ครูบาเจ้าศรีวิชัยกับการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระธาตุหริภุญชัย (ตอนจบ)

ข่าวศิลปวัฒนธรรม , 27 ส.ค. 2566, 14:32

ครูบาเจ้าศรีวิชัยกับการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระธาตุหริภุญชัย (ตอนจบ)

       ฉบับนี้จะพาท่านผู้อ่านไปรู้จักกับเสนาสนะที่เหลืออีกหลายหลังที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยทำการปฏิสังขรณ์ใหม่ ณ วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร ได้แก่อุโบสถภิกษุณี วิหารมหากัจจายน์ อุโบสถพระเจ้าทองทิพย์ วิหารพระพุทธบาทสี่รอยจำลอง และหอพระไตรปิฎก ฯลฯ

อุโบสถภิกษุณี 

          เอกสารจดหมายเหตุ เจ้าคณะมณฑลพายัพ รายงานการก่อสร้างถาวรวัตถุของครูบาเจ้าศรีวิชัยในมณฑลพายัพ ระหว่างปี พ.ศ. 2473-2475 ต่อเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการ ระบุถึงปีที่สร้างอุโบสถคณะอัฏฐารส (ในเอกสารใช้คำว่า “อุโบสถวัดอัฏฐารส”) ว่าอยู่ระหว่าง พ.ศ. 2473-2475 คือสร้างหลังจากเสนาสนะหลังอื่นๆ นานนับ 10 ปี ใช้เงินค่าก่อสร้าง 6,389 รูเปีย 46 สตางค์

                คนลำพูนมักเรียกว่า “วิหารน้อย” ตั้งอยู่หน้ามณฑปพระอัฏฐารส 

                เป็นวิหารขนาดเล็กที่แสดงสัญลักษณ์ของครูบาเจ้าศรีวิชัยอย่างชัดเจน บนหน้าบันมีลายรูปเสือทำจากไม้แกะสลักปิดทอง 

                “อุโบสถภิกษุณี” แม้ปัจจุบันไม่มีหน้าที่ใช้สอยใดๆ แต่อย่างน้อยที่สุดหลักฐานชิ้นนี้สะท้อนให้เห็นว่า ในภาคเหนือได้มีการพบอุโบสถที่แสดงถึง การอนุญาตให้สตรีได้มีโอกาสบวชเรียนเป็นภิกษุณีได้อยู่ถึงสองแห่งคือ โบสถ์ภิกษุณีที่วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร และที่ “อุโบสถสองสงฆ์” วัดพระสิงห์ เชียงใหม่ 

วิหารมหากัจจายน์ หรือวิหารพระเจ้าปุ๋มผะหญา

          พระสังกัจจายน์นี้มีมาแล้วตั้งแต่สมัยล้านนา ดังปรากฏหลักฐานในโคลงนิราศหริภุญไชย ที่มีการกล่าวถึงดังนี้

สำนวนฉบับพื้นเมืองเชียงใหม่ กล่าวว่า

                   นาภีสมสวดสร้าง          กระจาย

          ปูอาสน์อิงเขนยหลาย               ลูกซ้อน

          เทียนทุงพี่ถือถวาย                  เคนคู่ องค์เอ่

          ก็เท่าทิพเจ้าจ้อน                    เอกอ้างปณิธา

สำนวนฉบับหอสมุดแห่งชาติ กล่าวว่า

                   นาภีสมสอดสร้าง          มหากระจาย

          ปูอาสน์อิงทะเพิมหลาย              ลูกช้อน

          เทียนทุงทิพถือถวาย                 เคนคู่ อวรเอย

          พอเท่าทีปเจ้าซ้อน                   เอกอ้างปณิธาน์

         พระสังขจายหรือชาวล้านนาเรียก “สังกัจจายน์” กวีได้รจนาไว้ว่า สร้างในลักษณะมีท้องนูนขึ้น มีเครื่องปูลาดสำหรับนั่งและมีหมอนอิงซ้อนกันหลายลูก ความนิยมในการนับถือพระสังกัจจายน์มีขึ้นมาแล้วตั้งแต่สมัยหริภุญไชย 

คร่าวประวัติครูบาเจ้าศรีวิชัย ของพระภิกษุท้าวสุนทรพจนกิจ ได้พรรณนาการสร้างวิหารพระมหากัจจายน์ ดังนี้

                “สร้อยพระวิหาร สาวกองคะ                            หลังนึ่งหั้นเนอนาย

                มุงรูปพระ มหากัจจาย                                       สถิตส่ำบาย ต่อไปเบื้องหน้า”

               นอกจากนี้แล้ว คัมภีร์ใบลานเขียนด้วยอักษรธัมม์ล้านนา โดยสามเณรอินตา สัดป่าตึงหลวง จังหวัดเชียงใหม่ ปี 2472 ปริวรรตโดย ชัยวุฒิ ไชยชนะ ยังมีการกล่าวถึงอาคารอีกหลังหนึ่งในวัดพระธาตุหริภุญชัยว่า สร้างโดยครูบาเจ้าศรีวิชัย ใช้คำว่า “วิหารอัคคะสาวักกะ” น่าจะหมายถึง พระมหากัจจายนะ ผู้เป็นหนึ่งในเอกอัครสาวกของพุทธองค์

ส่วนสิ่งก่อสร้างที่ชื่อว่า “โรงกุฏิครูบาคันธา” ในคณะอัฏฐารส ซึ่งเป็นอีกหนึ่งผลงานของครูบาเจ้าศรีวิชัย เคยใช้เป็นเมรุวางศพของครูบาคันธา เจ้าคณะอัฏฐารส เข้าใจว่าคงรื้อไปแล้ว ครูบาคันธา คนฺธาโร เป็นผู้ดูแลครูบาเจ้าศรีวิชัยในห้วงเวลา 2 ปี ระหว่างถูกจองจำในการต้องอธิกรณ์ครั้งที่ 3 ที่คณะอัฏฐารส ช่วงเวลานั้นเองที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยได้มีโอกาสเล่าเรียนเขียนอ่านตัวอักขระล้านนาภาษาบาลีเพิ่มเติมจากคัมภีร์ใบลานอันทรงคุณค่าที่เก็บรักษาในหอธรรมวัดพระธาตุหริภุญชัย ครั้นเมื่อครูบาคันธามรณภาพแล้ว ความผูกพันที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยเคยมีต่อครูบาคันธาในช่วง 2 ปี ทำให้ครูบาเจ้าศรีวิชัยรับเป็นเจ้าภาพทำโรงกุฏิ คล้ายศาลาตั้งเมรุสวดศพ เพื่อถวายเป็นสังฆบูชาให้แก่ครูบาคันธาด้วย

อุโบสถพระเจ้าทองทิพย์

          อยู่นอกกำแพงวัดด้านทิศตะวันออก เป็นพระอุโบสถขนาดใหญ่ บรรจุพระสงฆ์ได้ไม่ต่ำกว่า 100 รูป มีมุขยื่นด้านหน้า หลังคาซ้อนกัน 2 ชั้น มีระเบียงเปิดพาไลด้านเหนือ – ใต้แบบรัตนโกสินทร์ ภายในมีค้ำยันรูปหนุมานสู้กัน

          พระเจ้าทองทิพย์ พระประธานหล่อสำริดลงรักปิดทอง ศิลปะล้านนาสร้างราวสมัยพระเจ้าติโลกราชถึงสมัยพระญายอดเชียงราย ประดิษฐานในมณฑปโขงพระเจ้า ซึ่งพลตรี เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ ได้อัญเชิญพระพุทธรูปองค์นี้มาจากวัดหนองหนาม ตำบลบ้านแป้น อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน พระอุโบสถนี้ใช้เป็นที่ประชุมสงฆ์ครั้งใหญ่ในฤดูเข้าพรรษาและออกพรรษา โดยภิกษุสงฆ์เขตตำบลในเมืองทั้งหมดจะมาประชุมกันเป็นปกติทุกปี

ครูบาเจ้าศรีวิชัยจำพรรษาอยู่ที่คณะเชียงยันนานหลายปี คล้ายเป็นพระอารามประจำอีกแห่ง หรือกุฏิอีกหลังหนึ่งของครูบาเจ้าศรีวิชัย เมื่อต้องเดินทางแวะผ่านเข้าตัวเมืองลำพูน แม้ไม่ปรากฏหลักฐานว่าครูบาเจ้าศรีวิชัยได้ทำการบูรณะเสนาสนะหลังใดหรือไม่ในเขตปกครองของคณะเชียงยัน แต่เมื่อพิจารณาจากรูปแบบสถาปัตยกรรมของพระอุโบสถพระเจ้าทองทิพย์แล้ว ไม่ว่าการทำพาไล (เสารองรับปีกหลังคา) ด้านนอกพระอุโบสถ หรือลวดลายหน้าบันที่ทำเป็นรูปช้างเอราวัณ 3 เศียร มีพระมหาพิชัยมงกุฎอยู่ตอนบน รวมทั้งการใช้ค้ำยันไม้แกะสลักเป็นรูปหนุมานทั้งภายในและภายนอกพระอุโบสถ พบว่าทั้งหมดนี้เป็นผลงานในกระบวนงานช่างของครูบาเจ้าศรีวิชัย

ยังมีเสนาสนะอีกจำนวนมากภายในวัดพระธาตุหริภุญชัย ที่แม้ไม่มีการระบุในเอกสารลายลักษณ์ว่าเป็นผลงานของครูบาเจ้าศรีวิชัยหรือไม่ แต่จากรูปแบบศิลปกรรมนั้น พบว่ายากที่จะปฏิเสธ ได้แก่ หอพระไตรปิฎก (หอธรรมหลวง) และวิหารพระบาทสี่รอย 

อนึ่ง ในช่วงบั้นปลายชีวิตของครูบาเจ้าศรีวิชัยหลังจากการต้องอธิกรณ์ครั้งสุดท้าย และได้จำพรรษาอยู่ที่วัดจามเทวี ระหว่าง ปี 2479-2481 กระทั่งมรณภาพนั้น แทบไม่มีการบันทึกหลักฐานด้านเอกสารลายลักษณ์อีกเลยว่าท่านไปก่อสร้างหรือบูรณปฏิสังขรณ์ที่วัดใดอีกบ้าง ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง ท่านยังได้สร้างผลงานอย่างต่อเนื่องไม่เคยขาด และจากทำเลที่ตั้งของวัดจามเทวีไปวัดพระธาตุหริภุญชัยนั้นอยู่ในระยะที่ใกล้กันมาก กอปรกับวัดพระธาตุหริภุญชัยเป็นวัดที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยมีความคุ้นเคยเป็นอย่่างดีมาก่อนแล้ว จึงเชื่อว่ายังมีเสนาสนะอีกหลายชิ้นที่เป็นผล

งานการบูรณะของท่าน

วิหารพระพุทธบาทสี่รอยจำลอง

          ตั้งอยู่หลังวิหารพระพุทธ มุมทิศตะวันตกเฉียงใต้ของพระบรมธาตุ สร้างขึ้นภายหลังจากการบูรณปฏิสังขรณ์พระวิหารหลวงซึ่งถูกพายุถล่ม แม้ไม่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรว่า เป็นหนึ่งในผลงานที่สร้างโดยครูบาเจ้าศรีวิชัย แต่จากคำบอกเล่าของศรัทธาภายในวัดยืนยันว่า วิหารดังกล่าวเป็นแนวคิดที่สอดคล้องกับความเชื่อของครูบาเจ้าศรีวิชัยอย่างไม่ต้องสงสัย นั่นคือการให้ความเคารพต่อคติ “พระพุทธบาทสี่รอย” ตามตำนานพระเจ้าเลียบโลก ซึ่งเชื่อว่าในภัทรกัปนี้ มีพระพุทธเจ้าทั้งหมดห้าพระองค์ ที่ผ่านมาได้โปรดเวไนยสัตว์แล้วจำนวนทั้งสิ้นสี่พระองค์ ได้แก่ พระกกุสันโธ พระโกนาคมน์ พระมหากัสสปะ และพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโคตมะ องค์ปัจจุบัน ซึ่งชาวล้านนาเชื่อว่าเมื่อถึงยุคพระศรีอาริย์ หรืออนาคตพุทธเจ้าองค์ที่ห้า รอยพระบาททั้งสี่รอยนี้จักหลอมรวมกลายเป็นรอยเดียว โดยมีการจำลองรูปแบบมาจากที่วัดพระพุทธบาทสี่รอย อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ 

          ลวดลายบนหน้าบันของวิหารพระพุทธบาทสี่รอยจำลอง แกะสลักไม้ระบายสีทองบนพื้นหลังกระจกจืนเป็นรูปเทพนมอยู่ตอนกลาง ท่ามลายพันธุ์พฤกษาช่อกระหนกหางโต มีหนุมานหรือหอรมาน 4 ตัว 

หอพระไตรปิฎก 

          ทางภาคเหนือเรียกว่า  “หอธรรมหลวง ตั้งอยู่ทิศตะวันออกเฉียงใต้ขององค์พระธาตุหริภุญไชย มีประวัติการก่อสร้างปรากฏตามหลักฐาน “ศิลาจารึกหริปุญชปุรี” พบที่วัดพระธาตุหริภุญชัยเลขทะเบียน ลพ.15 ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่ห้องจัดแสดงของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญไชย ว่าสร้างโดยพระเมืองแก้ว (พ.ศ. 2038- 2068) กษัตริย์ผู้ครองเมืองเชียงใหม่พร้อมด้วยพระราชมารดา

          ลักษณะการสร้างหอไตรทรงสูงบนผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าเช่นนี้ ถือว่าเป็นรูปแบบเฉพาะของหอธรรมล้านนา สิ่งที่เป็นผลงานการบูรณะหอธรรมหลวงของครูบาเจ้าศรีวิชัยปรากฏอยู่ในส่วนต่างๆ ดังนี้คือ การทำรูปหน้ากาลหรือราหู ผู้พิทักษ์ศาสนสถานบนหน้าบัน รูปเทวดาประนมกรหรือเทวดายืนแท่นถือพระขรรค์ที่บานพระทวาร  การตกแต่งผนังอาคารด้วยดอกไม้ทิพย์อยู่ในกรอบลายพุ่มข้าวบิณฑ์ หมายถึงความอุดมสมบูรณ์ 

ในยุคที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยได้มีการต่อเติมซ่อมเสริมในส่วนของปูนปั้นที่สองข้างบันไดนาคทางขึ้นชั้นบนนั้น ได้มีการนำรูปตัว “สิงห์มอม” สัตว์ผสมระหว่างแมว เสือ สุนัข ซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากประเทศจีน มาประดับไว้ที่ผนังด้านข้างบันได มอมเป็นสัตว์ในจินตนาการที่นิยมทำในหมู่ชาวไทลื้อ-ไทยองจากสิบสองปันนาและรัฐฉาน

 หมายเหตุ ข้อมูลนำมาจากหนังสือชุด “ครูบาเจ้าศรีชัย” เล่มที่ 2 ตามรอยการปฏิสังขรณ์ ก่อสร้างปูชนียสถานโบราณวัตถุจังหวัดลำพูน เชียงใหม่ จัดพิมพ์โดยสมาคมชาวลำพูน ปี 2561 และ ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ เป็นผู้เขียน-บรรณาธิการ

7

ข่าวอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ใกล้เข้ามาแล้ว งานใหญ่ของคนซื้อรถ LANNA MOTOR SHOW รถใหม่ โปรจัดเต็ม 7-13 พ.ค.67 ที่ลานโปร...

โปรจัดเต็ม ของงานนี้มีอะไรบ้างท่านต้องแวะมาดูเอง จัดไม่ใกล้ไม่ไกลที่ลานโปรโมชั่น เซ็นทรัล เชียงใหม่ ( เซ็นเฟสฯ )ทำเลทองค่ายรถยนต์มากันที่นี่เกือบครบทั้งรถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์เครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมัน ให้ท...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 2 พ.ค. 2567, 08:02
  • |
  • 83

พบกับ อีซูซุศาลาเชียงใหม่ ที่ “CNX Tattoo Festival” งานแสดงรอยสักและประกวดรอยสักแห่งภาคเหน...

พบกับ อีซูซุศาลาเชียงใหม่ ที่ “CNX Tattoo Festival” งานแสดงรอยสักและประกวดรอยสักแห่งภาคเหนือ ครั้งที่1  งานนี้นอกจากจะเจอกับเหล่าช่างสักระดับ Professional ทั่วโลกแล้ว  เรายังพา Isuzu X-serie...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 1 พ.ค. 2567, 17:15
  • |
  • 71

พบน้อง MC น่ารักในงาน LANNA MOTOR SHOW 7-13 พค.2567 ณ ลานโปรโมชั่น เซ็นทรัลเฟสฯเชียงใหม่

 งานลานนา มอเตอร์โชว์ 2024 ณ.ลานโปรโมชั่น ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เฟสติวัล เชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 7-13 พฤษภาคม 2567 เป็นงานแสดงรถยนต์ครั้งยิ่งใหญ่ในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ รถใหม่ โปรจัดเต็ม ทุกรุ่น วัน...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 30 เม.ย. 2567, 07:56
  • |
  • 141
  • |
  • 1

ส่งมอบรถใหม่ Hyundai H-1 Elite FE สีขาว เป็นรถยนต์น่าใช้สำหรับครอบครัว

ที่ปรึกษาการขาย เอชดีเจมอเตอร์ ฮุนไดเชียงใหม่ เซลส์มุ้ย ร่วมแสดงความยินดีพร้อมส่งมอบรถใหม่ให้แก่ คุณเดชธีรรัตน์ ตระกูลศิวาโมกข์ Hyundai H-1 Elite FE สีขาวขอขอบคุณที่ให้เกียรติมาเป็นครอบครัวฮุนได สอบถา...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 27 เม.ย. 2567, 05:07
  • |
  • 54

ส่งมอบรถใหม่ Hyundai STARIA Style สีเทา เป็นรถยนต์น่าใช้สำหรับครอบครัว

ที่ปรึกษาการขาย เอชดีเจมอเตอร์ ฮุนไดเชียงใหม่ เซลส์มุ้ย ร่วมแสดงความยินดีพร้อมส่งมอบรถใหม่ให้แก่ คุณกรณ์กาญจน์ สุทธะป๊อก Hyundai STARIA Style สีเทา ขอขอบคุณที่ให้เกียรติมาเป็นครอบครัวฮุนได สอบถามรายละ...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 25 เม.ย. 2567, 15:26
  • |
  • 65

ส่งมอบรถใหม่ Hyundai Creta Style Plus สีขาว เป็นรถยนต์น่าใช้สำหรับครอบครัว

ที่ปรึกษาการขาย เอชดีเจมอเตอร์ ฮุนไดเชียงใหม่ เซลส์มุ้ย ร่วมแสดงความยินดีพร้อมส่งมอบรถใหม่ให้แก่ คุณทักษิณานันท์ ดอนชัย Hyundai Creta Style Plus สีขาว ขอขอบคุณที่ให้เกียรติมาเป็นครอบครัวฮุนได สอบถามรา...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 24 เม.ย. 2567, 18:27
  • |
  • 69
Sytiq Company

ออกแบบพัฒนาโปรแกรมและแอพลิเคชั่น

โดยบริษัทไซทิค ติดต่อ:0819507128

Sytiq Company

ออกแบบและติดตั้ง Home Automation

โดยบริษัทไซทิค ติดต่อ:0819507128