ผศ.นพ.นเรนทร์ โชติรสนิรมิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เปิดเผยว่า จากสถิติการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในจังหวัดเชียงใหม่ ณ ขณะนี้ มีผู้เข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 ประมาณ 78 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรทั้งหมด ซึ่งยังถือว่าไม่เพียงพอต่อการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ เพราะการที่จะเรียกได้ว่าได้รับวัคซีนอย่างสมบูรณ์ต้องได้รับการฉีดครบ 2 เข็มขึ้นไป
สำหรับสถิติ ผู้ได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้วเทียบกับฐานประชากรของจังหวัดเชียงใหม่ ยังอยู่ที่ประมาณ 58 เปอร์เซ็นต์เช่นกัน จึงยังถือว่าไม่เพียงพอต่อการป้องกันการระบาดของโรค ทั้งนี้การระบาดของโควิด-19 ในระยะหลังเป็นเชื้อสายพันธุ์เดลต้า จำเป็นต้องมีเปอร์เซ็นต์ผู้ที่ได้รับวัคซีนให้มากที่สุด หากถึง 100 เปอร์เซ็นต์ได้ยิ่งดี หากทุกคนได้รับวัคซีน ก็จะกลายเป็นภูมิคุ้มกันหมู่ ลดความรุนแรงของการแพร่ระบาดของโควิดลงได้
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ กล่าวต่อไปว่า อยากกล่าวฝากถึงประเด็นความเข้าใจของประชาชนทั่วไป ที่ว่าเมื่อพ่อแม่หรือผู้สูงอายุอยู่ที่บ้าน ไม่ได้ออกไปไหน ทำให้ไม่มีความจำเป็นต้องพาไปฉีดวัคซีนนั้น อยากให้เปลี่ยนแนวคิด ในความเป็นจริงแล้ว ลูกหลานที่ออกจากบ้านไปทำงานแล้ว มีความเป็นไปได้สูงที่จะนำเชื้อมาติดผู้สูงอายุในบ้าน แม้ว่าลูกหลานเหล่านั้นจะได้รับวัคซีนแล้วก็ตาม อยากเรียนว่าถึงแม้จะฉีดวัคซีนแล้วก็ยังติดโรคได้ และวัคซีนช่วยให้อาการไม่หนักเมื่อได้รับเชื้อฯ
ดังนั้นแม้ลูกหลานจะได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว หากได้รับเชื้อจากภายนอกก็มีโอกาสพาเชื้อกลับไปติดคนในครอบครัวได้ โดยเฉพาะพ่อแม่ ผู้สูงอายุ ปู่ย่าตายาย ที่อยู่ที่บ้าน ด้วยเหตุนี้จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพาผู้สูงอายุในบ้านไปรับการฉีดวัคซีนฯ โดยเร็ว ถึงแม้ท่านเหล่านั้นจะไม่ค่อยได้ไปไหนก็ตาม
"หลายคนอาจมีความกังวลเกี่ยวกับผลข้างเคียงของวัคซีน ยืนยันว่าเท่าที่มีการศึกษาและเก็บข้อมูลมา ในจังหวัดเชียงใหม่ มีการฉีดไปแล้วกว่า 1 ล้านเข็ม ในขณะนี้ก็ยังไม่พบหลักฐานที่ชัดเจนว่าวัคซีนส่งผลกระทบถึงขั้นอันตรายถึงชีวิต ส่วนใหญ่ก็จะมีอาการข้างเคียงเล็กน้อยเท่านั้น เช่น มีผื่นแพ้ ผื่นคัน วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ปวดกล้ามเนื้ออยู่บ้าง ซึ่งส่วนใหญ่อาการจะหายเอง ไม่รุนแรง และอาการดีขึ้นได้เอง ดังนั้นอยากจะเชิญชวนให้ประชาชนทุกคนมาฉีดวัคซีนให้มากๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุ"
ผศ.นพ.นเรนทร์ กล่าวอีกว่า จากข้อมูลตัวอย่างในบ้านพักคนชรา "บ้านธรรมปกรณ์" ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ ได้รับวัคซีนจากโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ตั้งแต่เดือนมิถุนายน (2564) เข็มที่ 2 ในเดือนกันยายน ต่อมาพบว่าปลายเดือนตุลาคม มีการระบาดของโควิดครั้งใหญ่ในบ้านธรรมกรณ์ มีผู้สูงอายุและเจ้าหน้าที่ติดเชื้อประมาณ 103 ราย ในบรรดาบุคคลเหล่านี้ส่วนใหญ่ประมาณ 90 เปอร์เซนต์ พบว่ามีอาการป่วยไม่หนักเนื่องจากได้รับวัคซีนครบครอบคลุม ถึงแม้ว่าจะมีข้อมูลว่าในจำนวนผู้สูงอานุที่ป่วยดังกล่าวมีผู้สูงอายุ 2 ราย ที่เสียชีวิต แต่จากการแล้วพบว่าการเสียชีวิตนั้นไม่ได้เป็นการเสียชีวิตจากระบบทางเดินหายใจล้มเหลวที่เกิดจากโควิด-19 แต่น่าจะเป็นการเสียชีวิตโดยธรรมชาติหรือมีโรคอื่นร่วม
ด้านการรักษาผู้ป่วยโควิดที่อยู่ในความดูแลของคณะแพทย์ มช. ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ กล่าวว่า ผู้ป่วยที่เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลมหาราชฯ จัดอยู่ในกลุ่มผู้ป่วยหนักที่ต้องใส่ท่อเครื่องช่วยหายใจ ต้องใส่ออกซิเจนอัตราไหลสูง สถิติ เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา มีผู้ป่วยอาการวิกฤติทั้งหมด 20 ราย ที่เป็นผู้ป่วยกลุ่มสีส้มและสีแดง ผู้ป่วยทุกรายต้องได้รับการดูแลเป็นอย่างใกล้ชิด จากการสอบถามประวัติการฉีดวัคซีนฯ พบว่าเกือบทุกรายในจำนวนนี้ ล้วนไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน บางรายก็ได้รับวัคซีนเพียงเข็มเดียว หรือวัคซีนที่ได้ครบยังไม่ครบถึง 2 สัปดาห์ นี่เป็นเหตุผล และเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าการที่ไม่ได้รับวัคซีน หรือวัคซีนไม่ครบ จะส่งผลให้จะมีอาการป่วยหนักเมื่อได้รับเชื้อเข้าไป
ในส่วนผู้ที่ได้รับวัคซีนครบแล้วหากไม่มีโรคประจำตัวอื่นๆ ส่วนใหญ่ เมื่อเจ็บป่วยก็จะมีอาการเหมือนไข้หวัดธรรมดา มีไข้ ไอ เจ็บคอ และสามารถหายจากโรคได้ในเวลาเพียง 10 วัน และไม่แพร่เชื้อต่อหลังจากนั้น จึงอยากเชิญชวนประชาชนทั่วไป นำญาติพี่น้อง ผู้สูงอายุที่อยู่ในความดูแล หรือตัวท่านเอง ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน ให้เข้ามารับการวัคซีนได้ตามศูนย์ฉีดวัคซีนของจังหวัดเชียงใหม่ในทุกๆ ที่ ซึ่งมีอยู่ทุกอำเภอ รวมถึงเขตอำเภอเมือง สามารถวอล์คอินเข้าไปฉีดได้เลย ซึ่งขณะนี้จะได้รับวัคซีนสูตรปัจจุบัน คือ แอสตร้าเซนเนกาเข็ม ที่ 1 และไฟเซอร์เป็นเข็มที่ 2
หลังจากที่ครบ 2 เข็มเป็นเวลา 2 สัปดาห์ จะมีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง แม้จะติดโควิดก็จะไม่ป่วยหนัก สามารถรักษาตัวที่บ้านได้ และจะเป็นการช่วยผลักดันให้จังหวัดเชียงใหม่เดินหน้า และทำให้ผู้คนกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติต่อไป