วัดกู่ละมัก รมณียาราม วัดแห่งแรกของพระนางจามเทวีในนครหริภุญไชย

ข่าวศิลปวัฒนธรรม , 15 ต.ค. 2566, 17:31

วัดกู่ละมัก รมณียาราม วัดแห่งแรกของพระนางจามเทวีในนครหริภุญไชย

          เมื่อเร็วๆ นี้ประมาณต้นเดือนตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา ชื่อของ “วัดกู่ละมัก” ได้กลายเป็นข่าวใหญ่ ถูกแชร์ลิงก์ส่งต่อๆ กันในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นออนไลน์แทบทุกฉบับ เกี่ยวกับประเด็นที่ว่าทางวัดได้ปูอิฐตัวหนอนทับ “ซากโบราณสถาน” ของเดิมที่ทางสำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่) เคยเปิดหน้าดิน และขุดศึกษาไว้ตั้งแต่ปี 2550 ในคราวบูรณปฏิสังขรณ์องค์พระเจดีย์ ซึ่งช่วงนั้นดิฉันรับรู้ข้อมูลความเคลื่อนไหวทุกประการ เป็นผู้อยู่ในเหตุการณ์ลำดับต้นๆ  ในฐานะหัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย 

          น่าสนใจว่าผู้เปิดประเด็นเรื่องนี้ไม่ใช่คนไทย แต่เป็นชาวฝรั่งเศสชื่อ Thierry Tournier (เทียรี่ ตูร์นิเยร์) นักโบราณคดีสมัครเล่น นักสำรวจโบราณสถานแบบเอาเป็นเอาตาย ผู้หลงใหลกลิ่นอายอารยธรรมสมัยก่อนประวัติศาสตร์และสมัยหริภุญไชย เขาใช้ชีวิตที่อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน มานานหลายปี 

          เขาผู้นี้ได้ติดสอยห้อยตามดิฉันไปสำรวจโบราณสถานที่ต่างๆ หลายแห่งตั้งแต่ 3-4 ปีที่แล้ว อาทิ ดอยไซ กาดผี ศรีบัวบาน เสาสิงโตด้านหลังถ้ำหลวงผาเวียง บ้านโฮ่ง เป็นต้น จนกระทั่งดิฉันมาสวมหมวกเป็นนายกสมาคมสหพันธ์ท่องเที่ยวภาคเหนือจังหวัดลำพูน (สสทน.ลำพูน) คุณเทียรี่ก็มาสมัครเป็นสมาชิกตลอดชีพด้วย ดิฉันจึงแนะนำให้เขารอคิวสมัครเป็นสมาชิกตัวจริงของ “อาสาสมัครเฝ้าระวังโบราณสถาน” ให้กับกรมศิลปากร (อสมศ.) ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นบทบาทที่ต้องเสียสละทุนทรัพย์ แรงกาย แรงใจ สุ่มเสี่ยงต่อข้อพิพาทที่ทางวัดอาจจะไม่พอใจ แต่เขาก็ยินดีกระทำ

          หลังจากที่เขาเปิดประเด็นเรื่องนี้ได้เพียง 1-2 วัน ยุคที่กระแสไวรัลแพร่กระจายข่าวรวดเร็วยิ่งกว่าสายลม ข่าวที่เขานำเสนอในเฟซบุ๊กเรื่องวัดกู่ละมัก จึงเข้าถึงหูผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน วันรุ่งขึ้นทั้งข้าราชการของสำนักงานจังหวัดลำพูน สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดลำพูน นายอำเภอเมืองลำพูน และหัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย เป็นต้น ต่างลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง ทางวัดอ้างว่ารู้เท่าไม่ถึงการณ์  เข้าใจว่าซากโบราณสถานเหล่านี้ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับกรมศิลปากร ในความเป็นจริงนั้น ขึ้นชื่อว่า “โบราณสถาน” จะขึ้นหรือไม่ขึ้นทะเบียนก็ตาม ล้วนแล้วแต่เป็นมรดกของแผ่นดิน เป็นสมบัติของชาติ เป็นสิ่งที่ทุกคนเป็นเจ้าของ และควรอนุรักษ์ไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาต่อ

          จากกระแสที่สังคมกำลังสนใจเรื่อง “วัดกู่ละมัก” ดิฉันในฐานะบุคคลรายต้นๆ ที่ศึกษาประวัติความเป็นมาของวัดแห่งนี้ในระดับที่ (น่าจะ) ลึกมากที่สุดในประเทศไทยแล้ว ขอนำเสนอเรื่องราวของวัดนี้ 2 sections ส่วนแรก เป็นประวัติความเป็นมา กับส่วนหลังเป็นหลักฐานทางโบราณคดีในยุคที่ดิฉันขุดค้นพบ 

สถานที่แห่งนี้มีหลายชื่อ        

วัดกู่ละมัก นอกจากจะรู้จักกันในชื่อ “วัดรมณียาราม” แล้ว ยังมีชื่อเรียกว่า เวียงเล็ก/วัดอุดม/บ้านรมยคาม/รัมมคาม ฯลฯ อีกด้วย วัดแห่งนี้ตั้งอยู่เลขที่ 222 ถ.ลำพูน-ป่าซาง บ.ศรีย้อย ม. 4 ต.ต้นธง อ.เมือง จ.ลำพูน ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำกวงด้านทิศตะวันตก หรือในอดีตคือแม่น้ำปิง

          ประวัติของวัดกู่ละมัก หรือวัดรมณียารามปรากฏในตำนานทุกฉบับ มีความสอดคล้องกัน กล่าวถึงสถานที่แห่งนี้ ว่าพระนางจามเทวีทรงมีพระดำริว่าแม้จะใกล้ชานเมืองหริภุญไชยแล้ว แต่ก็ควรจะหยุดพักกระบวนเรือและตั้ง “เวียงเล็ก” ขึ้นเสียก่อน ไม่ควรรีบร้อนเข้าไปในพระนคร

          เมื่อนายขมังธนูได้ยิงธนูจากจุดท่าเชียงทองนั้นแล้ว ลูกธนูได้มาตกในจุดเสี่ยงทายที่ควรสร้างเวียงเล็กในระยะทางกึ่งกลางก่อนจะถึงนครหริภุญไชย จุดที่ธนูตกจึงเป็นสถานที่มงคลหรือสถานที่อันอุดม พระนางจามเทวีโปรดให้สร้างเจดีย์องค์หนึ่งครอบจุดที่ “ปืนธนูมงคล” ปักอยู่ เรียก "ละปัก" (หมายถึงลูกธนูของชาวลัวะ-ชาวเม็งเรียกโดยรวมว่าพวก "ละ" หรือ “ละว้า” มาตกปักอยู่) ต่อมาแผลงเป็น "กู่ละมัก" 

          ที่แห่งนี้พระนางจามเทวีโปรดให้หล่อพระพุทธรูปเท่าพระองค์จริง (เป็นต้นกำเนิดของการสร้างพระเจ้าค่าคิงของภาคเหนือ) เพื่ออัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุอันนำมาจากละโว้ และโกศทองคำ มาบรรจุไว้ในองค์พระพุทธรูป จากนั้นประดิษฐานพระเจ้าค่าคิงไว้ในซุ้มของพระบรมธาตุ นอกจากนี้แล้วบรรดาเสนามหาอำมาตย์ที่ตามเสด็จ เป็นต้นว่า "พระญาแขนเหล็ก" และ "พระญาบ่เพ็ก" ก็โดยเสด็จพระราชกุศลสร้างพระพุทธรูปด้วยคนละองค์สององค์ พระพุทธรูปทั้งหลายจึงเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในเมืองเหนือตั้งแต่นั้นมา

          พระนางจามเทวีทรงสถาปนาเวียงเล็กหรือเมืองเล็กขึ้น เพื่อใช้เป็นพลับพลาชั่วคราว โปรดให้สร้างกำแพงล้อมรอบ ทรงปลูกต้นมะพร้าว ต้นตาล ต้นส้ม สร้างที่อยู่แห่งสงฆ์เพื่อให้พระสงฆ์ได้พำนัก และสร้างพระราชนิเวศน์เรือนหลวงเป็นทรงปราสาทสี่เหลี่ยมจัตุรมุข เพื่อเป็นที่ประทับ ทรงมีพระเกษมสำราญ รวมทั้งที่พักหรือนิคามของคณะผู้ติดตามทั้งหมด พระนางและปวงเสนาประชาราษฎร์ที่ติดตามต่างอาศัยอยู่ในเมืองเล็กนั้นด้วยความสุขสบายรื่นรมย์ สถานที่ดังกล่าวจึงได้ชื่อว่า “รมยคาม” คนทั้งหลายเรียกกันสืบมาว่า บ้านละมัก/ บ้านรัมมกคาม/ รมณียาราม

          ประเด็นที่ควรวิเคราะห์คือ เมื่อพิจารณาคำว่า บ้านรัมมกคาม รัมมคาม รมณียาราม อ.วิธูร บัวแดง ตั้งข้อสังเกตว่า ชื่อกลุ่มคำเหล่านี้มีความใกล้เคียงกับชื่อเมืองเดิมแห่งหนึ่งที่สร้างโดยฤษีวาสุเทพแล้วถล่มจมไปเนื่องจากเหตุอาเพศที่ “ลูกตีแม่” หรือคนทุศีลปกครองเมือง เมืองนั้นมีชื่อว่า “รัมมนคร/รมยนคร/รันนปุระ” กอปรกับบริเวณที่เมืองล่มนั้นก็อยู่ในตำแหน่งเดียวกันอีก ตามตำนานระบุว่า เมืองรันนปุระตั้งอยู่ตอนใต้ห่างจากจุดที่พระพุทธองค์เสด็จมาประทับบาตร (หมายถึงบริเวณพระธาตุหริภุญไชย) ไม่ไกลนัก ทุกวันนี้ชาวลำพูนลงความเห็นว่าบริเวณเมืองรัมมนครที่ถล่มนั้นคือจุดที่มีชื่อว่า “หนองเดง” ม. 5 บ.พันตาเกิน ต.ต้นธง (ลูกเด็ง คือลูกระฆัง ที่เจ้าเมืองเปรียบว่าหากลูกไม่ตีแม่ ก็เหมือนระฆังที่ไม่มีเสียงดัง เพราะระฆังจะดังได้ ลูกระฆังต้องตีแม่ระฆัง) ปัจจุบันมี “กู่ย่าฮาย” (บ้างเรียก กู่แม่ย่าฮาย) ม.3 บ.ศรีย้อย ต.ต้นธง เป็นหมุดหมายไว้ให้รำลึก ซึ่งบริเวณหนองเดงและกู่ย่าฮายตั้งอยู่ไม่ไกลจากวัดกู่ละมักเท่าใดนัก

สิ่งนี้สะท้อนว่า พระนางจามเทวีน่าจะมีวิเทโศบายจงใจ “ฟื้นเมืองร้าง” ที่เคยล่มสลายไปแล้วนั้นให้กลับคืนมา เป็นเมืองที่สวยงาม ก่อนจะเสด็จพระราชดำเนินเข้าสู่นครหริภุญไชย (ต่างไปจากการตัดสินพระทัยที่ต้องทิ้งเมืองเกาะกลางแม้จะเป็นดินแดนประสูติให้ร้างตามเดิมไว้ก่อน ด้วยเงื่อนเวลาที่ไม่อำนวย) ในห้วงเวลาอันจำกัดและใกล้มีพระประสูติกาลนั้น พระนางคงต้องเลือกเอาเมืองใดเมืองหนึ่งก่อนเพียงเมืองเดียว มาทำการฟื้นฟูบูรณะให้สง่างาม สมกับเป็นประตูสู่พระนครหริภุญไชย เมืองที่ถูกเลือกนั้นก็คือ รมยนคร และยังคงใช้ชื่อตามรากศัพท์เดิมว่า รมณียาราม 

วัดกู่ละมัก ถือเป็นสถานที่แห่งสุดท้ายที่กระบวนเสด็จทางชลมารคของพระนางจามเทวีได้แวะพัก จากนั้นฤษีสุกกทันตะและนายควิยะ (ทูต) ได้เดินทางล่วงหน้าต่อไปยังเมืองนครหริภุญไชยเพื่อแจ้งข่าวการเสด็จมาถึง ฤษีวาสุเทพรวมทั้งไพร่บ้านพลเมืองทั้งหลายพอทราบข่าวก็พากันตกแต่งพลับพลารับเสด็จขึ้นนั่งเมืองหริภุญไชยไว้ทางทิศตะวันออก ณ ที่ซึ่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเคยเสด็จประทับตรัสพุทธพยากรณ์มาแต่ก่อน จากนั้นพระนางจามเทวีเสด็จต่อไปนั่งเมืองยังนครหริภุญไชย 

          ต่อมาพระเจดีย์กู่ละมักได้ชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา กระทั่งปี 2475 ครูบาเจ้าศรีวิชัยได้บูรณปฏิสังขรณ์ด้วยการครอบเจดีย์องค์เดิมที่สร้างในยุคหริภุญไชย ด้วยเจดีย์ทรงปราสาทต่อด้วยยอดเจดีย์ทรงกลม องค์เรือนธาตุเป็นทรงสี่เหลี่ยมแบบจัตุรมุข มีซุ้มจระนำหรือซุ้มทิศประดิษฐานพระพุทธรูปประทับนั่งทั้ง 4 ด้าน พระพุทธรูปมีทั้งปางมารวิชัยและปางสมาธิ ที่ซุ้มจระนำประดับตกแต่งด้วยลายหน้ากาลปลายเป็นรูปมกร-นาค ใช้เวลาการก่อสร้างทั้งหมด 1 เดือน ยุคครูบาเจ้าศรีวิชัยเรียกว่า “วัดอารัมมริยะ”(เป็นชื่อที่เขียนในเอกสารของเจ้าคณะมณฑลพายัพ ที่ทำรายงานความเคลื่อนไหวของครูบาเจ้าศรีวิชัยที่ดำเนินการก่อสร้างถาวรวัตถุในระหว่างปี 2473-2475 ต่อเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการ) ระบุว่าสิ้นเงินค่าใช้จ่ายในการบูรณะไป 3,490 รูเปีย

หลังจากนั้น 1 ปี ใน พ.ศ. 2476 ครูบาเจ้าศรีวิชัยยังได้สร้างพระวิหารขึ้นหลังหนึ่ง ดังที่พบหลักฐานจากเอกสารที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยทำหนังสือถวายพระราชกุศลมายัง พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ กรุงเทพฯ ระบุว่า “สร้างวิหารวัดอารามมนียะ (เป็นอีกชื่อที่ใช้เรียกวัดรมณียารามในยุคครูบาเจ้าศรีวิชัย) อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน เสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2476 ใช้เงินทั้งสิ้นจำนวน 2,142 รูเปีย 59 สตางค์” 

                ปี 2532 ทางวัดกู่ละมักได้รื้อวิหารหลังเดิมของครูบาเจ้าศรีวิชัยแล้วสร้างหลังใหม่ทับที่เดิม จากการสำรวจพบหลักฐานภาพถ่ายโบราณในวัด ซึ่งถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2508 เป็นภาพวิหารไม้หลังเล็กที่ครูบาศรีวิชัยได้สร้างไว้ ปัจจุบันรื้อถอนไปแล้ว และพบธรรมาสน์ที่ใช้สำหรับแสดงพระธรรมเทศนาไว้ในวิหารหลวงที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยและพลตรีเจ้าจักรคำขจรศักดิ์เป็นผู้สร้างขึ้น ทำให้มีตราสัญลักษณ์รูปเสือในวงจักร (จักรคือสัญลักษณ์ของเจ้าจักรคำขจรศักดิ์) มีหน้าที่ใช้สอยมาจนถึงปัจจุบัน

กู่ละมักสมัยที่ดิฉันดูแล

          ปี 2550 กรมศิลปากรได้ดำเนินการบูรณะพระเจดีย์ตามรูปแบบเดิมของครูบาเจ้าศรีวิชัย พร้อมการขุดค้นทางโบราณคดีได้หลักฐานพบซากโบราณสถานและโบราณวัตถุที่เก่าแก่ถึงสมัยหริภุญไชยหลายชิ้น จากการสัมภาษณ์คนเฒ่าคนแก่อายุ 80-90 ปีที่อาศัยในละแวกนั้น (สัมภาษณ์เมื่อ พ.ศ. 2550 ปีที่กรมศิลปากรเตรียมการบูรณปฏิสังขรณ์พระเจดีย์) เล่าว่าทันได้เห็นพระเจดีย์องค์เดิมสมัยหริภุญไชยก่อนถูกครอบโดยครูบาเจ้าศรีวิชัย ระบุว่ามีรูปแบบสถาปัตยกรรมที่ละม้ายคล้ายคลึงกับที่ “เจดีย์แม่ครัว” หรือ “เจดีย์เชียงยัน” ในวัดพระธาตุหริภุญชัย ซึ่งสร้างในสมัยหริภุญไชยเช่นเดียวกัน

          นอกจากนี้ ฝั่งตรงข้ามกับวัดกู่ละมัก ฟากตะวันออกของแม่น้ำกวง ตั้งอยู่ในเขตตำบลเวียงยอง ยังพบกู่เก่าแห่งหนึ่งชื่อ “กู่ปิมปา”(หรือพิมพาในภาษาภาคกลาง) อีกด้วย มีเรื่องเล่าว่า เป็นสถานที่ฝังศพของนางสนมคนหนึ่งของพระนางจามเทวี ราวปี พ.ศ. 2547 ดิฉันเคยลงพื้นที่สำรวจสถานที่ดังกล่าว พบว่ากู่ถูกลักลอบขุดคุ้ยหาสมบัติจนกระจุยกระจายไม่เหลือสภาพโบราณสถานอีกแล้ว 

          โบราณวัตถุที่ขุดได้หลายชิ้นช่วงปี 2550 มีชิ้นเด่นๆ ได้แก่ พระดินเผามีหนวดยืนปางแสดงธรรม พระพักตร์ดุดันคล้ายศิลปะจามปาสมัยดงเดือง ท่อนกายสตรีสวมผ้านุ่งลายขูดขีด เศียรฤๅษี หม้อกระดูกพร้อมเถ้าอัฐิสมัยราชวงศ์หมิง สะท้อนว่าวัดแห่งนี้มีคนอยู่อาศัยสืบต่อมาจนสมัยล้านนา เป็นต้น

          ดิฉันคิดว่าเราควรใช้วิกฤติให้เป็นโอกาส จากการที่วัดกู่ละมักกำลังอยู่ในสปอตไลต์ของคนในวงกว้าง ณ ขณะนี้ มีคนไถ่ถามกันมาก ทางวัดควรมีการจัดระเบียบโบราณวัตถุ จัดทำป้ายคำบรรยาย เน้นของเก่าให้มากกว่าของใหม่ เพราะอย่าลืมว่าจุดขายของวัดแห่งนี้คือ ถือว่าเป็นวัดแห่งแรกของพระนางจามเทวีที่ทรงสร้างอย่างเป็นทางการ (ไม่นับวัดทางผ่านตามเบี้ยบ้ายรายทางตลอดสองฝั่งแม่ระมิงค์) คนทั่วไปต่างให้ความสนใจวัดแห่งนี้เป็นทุนเดิมอยู่แล้วค่ะ

1

ข่าวอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ส่งมอบรถใหม่ HyundaiSTARIA Premium with Sunroof (Euro5) สีขาว เป็นรถยนต์น่าใช้สำหรับครอบค...

เอชดีเจมอเตอร์ ฮุนไดเชียงใหม่ โดยที่ปรึกษาการขายเซลส์มุ้ย ร่วมแสดงความยินดีพร้อมส่งมอบรถใหม่ให้กับคุณแคทริน อินต๊ะมา เป็นรถยนต์ ฮุนไดSTARIA Premium with Sunroof (Euro5) สีขาว ขอขอบคุณที่ให้เกียรติมาเป...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 16 ม.ค. 2568, 18:44
  • |
  • 53

ส่งมอบไปอีก 1 คันแล้ว สำหรับรถยนต์ Hyundai STARGAZER X6 สีบรอนทอง สุดสวย ที่ผ่านมา

ส่งมอบรถใหม่ให้กับลูกค้า ที่ปรึกษาการขาย เอชดีเจ มอเตอร์ ฮุนไดเชียงใหม่ เซลส์แนน ร่วมแสดงความยินดีพร้อมส่งมอบรถใหม่ให้แก่คุณวิระดา ชวลิต Hyundai STARGAZER X6 สีบรอนทอง ออกไปจากโชว์รูม เอชดีเจมอเตอร์ ท...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 11 ม.ค. 2568, 14:08
  • |
  • 92

ส่งมอบรถใหม่ Hyundai CRETA ALPHA สีดำ เป็นรถยนต์น่าใช้สำหรับครอบครัว

 เอชดีเจมอเตอร์ ฮุนไดเชียงใหม่ โดยที่ปรึกษาการขายเซลส์แนน ร่วมแสดงความยินดีพร้อมส่งมอบรถใหม่ให้กับคุคุณ KYUNG HEE LEE เป๋ฯรถยนต์ Hyundai CRETA ALPHA สีดำ ขอขอบคุณที่ให้เกียรติมาเป็นครอบครัวฮุนได...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 8 ม.ค. 2568, 12:35
  • |
  • 104

ส่งมอบรถใหม่ Hyundai STARGAZER Smart 6 With Black Roof สีแดง เป็นรถยนต์น่าใช้สำหรับครอบคร...

เอชดีเจมอเตอร์ ฮุนไดเชียงใหม่ โดยที่ปรึกษาการขายเซลส์แนน ร่วมแสดงความยินดีพร้อมส่งมอบรถใหม่ให้กับคุณเอนก ชิตเกษร Hyundai STARGAZER Smart 6 With Black Roof สีแดง ขอขอบคุณที่ให้เกียรติมาเป็นครอบครัวฮุนไ...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 3 ม.ค. 2568, 10:17
  • |
  • 188

เหลืออีกสองวัน Lanna Auto Sale 18-25 ธันวา 67 ที่เซ็นทรัลเ แอร์พอร์ต รถไฟฟ้าน่าใช้ราคาน่าต...

กระแสรถยนต์ไฟฟ้าในบ้านเราเริ่มได้รับความสนใจจากผู้ใช้คนเมืองมากขึ้นทุกวัน ตามท้องถนนในเชียงใหม่ทุกวันนี้รถที่ขับไปขับมาสังเกตุดูได้เลยต้องมีรถยนต์ไฟฟ้าชับสวนมาหรือขับตามเรามาหลากหลายรุ่น นั่นแสดงถึงรถ...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 24 ธ.ค. 2567, 13:13
  • |
  • 217

อีซูซุ ศาลา เชียงใหม่ จัด ISUZU 2.2 Ddi MAXFORCE พลังแรง ท้าลอง ในศูนย์ประชุมนานาชาติเชียง...

ใกล้สิ้นปีหลายค่ายรถยนต์จัดงานอีเว้นท์กันตลอดทั้งเดือน โดยเฉพาะค่ายอีซูซุที่มีรถยนต์ออกใหม่ทั้งเครื่องยนต์ใหม่ แรงขึ้น เร็วขึ้น วันนี้เราพาท่านไปเที่ยวชมงานนี้กันซึ่งจัดขึ้นภายในศูนย์ประชุมนานาชาติเชี...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 22 ธ.ค. 2567, 16:33
  • |
  • 232
Sytiq Company

ออกแบบพัฒนาโปรแกรมและแอพลิเคชั่น

โดยบริษัทไซทิค ติดต่อ:0819507128

Sytiq Company

ออกแบบและติดตั้ง Home Automation

โดยบริษัทไซทิค ติดต่อ:0819507128