วัดเชียงหมั้น (มั่น) หมุดหมายแรกแห่งเมืองเชียงใหม่

ข่าวศิลปวัฒนธรรม , 21 พ.ย. 2564, 20:50

วัดเชียงหมั้น (มั่น) หมุดหมายแรกแห่งเมืองเชียงใหม่

วัดเชียงหมั้น (ตัวเขียนเดิม ก่อนเปลี่ยนเป็น เชียงมั่น) ตั้งอยู่เลขที่ 171 ถนนราชภาคินัย ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ในเขตคูเมืองเก่าทางทิศเหนือ ใกล้ประตูช้างเผือก ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2449 

          ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ และพงศาวดารโยนกกล่าวว่า หลังจากที่พระญางำเมือง พระญาร่วง และพระญามังรายทรงสร้างเมืองเชียงใหม่สำเร็จใน พ.ศ. 1839 แล้ว ทั้งสามพระองค์ทรงโปรดให้สร้างเจดีย์ขึ้นตรงที่หอนอนบ้านเชียงหมั้น อันเป็นสถานที่ที่พระญามังรายทรงสร้างเป็นพลับพลาประทับชั่วคราวในระหว่างที่ควบคุมการสร้างเมืองใหม่ โดยให้ชื่อที่ประทับแห่งนั้นว่า "เวียงเหล็ก" (ภาษาพื้นเมืองออกเสียงเป็น “เวียงเล็ก”) หมายถึง "ความมั่นคงแข็งแรง" ต่อมาเมื่อพระญามังรายเสด็จแปรพระราชฐานไปยังพระราชนิเวศน์มณเฑียรสถานแห่งใหม่ซึ่งเรียกว่า "เวียงแก้ว" (ปัจจุบันคือสถานที่ที่มีการย้ายทัณฑสถานหญิงออกไปแล้วตั้งแต่ พ.ศ. 2555) ทรงอุทิศตำหนักคุ้มหลวงเวียงเหล็กถวายแด่พระศาสนา โดยตั้งเป็นพระอารามหลวงแห่งแรก และพระราชทานนามอันเป็นมงคลว่า "วัดเชียงหมั้น" อันหมายถึง บ้านเมืองที่มีความมั่นคง (ภาษาท้องถิ่นล้านนาเขียน “วัดเชียงหมั้น” แต่ปรับเป็นภาษาไทยกลางว่า “วัดเชียงมั่น” ตามสมัยนิยม)

          ณ วัดเชียงหมั้นนี้ พระญามังรายยังได้ใช้เป็นสถานที่ประดิษฐานพระพุทธรูปองค์สำคัญ คือพระแก้วขาว หรือพระเสตังคมณี พระพุทธปฏิมากรทำจากผลึกแก้วขาว ประทับนั่งปางมารวิชัย ศิลปะสมัยทวารวดี ตำนานจามเทวีวงส์ กล่าวว่า เป็นพระพุทธรูปที่พระนางจามเทวีนำมาจากกรุงละโว้ ประดิษฐานที่อาณาจักรหริภุญไชยตั้งแต่ พ.ศ. 1204 จนกระทั่งพระญามังรายตีหริภุญไชยได้เมื่อ พ.ศ. 1824 จึงนำมาประดิษฐานที่เวียงกุมกามและเชียงใหม่ตามลำดับ ในเชียงใหม่ประดิษฐานที่วัดเชียงหมั้น ทรงเคารพสักการบูชาน้อมนำพระแก้วขาวมาเป็นพระพุทธรูปประจำพระองค์ สืบต่อมาจนกษัตริย์ราชวงศ์มังรายทุกพระองค์

          สำหรับสถานที่ที่เคยประดิษฐานพระแก้วขาวนั้น ในอดีตกษัตริย์ราชวงศ์มังราย ประดิษฐานไว้ในหอพระมณเฑียรเขตพระราชฐาน ต่อมาเก็บรักษาในกุฏิไม้ของเจ้าอาวาส กระทั่งในยุครูบาอินถา อินฺทจกฺโก พ.ศ. 2515 ได้สร้างวิหารประดิษฐานพระแก้วขาวขึ้นทางทิศเหนือของพระวิหารหลวง สำเร็จและฉลองสมโภชวิหารปี 2517 มาได้รับการบูรณะอีกครั้งเมื่อปี 2550 

          ข้อความจากศิลาจารึกหลักที่ 76 หรือศิลาจารึกวัดเชียงหมั้น ซึ่งตั้งที่มุขด้านหน้าพระอุโบสถ ระบุว่าเมื่อ พ.ศ. 2014 ในรัชกาลของพระญาติโลกราช กษัตริย์ราชวงศ์มังรายลำดับที่ 10 (ครองราชย์ พ.ศ. 1985 - 2031) ทรงโปรดให้สร้างเจดีย์ด้วยศิลาแลง หมายถึงเจดีย์ทรงปราสาทฐานสี่เหลี่ยมมีช้างล้อม 16 เชือก การสร้างช้างค้ำเจดีย์หมายถึงการที่ช้างเคยช่วยค้ำจุนพระพุทธศาสนา

          พ.ศ. 2114 ภายใต้ยุคที่พม่าเข้ายึดครองเมืองเชียงใหม่ เจ้าฟ้ามังทรา ราชโอรสของพระเจ้าบุเรงนอง ทรงโปรดให้พระญาแสนหลวงบูรณะพระเจดีย์ พระวิหาร สร้างอุโบสถ ประตูโขง มีพระมหาทินทาทิจะวังสะเป็นเจ้าอาวาส

          สมัยพระญากาวิละ (ปกครองเชียงใหม่ พ.ศ. 2325 - 2367) ได้บูรณปฏิสังขรณ์วัดนี้อีกครั้ง หลังจากอยู่ในสภาพวัดร้างระหว่างช่วงทำสงครามกู้เอกราชจากพม่าตั้งแต่ปี 2319

          สมัยพระเจ้าอินทวิชยานนท์ (ปกครองเชียงใหม่ พ.ศ. 2416 - 2440) โปรดให้สร้างหอพระไตรปิฎกหรือ “หอธรรม” กลางสระน้ำ แต่ต่อมาหอธรรมชำรุดทรุดโทรม ทำให้ปี 2483 ในยุคเจ้าอธิการหมวก สุภาโร จึงได้ถมสระและก่อหอธรรมชั้นล่างเพิ่มเติม กลายเป็นอาคารสองชั้น กระทั่งปี 2553 ทางวัดได้ขอให้กรมศิลปากรบูรณะอีกรอบ โดยแก้ไขรูปแบบให้กลับไปเป็นหอธรรมกลางน้ำดุจเดิม

          สมัยเจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์ (ปกครองเชียงใหม่ พ.ศ. 2444 - 2452) เจ้าหลวงนครเชียงใหม่องค์ที่ 8 พระพุทธศาสนาแบบธรรมยุติกนิกายได้เข้ามาเผยแผ่ยังเชียงใหม่ โดยเจ้าหลวงได้อาราธนา “พระมหาปิง” (เดิมเป็นสามเณรคำปิง บวชที่วัดหัวข่วง) ซึ่งไปสำเร็จการศึกษาเปรียญธรรมจากวัดราชาธิวาส มาจำพรรษาที่วัดเชียงหมั้น แต่ธรรมยุตยังเป็นนิกายใหม่ที่ชาวบ้านไม่เคยคุ้นจึงมีปฏิกิริยาต่อต้าน ทำให้ท่านได้ย้ายไปอยู่วัดหอธรรม (ปัจจุบันคือโรงเรียนเมตตาศึกษา) อันเป็นส่วนหนึ่งของวัดเจดีย์หลวง ต่อมามีฉายานามว่า “พระนพีสีพิศาลคุณ”

          วัดเชียงหมั้นได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2449

          นอกเหนือจากพระแก้วขาวแล้ว วัดเชียงหมั้นยังมีพระพุทธรูปสำคัญอีกอย่างน้อย 4 องค์ ได้แก่

          1. พระศีลา (พระศิลา) พระพุทธรูปปางปราบช้างนาฬาคีรีที่เทวทัตปล่อยมาทำร้ายพระพุทธองค์ให้สงบลง เป็นศิลปะอินเดียสมัยราชวงศ์ปาละ นำมาประดิษฐานที่เมืองเชียงใหม่ในสมัยพระญาติโลกราช

          2. พระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่ พระญามังรายโปรดให้หล่อด้วยสำริด สร้างที่เวียงกุมกาม แล้วอัญเชิญมาเป็นพระประธานในพระอุโบสถ ซึ่งในพระอุโบสถนี้ยังเก็บรวบรวมพระพุทธรูปโบราณอีกมากกว่า 20 องค์

          3. พระพุทธรูปปางมารวิชัย แบบที่เรียกว่าพระสิงห์ล้านนา ประดิษฐานหน้ามณฑปโขง ถือเป็นพระประธานในพระวิหารหลวง สร้างในสมัยพระญากือนา อายุกว่า 600 ปี

          4. พระพุทธรูปปางอุ้มบาตรมีคำจารึกที่ฐานว่าสร้างในสมัยพระญาติโลกราช ประดิษฐานภายในพระวิหารหลวง

          โบราณสถานในวัดเชียงหมั้นได้รับการประกาศขึ้นทะเบียน ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 วันที่ 8 มีนาคม 2478

          ข้อมูลจากทางวัดระบุว่าครูบาเจ้าศรีวิชัย ได้มาบูรณปฏิสังขรณ์พระวิหารหลวงเมื่อ พ.ศ. 2475 โดยผู้ที่อาราธนาครูบาเจ้าศรีวิชัยมาคือครูบาหมวก หรือเจ้าอธิการหมวก สุภาโร ขณะนั้นเป็นเจ้าคณะตำบลศรีภูมิ เคยได้รับการอุปัชฌาย์กับครูบาเจ้าศรีวิชัยมาก่อน พระวิหารบูรณะแล้วเสร็จในปี 2478 หรือปีเดียวกับที่ทำถนนขึ้นดอยสุเทพ 

          พบหลักฐานในบัญชีถวายพระราชกุศล ระบุว่าครูบาเจ้าศรีวิชัย “สร้างพระวิหารวัดเชียงหมั้น เสร็จเมื่อ พ.ศ. 2476 ใช้เงินทั้งสิ้นจำนวน 7,923 รูเปีย 12 สตางค์” 

          สอดคล้องกับคำจารึกภาษาไทยและภาษาล้านนาที่ทำเป็นลายปูนปั้นนูนบนกรอบซุุ้มประตูพระวิหารหลวง ที่เขียนว่าวิหารสร้างเมื่อ “พ.ศ. 2476 จุลสกราช 1295” 

          พระวิหารหลวงมีลักษณะผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด 6 ห้องเสา ทรงยาว ไม่มีการย่อเก็จ อาคารก่ออิฐฉาบปูน มีระเบียงมุขและบันไดทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ลักษณะผังเช่นนี้ เป็นตัวอย่างผังแบบมาตรฐานประเภทที่นิยมสร้างโดยครูบาเจ้าศรีวิชัย เหมือนกับที่วัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่ และวัดพระแก้วดอนเต้า จังหวัดลำปาง

          องค์ประกอบสถาปัตยกรรมที่ถือว่าเป็นรูปแบบเฉพาะของครูบาเจ้าศรีวิชัยคือ การใช้แผ่นคันทวย (นาคทันต์) หล่อปูนนูนต่ำเป็นรูปหนุมาน (ทางเหนือเรียก หอระมาน/หรมาน) อ้าปากหาว เหาะเหินบนท้องฟ้า รองรับชั้นหลังคา รูปทรงหลังคาเป็นแบบหน้าจั่ว ทำมุขลดชั้นทั้งด้านหน้าและหลัง ด้านละ 2 ชั้น ส่วนด้านข้างมีการซ้อนหลังคา 3 ชั้น (เรียกว่า 3 ตับ)

          หน้าบันหรือหน้าแหนบมีความประณีต ใช้กรรมวิธีแกะสลักไม้ติดพื้นหลังด้วยกระจกจืน (แก้วจืน - “จืน” หมายถึงตะกั่ว) ลวดลายหลักเป็นลายกระหนกก้านขดกระจายอยู่ทั่วไปเต็มพื้นที่ สลับกับลายคล้ายดอกพุดตานเป็นตัวปิดลายบางช่วง ตามแบบศิลปกรรมรัตนโกสินทร์ โก่งคิ้วทำเป็นรูปนาคม้วนหางมาพันบรรจบกันตอนกลาง

          บริเวณกึ่งกลางของกรอบสามเหลี่ยมหน้าบันเป็นรูป “พระมหาพิชัยมงกุฎเหนือช้างเอราวัณสามเศียร” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นแนวคิดเดียวกันกับลายพระครุฑพ่าห์ ส่วนกรอบสี่เหลี่ยมของหน้าบันในช่อง “ปีกนก” ทั้งสองข้าง ประดับด้วยรูปหน้าเสือ ทำหน้าที่เป็นตัวออกลายคล้ายกับลาย “หน้ากาล” ตามแบบล้านนาประเพณีแต่เดิม หน้าเสือในที่นี้ทำคล้ายสัญลักษณ์ของตราลูกเสือสามัญซึ่งเกิดขึ้นในช่วงรัชกาลที่ 6 จัดวางสลับกับลายหน้ากาล โดยมีลายรูปหรมาน ทหารเอกของพระรามคอยดึงใบไม้ลายก้านขด

          ประตูทางเข้าด้านหน้ามีสามช่อง ด้านหลังมีสองช่อง หน้าต่างด้านข้างอาคารมีด้านละ 6 บาน หรือที่เรียกว่า 6 ห้อง ทั้งประตูและหน้าต่างตกแต่งกรอบซุ้มเป็นรูปฉัตรยอดเกี้ยว 5 ชั้นเปล่งรัศมี ปลายกรอบซุ้มเป็นพญานาค หงส์ และตัวเหงา ส่วนลวดลายรดน้ำปิดทองบนบานประตูนั้น เขียนเป็นรูปเทวดาถือพระขรรค์ อันเป็นอัตลักษณ์ที่พบได้ทั่วไปในวิหารที่สร้างและบูรณะโดยครูบาเจ้าศรีวิชัย

          เสาภายในพระวิหารยังคงเป็นของเดิมที่พระญาคำฝั้น (ปกครองเชียงใหม่ พ.ศ. 2366 - 2358) เจ้าหลวงเชียงใหม่ลำดับที่ 3 ได้สร้างไว้แทนที่เสาโบราณยุคล้านนา ไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขในยุคครูบาเจ้าศรีวิชัย

          นอกจากนี้ครูบาเจ้าศรีวิชัยยังได้สร้างกำแพงล้อมกรอบรอบวัดอีกด้วย

          ในช่วงที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยทำการบูรณะพระวิหารหลวง ได้มีการย้ายพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย ซึ่งไม่ทราบว่าสร้างในรัชสมัยใด เดิมเคยหันหน้าทางทิศตะวันออกประดิษฐานในวิหารเล็กเปิดโล่งที่แยกออกมาต่างหาก แต่ครูบาเจ้าศรีวิชัยได้มอบหมายให้ครูบาเถิ้ม วัดแสนฝาง อัญเชิญมาประดิษฐานบนแท่นแก้วติดผนังที่ท้ายพระวิหารหลวง พระพุทธรูปจึงหันหน้าไปทางทิศตะวันตก ตั้งอยู่ตรงข้ามกับพระเจดีย์ช้างล้อม ซึ่งพระเจดีย์ต่อมาได้รับการบูรณะโดยพระครูบาหมู ขัตฺติโย นันทสิทธิ์ 

          ในยุคของพระปลัดสมพงษ์ สมจิตฺโต อดีตเจ้าอาวาสวัดเชียงหมั้น ได้บูรณปฏิสังขรณ์พระวิหารหลวงเมื่อ พ.ศ. 2504 - 2505 และพระครูสันติธรรมวัฒน์ เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน บูรณะครั้งใหญ่ระหว่าง พ.ศ. 2537 - 2539 ในวาระเฉลิมฉลองนครเชียงใหม่ครบรอบ 700 ปี ล่าสุดกรมศิลปากรดำเนินการบูรณะอีกครั้งในปี 2559 โดยครั้งหลังนี้พยายามรักษาวัสดุดั้งเดิมไว้ทุกประการ เช่นกระเบื้องมุงหลังคายังคงใช้ดินขอเหมือนกับสมัยครูบาเจ้าศรีวิชัย เว้นแต่ที่หน้าบันด้านทิศตะวันตกหรือด้านหลังพระวิหารนั้น กระจกจืนของเดิมหลุดร่วงไปหมดแล้ว พบว่ามีการใช้กระจกแก้วสีเขียวอมฟ้าสมัยใหม่ตกแต่งแทน

1
2

ข่าวอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

เหลืออีกสองวัน Lanna Auto Sale 18-25 ธันวา 67 ที่เซ็นทรัลเ แอร์พอร์ต รถไฟฟ้าน่าใช้ราคาน่าต...

กระแสรถยนต์ไฟฟ้าในบ้านเราเริ่มได้รับความสนใจจากผู้ใช้คนเมืองมากขึ้นทุกวัน ตามท้องถนนในเชียงใหม่ทุกวันนี้รถที่ขับไปขับมาสังเกตุดูได้เลยต้องมีรถยนต์ไฟฟ้าชับสวนมาหรือขับตามเรามาหลากหลายรุ่น นั่นแสดงถึงรถ...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 24 ธ.ค. 2567, 13:13
  • |
  • 75

อีซูซุ ศาลา เชียงใหม่ จัด ISUZU 2.2 Ddi MAXFORCE พลังแรง ท้าลอง ในศูนย์ประชุมนานาชาติเชียง...

ใกล้สิ้นปีหลายค่ายรถยนต์จัดงานอีเว้นท์กันตลอดทั้งเดือน โดยเฉพาะค่ายอีซูซุที่มีรถยนต์ออกใหม่ทั้งเครื่องยนต์ใหม่ แรงขึ้น เร็วขึ้น วันนี้เราพาท่านไปเที่ยวชมงานนี้กันซึ่งจัดขึ้นภายในศูนย์ประชุมนานาชาติเชี...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 22 ธ.ค. 2567, 16:33
  • |
  • 94

ส่งมอบรถหรูไปอีกหนึ่งคัน ฟอร์ด 2.0L Turbo Sport 4x2 6AT-DAT64(22B )

ส่งมอบรถหรูน่าใช้ให้กับลูกค้า  ฟอร์ด วีกรุ๊ปคาร์เชียงใหม่โดยที่ปรึกษาการขาย ศรสวรรค์  ร่วมแสดงความยินดีพร้อมส่งมอบรถยนต์ให้กับคุณ ชนากานต์ แซ่หล่อ รุ่นรถ 2.0L Turbo Sport 4x2 6AT-DAT64(22B)ข...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 21 ธ.ค. 2567, 11:43
  • |
  • 77

ส่งมอบรถหรูไปอีกหนึ่งคัน ฟอร์ด Double Cab XLS 2.0L Turbo HR 6AT

ส่งมอบรถหรูน่าใช้ให้กับลูกค้า  ฟอร์ด วีกรุ๊ปคาร์เชียงใหม่โดยที่ปรึกษาการขาย พนิตสิรี  ปัญญาวชิรธรรม    ร่วมแสดงความยินดีพร้อมส่งมอบรถยนต์ให้กับ คุณ รังสรรค์ มะสุรินฟอร์ด Double Cab...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 21 ธ.ค. 2567, 11:37
  • |
  • 69

ส่งมอบรถหรูไปอีกหนึ่งคัน ฟอร์ด Double Cab Wildtrak 2.0L Turbo HR 6AT

ส่งมอบรถหรูน่าใช้ให้กับลูกค้า  ฟอร์ด วีกรุ๊ปคาร์เชียงใหม่   โดยที่ปรึกษาการขาย ดวงพร กิ่งจำปา ร่วมแสดงความยินดีพร้อมส่งมอบรถยนต์ให้กับลูกค้า คุณ นพเก้า มาสุวรรณ Ford Double Cab Wildtrak 2.0L...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 21 ธ.ค. 2567, 11:31
  • |
  • 84

ส่งมอบรถใหม่ Hyundai PALISADE Prestige สีขาว เป็นรถยนต์น่าใช้สำหรับครอบครัว

เอชดีเจมอเตอร์ ฮุนไดเชียงใหม่ โดยที่ปรึกษาการขายเซลส์มุ้ย ร่วมแสดงความยินดีพร้อมส่งมอบรถใหม่ให้กับคุณฉัตรพล สุนทรไพบูลย์ (เจ้าของห้างทองอินทรีทอง กาดหลวง) Hyundai PALISADE Prestige สีขาว ขอขอบคุณที่ให...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 19 ธ.ค. 2567, 16:54
  • |
  • 86
Sytiq Company

ออกแบบพัฒนาโปรแกรมและแอพลิเคชั่น

โดยบริษัทไซทิค ติดต่อ:0819507128

Sytiq Company

ออกแบบและติดตั้ง Home Automation

โดยบริษัทไซทิค ติดต่อ:0819507128