เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2566 วิทยาลัยนานาชาตินวัตกรรมดิจิทัล มช. ร่วมกับ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จัดการแข่งขัน “Hackathon 44HRs.” ทั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เป็นประธานเปิดการแข่งขัน Hackathon 44HRs.: Cross Border E-Commerce to China ภายใต้โครงการ The Strengthening Entrepreneurs in LMC for Route Number 1 Innovation Corridor Development และมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รุจิรา อุ่นเจริญ คณบดีวิทยาลัยนานาชาตินวัตกรรมดิจิทัล มช. กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ของโครงการ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธัญญานุภาพ อานันทนะ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวต้อนรับคณะผู้บริหารจากภาคการศึกษา ภาคธุรกิจ จากประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน คณะกรรมการตัดสิน นักการตลาดดิจิทัล และแขกผู้มีเกียรติ พร้อมกล่าวถึงอนาคตของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในการเป็นผู้นำในการสร้างผู้ประกอบการและสร้างความเจริญเติบโตสำหรับสงคมไทย ผ่านโครงการ BUILDS โดยมีเป้าหมายในการพัฒนานักศึกษากว่า 4,200 คนในการริเริ่มธุรกิจและนวัตกรรมของตนเอง และโอกาสในการทำงานร่วมกับนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญในภาคอุตสาหกรรมเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่รองรับความต้องการของตลาด อีกทั้งยังมีโอกาสในการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศทั้งในภาคการศึกษา การวิจัย และภาคอุตสาหกรรม โครงการนี้จะส่งเสริมให้นักศึกษาได้รับประสบการณ์ที่มีคุณค่าในการทำธุรกิจในระดับนานาชาติ
ด้าน ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวถึงการแข่งขัน Hackathon 44HRs นี้ว่า โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการในกลุ่มประเทศสมาชิกกรอบความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขง เพื่อรองรับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจนวัตกรรม เป็นความร่วมมือระหว่าง สอวช. และวิทยาลัยนานาชาตินวัตกรรมดิจิทัล โดยวันนี้เป็นการแข่งขัน Hackathon 44 HRs. และขอแสดงความยินดีกับนักการตลาดดิจิทัลทั้ง 9 ทีม ที่ผ่านการคัดเลือกเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศนี้การประยุกต์ใช้นวัตกรรมเพื่อการค้าข้ามชาติเป็นสิ่งสำคัญในโลกยุคปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และทำให้เกิดโอกาสและการเติบโตใหม่อย่างยั่งยืน โครงการนี้ตรงกับพันธกิจของ สอวช. ที่สนับสนุนการใช้นวัตกรรมในทางธุรกิจและเสริมสร้างระบบนวัตกรรมในประเทศไทย สอวช. ขอขอบคุณ วิทยาลัยนานาชาตินวัตกรรมดิจิทัล (ICDI) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สำหรับความพยายามที่ทำให้โครงการนี้สำเร็จไปได้ด้วยดี และความสำเร็จนี้จะนำไปสู่อนาคตของสังคมไทยที่เห็นความสำคัญของนวัตกรรมและการค้าข้ามชาติ และได้กล่าวขอบคุณทุกท่านที่มีส่วนเกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รุจิรา อุ่นเจริญ คณบดีวิทยาลัยนานาชาตินวัตกรรมดิจิทัล กล่าวว่า Hackathon เป็นการแข่งขันที่มีศักยภาพสำหรับการพัฒนาธุรกิจ SMEs ในประเทศไทย โดยนักการตลาดดิจิทัลจะต้องพัฒนาแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่เหมาะสม สอดคล้องกับความต้องการ พฤติกรรมของผู้บริโภคในจีน เพื่อสนับสนุนการขายของออนไลน์ไทยไปจีน การแข่งขันนี้จะเป็นต้นแบบสำคัญที่สร้างโอกาสให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างโลกดิจิทัลกับธุรกิจ ผู้เข้าร่วมการแข่งขันไม่เพียงแต่จะได้รับรางวัลเงินสดเท่านั้น แต่ยังเป็นโอกาสในการสร้างธุรกิจดิจิทัลจริงในอนาคตด้วย
สำหรับการแข่งขัน Hackathon 44HRs นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างนักการตลาดดิจิทัลในการส่งออกสินค้าไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีนผ่าน Cross Border E-Commerce ภายในระยะเวลา 7 เดือน จากเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนสิงหาคม 2566 โดยมีจำนวนทีมทั้งหมด 9 ทีมที่ผ่านเข้ารอบสุดท้าย ในการแข่งขัน Hackathon วันที่ 1-3 กันยายน 2566 นี้ มีรางวัลสำหรับผู้ชนะเลิศและผู้รองชนะเลิศดังนี้:
ทีมชนะเลิศ: รางวัลเงินรวมมูลค่า 520,000 บาท
ทีมรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง: รางวัล 140,000 บาท
ทีมรองชนะเลิศอันดับสอง: รางวัล 100,000 บาท
ทีมที่เข้ารอบ: รางวัลทีมละ 35,000 บาท
นอกจากนี้ในระหว่างการแข่งขันนี้ ผู้เข้าแข่งขันได้รับการแบ่งปันความรู้จากวิทยากรรับเชิญในหัวข้อที่แตกต่างกัน เพื่อเสริมสร้างความรู้และทักษะในด้านการตลาดดิจิทัลและ Cross Border E-Commerce ด้วยความเชี่ยวชาญของพี่เลี้ยง (Mentor) และผู้เชี่ยวชาญในวิทยากรต่าง ๆ ที่เข้าร่วมงานดังกล่าวในวันที่ 1-2 กันยายน 2566 นี้ที่ CMU Builds