ที่ศาลาบาตร (ภาคกลางเรียก ระเบียงคต) ของ “วัดพระเจ้าเหลื้อม” ตำบลหนองตอง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ ด้านทิศเหนือ พบว่ามีการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังสีฝุ่นอย่างวิจิตรบรรจง ดิฉันมองข้ามจุดนี้ไปหลายครั้งแล้วอย่างไม่น่าเชื่อ ทั้งๆ ที่วัดนี้เป็นวัดที่ดิฉันเดินทางไปเก็บข้อมูลโบราณคดีเรื่อง “เวียงมโน” เวียงบริวารสมัยหริภุญไชยบ่อยมากนานกว่า 20 ปีแล้ว กลับไม่เคยสังเกตเลยว่าบริเวณศาลาบาตรมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่น่าชื่นชมยิ่งด้วย
กระทั่ง ดร.พิศาล ดวงดึง หัวหน้าสำนักปลัด เทศบาลตำบลหนองตองพัฒนา ได้ส่งภาพดังกล่าวมาให้ดิฉันดู และภิเปรยว่าอยากเชิญให้ดิฉันมาลองสำรวจ ศึกษาประวัติความเป็นมา วิเคราะห์เนื้อหาและวิธีการเขียนภาพของจิตรกรรมดังกล่าวนี้ดูบ้าง เพื่อจักได้จัดทำฐานข้อมูลแหล่งเรียนรู้ที่เทศบาลตำบลหนองตองพัฒนาดูแลอยู่ นำมาซึ่งการจัดกิจกรรมเสวนาครั้งสำคัญเมื่อวันพุธที่ 14 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา มีผู้ร่วมกิจกรรมมากกว่า 100 คน ทั้งนักวิชาการ ผู้ประกอบการท่องเที่ยว ปราชญ์ชาวบ้าน เด็กนักเรียนนิสิตนักศึกษา ช่างฟ้อน ประชาชนผู้สนใจ ฯลฯ
เมื่อทำการพินิจพิเคราะห์ภาพจิตรกรรมฝาผนังทั้งหมดของศาลาบาตรวัดพระเจ้าเหลื้อม พบว่าแบ่งภาพออกเป็นสองส่วน โดยใช้สล่าหรือช่างหรือจิตรกร 2 คนที่มีฝีมือและกลวิธีการเขียนภาพที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
กล่าวคือภาพปีกซ้าย (เมื่อมองจากโถงเปิดของศาลาบาตรเข้ามา) หรือภาพที่เริ่มต้นจากทิศตะวันตกแล้วไล่จากซ้ายไปขวามาหยุดจุดกึ่งกลางตัวศาลาบาตร ณ ช่องประตูทิศเหนือที่เชื่อมต่อกับเขตสังฆาวาสเข้าไปทางกุฏิสงฆ์ เป็นผลงานของจิตรกรคนหนึ่ง
ส่วนภาพปีกขวานั้น เป็นผลงานของสล่าอีกท่านหนึ่ง เรียกกันว่า “สล่าวัน บ้านบวกครก”
ภาพปีกซ้ายนี้มีความน่าสนใจมาก เพราะเป็นผลงานของสล่าพื้นบ้านผู้มีชื่อเสียงค่อนข้างโด่งดังในยุคสมัยของท่าน ชื่อสล่า “อาคม ไชยสิทธิ์” เป็นชาวลำพูนโดยกำเนิด เกิดที่บ้านหนองช้างคืน อำเภอเมืองลำพูน ปัจจุบันเสียชีวิตไปแล้ว
ประวัติของท่านไม่ค่อยมีการศึกษาบันทึกไว้อย่างกว้างขวางเท่าใดนัก เท่าที่สืบค้นพบมี รศ.ดร.ชาญคณิต อาวรณ์ แห่งคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา ได้เขียนถึงไว้ในงานวิจัยสั้นๆ ว่า สล่าอาคมท่านนี้ได้รับการอุปถัมภ์ค้ำจุนโดย “พระเทพมุนี” (อมร อมรเมธี) อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร โดยมีผู้สนับสนุนค่าเขียนรูปคือ “ห้างหุ้นส่วนอินทพานิช ต้นสกุล โนตานนท์” ว่าจ้างให้สล่าอาคม ดำเนินการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่อง “เวสสันตระชาดก” เป็นช่องๆ ทั้งสองฟากผนังวิหารหลวงวัดพระธาตุหริภุญชัย
แต่รายละเอียดที่ลึกลงไปกว่านั้น อาทิ วันเดือนปีเกิดของสล่า ชีวิตวัยเยาว์ การศึกษา กลวิธีเทคนิค สล่าอาคมไปฝึกเรียนเขียนรูปกับใครที่ใด เขาจบการศึกษาที่โรงเรียนเพาะช่างด้วยหรือไม่ และฝากผลงานไว้กี่แห่งที่ไหนอีกบ้าง นอกเหนือไปจากวัดพระธาตุหริภุญชัยกับวัดพระเจ้าเหลื้อมแล้ว ยังไม่ได้มีใครวิจัยเจาะลึกมากนัก
สล่าอาคมวาดภาพจิตรกรรมให้พระวิหารหลวงวัดพระธาตุหริภุญชัยเสร็จเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2504 พบว่าหลังจากนั้นอีก 5-6 ปีเขาได้เดินทางมาวาดภาพจิตรกรรมฝาผนังให้แก่วัดพระเจ้าเหลื้อม ข้อสำคัญคือ เนื้อหาที่สล่าอาคมถ่ายทอดบนปีกซ้ายของศาลาบาตรแห่งนี้ กลับไม่ได้เป็นภาพเล่าเรื่องประเภทพุทธประวัติ หรือเวสสันตระชาดก ตามขนบที่พบตามวัดต่างๆ ในล้านนา ทั่วไป
ทว่ากลับเป็นภาพวาดแนว “12 นักษัตร” ชนิดพิเศษ มีการเขียนปีเกิดประกอบรูปสัตว์ต่างๆ กำกับใต้ภาพ อีกทั้งภาพ 12 นักษัตรที่นำเสนอนี้ก็มิใช่ภาพพระธาตุเจดีย์องค์สำคัญในล้านนา-ล้านช้าง-พม่า ตามที่เรารู้จักกันอย่างกว้างขวางอีกด้วย แต่กลับเป็นภาพ “ชาดก” บ้างสลับกับ “ชาดกนอกนิบาต” บ้าง หรือที่เรียกกันว่า ปัญญาสชาดก/เชียงใหม่ปัณณาสชาดก กับบางนักษัตรก็เป็นบางตอนของพุทธประวัติ
การนำคติ “ชาดก+ชาดกนอกนิบาต (ปัญญาสชาดก) +พุทธประวัติ” มาผสมผสานกันนี้ ถือว่าไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ในวัฒนธรรมล้านนา เพราะอย่างน้อยที่สุดนิทานชาดกนอกนิบาต “ปัญญาสชาดก” ก็แต่งขึ้นมาในแผ่นดินตั้งแต่สมัยพระเจ้าติโลกราชราว พ.ศ. 2000 แล้ว
นักวิชาการล้านนาศึกษากล่าวว่า ปัญญาสชาดกอาจจะเป็นชาดกที่เน้นความตื่นเต้น โลดโผน หวาดเสียวในระดับสูงแบบสุดโต่งมากสักหน่อย บางพระชาติต้องแลกด้วยชีวิต มีการตัดหัวถวายเป็นต้น หลายเรื่องตอกย้ำว่าพระองค์ทรงบำเพ็ญทศบารมีอย่างอุกฤษฏ์ เพื่อการสั่งสมบุญบารมีไว้จนกว่าจะถึงภพชาติที่ได้เกิดมาเป็นพระพุทธเจ้า หรือพระสมณโคดมองค์ปัจจุบัน
ขอเริ่มบรรยายนำชมภาพจิตรกรรมที่สล่าอาคม ไชยสิทธิ์ วาดไว้โดยไล่เรียงจากทิศตะวันตกสุดของ “ผนังพระประธาน” พบการบันทึกว่า ผู้สนับสนุนค่าจ้างวาดมีชื่อว่า นายสมบุญ นางจันทร์ฟอง คำฤทธิ์ ร้านไทยพาณิชย์ สร้างถวายจำนวนเงิน 1,500 บาท ณ วันที่ 3 มิถุนายน 2510 ดังนี้
ภาพสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากระทำปางสมาธิ ประทับนั่งใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชลา ท่ามกลางบรรยากาศป่ากวาง ภาพนี้สล่าอาคมรวมเหตุการณ์ 3 ตอนเข้าไว้ด้วยกันอย่างชาญฉลาดยิ่ง ได้แก่ 1. พระพุทธองค์ทรงปลงพระเกศาแล้วหันมาปฏิบัติทางสายกลางแนบฝั่งน้ำเนรัญชลา 2. ปางตรัสรู้พระโพธิญาณ 3. ปางแสดงปฐมเทศนาในป่ากวาง (อิสิปตนมฤคทายวัน) เป็นการรวมเหตุการณ์สำคัญแบบ 3 อิน 1 โดยไม่ต้องแบ่งแยกภาพออกเป็น 3 ห้อง
ภาพถัดมาคือภาพแรกสุดของปีกซ้าย ใต้ภาพเขียนว่า ปีไจ้ เตมียะ หมายถึงปีชวด นำเสนอเรื่องราวของพระเตมีย์ใบ้ ผู้แกล้งทำเป็นคนใบ้หูหนวก แขนขาลีบ ไม่มีเรี่ยวแรงตั้งแต่ทรงพระเยาว์ เนื่องจากแอบเห็นพระราชบิดาลงโทษพสกนิกรอย่างรุนแรง ทั้งโบยตีทั้งตัดหัว จึงดำริว่าหากโตขึ้นพระองค์เมื่อเป็นกษัตริย์ก็หนีไม่พ้นที่จะต้องออกคำสั่งลงโทษผู้กระทำผิดด้วยความรุนแรงเยี่ยงนี้
ภาพนี้เป็นฉากอัตลักษณ์หรือ “ช็อตเด็ด” ที่จิตรกรยามต้องการสื่อถึงพระเตมีย์ใบ้ มักนำมาใช้วาด เป็นตอนที่พระเตมีย์ถูกนำมาปล่อยกลางป่า เตรียมจะถูดขุดหลุมกลบฝังทั้งเป็น ด้วยราชสำนักเห็นว่าหากปล่อยให้พระเตมีย์ใช้ชีวิตอยู่แบบนี้ ก็ไม่มีประโยชน์ ในเมื่อไม่พูดไม่จา ขัดขวางต่อการแต่งตั้งองค์รัชทายาทคนใหม่ ทหารลากรถนึกว่าพระเตมีย์คงไม่มีเรี่ยวแรงพอที่จะต่อสู้ ช่วงที่เขาหันหลังกำลังขุดหลุมจะเอาพระเตมีย์ไปฝังนั้น พระองค์ลองยกคานหามราชรถดู หลังจากที่แกล้งทำตัวเป็นคนง่อยเปลี้ยไม่เคยใช้กำลังวังชาเลยมานานกว่า 10 ปี ปรากฏว่าพระองค์ยังมีเรี่ยวแรงยกราชรถได้อยู่
ภาพที่สอง ปีเป้า เวสสันตระ คือปีฉลู แสดงออกด้วยภาพกัณฑ์มัทรี พระเวสสันดรยกนางมัทรีให้แก่ชูชก ถือเป็นมหาทานขั้นปรมัตถบารมี ทันทีที่หลั่งน้ำทักษิโณทกประกาศจะยกนางมัทรีให้ ปรากฏว่าแผ่นดินเลื่อนสั่นสะเทือนไหว สำแดงสิ่งมหัศจรรย์เป็นนัยยะว่า พระองค์ทรงชำนะกิเลสขั้นสูงสุดแล้ว
ภาพที่สาม ปียี (ขาล) สุทธะนู มาจากสุธนูชาดก หนึ่งในชาดกนอกนิบาต เรื่องย่อคือสุธนูมีพ่อชื่อท้าวพรหมทัต แม่ชื่อเกศินี ถูกจับให้วิวาห์กับนางกเรณุวดีที่ไม่สุธนูไม่เต็มใจ สุธนูจึงอธิษฐานจิตเหาะขึ้นหลังม้าขอให้ได้พบหญิงที่ตนรัก ในที่สุดสุธนูพบนางจีรัปภา ต่างพึงใจและแอบเข้ามาอยู่ในตำหนักของนาง กระทั่งบิดาจีรัปภาชื่อ ท้าวเสตราชรู้เข้า บังเกิดความไม่พอใจในชายพเนจร ขอให้สุธนูทดสอบความสามารถด้วยการยิงธนูทะลุปราการ 7 ชั้น จนกว่ากวางยนต์จะล้ม จึงจะยอมยกจีรัปภาให้
ภาพที่สี่ ปีเหม้า (เถาะ) เนมิราช เรื่องย่อ เนมิราชอยู่กรุงมิถิลา เป็นผู้ชอบประพฤติธรรมทั้งรักษาศีลและให้ทาน วันหนึ่งเขาสงสัยว่าระหว่างการถือศีลกับให้ทาน สิ่งไหนได้บุญมากกว่า พระอินทร์มาทูลตอบว่าขอให้รักษาศีล มีบุญมากกว่าทาน พระอินทร์ให้มาตุลีเทพบุตร (มาตลี) เป็นสารถีมารับเนมิราชไปดูสวรรค์ชั้นดุสิตของตน ว่าทั้งทานและศีล ทำให้มนุษย์กลายเป็นเทวดานางฟ้าได้ และขอให้เนมิราชเสวยสุขด้วยกันบนสวรรค์ เนมิราชหนีกลับไปโลกมนุษย์ และออกบวชที่ป่ามะม่วง เป็น “อธิษฐานบารมี” ดังนั้นหากเราเห็นองค์ประกอบภาพที่มีรถม้าเหาะบนอากาศที่ไหนก็ตาม นั่นคือฉากเฉพาะของเนมิราช
ภาพที่ห้า ปีสี (มะโรง) สมภะมิตร อีกหนึ่งชาดกนอกนิบาต ตอนสุภมิตตชาดก เรื่องย่อกล่าวถึง “สุภมิตร” (คนล้านนามักเรียกเป็นสมภะมิตร) เป็นโอรสกษัตริย์แห่งจัมปานคร มีชายาชื่อเกศินี และมีโอรสสององค์ ไชยเสน-ไชยทัต แต่อนุชาของเจ้าชายสุภมิตรคือ “อสุภมิตร” ต้องการปกครองเมือง พระเชษฐาไม่อยากมีเรื่องราว จึงสละสิทธิ์ หนีน้องชาย ถึงฝั่งน้ำ สุภมิตรต้องเอาคนทั้งสาม (ชายาและโอรสทั้งสอง) ข้ามฝั่งไปทีละคน เอานางเกสินีข้ามไปแล้ว กลับมาไม่เจอโอรสทั้งสอง เพราะพ่อค้ามาลักพาโอรสไป ข้ามกลับไปหาเกสินี นางถูกฉุดไปเป็นเมียโจร สุภมิตรตรอมใจตายเพราะความพลัดพราก
ภาพที่หก ปีไส้ (มะเส็ง) ภูริทัต พระภูริทัตเป็นหนึ่งในทศชาติชาดก ไม่ใช่ชาดกนอกนิบาต ภูริทัตเป็นโอรสท้าวทศรถแห่งเมืองนาค วันหนึ่งตามบิดาไปเฝ้าพระอินทร์ เมื่อเห็นทิพยวิมานก็พอใจ ปรารถนาจะได้เช่นนั้นบ้าง จึงกลับมาอธิษฐานจิตอยู่วังพญานาค จะไม่รุกรานใคร ขณะรักษาศีลมีนางนาคสาวๆ มาห้อมล้อม ไม่มีความสงบ หนีเมืองบาดาลมาอยู่เมืองมนุษย์ ต้องอดกลั้นต่อการถูกพรามณ์จับไปทรมานต่างๆ แม้มีฤทธิ์ แต่ก็ไม่ประทุษร้ายมนุษย์ เพื่อบำเพ็ญ “ศีลบารมี” และ “ขันติบารมี”
ภาพที่เจ็ด ปีสง้า (มะเมีย) สุธน มาจากสุธนชาดก อีกเรื่องหนึ่งของชาดกนอกนิบาต พระสุธนเป็นโอรสท้าวอาทิตยวงศ์ แห่งเมืองอุดรปัญจาล ออกผจญภัยเพื่อตามหานางมโนห์รา ราชินีแก่งกินรีที่หนีออกจากเมือง ตามคำสาปแช่งของนางมโนห์ราในอดีตชาติ ที่เคยเป็นพระรถเสน และนางเมรี (ลูกยักษ์) เป็นชาดกที่สะท้อนเรื่องการกลับมาใช้กรรม
ภาพที่แปด ปีเม็ด (มะแม) ช้างสะตัน เป็นอีกหนึ่งชาดกนอกนิบาต พญาช้างฉัททันต์มีเมียหลายตัว ตัวหนึ่งชื่อจุลพัตรา โดนรังมดแดงตกใส่ นึกว่าช้างฉัททันต์แกล้งเพราะรักเมียไม่เท่ากัน สาปแช่งและแค้นจนตายเกิดชาติใหม่เป็นธิดาท้าวพรหมทัต เมื่อายุ 15 ฝันว่าได้นอนบนกิ่งงาช้าง บิดาสั่งให้พราณโสอุดรปลอมเป็นนักบวชไปตามหางาช้าง เจอพญาฉัททันต์ เอางามาถวายนาง
ภาพที่เก้า ปีสัน (วอก) มโหสถ พระมโหสถเป็นพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเพื่อมาสั่งสม “ปัญญาบารมี” เป็นเรื่องที่ห้าในทศชาติชาดก โดยพระมโหสถเป็นราชบัณฑิตแห่งเมืองมิถิลานคร เนื้อหาตอนที่พระมโหสถสั่งให้ขุดอุโมงค์นั้น เกิดขึ้นในฉากการทำกลศึกเพื่อจะลักพาตัวนางปัญจาละจันที ราชธิดาของท้าวจุลนีแห่งนครปัญจาละ นำตัวมาถวายแด่พระเจ้าวิเทหราช
ภาพที่สิบ ปีเล้า (ระกา) สิธาตุ/สิทธาตุ หมายถึงพระสิทธัตถะ ตอนนี้เป็นตอนเดียวที่เป็นพุทธประวัติในพระชาติปัจจุบัน เจ้าชายสิทธัตถะทรงม้ากัณฐกะ พร้อมด้วยนายฉันนะ หนีออกไปบวชในคืนที่พระชายา นางยโสธราพิมพาประสูติพระโอรสชื่อ ราหุล มีพญาวสวัสดีมารเหาะมาขัดขวาง แต่พระองค์มิได้สนพระทัย ยังคงเดินหน้าที่จะออกไปจากกรุงกบิลพัสดุ์ ถึงฝั่งแม่น้ำอโนมา ในคืนเพ็ญ เป็นการแสดง “เนกขัมมบารมี”
ภาพที่สิบเอ็ด ปีเส็ด (จอ) กุสลาด เป็นอีกหนึ่งชาดกนอกนิบาต ท้าวกุสราชเป็นเจ้าชายรูปไม่งาม หลงรักนางประภาวดี ปลอมตัวเป็นคนเลี้ยงช้าง แกล้งปามูลช้างใส่นางประภาวดี เพื่อขอดูหน้าใกล้ๆ ฉากเด็ดคือกระโดดลงไปแอบในสระบัว เมื่อประภาวดีลงน้ำ กุสราชโผล่มาจับมือ ประภาวดีเห็นรูปชั่วตัวดำ จึงสลบ กุสราชพยายามทำความดี จนประภาวดีใจอ่อน ในที่สุดได้มนตร์ให้หายรูปชั่วตัวดำ
ภาพที่สิบสอง ปีไก้ (กุญ) สุตตะโสม เป็นชาดกนอกนิบาตเช่นกัน ท้าวสุตโสมโอรสท้าวพรหมทัต เป็นผู้มีวาจาสัตย์ เป็นคนไม่เสวยเนื้อสัตว์ แต่บิดาโปรดเนื้อสัตว์ วันหนึ่งเนื้อสัตว์หมดทั่วราชอาณาจักร พระบิดาสั่งให้คนไปเอาปลาอานนท์ที่แบกรับเขาพระสุเมรุมา และให้โจรโปริสาทไปหาเนื้อมนุษย์มาให้เสวย คนที่โจรจับได้กลายเป็นสุตโสม โอรสของท้าวพรหมทัตเอง
สรุปว่า การแบ่งพื้นที่วาดภาพของศาลาบาตรวัดพระเจ้าเหลื้อม กำหนดให้สล่าสองคนเขียนภาพประชันกันนั้นมีขึ้นในช่วงปี 2509-2510 สล่าอาคมถือเป็นช่างระดับวัดหลวง ได้รับการอุปถัมภ์จากท่านเจ้าคุณเจ้าคณะจังหวัดลำพูน ฝีมือการวาดภาพละเอียดลออ พิถีพิถัน มีความลึก รู้จักทัศนียวิทยา (Perspective) คุมโทนสีได้คลาสสิก สีขรึมปนหวาน ไม่ฉูดฉาด เก็บทีแปรงละเอียดคมคริบ ฉบับหน้า หากดิฉันมีข้อมูลเกี่ยวกับสล่าอาคมเพิ่มเติมจะได้นำเสนออีก รวมทั้งยังไม่ได้เจาะลึกถึงภาพวาดอีกปีกหนึ่งคือปีกขวาของศาลาบาตร ซึ่งเขียนโดย “สล่าวัน บุญเรือง" บ้านบวกครก โปรดติดตาม