เมื่อวันที่ 27 สิงหาคมที่ผ่านมา ดิฉันได้จัดโครงการอบรมประวัติศาสตร์ล้านนาเพื่อการท่องเที่ยวให้กับสมาคมสหพันธ์ท่องเที่ยวภาคเหนือจังหวัดลำพูน (สสทน.ลำพูน) ในหัวข้อ “ทิศตะวันตกแห่งนครหริภุญไชย” หรือ “ปัจจิมทิศนครลำพูน” ด้วยการบรรยายทฤษฎีภาคเช้าในห้องประชุมวัดมหาวัน แล้วพาผู้เข้าอบรมลงพื้นที่ทัศนศึกษาโบราณสถานสำคัญทั้ง The Must & Unseen ที่มีความเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์หริภุญไชย ที่ตั้งอยู่โซนทิศตะวันตกทั้งหมด ประกอบด้วย ตัววัดมหาวันเอง กู่พระรบ หนองสะเหน้า หนองน้ำจามเทวี ศาลพระแม่นั่งเมือง กู่พระญาทิพย์ และวัดจามเทวี
จุดเด่นอันหนึ่งของการบรรยายเรื่องศิลปวัตถุที่พบในโซนทิศตะวันตกของนครลำพูนนั้น คือการพบสิ่งที่เรียกกันว่า “พระสิกขี” มีทั้งที่วัดมหาวัน และวัดจามเทวี
“พระสิกขี ” คือใคร หรือคืออะไร?
แน่นอนว่าเมื่ออ่านเผินๆ แล้วหลายท่านย่อมประหวัดนึดถึงนามของ "พระสิขีพุทธเจ้า" ในมัณฑกัป อดีตพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง ในบรรดา 28 พระองค์
แต่สิ่งที่กำลังจะนำเสนอนี้ ไม่เกี่ยวข้องอันใดกับพระอดีตพุทธผู้มีนามเดียวกันนั้น แม้จะสะกดแตกต่างกันเล็กน้อย
ทว่า ดิฉันกำลังกล่าวถึงโบราณวัตถุที่สร้างด้วยดินเผาหรือปูนปั้นประเภทหนึ่ง ซึ่งคนในวงการพระเครื่องเรียกกันว่า “พระสิกขีพิมพ์พระนางจามเทวี” ข้อสำคัญเราพบเฉพาะที่เมืองลำพูนเท่านั้น หรืออย่างมากก็พบในกลุ่มเมืองโบราณฟากตะวันตกของแม่น้ำปิงที่เป็นเมืองบริวารของหริภุญไชย เช่น เวียงมโน เวียงท่ากาน และเวียงเถาะ แค่ไม่กี่แห่ง
ในขณะที่สายตาของนักสะสมมองพระสิกขีเป็นพระเครื่องประเภทหนึ่ง แต่ในทางประวัติศาสตร์ศิลปะแล้ว นักโบราณคดีตระหนักชัดว่า พระสิกขีนั้น แท้จริงคือชิ้นส่วนประติมากรรมรูปบุคคลที่ใช้ประดับสถูปที่ปลายกรอบซุ้มจระนำ ในทำนองเทวดา สัตว์หิมพานต์ หรือทวารบาลเฝ้าศาสนสถานมากกว่า
อะไรบ้างเล่าที่นับว่าเป็นพระสิกขี
พระสิกขีมีหลายรูปแบบ โดยเฉลี่ยมีขนาดเล็ก สูงประมาณ 2 นิ้ว จนถึงใหญ่สุดประมาณ 10 กว่านิ้ว กำหนดอายุได้ราวพุทธศตวรรษที่ 16 – 17 คือไม่น่าจะเก่าไปถึงสมัยหริภุญไชยตอนต้น (พุทธศตวรรษที่ 13-14) เท่าที่พบสามารถแบ่งเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ คือ
1. พระสิกขีที่ได้รับการเพรียกขานว่า "พระนางจามเทวี" เนื่องจากทรงเทริด สวมกุณฑล กรองศอ ยกพระหัตถ์ขนาดใหญ่ขึ้นทั้งสองข้างระดับพระอุระ คล้ายท่าปางห้ามญาติ พระพักตร์สี่เหลี่ยม บางองค์หน้าคมชัด แต่ส่วนใหญ่ดูลบเลือน ลักษณะโดยรวมค่อนข้างตกแต่งลวดลายน้อย มีจุดเด่นที่การแสดงพระถันรูปวงโค้งเป็นสัญลักษณ์ของสตรี
2. พระสิกขีหน้าครุฑ ลำตัวครุฑ จงอยปากแหลม อยู่ในท่าแอ่นอกยกมือสองข้างขึ้นมาระดับอกเช่นกัน
3. พระสิกขีในท่าร่ายรำ ซ้ายขวาไม่สมดุล บอกได้ยากว่าเป็นเทพธิดาหรือเทพบุตรกันแน่ ยกมือขวาขึ้นระดับอก มือซ้ายถือดอกบัว บิดลำตัว นุ่งผ้าชักชายพกเป็นแผ่นโค้งขนาดใหญ่
กล่าวโดยสรุปก็คือ คนกลุ่มหนึ่งเชื่อว่า รูปปั้นสิกขีคือตัวแทนของเจ้าแม่จามเทวี แห่งนครหริภุญไชยนั่นเอง แต่ทว่าบางกระแสกลับเชื่อว่าว่าเป็นเทวดาที่สร้างขึ้นเพื่อปกป้องรักษากรุเจดีย์แต่ละแห่ง
ทำไมจึงตั้งชื่อว่า “พระสิกขี”
เกี่ยวกับเรื่องชื่อนั้นสันนิษฐานเป็นสองกรณี
1. อาจเนื่องจากยึดเอาตามชื่อของ "พระสิกขีพุทธปฏิมา" ซึ่งตำนานระบุว่าเป็นพระพุทธรูปที่สร้างในสมัยพระนางจามเทวี สันนิษฐานว่า “พระสิกขีลำพูน” ที่เราเห็นกันนั้น อาจเป็นประติมากรรมรูปเคารพที่เกี่ยวข้องหรือเป็นตัวแทนของพระนางจามเทวีโดยเชื่อมโยงกับชื่อของ “พระสิกขีพุทธปฏิมา”
ซึ่งเรื่องนี้ก็อาจเป็นไปได้เช่นกัน เพราะเจดีย์สุวรรณจังโกฏ วัดจามเทวี ในตำนานระบุว่าเป็นกู่บรรจุอัฐิของพระนางจามเทวี อย่างไรก็ดี ประเด็นนี้คงต้องมีการศึกษาอย่างละเอียดต่อไป
2. อีกกรณีหนึ่ง คำว่า “สิกขี” นั้น เปิดพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน แปลตรงตัวว่าหมายถึง “นกยูง” คือ เหล่ากินรี หรือนางอัปสราฟ่ายฟ้อน ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับ เทพขันทกุมาร หรือ “ขัตตุคาม” (ต่อมานิยมเรียก “จตุคาม”) เทพเจ้าองค์หนึ่งของฮินดูในสายไศวนิกาย (เป็นโอรสของพระศิวะ) ที่มีพาหนะเป็นรูปไก่ขาว หรือนกยูง อันสัมพันธ์กับตำนานของนครหริภุญไชยที่กล่าวถึง “ไก่แก้ว- เมตกกุฏ” (คนแปลตำนานยุคก่อนใช้คำว่า “เปตกกุฏ” แปลว่า ไก่ที่ตายไปแล้วเป็นเปรต แต่อาจารย์เกริก อัครชิโนเรศ อ่านต้นฉบับใหม่ พบว่า ใช้ตัว “ม” ไม่ใช่ “ป” จึงแปลว่า เมตกกุฏ หมายถึงไก่ผู้มีเมตตา)
ไก่แก้วตัวนี้ ตำนานระบุว่าทำหน้าที่เสมือน “เสื้อเมือง” ที่คอยส่งเสียงหวานขันกังวานคอยปลุกชาวเมืองหริภุญไชยให้ตื่นตอนเช้าลุกขึ้นฟังธรรมด้วยจิตอันผ่องใส ต่อมาไก่ตัวนี้ได้ถูกชาวละโว้ฆ่าตายด้วยหมายจะให้เมืองลำพูนปราศจาก “เสื้อเมือง” ทุกวันนี้เรายังหา “เมตกกุฏนคร” ไม่พบทั้งในลำพูน ลำปาง (แต่อาจหมายถึงเมืองลอง ในแพร่) ซึ่งในลำปางและเมืองลองก็มีตำนานเรื่องไก่แก้วหรือไก่ขาวนี้เช่นเดียวกัน
อ.วิธูร บัวแดง นักคติชนวิทยาสันนิษฐานว่า คำว่า “กู่กุฏ” ที่เรานิยมเขียนเป็น “กู่กุด” นั้น อาจเป็นคำๆ เดียวกันกับ “กกุฏ” คือนครที่อุทิศให้เทพขันทกุมารผู้มีนกยูง (รวมถึงเหล่ากินนร กินรี) เป็นพาหนะก็เป็นได้
ดังนั้น การทำรูปกินนร กินรี หรือนกยูง ไก่ขาว ที่โดยภาพรวมหมายถึง “สิกขี” นำมาประดับตามศาสนสถานเช่นนี้ จึงเป็นสัญลักษณ์ของป่าหิมพานต์ ในสายที่มีจุดเริ่มต้นจากการนับถือลัทธิไศวนิกายมาก่อน
กรรมวิธีการสร้างพระสิกขี มีทั้งดินเผาและปูนปั้น ประเภทดินเผาใช้ดินเหนียวที่กดพิมพ์จากแม่พิมพ์ เช่นเดียวกับพระพิมพ์ทั่วไปแล้วนำไปเผา หรือแบบปูนปั้นก็มี ขึ้นรูปด้วยมือทีละชิ้น เมื่อเทียบกับเศียรครุฑและชิ้นส่วนเทวดาที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย พบว่าฝีมืองานช่างของพระสิกขีจะด้อยกว่าประติมากรรมขนาดใหญ่ เช่นพวกเศียรพระพุทธรูป อาจเป็นเพราะสิกขีมีหน้าที่แค่ใช้เป็นเครื่องประดับสถาปัตยกรรมของเจดีย์เท่านั้น ช่างจึงไม่ได้พิถีพิถันประจงปั้นอย่างวิจิตรเท่าใดนัก
ปัจจุบันเหลือตัวสิกขีแบบดั้งเดิมที่ยังคงทำหน้าที่ใน function เดิมอยู่เพียงแห่งเดียวเท่านั้น คือใช้ประดับบนฝักเพกา ปลายกรอบซุ้มจระนำที่ล้อมรอบองค์พระปฏิมาปูนปั้นยืนจำนวน 60 พระองค์ของเจดีย์สี่เหลี่ยม (กู่กุฏิ หรือสุวรรณจังโกฏ) วัดจามเทวี ซ้ำยังพบว่า สิกขีปูนปั้นในกรอบเพกาของสุวรรณจังโกฏนี้ แต่ละด้านยังมีความแตกต่างกันอีกด้วย ดังเช่น สิกขีด้านทิศตะวันออก เป็นประเภทที่สอง คือยกมือสองข้างแบบสมดุลในระดับอก หน้าตาไม่อ่อนหวานเหมือนสตรีเพศ ออกไปทางพวกครุฑ กินนรมากกว่า ในขณะที่ สิกขีฝั่งทิศตะวันตกกลับทำท่าร่ายรำ ยกมือเทินขึ้นบนหัว
ส่วนที่มีการขุดพบสิกขีกระจายตามวัดต่างๆ เช่น วัดมหาวัน วัดประตูลี้ วัดกู่ละมัก ฯลฯ สะท้อนให้เห็นว่าครั้งหนึ่งวัดเหล่านี้เคยมีเจดีย์โบราณที่ตกแต่งกรอบซุ้มจระนำด้วยตัวสิกขีเช่นเดียวกับโมเดลของวัดจามเทวี เพียงแต่ว่าภายหลังได้หล่นร่วงลงมา ทั้งเจดีย์เก่าดั้งเดิมก็ได้พังทลายลงหมดแล้ว พลอยให้คนไปเข้าใจผิดคิดว่า สิกขีที่พบใต้ชั้นดินนั้น นาจะเป็นพระพิมพ์ประเภทหนึ่ง ในรูปแบบพระพิมพ์พระนางจามเทวี
จากการศึกษา “สิกขี” ที่ประดับซุ้มจระนำวัดจามเทวี พบว่าลวดลายเหล่านี้แสดงถึง “อัตลักษณ์” เฉพาะของศิลปะหริภุญไชยอย่างโดดเด่น แต่ก็มีอิทธิพลของศิลปะสกุลช่างทวารวดี พุกาม และศิลปะขอม ปะปนแทรกอยู่อย่างแยบยลในแทบทุกรายละเอียด
เราสามารถเปรียบตัวสิกขีที่วัดจามเทวีได้กับลวดลายของเทวดา นางฟ้า ครึ่งองค์ที่ยกมือขนาดใหญ่ขึ้นระดับอกแทรกอยู่ในกลีบใบไม้ กระหนกก้านขดในกรอบฝักเพกา ประดับเสากรอบประตูของปราสาทหินทรายสีชมพูชื่อ “บันทายสรี” ศิลปะขอมสมัยก่อนเมืองพระนคร ในประเทศกัมพูชา ที่ตั้งใจสร้างขึ้นเพื่ออุทิศถวายให้แก่เจ้านายฝ่ายหญิงในลัทธิไวษณพนิกาย
ซึ่งชาวเขมรเรียกตัวสิกขีที่ยกมือระดับอกนี้ว่า “มยุรี-มยุรา”
ที่บันทายสรีนี่ก็แปลก นอกจากจะถูกชาวต่างชาติเรียกศาสนสถานแห่งนี้ว่า Lady Temple เหมือนกับการที่วัดจามเทวีถูกขนานนามโดยนักท่องเที่ยวยุโรปเช่นกันแล้ว ทั้งวัดจามเทวีและปราสาทบันทายสรียังมีอะไรอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่ละม้ายเหมือนกันจนน่าตกใจ
นอกเหนือไปจาก "สิกขี" ของวัดจามเทวี กับ "มยุรี" ที่บันทายสรีแล้ว ยังมีอะไรอีกหลายอย่างที่เป็นเครื่องยืนยันถึงสายสัมพันธ์ของวัฒนธรรม "สตรี" ทั้งสองแห่งนี้ เช่น การทำ “คชลักษมี” เป็นต้น
จากรูปกินรีสู่พระนางจามเทวี
กล่าวโดยสรุป เรื่องราวเกี่ยวกับ “สิกขี” หรือ “พระสิกขี” นี้ จุดเริ่มต้นไม่ได้ทำขึ้นเพื่อเป็นพระพิมพ์หรือพระเครื่องรางแต่อย่างใด หากมีหน้าที่เป็นเสมือนเทวดา-นางฟ้าในปาหิมพานต์ที่ใช้ประดับกรอบซุ้มจระนำสถูปเจดีย์สมัยหริภุญไชย ซึ่งไม่พบในสมัยล้านนาอีกเลย ที่น่าสนใจคือ สิกขีที่วัดจามเทวีไปมีรูปแบบคล้ายคลึงกับรูปเทวดา-นางฟ้า หรือมยุรี-มยุราที่เสาประดับกรอบประตูปราสาทบันทายสรีของขอม
ครั้นเมื่อตัวสถาปัตยกรรมล่มสลาย ลวดลายปูนปั้นดินเผากระจัดกระจาย ผู้คนก็ไปขุดพบเจอเทวดานางฟ้าเหล่านี้ แล้วอาจอุปโลกน์เอาว่า "นี่คือพระพิมพ์พระนางจามเทวี"