blue Night) ณ โรงแรมภูมิไทยการ์เดน เจ้าของคือ “พี่ตู้ หรือ “คุณเสาวลักษณ์ วิสุทธิผล” นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดแพร่ ผู้เป็นแม่งานและเจ้าภาพหลักในการจัดกิจกรรม เปิดงานโดยนางสาวนิติยา พงษ์พานิช รองผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ มีแขกกิตติมศักดิ์ร่วมงานมากมาย อาทิ คุณภัทรอนงค์ ณ เชียงใหม่ ผู้อำนวยการ ททท.ภาคเหนือ ท่ามกลางพี่น้อง สสทน. 17 จังหวัดภาคเหนือกว่า 300-400 คน
เมนูในงานเป็นการออกบู๊ทร้านอาหารอร่อยขึ้นชื่อของเมืองแพร่ อาทิเช่น บะหมี่เกี๊ยวหมูแดง ลูกชิ้นลุงอ้วน ขนมครกแม่หล่าย ขนมเส้นน้ำใสป้าดา น้ำย้อยเมืองลอง ข้าวซอยเจ๊เล็ก หมูสะเต๊ะไผ่เหลือง ลาบป้ามา ข้าวพันผักแม่คำมี ส้มตำ ผัดไทย ฯลฯ
ในงานมีกิจกรรมเดินแฟชั่นโชว์ผ้าหม้อห้อมโดยนางแบบเยาวชนรุ่นใหม่ กิจกรรมสันทนาการระหว่างเพื่อนพ้องน้องพี่ในวงการท่องเที่ยว 17 จังหวัด พิธีมอบธงตรา สสทน. รูปเข็มทิศหันหัวขึ้นทางเหนือ ให้แก่จังหวัดที่เตรียมจะจัดงานครั้งต่อไป ได้แก่เชียงใหม่ โดยมี 5 สมาคมในจังหวัดนี้เป็นเจ้าภาพร่วมกัน
วันที่สอง สู่เมืองสอง เวียงรักพระลอ
ไป อุทยานลิลิตพระลอ ตำนานรักพระเพื่อนพระแพงอันลือลั่น ที่เมืองสอง อำเภอเหนือสุดของจังหวัดแพร่ ณ สถานที่แห่งนี้ มีการแสดงต้อนรับคณะผู้มาเยือนจากองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านกลาง และได้รับเกียรติจากศิลปิน “นคร บุญญาสัย” ครูศิลป์ด้านจิตรกรรม ผู้เป็นชาวยองลำพูน แต่ย้ายมาตั้งรกรากที่เมิองแพร่ เป็นศิลปินที่มีพรสวรรค์ในการวาดภาพด้วย “เกรยอง” สองมือในเวลาเดียวกัน งานนี้ครูนครทำการวาดภาพสดๆ ขณะที่มีการแสดงฟ้อนดาบฟ้อนเจิง จำนวน 3 ภาพ เป็นภาพ พระลอ, พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ และรูปครุฑา
ไม่ไกลจากอุทยานฯ ข้ามกำแพงเมืองเก่าของเวียงสองซึ่งเป็นคูน้ำคันดินถึง 3 ชั้น จะพบวัด “พระธาตุพระลอ” ที่คนในพื้นที่เชื่อว่ามีเจดีย์บรรจุอัฐิของพระลอและของพระเพื่อนพระแพง ไกลออกไปคือแม่น้ำสอง ซึ่งในอดีตอาจเป็น “แม่น้ำแม่กาหลง” ที่พระลอเคยบุกบั่นข้ามมาหาพระเพื่อนพระแพง
ที่อุทยานฯ คณะรับ “ข้าวห่อพระลอ” กับ “น้ำดื่มในกระบอกไม้ไผ่” ที่รสชาติแสนจะสดชื่น มุ่งหน้าไปยัง ร้านสักทองคาเฟ่ ต.สะเอียบ อ.สอง เพื่อรับประทานอาหารเที่ยง และชิมสุรากับไวน์ในโรงงานกลั่นเหล้าพื้นบ้าน
ช่วงบ่าย สสทน.ทุกจังหวัดแยกย้ายกันกลับภูมิลำเนาหลังเสร็จกิจกรรม ในขณะที่คณะของ สสทน.ลำพูนยังคงเดินทางต่อ ไปนมัสการพระธาตุช่อแฮ วัดคู่บ้านคู่เมืองนครโกศัย ชมเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยมยอดเป็น “หมากสุ่มหมากเบ็ง” อัตลักษณ์ของเจดีย์เมืองแพร่ ชมวิหาร-อุโบสถทรงตรีมุข กราบกู่อัฐิครูบาเจ้าศรีวิชัย พิเศษที่นี่มี “เจดีย์เฮดแมน” ของส่างคำปันชาวไทใหญ่ หัวหน้าคนงานบริษัทสัมปทานป่าไม้อังกฤษ ตั้งอยู่ที่ลานด้านนอกเขตพุทธาวาสทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ จุดที่อยู่ไม่ไกลจาก “พระเจ้าทันใจ”
ตลอดค่ำ เรายังมีกิจกรรมที่พิพิธภัณฑ์เสรีไทย ณ โรงแรมภราดร เพื่อชมความเป็นมาของเบื้องหลังขบวนการเสรีไทยสยาม และเสรีไทยแพร่ ผู้กล้า ผู้เสียสละชีวิตเลือดเนื้อแบบปิดทองหลังพระเพื่อปกป้องอธิปไตยของสยามในช่วงหน้าสิ่วหน้าขวานที่ไทยเราต้องเลือกระหว่าง “การอยู่ฝ่ายสัมพันธมิตร หรือการยอมจำนนต่อฝ่ายอักษะ” เป็นเหตุการณ์ครั้งสำคัญที่สุดหน้าหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย กิจกรรมอันทรงคุณค่านี้บรรยายโดยคุณ “ภุชงค์ กันทาธรรม” บุตรของ “นายทอง กันทาธรรม” หัวหน้าเสรีไทยแพร่ ซึ่งโอกาสหน้า ดิฉันจะเจาะประเด็นเฉพาะเรื่องเสรีไทยแพร่อย่างละเอียดต่อไป
วันสุดท้าย เมืองลองมิรองใคร เมืองลองมิลองมิรู้
คณะของเราแวะชมซุ้มโขงสมัยล้านนา บันไดมกรคายนาคที่มีเศียรนาคชูคออ้าปากแบบไร้เดียงสาดูไร้จริตจก้านที่ วัดหลวง อ.เมืองแพร่
จากนั้นเดินทางไปยัง อ.ลอง ตั้งอยู่ตอนใต้สุดของ จ.แพร่ ในอดีตเคยมีชื่อว่าเมือง “กกุฏไก่เอิ๊ก” เป็นส่วนหนึ่งของนครเขลางค์ (ลำปาง) ก่อนที่จะมาถูกแบ่งเขตปกครองใหม่ให้ขึ้นกับเมืองแพร่ จุดแรกที่คณะเราได้เยี่ยมชมคือ สถานีรถไฟบ้านปิน ได้รับยกย่องว่าเป็นสถานีรถไฟที่สวยที่สุด 1 ใน 5 ของประเทศไทย เป็นสถาปัตยกรรมแบบลุ่มน้ำไรน์ (Rheinian) ที่เรียกว่าทรง “เรขาสถาปัตย์” (Geometric Design) หมายความว่าเป็นอาคารที่โชว์ความงามของริ้วไม้ตีทแยงไปมาบนผนัง จากจุดเริ่มต้น บ้านริมน้ำไรน์ใช้ดินโคลนกับฟางข้าวก่อเป็นโครง จากนั้นเอาซี่ไม้ตีเฉียงไปเฉียงมาเพื่อพยุงผนังไม่ให้แบะออก ต่อมาแนวริ้วไม้ระแนงหรือเคร่าไม้เหล่านี้กลายเป็นจุดเด่นของการตกแต่งผนังอาคารแบบมีจังหวะงดงาม สถานีรถไฟบ้านปินออกแบบก่อสร้างโดยวิศวกรชาวเยอรมันที่รับราชการในกระทรวงคมนาคมชื่อ “นายเอิร์นส์ อัลท์มันน์”
ชมพิพิธภัณฑ์โกมลผ้าโบราณ ของอาจารย์โกมล พานิชพันธ์ ผู้อุทิศตนรวบรวมลายผ้าโบราณทั่วล้านนา ที่นี่แบ่งการจัดแสดงออกเป็นสามส่วน ส่วนแรกชั้นบน ชมไวนิลภาพถ่ายจิตรกรรมสีฝุ่นบนแผ่นไม้จากวัดเวียงต้า (ต้นฉบับจริงจัดแสดงอยู่ที่ไร่แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย) กับกลุ่มผ้าซิ่นตีนจก ซิ่นไหมคำของแท้ดั้งเดิมยุคโบราณจากหลากหลายเมือง ชั้นล่างมีสองห้อง ห้องหนึ่งนำเสนอแนวคิดในการพัฒนาลวดลายผ้าให้ร่วมสมัยจนได้รับรางวัลต่างๆ เช่น OTOP และห้องสุดท้ายเป็นห้องตุ๊กตาตัวจิ๋วไทย-เทศนุ่งผ้าซิ่น
ไหนๆ ก็ไปเมืองลอง ทริปนี้จึงมีการไขปริศนาของคำว่า “แป้แห่ระเบิด” ว่าหมายถึงอะไรกันแน่ ยุคสงครามโลกครั้งที่สอง ชาวเมืองลองสำคัญผิดคิดว่าระเบิดที่ฝ่ายต่างๆ ทิ้งไว้เป็น “ระฆัง” จริงๆ หรือ ถึงกับช่วยกันกู้ขึ้นมาและแห่ไปที่วัด จนขณะแห่เกิดระเบิดขึ้น บ้างว่าคำนี้เป็นแค่คำล้อเลียนคนเมืองแพร่ แต่ไม่มีเหตุการณ์จริงเกิดขึ้นหรอก บ้างว่าน่าจะมีเค้าของความเป็นจริงอยู่บ้าง บ้างว่าเป็นความเข้าใจผิดของผู้เริ่มต้นล้อเลียน
ไม่ว่าจะจริงเท็จอย่างไร ณ ปัจจุบันกลับกลายเป็นว่า คำว่า “แป้แห่ระเบิด” ช่วยจุดชนวนความอยากรู้อยากเห็นให้แก่คนต่างถิ่น วัดที่เคยถูกล้อเลียนทั้งสามแห่งนี้จึงมีผู้สนใจเดินทางมาเยี่ยมชมอย่างไม่ขาดสาย ได้แก่ 1 วัดแม่ลานเหนือ (จุดนี้สามารถเยี่ยมคารวะศาลเจ้าเมืองลองคนสุดท้ายได้ด้วย) 2 วัดนาตุ้ม 3 วัดศรีดอนคำ ต้องถือว่าเป็นเพียงไม่กี่ทริปเท่านั้นที่นักท่องเที่ยวจักได้เยือน “ระฆังแป้แห่ระเบิด” ครบทั้งสามวัด
หอศาสตราแสนเมืองฮอม ก่อตั้งโดย อ.ภูเดช แสนสา นักประวัติศาสตร์ล้านนาคนสำคัญ ที่นี่เราได้ชมศิลปะการป้องกันตัวล้านนา 2 ชุด ได้แก่ ฟ้อนดาบมือ และฟ้อนง้าว ประกอบกลองสิ้งหม้อง ในหอศาสตราแห่งนี้จัดแสดงดาบ หอก ง้าว อาวุธโบราณ ฯลฯ สะสมมาจากที่ต่างๆ ทั้งในเขตล้านนาและจากภูมิภาคอื่นๆ กับเป็นสถานที่ที่รวบรวม “เหล็กเมืองลอง” คุณภาพดี
วัดศรีดอนคำ วัดประจำเมืองลอง วัดนี้มีมุขปาฐะเรื่องราวเกี่ยวกับพระนางจามเทวี ว่าตอนที่กระบวนเสด็จของพระนางขึ้นมาจากละโว้ เกิดหลงทางหาแม่น้ำปิงไม่เจอ จึงขึ้นมาแม่น้ำยมแทน ที่นี่ชม “พระเจ้าพร้าโต้” (พระพุทธรูปที่สร้างขึ้นด้วยการถากไม้ท่อนเดียว) ในพิพิธภัณฑ์
วัดสะแล่ง (ชื่อสะแล่งเป็นต้นไม้พื้นเมืองประเภทหนึ่ง) วัดนี้มีกลุ่มอาคารมุงกระเบื้องแป้นเกล็ดโบราณ ออกแบบก่อสร้างโดย “พ่อหนานพินิจ ศรีวิชัย” สล่านักอนุรักษ์ ผู้ได้รับรางวัลครูภูมิปัญญาแผ่นดิน วัดนี้มีพิพิธภัณฑ์เก็บรวบรวมโบราณวัตถุจำนวนมหาศาลถึงสองแห่ง ทั้งวัตถุในพื้นที่และวัตถุที่ได้จากที่อื่นๆ ถือว่าเป็นวัดในเมืองลองที่ได้บรรยากาศคลาสสิกที่สุด