เวียงเจ็ดลิน เวียงโบราณในตำนานยุคก่อนล้านนา

ข่าวศิลปวัฒนธรรม , 18 ก.ค. 2566, 22:39

เวียงเจ็ดลิน เวียงโบราณในตำนานยุคก่อนล้านนา

          เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2566 ดิฉันได้รับเชิญจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลวิทยาเขตพายัพ (เจ็ดยอด) เป็นวิทยากรบรรยายเรื่อง “เวียงเจ็ดลิน” ให้นักศึกษาปริญญาโทฟัง ซึ่งขอสารภาพว่าเรื่องเวียงเจ็ดลินนี้ ดิฉันเคยศึกษาไว้นานมากแล้วตั้งแต่ปี 2555 หลังจากนั้นก็ยังไม่ได้จับประเด็นนี้มาวิเคราะห์ อีกเลย แม้กระนั้นดิฉันมีมุมมองและข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเวียงโบราณแห่งนี้มากพอ ทั้งค่อนข้างจะรอบด้านพอสมควร โดยดิฉันแบ่งการนำเสนอออกเป็น 6 หัวข้อ ดังนี้

  1. เวียงเจ็ดลินกับผังเมืองวงกลม
  2. เวียงเจ็ดลินกับฤๅษีวาสุเทพ
  3. เวียงเจ็ดลิน ยุคล้านนาหลักฐานด้านศิลาจารึก
  4. เวียงเจ็ดลินกับหลักฐานด้านโบราณคดีของกรมศิลปากร
  5. การลงพื้นที่สำรวจเวียงเจ็ดลินของผู้เขียน
  6. หลักฐานอันซีน ที่รอการพิสูจน์

เวียงเจ็ดลินกับผังเมืองวงกลม

          เวียงเจ็ดลินเมื่อมองจากแผนที่ทางอากาศมีผังรูปวงกลม ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มเวียงโบราณรุ่นเก่าที่มีมาก่อนการสร้างเมืองเชียงใหม่ ซึ่งนัยยะของการสร้างผังเมืองรูปวงกลมนั้น อธิบายได้สองนัยยะ

     นัยยะแรก ผังแบบนี้สร้างขึ้นตามแนวคิดของกลุ่มคนที่นับถือ “นาค” ผังวงกลมเทียบได้กับการที่เรายืนอยู่ตรงจุดศูนย์กลางแล้วจับหางนาคยึดไว้คล้ายแกนเขาพระสุเมรุ ปล่อยให้เศียรนาคแกว่งไปรอบๆ ให้เขี้ยวนาคจิกดินกวาดไปโดยรอบคล้ายวงเวียน ก็จะได้ผังรูปวงกลม อันเป็นผังแบบดั้งเดิม

นัยยะที่สอง อธิบายตามหลักภูมิศาสตร์และธรณีวิทยา แนวคิดนี้ดิฉันได้รับการแลกเปลี่ยนกับ ดร.อติชาติ สุรินทร์คำ มองว่าการออกแบบผังรูปวงกลมเกิดจากความจำเป็นของการที่จุดนั้น น่าจะเป็นจุดที่ต้องรองรับแรงปะทะของกระแสน้ำที่หลากเชี่ยว เมื่อสายน้ำมาชนจุดโค้งด้านหน้าของวงกลม จะกระจายไหลออกสองข้าง ไม่กัดเซาะตัวกำแพงเมือง ผิดกับหากออกแบบเป็นผังรูปสี่เหลี่ยม น้ำจะทะลักเข้าสู่กำแพง ไม่ออกด้านข้าง

ไม่ว่าการสร้างผังเมืองรูปวงกลมของเวียงเจ็ดลิน จะเกิดขึ้นด้วยตรรกะใดก็ตาม นักโบราณคดีพบว่า มีเมืองโบราณจำนวนไม่น้อยเลยในอุษาคเนย์ที่สร้างผังเมืองเป็นรูปวงกลมอย่างโดดเด่น อาทิ รัฐศรีเกษตร (พยู่) ในพม่า หรือเมืองโบราณบึงคอกช้าง อุทัยธานี เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีผังเมืองกึ่งวงกลมกึ่งสี่เหลี่ยม เรียกว่าสี่เหลี่ยมมุมมน เป็นเมืองรุ่นเก่ายุคทวารวดี พบมากแถบลุ่มเจ้าพระยาภาคกลาง เช่น เมืองโบราณจันเสน ต.ตาคลี จ.นครสวรรค์ เมืองอินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี เมืองขีดขิน จ.สระบุรี เมืองโบราณอู่ตะเภา จ.ชัยนาท และดงแม่นางเมือง จ.นครสวรรค์ เป็นต้น

เวียงเจ็ดลินกับฤๅษีวาสุเทพ

การรับรู้ความเป็นมาเรื่องเวียงเจ็ดลินที่ฤๅษีสร้างนั้น มีสองเวอร์ชั่น เวอร์ชั่นแรก ระบุว่าเวียงเจ็ดลินมีความเกี่ยวข้องกับตำนานเจ้าหลวงคำแดง ในตอนที่เจ้าชายสุวัณณะคำแดงได้ตามรอยเท้าเนื้อทรายทอง (นางอินเหลาแปลงร่างมาล่อ) จากเชียงดาวจนมาถึงเชิงเขาอุจฉุบรรพต คือบริเวณดอยสุเทพในปัจจุบัน จนเจ้าชายได้พบฤๅษีตนหนึ่งที่ดูแลบริเวณนี้ ต่อมาพื้นที่นี้ได้พัฒนาเป็นเวียงเชษฐบุรี (เชษฐริน เวียงเจ็ดลิน)

อีกเวอร์ชั่นหนึ่ง ตำนานมูลศาสนา ชินกาลมาลีปกรณ์กล่าวถึงฤๅษีวาสุเทพสร้างเมืองให้มนุษย์ที่เกิดใน “รอยเท้าสัตว์” อาศัยอยู่ 4 เมือง เมืองสำคัญที่สุดที่อยู่ตีนดอยสุเทพมีชื่อว่า มิคสังครนคร (สมันตรประเทศ) เมืองนี้น่าจะอยู่ตรงบริเวณเวียงเจ็ดลิน เพียงแต่ว่ายุคแรกสร้างยังไม่ได้ใช้ชื่อ เวียงเจ็ดลิน

หากเวียงเจ็ดลินที่ตีนดอยสุเทพเก่าถึงยุคฤๅษีวาสุเทพจริง ก็ย่อมหมายความว่า เวียงแห่งนี้น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการตั้งถิ่นฐานของขุนหลวงวิรังคะด้วย ปัญหามีอยู่ว่า “เวียงเจ็ดลิน” จักมีหลักฐานทางด้านโบราณคดีมารองรับความเก่าแก่ถึงยุคหริภุญไชยมากน้อยแค่ไหน ประเด็นนี้ ยังเป็นข้อถกเถียงกันอยู่มาก

เวียงเจ็ดลิน ยุคล้านนาหลักฐานด้านศิลาจารึก

          ชื่อเวียงเจ็ดลินปรากฏครั้งแรกในจารึกสุวรรณมหาวิหาร พบที่จังหวัดพะเยา เขียนด้วยตัวอักษรฝักขาม เดิมจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย ใช้เลขทะเบียน ลพ.9 ปัจจุบันจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงแสน จังหวัดเชียงราย จารึกนี้กล่าวถึงพระญาสามฝั่งแกน กษัตริย์ล้านนาลำดับที่ 8 (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 1945–1984) โปรดให้สร้างวัดสุวรรณมหาวิหารและเวียงเจ็ดลินในปีเดียวกัน คือ พ.ศ.1954 ตามที่จารึกไว้ค่อนข้างยาวตั้งแต่บรรทัดที่ 10-22 ว่า “แปลงเวียงเจ็ดลิน ผิจะถวิลด้วยปีไทไซร้ ปีรวงเหม้า (ปีเถาะ) เข้ามาในเดือน 11 ออก 6 ค่ำ วันจันทร์ ทันยามตะวันเที่ยง”

          แปลความได้ว่า หากผู้ใดอยากรู้ว่าเจ้ามหาราช (สามฝั่งแกน) ได้หลั่งน้ำลงเหนือที่ดินที่อุทิศแก่พระสุวรรณมหาวิหารในปีใด เดือนใด ให้รู้ไว้ดังนี้ว่า ครั้งเมื่อเจ้ามหาราชมีศรัทธาหลั่งน้ำอุทิศที่ดินแก่พระสุวรรณมหาวิหารนั้น ตรงกันกับปีที่สร้างเวียงเจ็ดลิน คือปีรวงเหม้า หรือปีเถาะ อัฐศกของไทภาคเหนือ ตรงกับ พ.ศ.1954

          คำว่า “สร้างเวียงเจ็ดลิน” ไม่น่าจะหมายถึงว่า พระญาสามฝั่งแกนสร้างเวียงขึ้นใหม่ทั้งหมดด้วยพระองค์เอง ด้วยเวียงแห่งนี้ย่อมต้องมีมาก่อนแล้ว คำว่า “สร้าง” น่าจะหมายถึงการสร้างที่ประทับในผังเวียงรูปวงกลมที่มีมาแต่เดิมมากกว่า

ขณะที่ตํานานพื้นเมืองเชียงใหม่กล่าวถึงเวียงเจ็ดลินว่าเป็นเมืองที่ตั้งบนที่สูง สามารถมองเห็นทำเลและภูมิประเทศของเมืองเชียงใหม่ได้ด้วยตาเปล่า เหมาะที่จะใช้เป็นที่ป้องกัน ข้าศึกทางด้านทิศตะวันตกได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้แล้ว พระญาสามฝั่งแกนเมื่อไม่พำนักอยู่ในเมืองเชียงใหม่ก็มักใช้เวียงเจ็ดลินเป็นที่พำนักอยู่เสมอจนสิ้นรัชกาล

นอกจากนี้แล้ว มีสิ่งที่น่าสนใจคือ กลางเวียงเชียงใหม่มีวัดแห่งหนึ่งชื่อ “วัดเจ็ดลิน” ตั้งอยู่ถนนพระปกเกล้า ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เคยเป็นวัดร้างมานานมาก เพิ่งได้รับการยกขึ้นเป็นวัดที่มีพระสงฆ์จำพรรษาได้ไม่นาน พบหลักฐานจากตํานานพื้นเมืองเชียงใหม่กล่าวถึงท้าวแม่กุ (พ.ศ. 2094–2101) ครั้งที่ทรงประกอบพิธีราชาภิเษกขึ้นครองเมืองเชียงใหม่ ได้เสด็จไปสรงน้ำพระที่ “วัดเจ็ดลินคํา” และต่อมาสมัยพระเจ้าอินทวิชยานนท์ (พ.ศ. 2416–2440) ปรากฏชื่อวัดว่า “เจ็ดลิน” (ไม่มี “คำ”) ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่าง “เวียงเจ็ดลิน” กับ “วัดเจ็ดลิน” นี้จากการศึกษายังไม่พบข้อมูลว่ามีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร

เวียงเจ็ดลินกับหลักฐานด้านโบราณคดีของกรมศิลปากร

จากข้อมูลของคุณไกรสิน อุ่นใจจินต์ นักโบราณคดี อดีตผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ เห็นว่า ขอบเขตของเวียงเจ็ดลิน น่าจะกว้างใหญ่ไพศาลเกินกว่าแค่ผังเมืองวงกลมบริเวณตีนดอยสุเทพเท่านั้น กล่าวคือควรศึกษาไปถึงซากโบราณสถานที่ตั้งอยู่บนดอยปุย ณ จุดที่เรียกว่า “สันกู่” ประกอบกันด้วย เนื่องจากบริเวณนี้เป็นถิ่นอาศัยของชาวลัวะ จากการขุดค้นทางโบราณคดีเมื่อปี 2541 ได้พบหลักฐานรุ่นเก่าจำนวนมากในสมัยหริภุญไชย ที่น่าจะมีความร่วมสมัยกับยุคฤๅษี หรือยุคขุนหลวงวิรังคะ

นอกจากนี้แล้ว ยังมีการขุดค้นและขุดแต่งทางโบราณคดีอีกครั้งระหว่างปี 2551-2552 ที่วัดร้างสองแห่งที่อยู่บนภูเขารอบๆ เวียงเจ็ดลิน ได้แก่ วัดร้างหมูบุ่น กับวัดร้างกู่ดินขาว คุณไกรสิน ได้ค้นพบโบราณวัตถุจำนวนหนึ่งที่อาจเก่าถึงสมัยหริภุญไชย แต่โดยมากมีอายุในสมัยล้านนา ทำให้ได้ข้อสรุปว่า เวียงเจ็ดลินน่าจะมีความเก่าแก่ถึงสมัยหริภุญไชยจริง และยังคงใช้สอยสืบมาจนถึงสมัยล้านนา กระทั่งค่อยๆ ร้างไป

การลงพื้นที่สำรวจเวียงเจ็ดลินของผู้เขียน

          ดิฉันได้มีโอกาสลงพื้นที่สำรวจเมืองโบราณเวียงเจ็ดลินอย่างละเอียดเมื่อเดือนเมษายน 2555 โดยเริ่มจากการสำรวจจุดที่เป็น “ตาน้ำ” ตั้งอยู่กึ่งกลางเวียงเจ็ดลิน ปัจจุบันเป็นพื้นที่สถานที่ราชการ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดเชียงใหม่ ตาน้ำคือจุดที่มีน้ำผุด หรือน้ำจำ มีการสร้างอาคารคลุมไว้ จากจุดตาน้ำนี้เมื่อวัดรัศมีโดยรอบพบว่ามีความยาวประมาณ 900 กว่าเมตร พื้นที่ของเวียงเจ็ดลินครอบคลุมสถานที่ราชการและสถานศึกษาหลายแห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตพายัพ (มทร.) สวนสัตว์เชียงใหม่ สวนรุกขชาติ น้ำตกห้วยแก้ว ฯลฯ 

          เวียงเจ็ดลินมีความพิเศษกว่าเวียงโบราณอื่นใดทั้งหมด เนื่องจากตั้งอยู่บนพื้นที่ลาดเอียงจากเชิงเขาสู่ที่ราบ มิได้เป็นเวียงบนพื้นที่ราบเสมอกัน เมื่อดิฉันและคณะเดินสำรวจขอบเขตของเวียงเจ็ดลิน จำเป็นต้องใช้เวลาหลายวัน บางช่วงบางตอนต้องปีนเขา ปีนกำแพงหิน ตอนบนสุดของเวียงเจ็ดลินในเขตอุทยานน้ำตกห้วยแก้วนั้น เต็มไปด้วยกองหินที่ก่อขึ้นในวัฒนธรรมลัวะ

หลักฐานอันซีนที่รอการพิสูจน์

คุณพูนทรัพย์ วงศากุศลปักษ์​ นักวิชาการอิสระได้แจ้งแก่กรมศิลปากรว่า เขาได้พบโบราณวัตถุแปลกประหลาดจำนวน 2 ชิ้นในบริเวณเวียงเจ็ดลิน ได้แก่ 1. แผ่นดินเหนียวทรงกลม มีตัวอักษร 2. แผ่นคันฉ่องสำริดคล้ายรูป 12 นักษัตรแบบจีน ปัญหาก็คือ วัตถุสองชิ้นเป็นการอ้างโดยบุคคล สามารถเคลื่อนย้ายไปมาได้ ไม่ใช่สิ่งที่พบจากหลุมขุดค้นโดยนักโบราณคดี 

อย่างไรก็ดี แผ่นดินเหนียวชิ้นดังกล่าว ดิฉันได้ส่งภาพถ่ายให้ ผศ.พงศ์เกษม สนธิไทย นักจารึกวิทยาช่วยพิจารณาว่าเก่าหรือใหม่อย่างใหม่ อาจารย์พงศ์เกษมช่วยอ่านตีความและกำหนดอายุว่า น่าจะมีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 17-18 ร่วมสมัยกับหริภุญไชยตอนปลาย และตัวอักขระที่เขียนนั้นเป็นปฏิทินบันทึกฤกษ์ยามในการเกษตร

กล่าวโดยสรุป การศึกษาเกี่ยวกับเวียงเจ็ดลิน ควรมีการหยิบมาปัดฝุ่นอีกครั้งและควรศึกษาให้รอบด้าน อีกทั้งควรทำควบคู่ไปกับแผนบริหารจัดการอาคารสิ่งก่อสร้างต่างๆ ที่รุกล้ำอยู่ในตัวเวียงโบราณด้วย

7

ข่าวอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ใกล้เข้ามาแล้ว งานใหญ่ของคนซื้อรถ LANNA MOTOR SHOW รถใหม่ โปรจัดเต็ม 7-13 พ.ค.67 ที่ลานโปร...

โปรจัดเต็ม ของงานนี้มีอะไรบ้างท่านต้องแวะมาดูเอง จัดไม่ใกล้ไม่ไกลที่ลานโปรโมชั่น เซ็นทรัล เชียงใหม่ ( เซ็นเฟสฯ )ทำเลทองค่ายรถยนต์มากันที่นี่เกือบครบทั้งรถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์เครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมัน ให้ท...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 2 พ.ค. 2567, 08:02
  • |
  • 88

พบกับ อีซูซุศาลาเชียงใหม่ ที่ “CNX Tattoo Festival” งานแสดงรอยสักและประกวดรอยสักแห่งภาคเหน...

พบกับ อีซูซุศาลาเชียงใหม่ ที่ “CNX Tattoo Festival” งานแสดงรอยสักและประกวดรอยสักแห่งภาคเหนือ ครั้งที่1  งานนี้นอกจากจะเจอกับเหล่าช่างสักระดับ Professional ทั่วโลกแล้ว  เรายังพา Isuzu X-serie...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 1 พ.ค. 2567, 17:15
  • |
  • 75

พบน้อง MC น่ารักในงาน LANNA MOTOR SHOW 7-13 พค.2567 ณ ลานโปรโมชั่น เซ็นทรัลเฟสฯเชียงใหม่

 งานลานนา มอเตอร์โชว์ 2024 ณ.ลานโปรโมชั่น ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เฟสติวัล เชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 7-13 พฤษภาคม 2567 เป็นงานแสดงรถยนต์ครั้งยิ่งใหญ่ในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ รถใหม่ โปรจัดเต็ม ทุกรุ่น วัน...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 30 เม.ย. 2567, 07:56
  • |
  • 146
  • |
  • 1

ส่งมอบรถใหม่ Hyundai H-1 Elite FE สีขาว เป็นรถยนต์น่าใช้สำหรับครอบครัว

ที่ปรึกษาการขาย เอชดีเจมอเตอร์ ฮุนไดเชียงใหม่ เซลส์มุ้ย ร่วมแสดงความยินดีพร้อมส่งมอบรถใหม่ให้แก่ คุณเดชธีรรัตน์ ตระกูลศิวาโมกข์ Hyundai H-1 Elite FE สีขาวขอขอบคุณที่ให้เกียรติมาเป็นครอบครัวฮุนได สอบถา...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 27 เม.ย. 2567, 05:07
  • |
  • 54

ส่งมอบรถใหม่ Hyundai STARIA Style สีเทา เป็นรถยนต์น่าใช้สำหรับครอบครัว

ที่ปรึกษาการขาย เอชดีเจมอเตอร์ ฮุนไดเชียงใหม่ เซลส์มุ้ย ร่วมแสดงความยินดีพร้อมส่งมอบรถใหม่ให้แก่ คุณกรณ์กาญจน์ สุทธะป๊อก Hyundai STARIA Style สีเทา ขอขอบคุณที่ให้เกียรติมาเป็นครอบครัวฮุนได สอบถามรายละ...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 25 เม.ย. 2567, 15:26
  • |
  • 65

ส่งมอบรถใหม่ Hyundai Creta Style Plus สีขาว เป็นรถยนต์น่าใช้สำหรับครอบครัว

ที่ปรึกษาการขาย เอชดีเจมอเตอร์ ฮุนไดเชียงใหม่ เซลส์มุ้ย ร่วมแสดงความยินดีพร้อมส่งมอบรถใหม่ให้แก่ คุณทักษิณานันท์ ดอนชัย Hyundai Creta Style Plus สีขาว ขอขอบคุณที่ให้เกียรติมาเป็นครอบครัวฮุนได สอบถามรา...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 24 เม.ย. 2567, 18:27
  • |
  • 69
Sytiq Company

ออกแบบพัฒนาโปรแกรมและแอพลิเคชั่น

โดยบริษัทไซทิค ติดต่อ:0819507128

Sytiq Company

ออกแบบและติดตั้ง Home Automation

โดยบริษัทไซทิค ติดต่อ:0819507128