ครูบาเจ้าศรีวิชัยกับการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระธาตุหริภุญชัย (ตอนที่ 1)

ข่าวศิลปวัฒนธรรม , 30 ก.ค. 2566, 13:21

ครูบาเจ้าศรีวิชัยกับการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระธาตุหริภุญชัย (ตอนที่ 1)

วัดพระธาตุหริภุญชัย เป็นวัดที่มีผลงานการก่อสร้างและปฏิสังขรณ์โดยครูบาเจ้าศรีวิชัยมากที่สุดในบรรดาวัดทั้งหมด เป็นวัดที่มีความเกี่ยวข้องกับประวัติของครูบาเจ้าศรีวิชัยโดยตรง ตั้งแต่ พ.ศ. 2453-2454 ในช่วงต้องอธิกรณ์ครั้งที่ 3 ท่านถูกกักบริเวณอยู่แจ่งคณะอัฏฐารส ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของวัดเป็นระยะเวลา 2 ปี ในระหว่างนั้นวิกฤตกลายเป็นโอกาส ครูบาเจ้าศรีวิชัยได้ศึกษาพระธรรมคัมภีร์จำนวนมากจาก “ครูบาคันธา คนฺธาโร” เจ้าคณะอัฏฐารส อาทิ นิทานธรรมเรื่องอุสสาบารส ตำนานพระเจ้าเลียบโลก ตำนานพุทธจารีต องค์ความรู้เรื่องวรรณกรรมศาสนาภาษาบาลีเหล่านี้ ส่งอิทธิพลต่อครูบาเจ้าศรีวิชัยเป็นอย่างสูงในการตั้งปณิธานว่าจะต้องสร้าง “ธรรมยาตราบารมี” จาริกธุดงค์ไปยังสถานที่ต่างๆ เพื่อตามรอยสถานที่ที่ปรากฏในตำนานพระเจ้าเลียบโลก

จุดเริ่มต้นในการบูรณปฏิสังขรณ์เริ่มจากผลกระทบของวาตภัย (ชาวลำพูนเรียกพายุครั้งนั้นว่า “ลมหลวงลำปาง” เนื่องด้วยพัดมาจากทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองลำพูน อันเป็นที่ตั้งของจังหวัดลำปาง) ในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2456 เวลา 17.00 น.เศษ ได้เกิดลมพายุกระหน่ำอย่างรุนแรงในชั่วเวลาข้ามคืน ส่งผลให้พระวิหารหลวงที่สร้างในสมัยล้านนาถล่มทลายลงมา แต่องค์พระธาตุมิได้เสียหาย เพียงแต่ยอดฉัตรคดงอ รวมทั้งแผ่นทองจังโกบางแผ่นหลุดร่วงไป

           เหตุการณ์ครั้งนั้นกระทรวงมหาดไทยได้มอบหมายให้เจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์ สมุหเทศาภิบาลมณฑลพายัพดำเนินการซ่อมฉัตร พิธียกฉัตรที่ซ่อมเสร็จแล้วมีขึ้นเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ.2457 เห็นได้ว่าการบูรณะครั้งนั้นยังไม่มีการปฏิสังขรณ์พระวิหารหลวงขึ้นมาใหม่

          กระทั่งช่วงเวลาระหว่างปี 2463-2465 พลตรี เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ เจ้าผู้ครองนครลำพูนลำดับที่ 10 ได้ขอความเห็นชอบจาก เจ้าอาวาสวัดพระธาตุหริภุญชัยในขณะนั้น (พระคัมภีร์ คมฺภีโร) ให้นิมนต์ครูบาเจ้าศรีวิชัยมาเป็นประธานดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะหลายหลังในวัด โดยมีเจ้านายของลำพูนให้การอุปถัมภ์ นอกเหนือไปจากพลตรี เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ พร้อมด้วยเจ้าแม่รถแก้ว (พระมารดาของเจ้าจักรคำขจรศักดิ์) แล้ว ยังมีรายชื่อของเจ้านายบุคคลต่างๆ ปรากฏใน “คร่าวซอของพระภิกษุท้าวสุนทรพจนกิจ” ว่ามีส่วนร่วมสนับสนุน อาทิ “เจ้าราชภาคี” (หมายถึงเจ้าราชภาคิไนย) “เจ้าสุริยะ” (หมายถึงเจ้าสุริยา) “เจ้าสมบุญ” (หมายถึงเจ้าหญิงส่วนบุญ) โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคคลที่สนับสนุนครูบาเจ้าศรีวิชัยมากเป็นพิเศษคือ “เจ้าหญิงมุกดา” ช่วงนั้นครูบาเจ้าศรีวิชัยจึงพำนักประจำอยู่ที่วัดเชียงยัน ปัจจุบันคือคณะเชียงยัน วัดพระธาตุหริภุญชัย 

          ผลงานที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยดำเนินการก่อสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์ภายในวัดพระธาตุหริภุญชัย มีจำนวนมาก การก่อสร้างมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป ไม่ได้รีบร้อนบูรณะให้แล้วเสร็จพร้อมกันในคราวเดียว ประกอบด้วยการบูรณะพระธาตุหริภุญไชยก่อนเป็นชิ้นแรก โดยชาวลำพูนร่วมบริจาคแผ่นทองจังโกจำนวนมหาศาล ในครั้งนั้นครูบาเจ้าศรีวิชัยได้รับเงินและร่วมบุญรวบรวมได้ 480 บาท 

          ตามด้วยผลงานชิ้นที่สองคือ การตกแต่งลวดลายหน้าแหนบพระวิหารหลวงใช้เงิน 1,000 บาท (หมายเหตุตัวเลขค่าก่อสร้างของวัดพระธาตุหริภุญชัย ในเอกสารแต่ละฉบับจะไม่ตรงกัน อาจเกิดจากการคลาดเคลื่อนขณะคัดลอกต่อๆ กันมา) การบูรณะพระวิหารหลวงถือเป็นผลงานชิ้นสำคัญของครูบาเจ้าศรีวิชัยที่ได้ดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ชาวลำพูน เนื่องจากวิหารหลังเดิมพังค้างคามานานหลายปีแล้ว

          เมื่อเสร็จภารกิจการบูรณะองค์พระธาตุเจดีย์ และการสร้างพระวิหารหลวง ท่านได้เริ่มงานก่อสร้างเสนาสนะภายในวัดทีละหลังๆ อย่างเป็นกิจจะลักษณะ โดยมีเงินบริจาคเบื้องต้น 24,915 (ไม่ระบุว่าเป็นหน่วยรูเปียหรือบาท สันนิษฐานว่ารูเปีย) แล้วลงมือสร้างวิหารเหล่านี้ 1. วิหารพระพุทธ หมดเงินไป 2,725 รูเปีย 2. วิหารพระเจ้าละโว้ 730 รูเปีย 3. วิหารมหากัจจายน์ 1,775 รูเปีย 4. วิหารพระเจ้าทันใจ 2,330 รูเปีย 5. วิหารพระอัฏฐารส 16,390 รูเปีย และตอนท้ายระบุว่ารวมเงินค่าถวายทานทำบุญวิหารทุกหลัง เบ็ดเสร็จ 24,194 รูเปีย

          เกี่ยวกับตัวเลขจำนวนเงินนั้น อาจมีการบันทึกที่ไม่ตรงกันนัก วิทยานิพนธ์ของ โสภา ชานะมูล เรื่อง “ครูบาศรีวิชัย ตนบุญแห่งล้านนา (พ.ศ. 2421-2481)” ระบุว่าหมดเงินค่าบูรณะพระธาตุหริภุญไชย 800 รูเปีย, สร้างเพิ่มเติมหน้าแหนบวิหารหลวง 3,225 รูเปีย, วิหารพระพุทธ 2,723 รูเปีย, วิหารพระเจ้าละโว้ 730 รูเปีย, วิหารพระมหากัจจายน์ 1,777 รูเปีย, วิหารพระเจ้าทันใจ 2,336 รูเปีย, วิหารอัฏฐารส จำนวน 16,630 รูเปีย และโรงกุฏิครูบาคันธา 1,200 รูเปีย 

          ตำนานครูบาศรีวิชัยแบบพิสดาร ของสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่า   ครูบาเจ้าศรีวิชัยหมดเงินค่าซ่อมแซมซื้อคำ รัก หาง ติดหน้าแหนบวิหารหลวง 3,225 รูเปีย, สร้างวิหารพระพุทธ 1,723 รูเปีย, สร้างวิหารพระเจ้าทันใจ 2,336 รูเปีย, สร้างวิหารละโว้ 730 รูเปีย, วิหารพระมหากัจจายน์ 1,775 รูเปีย, วิหารอัฏฐารส จำนวน 16,630 รูเปีย และโรงครูบาคันธา 1,200 รูเปีย

นอกจากนี้ยังพบหลักฐานหนังสือถวายพระราชกุศลของครูบาเจ้าศรีวิชัยถึง พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ กรุงเทพฯ ระบุว่า “สร้างโรงตั้งเมรุศพครูบาคันธา วัดอัฏฐารส เสร็จเมื่อปี 2476 ใช้เงินทั้งสิ้นจำนวน 2,694 รูเปีย 45 สตางค์” 

ในที่นี้ จักกล่าวถึงผลงานด้านการก่อสร้างเสนาสนะหลังใหม่แทนที่หลังเดิม ซึ่งชำรุดทรุดโทรมไปแล้วตามกาลเวลา ดังนี้ พระวิหารหลวง วิหารพระพุทธ วิหารละโว้ (ภายหลังนิยมเรียกวิหารพระเจ้าละโว้) วิหารพระเจ้าทันใจ วิหารอัฏฐารส วิหารมหากัจจายน์ โรงกุฏิครูบาคันธา อุโบสถภิกษุณี อุโบสถพระเจ้าทองทิพย์ หอธรรม วิหารพระพุทธบาทสี่รอยจำลอง ฯลฯ

พระวิหารหลวง

พระวิหารหลวงหลังเดิมสร้าง พ.ศ. 2054 โดยพระเมืองแก้ว กษัตริย์แห่งนครเชียงใหม่องค์ที่ 11 โปรดให้สร้างขึ้นทางด้านทิศตะวันออกขององค์พระธาตุหริภุญไชย 

พงศาวดารโยนกระบุว่า หลังจากที่พระเมืองแก้วได้กระทำการบุทองแดงและลงรักปิดทองคำเปลวองค์พระเจดีย์ “แล้วเสร็จในวันอาทิตย์เดือนแปด ขึ้นเจ็ดค่ำ ปีวอก จัตวาศก จุลศักราช 847 ...และให้สร้างวิหารหลวง ณ วัดพระธาตุเมืองลำพูน”

          หลักฐานภาพถ่ายเก่า พบว่ารูปทรงของวิหารหลวงหลังเดิมสมัยล้านนานั้น มีแผนผังอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เปิดผนังโล่งแบบอาคารโถงหรือที่เรียกว่า วิหารเปื๋อย มีแนวผนังระเบียงก่ออิฐฉาบปูนเตี้ยๆ รับกับแนวชายคาด้านนอกสุด โครงสร้างหลังคาเป็นแบบ “ขื่อม้าต่างไหม” 

          ต่อมาเกิดพายุพัดวิหารหลวงหลังพังทลาย เหลือเพียงซากปรักหักพังของพระพุทธปฏิมา การบูรณะพระวิหารหลวงของครูบาเจ้าศรีวิชัย ได้นำเอารูปแบบศิลปสถาปัตยกรรมของกรุงรัตนโกสินทร์มาประยุกต์ใช้ค่อนข้างมาก จนกระทั่งพระวิหารหลวงหลังใหม่มีขนาดใหญ่กว่าหลังเดิมมาก ทั้งนี้ไม่ได้สร้างด้วยรูปแบบวิหารเปื๋อยดังเดิม ทว่าเป็นแบบวิหารปิด ทางเหนือเรียกว่า “วิหารแบบมีป๋างเอก” (มีผนัง) องค์ประกอบดังนี้

          1. ในส่วนของผังอาคาร สร้างขึ้นบนแผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ไม่ย่อเก็จคือตัดตรง ผังพื้นขนาด 5 ห้อง มีจุดเด่นอยู่ที่การต่อ “พาไล” หมายถึงแนวเสาเรียงรายยื่นออกมาจากผนังวิหารด้านนอกที่มีหลังคาคลุมอีกชั้น สามารถใช้เป็นลานประทักษิณโดยรอบพระวิหารได้ ลักษณะเช่นนี้ได้กล่าวมาแล้วว่าเป็นการรับอิทธิพลมาจากแผนผังของสถาปัตยกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ เช่น พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนมหาศาสดาราม วัดสระเกศวรมหาวิหาร วัดราชสิทธาราม เป็นต้น นอกจากนี้แล้ว พระวิหารหลวงวัดพระธาตุหริภุญชัย ยังมีมุขระเบียงทางขึ้นทั้งทางด้านหน้า ด้านหลัง และด้านข้าง ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อนในศิลปะล้านนา

          2. โครงสร้างอาคารเปลี่ยนจากเครื่องไม้ก่อมาเป็นแบบคอนกรีตเสริมเหล็ก ในส่วนโครงสร้างหลักใช้เวลาก่อสร้างด้วยความรวดเร็ว เช่น เสา ขื่อ คาน เนื่องจากมีศรัทธาทุนทรัพย์มาก และได้ช่างฝีมือจากคุ้มหลวงเข้ามาร่วมด้วย ทำให้เกิดผลงานที่ผสมผสานระหว่างช่างพื้นบ้านที่ติดสอยห้อยตามครูบาเจ้าศรีวิชัยมา และช่างจากคุ้มหลวงที่เป็นเจ้าภาพอุปถัมภ์ กล่าวคือยังคงใช้โครงสร้างขื่อม้าต่างไหมอยู่เหมือนเดิม แต่มีการเปลี่ยนแปลงระเบียบในการลดชั้นหลังคาจากที่เคยชักชายปีกอ่อนช้อยลงต่ำ ให้แข็งตรงดูอ่อนโค้งน้อยลง เพื่อเน้นความมั่นคงแข็งแรง ในส่วนฝ้าเพดานทำการปิดทึบ บนฝ้าเพดานประดับด้วยลายฉลุปิดทองเป็นภาพเทพชุมนุม ในส่วนของผนังวิหารก่ออิฐฉาบปูนไปจนจรดขอบแป 

3. ในส่วนของหลังคามุงด้วยกระเบื้องเคลือบ ตกแต่งหน้าแหนบเป็นแบบผนังหุ้มกลอง แทนหน้าบันแบบขื่อม้าต่างไหม ตามที่รับอิทธิพลมาจากภาคกลาง ลวดลายภายในกรอบหน้าบันตกแต่งเต็มพื้นที่ ไม่มีการแบ่งช่องเป็นลูกฟักเล็กๆ มีลักษณะผสมผสานระหว่างลวดลายพื้นเมือง เช่น ลายดอกสับปะรด ลายเครือเถา และลวดลายพันธุ์พฤกษาอื่นๆ ที่ยังคงความเป็นล้านนาอยู่ ผสมผสานกับลวดลายที่ได้รับอิทธิพลจากภาคกลาง อาทิ ไอยราพต หนุมานต่อสู้กันเป็นคู่ๆ ในลักษณะที่เรียกว่า “ภาพจับ” ลายเทพนม ลายกระหนกช่อหางโต ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ ลายหน้ากาล (ราหูมุข) ลายหน้าเสือ (สิงหมุข) วัสดุที่พื้นหลังแผงหน้าแหนบ มีทั้งกระจกจืน หรือ “จืนดิบ” ของล้านนา และมีทั้งกระจกสีสมัยใหม่ ซึ่งเป็นการมาซ่อมเพิ่มภายหลัง

4. เสาภายในวิหารมีความพิเศษคือ ใช้เสาเหลี่ยมผสมเสากลม ประดับด้วยกระจกสีเป็นลวดลายประดิษฐ์แบบภาคกลางเช่นกัน อาทิ ลายเทพนม ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ บริเวณเสา ซุ้มประตู หน้าต่าง หน้าบัน คันทวย มีพัฒนาการในเรื่องเทคนิค โดยใช้วิธีการหล่อแบบพิมพ์ปูนเพื่อความรวดเร็ว จากนั้นระบายสีปิดทองและติดกระจก

          ภายในวิหารหลวงประดิษฐานพระปฏิมาองค์ใหญ่ก่ออิฐถือปูนลงรักปิดทองบนแท่นแก้วรวม 3 องค์ 2 องค์ซ้าย-ขวา เป็นของเก่าที่มีมาแต่เดิม ส่วนองค์กลางประธานที่ใหญ่ที่สุดนั้น สร้างใหม่โดยครูบาเจ้าศรีวิชัย และมีพระพุทธปฏิมาหล่อโลหะขนาดกลางสมัยล้านนาตอนต้นอีกหลายองค์ 

          สิ่งสำคัญภายในพระวิหารหลวงคือ “พระแก้วขาว” หรือ “พระเสตังคมณีศรีเมืองหริภุญไชย” ที่ประดิษฐานในบุษบก เป็นการจำลองจากพระแก้วขาวองค์เดิมของพระนางจามเทวี ซึ่งประดิษฐานอยู่ ณ วัดเชียงมั่น กับอีกองค์หนึ่งคือ “พระพุทธเจ้าน้อย” หรือเจ้าชายสิทธัตถะในปางประสูติ ยกพระหัตถ์ข้างหนึ่งขึ้นชี้ฟ้า อีกข้างหนึ่งชี้ลงดิน เป็นสัญลักษณ์ทรงประกาศว่า ขอเกิดเป็นพระชาติสุดท้ายแล้ว เป็นประติมากรรมสำริดขนาดเล็กที่ขุดค้นพบบริเวณฐานเจดีย์แม่ครัว คณะเชียงยัน 

หมายเหตุ ข้อมูลนำมาจากหนังสือชุด “ครูบาเจ้าศรีชัย” เล่มที่ 2 ตามรอยการปฏิสังขรณ์ ก่อสร้างปูชนียสถานโบราณวัตถุจังหวัดลำพูน เชียงใหม่ จัดพิมพ์โดยสมาคมชาวลำพูน ปี 2561 และ ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ เป็นผู้เขียน-บรรณาธิการ

1

ข่าวอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ส่งมอบรถใหม่ HyundaiSTARIA Premium with Sunroof (Euro5) สีขาว เป็นรถยนต์น่าใช้สำหรับครอบค...

เอชดีเจมอเตอร์ ฮุนไดเชียงใหม่ โดยที่ปรึกษาการขายเซลส์มุ้ย ร่วมแสดงความยินดีพร้อมส่งมอบรถใหม่ให้กับคุณแคทริน อินต๊ะมา เป็นรถยนต์ ฮุนไดSTARIA Premium with Sunroof (Euro5) สีขาว ขอขอบคุณที่ให้เกียรติมาเป...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 16 ม.ค. 2568, 18:44
  • |
  • 59

ส่งมอบไปอีก 1 คันแล้ว สำหรับรถยนต์ Hyundai STARGAZER X6 สีบรอนทอง สุดสวย ที่ผ่านมา

ส่งมอบรถใหม่ให้กับลูกค้า ที่ปรึกษาการขาย เอชดีเจ มอเตอร์ ฮุนไดเชียงใหม่ เซลส์แนน ร่วมแสดงความยินดีพร้อมส่งมอบรถใหม่ให้แก่คุณวิระดา ชวลิต Hyundai STARGAZER X6 สีบรอนทอง ออกไปจากโชว์รูม เอชดีเจมอเตอร์ ท...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 11 ม.ค. 2568, 14:08
  • |
  • 94

ส่งมอบรถใหม่ Hyundai CRETA ALPHA สีดำ เป็นรถยนต์น่าใช้สำหรับครอบครัว

 เอชดีเจมอเตอร์ ฮุนไดเชียงใหม่ โดยที่ปรึกษาการขายเซลส์แนน ร่วมแสดงความยินดีพร้อมส่งมอบรถใหม่ให้กับคุคุณ KYUNG HEE LEE เป๋ฯรถยนต์ Hyundai CRETA ALPHA สีดำ ขอขอบคุณที่ให้เกียรติมาเป็นครอบครัวฮุนได...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 8 ม.ค. 2568, 12:35
  • |
  • 107

ส่งมอบรถใหม่ Hyundai STARGAZER Smart 6 With Black Roof สีแดง เป็นรถยนต์น่าใช้สำหรับครอบคร...

เอชดีเจมอเตอร์ ฮุนไดเชียงใหม่ โดยที่ปรึกษาการขายเซลส์แนน ร่วมแสดงความยินดีพร้อมส่งมอบรถใหม่ให้กับคุณเอนก ชิตเกษร Hyundai STARGAZER Smart 6 With Black Roof สีแดง ขอขอบคุณที่ให้เกียรติมาเป็นครอบครัวฮุนไ...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 3 ม.ค. 2568, 10:17
  • |
  • 191

เหลืออีกสองวัน Lanna Auto Sale 18-25 ธันวา 67 ที่เซ็นทรัลเ แอร์พอร์ต รถไฟฟ้าน่าใช้ราคาน่าต...

กระแสรถยนต์ไฟฟ้าในบ้านเราเริ่มได้รับความสนใจจากผู้ใช้คนเมืองมากขึ้นทุกวัน ตามท้องถนนในเชียงใหม่ทุกวันนี้รถที่ขับไปขับมาสังเกตุดูได้เลยต้องมีรถยนต์ไฟฟ้าชับสวนมาหรือขับตามเรามาหลากหลายรุ่น นั่นแสดงถึงรถ...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 24 ธ.ค. 2567, 13:13
  • |
  • 220

อีซูซุ ศาลา เชียงใหม่ จัด ISUZU 2.2 Ddi MAXFORCE พลังแรง ท้าลอง ในศูนย์ประชุมนานาชาติเชียง...

ใกล้สิ้นปีหลายค่ายรถยนต์จัดงานอีเว้นท์กันตลอดทั้งเดือน โดยเฉพาะค่ายอีซูซุที่มีรถยนต์ออกใหม่ทั้งเครื่องยนต์ใหม่ แรงขึ้น เร็วขึ้น วันนี้เราพาท่านไปเที่ยวชมงานนี้กันซึ่งจัดขึ้นภายในศูนย์ประชุมนานาชาติเชี...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 22 ธ.ค. 2567, 16:33
  • |
  • 236
Sytiq Company

ออกแบบพัฒนาโปรแกรมและแอพลิเคชั่น

โดยบริษัทไซทิค ติดต่อ:0819507128

Sytiq Company

ออกแบบและติดตั้ง Home Automation

โดยบริษัทไซทิค ติดต่อ:0819507128