ตำรวจเตือน “หลอกลงทุนระบาดหนัก” ยอดความเสียหายแค่ครึ่งปีที่ผ่านมา รวมสูงกว่าหมื่นล้านบาท ย้ำต้องมีสติ “ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน” ขณะที่ ตำรวจไซเบอร์ จับแก๊งคอลเซ็นเตอร์อ้าง สภ.เมืองเชียงใหม่ ร่วมตุ๋นเหยื่อโอนเงิน 20 ครั้ง สูญกว่า 10 ล้านบาท
เมื่อเร็วๆ นี้ ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ต.ท.หญิง ดร.ณพวรรณ ปัญญา รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เผยสถิติคดีอาชญากรรมออนไลน์ประเภท “หลอกให้ลงทุน” และอุบายในการหลอกลวง พร้อมเน้นย้ำ เจ้าของบัญชีม้าหรือเบอร์ม้า มีโทษอาญาหนัก
พ.ต.ท.หญิง ณพวรรณฯ เปิดเผยสถิติคดีออนไลน์ที่ประชาชนแจ้งความผ่านระบบออนไลน์ที่เว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com โดยคดีหลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ ตั้งแต่ 1 มี.ค.65 - 30 มิ.ย.66 มีการแจ้งความจำนวนสูงถึง 23,616 คดี ยอดความเสียหายรวมสูงกว่า 11,550 ล้านบาท สำหรับเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มียอดการแจ้งความสูงถึง 876 คดี ยอดความเสียหายรวมสูงกว่า 600 ล้านบาท
รองโฆษกฯ ให้ข้อมูลว่า ในปัจจุบันโจรออนไลน์ใช้อุบายที่หลากหลายในการหลอกลวง เช่น เทรดเหรียญดิจิทัลผ่านแอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์, ลงทุนเกี่ยวกับเหรียญคริปโต, ลงทุนกับบริษัทปล่อยเงินกู้ผลตอบแทนสูง, ร่วมลงทุนประมูลสินค้าเพื่อรับผลตอบแทน, ลงทุนซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินสกุลต่างประเทศ, และลงทุนหุ้นในเครือบริษัทชื่อดัง นอกจากนี้ โจรออนไลน์มักปลอมโปรไฟล์เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงเรื่องการเงินการลงทุนเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือในการหลอกลวง และเข้าหาผู้เสียหายผ่านการแฝงตัวเข้าไปอยู่ในกลุ่มสังคมออนไลน์ของผู้ที่สนใจด้านการลงทุน
พ.ต.ท.หญิง ณพวรรณฯ ยังได้ให้ข้อมูลอีกว่า พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 ที่มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 17 มี.ค.66 ผลของกฎหมายมีผลให้เจ้าของบัญชีม้าหรือเบอร์ม้า มีโทษอาญาหนัก จำคุก 3 ปี หรือ ปรับ 3 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมถึงผู้ที่ได้เป็นธุระจัดหา โฆษณา ขาย ให้เช่า หรือให้ยืม บัญชีเงินฝาก บัตรอิเล็กทรอนิกส์ หมายเลขโทรศัพท์ ก็มีโทษอาญาหนักเช่นกัน คือ จำคุกตั้งแต่ 2-5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2-5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ดํารงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. มีความห่วงใยประชาชน จึงได้จัดทำแบบทดสอบ Cyber Vaccine เพื่อเป็นการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันไซเบอร์ให้กับประชาชน ขอให้ประชาชนต้องมีสติ “ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน” เพื่อไม่ตกเป็นเหยื่อของโจรออนไลน์ ทั้งนี้สามารถติดตามรูปแบบการประชาสัมพันธ์กลโกงได้ที่ www.เตือนภัยออนไลน์.com และ เพจเฟซบุ๊ก “เตือนภัยออนไลน์” ปรึกษา-ขอคำแนะนำได้ที่ สายด่วน บช.สอท. 1441 หรือ ศูนย์ PCT 081-866-3000 โดยผู้เสียหายสามารถติดต่อธนาคารของตนเองเพื่อทำการระงับบัญชี โดยธนาคารจะออก Bank ID ผ่าน sms และขอให้ผู้เสียหายไปแจ้งความกับตำรวจที่ใดก็ได้โดยเร็ว โดยไม่ต้องคำนึงถึงท้องที่เกิดเหตุภายใน 72 ชั่วโมง หรือแจ้งความผ่านระบบออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com
ขณะที่ ตำรวจไซเบอร์ จับแก๊งคอลเซ็นเตอร์อ้าง สภ.เมืองเชียงใหม่ ร่วมตุ๋นเหยื่อโอนเงิน 20 ครั้ง สูญกว่า 10 ล้านบาท กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ได้สั่งการให้สืบสวนและปราบปรามมิจฉาชีพ โดยเฉพาะการฉ้อโกงหลอกขายสินค้าทางสื่อสังคมออนไลน์ สร้างความเดือดร้อนให้พี่น้องประชาชน อย่างจริงจัง และเด็ดขาด สืบสวนให้ถึงต้นตอของขบวนการ แก้ปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนจากการสูญเสียทรัพย์สินจากการถูกหลอกขายสินค้าและการหลอกโอนเงินเป็นจำนวนมาก
สืบเนื่องจากได้มีกลุ่มคนร้ายจัดตั้งระบบอุปกรณ์โทรศัพท์และใช้การสื่อสารทางเสียงผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ตด้วยวิธีการสุ่มหมายเลขโทรศัพท์ของประชาชนแล้วโทรศัพท์ติดต่อไปยังประชาชนทั่วไป โดยแจ้งแก่ผู้ได้รับการติดต่อด้วยข้อความอันเป็นเท็จต่าง ๆ ลักษณะอ้างเป็นเจ้าหน้าที่บริษัท DHL บริษัทขนส่งด่วนระหว่างประเทศ หลอกลวงว่ามีพัสดุที่ส่งไปยังประเทศจีน โดยแจ้งว่ากล่องพัสดุถูกตรวจสอบพบว่าภายในกล่องมีสิ่งของผิดกฎหมาย เกี่ยวข้องกับเชื่อมโยงกับบัญชีธนาคารของผู้เสียหายที่เป็นผู้ส่งพัสดุ และมีส่วนพัวพันกับคดีฟอกเงิน โดยแจ้งว่าหากไม่มีส่วนเกี่ยวข้องจะต้องให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในการตรวจสอบเงินในบัญชีธนาคารของผู้เสียหายทุกบัญชี โดยคนร้ายได้ขอ LINE ID ของผู้เสียหายและทำการเพิ่มเพื่อน โดยปรากฏชื่อโปรไฟล์ไลน์ของคนร้ายชื่อ "สภ.เมืองเชียงใหม่" โดยคนร้ายได้ใช้กลอุบายหลอกลวงผู้เสียหายให้หลงเชื่อโอนเงินในบัญชีธนาคารไปยังบัญชีธนาคารของกลุ่มคนร้ายผ่านระบบแอพพลิเคชั่นของธนาคารในโทรศัพท์มือถือ เป็นจำนวน 20 ครั้ง เป็นเงิน 10,150,000 บาท (สิบล้านหนึ่งแสนห้าหมื่นบาทถ้วน) ในภายหลังผู้เสียหายรู้ว่าถูกหลอกให้โอนเงิน จึงได้เดินทางมาพบพนักงานสอบสวนเพื่อให้ดำเนินคดีกับกลุ่มคนร้ายและติดตามตัวมาดำเนินคดีตามกฎหมายจนกว่าคดีจะถึงที่สุด
ต่อมา วันที่ 14 ก.ค.66 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.วิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ บก.สอท.3 ชุดจับกุมได้รับแจ้งจากสายลับว่า ผู้ต้องหาในคดีนี้ตามหมายจับของศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ พักอาศัยอยู่หอพัก บริเวณถนนศิลปาคม หมู่ 5 ต.โพธิ์ชัย อ.เมือง จว.หนองคาย เจ้าหน้าที่ตำรวจนำโดย พ.ต.ท.เลอศักดิ์ พิเชษฐไพบูลย์ สว.กก.วิเคราะห์ข่าวฯ, พ.ต.ต.สมพร บุตรวงศ์ สว.กก.วิเคราะห์ข่าวฯ, ร.ต.อ.อาณัติ เข็มทอง รอง สว.กก.วิเคราะห์ข่าวฯ พร้อมทีมชุดจับกุม กระจายกำลังออกค้นหาพบ นายทัพพสาร อายุ 39 ปี ชาวจังหวัดเชียงใหม่ ผู้ต้องหาในคดีนี้ ปรากฏตัวอยู่ บริเวณหน้าร้านเซเว่นอีเลฟเว่น สาขาสายเดิมอเวนิว หมู่ 5 ต.โพธิ์ชัย อ.เมือง จว.หนองคาย จึงได้ทำการจับกุมพร้อมแจ้งให้ทราบว่ากระทำความผิดฐาน “ ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน,ร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชนฯ ” จากนั้นจึงนำตัวส่งพนักงานสอบสวน กก.1 บก.สอท.3 ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป เบื้องต้นผู้ต้องหาให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา และนอกจากนี้ยังตรวจสอบพบว่า ผู้ต้องหายังมีหมายจับติดตัวในความผิดฐานฉ้อโกงฯ อีกกว่า 7 หมายจับ