เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STeP) ให้การต้อนรับ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วยคณะรัฐมนตรี ในโอกาสลงพื้นที่เยี่ยมอุทยานฯ เพื่อร่วมพูดคุยกับคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ ถึงประเด็นเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว ระบบขนส่งคมนาคมสังคมและสิ่งแวดล้อม (PM 2.5) พร้อมพบปะกลุ่มผู้ประกอบการ เพื่อรับฟังปัญหาภาพรวมของจังหวัดเชียงใหม่ และส่งเสริมผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (Startup) ณ The Brick X @nsp อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ (จังหวัดเชียงใหม่)
ในโอกาสนี้ ผศ.ดร.เกษมศักดิ์ อุทัยชนะ รองผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้นำเสนอผลการดำเนินงานอุทยานฯ ที่มุ่งหมายเป็นหน่วยบ่มเพาะแนวหน้า ในการสร้างผู้ประกอบการเทคโนโลยีรุ่นใหม่ ผ่านกลไกการเชื่อมโยงโอกาสต่างๆ พร้อมกับการสร้างระบบนิเวศ (Startup Ecosystem) ที่เอื้อให้ผู้ประกอบการในพื้นที่ภาคเหนือ ที่อยู่ในระบบการฟูมฟักของอุทยานฯ ให้สามารถเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง ผ่านโปรแกรม Basecamp24 ที่เปรียบเสมือนการเป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาทุกย่างก้าวของการดำเนินธุรกิจ ในการนี้ STeP นำทีมผู้ประกอบการสตาร์ทอัพภายใต้การดูแล เข้าร่วมนำเสนอ Startup Case ที่เติบโตจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แก่นายกรัฐมนตรีและคณะ ซึ่งประกอบด้วย บริษัท บีนีท จำกัด, บริษัท สยามโนวาส จำกัด, บริษัท ลอจิกซ์เอด จำกัด และบริษัท ฮอร์แกไนซ์ จำกัด
โดยเหล่าผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ ได้นำเสนอประเด็นที่อยากให้ภาครัฐเข้ามามีบทบาทในการสนับสนุนและช่วยส่งเสริม ดังนี้ 1) การพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และภาคเหนือ Creative Economy เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ และช่วยให้เกิดการจ้างงานที่มีมูลค่าสูงในพื้นที่ 2) สนับสนุนการพัฒนาทักษะแห่งอนาคต (Future Skill Set) ของเยาวชนไทย ผ่านระบบการศึกษาด้วยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมของคนไทย และ 3) การสนับสนุนการลงทุนในสตาร์ทอัพไทย โดยดึงความร่วมมือนักลงทุนจากทั้งในและนอกประเทศ เข้ามาร่วมกับภาครัฐมากขึ้น
ด้าน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ กล่าวรับข้อเสนอแนะจากกลุ่มผู้ประกอบการว่า รัฐบาลได้ให้การสนับสนุนผ่านกลไกกองทุนร่วมลงทุน (Matching Fund) โดยผสานภาครัฐให้เข้ามามีส่วนร่วมลงทุนควบคู่กับภาคเอกชน และกลุ่มนักลงทุนขนาดใหญ่จากทั้งในประเทศและต่างประเทศมากขึ้น เพื่อสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพของประเทศไทย และผลักดันให้เกิดการสร้างสตาร์ทอัพไทยที่สามารถเติบโตไกลถึงระดับโลก ก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้อย่างมหาศาล พร้อมกันนี้ นายกฯ ยังเล็งเห็นว่า ควรผลักดันจังหวัดเชียงใหม่ ให้เป็นพื้นที่ที่สามารถดึงดูดนักลงทุน ผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงกลุ่มนักธุรกิจชาวต่างชาติ โดยเฉพาะกลุ่ม Digital Nomad เข้าสู่ประเทศไทยผ่านวีซ่าที่รัฐบาลให้การสนับสนุน และอำนวยความสะดวกให้ผู้ถือวีซ่าประเภทนี้ ได้เข้ามาลงทุนหรือดำเนินธุรกิจในพื้นที่ และสามารถแลกเปลี่ยนมุมมอง ความรู้ ความเชี่ยวชาญในสายงานร่วมกับธุรกิจไทย และยกระดับเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ให้มีอัตราการเติบโตเติบสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวเสริม ถึงความสำคัญของการพัฒนางานวิจัยจากรั้วมหาวิทยาลัยว่า ประเทศไทยควรให้การส่งสริมและสนับสนุนด้านการสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทั้งการสร้างคนที่มีศักยภาพสูง จากมหาวิทยาลัย ถือเป็นฐานรากสำคัญของการกำเนิดสตาร์ทอัพคนรุ่นใหม่ หรือการเกิดธุรกิจตั้งต้นใหม่ ที่จะนำไปใช้ประโยชน์ร่วมกับภาคเศรษฐกิจ และสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงเศรษฐกิจของประเทศได้ในอนาคต ซึ่งสตาร์ทอัพที่ได้รับการสนับสนุนเหล่านี้ จะสามารถแข่งขันเข้าสู่ตลาดโลกและเติบโตได้อย่างยั่งยืน
นายกฯ กล่าวทิ้งท้าย ด้วยการฝากถึงสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ว่า สิ่งสำคัญที่ทุกธุรกิจต้องมี คือ ความทะเยอทะยาน (Ambition) หมั่นขวนขวาย แสวงหาความรู้ และโอกาสเพิ่มเติมอยู่เสมออย่างไม่หยุดนิ่ง เพื่อให้ประสบผลสำเร็จตามสายงานนี้ ที่จะเกิดการแข่งขันต่อไปในระดับโลกต่อไป โดยสื่อสารผ่าน “BIG IDEA” ซึ่งจุดประกายทางความคิดที่ยิ่งใหญ่ของการทำธุรกิจ มีการตั้งเป้าหมายในการทำให้ธุรกิจเติบโตไประดับโลก มีมุมมองด้านการทำธุรกิจนั้นอย่างรวดเร็วและเฉียบแหลม ตั้งอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง เพื่อเป็นแรงกระตุ้น ดึงดูดให้กลุ่มนักลงทุนระดับโลกได้เข้ามาร่วมลงทุนในธุรกิจ ผลักดันให้ก้าวไปสู่การแข่งขันในตลาดโลกได้มากยิ่งขึ้น