แม่ทา อารยธรรมเก่าแก่ก่อนยุคพระนางจามเทวี

ข่าวศิลปวัฒนธรรม , 29 ต.ค. 2566, 16:48

แม่ทา อารยธรรมเก่าแก่ก่อนยุคพระนางจามเทวี

          เมื่อวันพุธที่ 18 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา ดิฉันได้พาคณะผู้สนใจเรื่องประวัติศาสตร์โบราณคดีล้านนา ลงพื้นที่สำรวจแหล่งอารยธรรมยุคหิน ซึ่งไม่ไกลจากอ่างเก็บน้ำแม่เมย ต.ทาขุมเงิน อ.แม่ทา จ.ลำพูน โดยคณะเราเดินเท้าลัดเลาะริมห้วยสายต่าง ๆ ที่ไหลลงสู่ขุนน้ำแม่เมย เข้าไปกลางดงป่าลึกถึงจุดที่มีก้อนหินขนาดมหึมาวางซ้อนกัน โดยจุดที่ไปนั้นชาวบ้านเรียกกันว่า “ดอยต๊อก”

กว่าจะถึงจุดที่มีก้อนหินตั้งทับซ้อนคล้ายเพิงพักอาศัยและคล้ายว่ามีร่องรอยของ Rock Painting หรือภาพเขียนสีนี้ เราได้พบเศษหม้อเศษไหภาชนะดินเผาพร้อมทั้งขวานหิน กระจายกล่นเกลื่อนตลอดเส้นทาง โดยเฉพาะช่วงบริเวณพื้นที่ใกล้ลำน้ำมีทรายชื้นแฉะยิ่งสะดวกต่อการค้นพบ เพราะฝนตกชะเอาวัตถุเหล่านี้จากที่สูงลงมากองรวมไว้ที่ราบลุ่มต่ำสุด

 เศษหม้อไหเหล่านี้มีทั้งลายเชือกทาบ (cord mark) ทั้งลายขูดขีดด้วยเหล็กแหลม ด้วยกาลเวลาที่ยาวนาน เนื้อภาชนะหลายชิ้นสึกกร่อน เปลี่ยนจากสีส้มเป็นสีดำ นอกจากนี้ พบว่าบริเวณดังกล่าวยังมีผู้คนอยู่อาศัยสืบต่อมาอีกจนถึงยุคหริภุญไชยเมื่อพันกว่าปีที่แล้ว แม้กระทั่งสมัยอาณาจักรล้านนามีอำนาจขึ้นแทนที่ช่วง 5-600 ปีที่ผ่านมา เหตุที่เราทราบก็เพราะได้พบเศษหม้อไหทั้งดินเผาไม่เคลือบแบบน้ำต้นหริภุญไชยปะปนกับเครื่องเคลือบสมัยในสมัยล้านนาเต็มไปหมด ทั้งจากแหล่งเตาสันกำแพงและเตาเวียงกาหลง

การลงสำรวจพื้นที่ที่เป็นป่าลึกตอนในสุดของตำบลทาขุมเงินที่ผ่านมานั้น เรายังไม่ได้นั่งพูดคุยหาข้อสรุปถึงเรื่องพัฒนาการการตั้งถิ่นฐานชุมชนกันเลย เนื่องจากระยะเวลาค่อนข้างจำกัด เพราะหลังจากเสร็จภารกิจการปีนป่ายสำรวจดอยต๊อกแล้ว เรายังเดินทางไปสำรวจ “ดอยภาวนา” กันต่อ ซึ่งเป็นเนินเขาไม่สูงชันเกินไปนักอยู่ดานหลังวัดทาขุมเงินอีกลูก แห่งหลังนี้นอกจากจะพบเศษขวานหินทั้งหินกะเทาะและหินขัดของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์แล้ว ยังพบอารยธรรมของกลุ่มคนที่มีอายุร่วมสมัยกับหน้าประวัติศาสตร์ที่เรียกว่ายุคหริภุญไชยอย่างเด่นชัดที่สุดอีกด้วย เป็นที่แน่ชัดว่าบริเวณนี้เคยเป็นที่อาศัยของกลุ่มคนชาติพันธุ์ “ลัวะ” เหตุที่พวกเขาฝังศพในรูปแบบที่เรียกกันในลักษณะลำลองว่า “วงตีไก่” คือการเอาก้อนหินขนาดใกล้เคียงกันวางล้อมเป็นวงกลมซ้อนหลายชั้น ตรงกลางก่อเป็นแท่งหินนูนสูงขึ้นมา ร่องรอยทั้งหมดนี้พบมากในจังหวัดลำพูน เช่นที่ดอยไซ ต.ป่าสัก หรือดอยอุโบสถ ต.ศรีบัวบาน อ.เมืองลำพูน เป็นต้น วงตีไก่หรือหินก่อล้อมเหล่านี้ยังพอสืบค้นได้ว่าเป็นธรรมเนียมการฝังศพของบรรพชนชาวลัวะ

หลังจากที่เราเสร็จสิ้นการสำรวจทั้ง “ดอยต๊อก” และ “ดอยภาวนา” ไปแล้ว ได้มีเสียงเรียกร้องจากนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ท้องถิ่นลำพูนคนสำคัญ ซึ่งเป็นชาวยองแม่ทาคือ “อาจารย์แสวง มาละแซม” ท่านได้ประสานดิฉันมาว่า ข้อมูลทั้งหมดที่พวกเราลงพื้นที่กันนั้น ไม่ควรจบลงแล้วพับเก็บขึ้นหิ้งเพียงแค่ “การสำรวจ” เท่านั้นทว่าควรมีการสานต่อเอาให้สุดทาง นั่นคือควรเปิดเวทีให้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ระหว่างนักวิชาการด้านโบราณคดี ประวัติศาสตร์ มานุษยวิทยา ธรณีวิทยา คติชนวิทยา ฯลฯ กับการฟังคำบอกเล่าของคนในชุมชนและปราชญ์ชาวบ้านบ้าง

 โดยอาจารย์แสวงแนะนำให้ดิฉันประสานขอความร่วมมือไปยัง คุณกนที บุญมากาศ นายกเทศมนตรีตำบลทาขุมเงิน เพื่อขออนุเคราะห์ใช้ห้องประชุมของเทศบาลในการจัดประชุมสัมมนาทางวิชาการในท้องถิ่นอย่างเป็นกิจจะลักษณะ พร้อมกันนั้น ดิฉันมาคิดได้ว่า ยังมีแหล่งโบราณคดีตามเถื่อนถ้ำอีกหลายจุดในเขตอำเภอแม่ทา ทั้งตำบลทาขุมเงิน ตำบลทากาศ ที่ดิฉันเคยทราบมาว่าค่อนข้างเก่า และเข้าถึงยาก อาทิ ถ้ำต่างๆ ในโซนหมู่บ้านที่ชื่อ “บ้านแม่เหล็ก” มีถ้ำลึกลับซับซ้อนมากกว่า 30 ถ้ำ แต่ละถ้ำต้องปีนป่ายด้วยความยากลำบาก ซึ่งยังไม่ได้ทำการสำรวจเลย 

ดังนั้น ดิฉันจึงทำการนัดหมายเชิญชวนผู้สนใจให้มาทำกิจกรรมร่วมกันในวันจันทร์ที่ 13 พฤศจิกายน 2566 โดยกำหนดให้ภาคเช้า เราจะร่วมสำรวจถ้ำต่างๆ ด้วยกันก่อน อนึ่ง คำว่า “ถ้ำแม่เหล็ก” นั้นเป็นภาพรวมของถ้ำจำนวนมาก อันที่จริงถ้ำเหล่านี้มีชื่อย่อยๆ ที่พอรู้จักกันก็คือ “ถ้ำจำหม่าฟ้า” “ถ้ำท่อ” “ถ้ำกี่” เป็นต้น ทราบมาว่าไม่ไกลจากบริเวณนั้นเคยพบเตาเผาปูนขาวด้วย ออกจากกลุ่มถ้ำแม่เหล็กก่อนไปเทศบาลตำบลทาขุมเงิน เราจะแวะสำรวจแท่นหินชื่อ “แท่นดอกไม้” กับวัดนาละหรือนาลัวะด้วย โดยคณะเราได้นัดพบกันจุดแรกที่สำนักสงฆ์ถ้ำจอมธรรม เวลาก่อน 09.00 น. จากนั้นจะเปลี่ยนเป็นซ้อนท้ายรถกระบะไปลุยตามจุดต่างๆ เท่าที่พอจะปีนป่ายได้
          ช่วงบ่าย เป็นเวทีสัมมนาทางวิชาการ จัดที่ห้องประชุมเทศบาลตำบลทาขุมเงิน โดยอาจารย์แสวง มาละแซม จะเปิดประเด็นมากมาย ประเด็นแรกคือ การเข้ามาตั้งถิ่นฐานของชาวลัวะในแถบแม่ทา ว่ามีมาตั้งแต่เมื่อไหร่ จากกลุ่มคนที่เคยนับถือผีบรรพบุรุษ อาศัยอยู่บนดอย จนเข้าสู่สมัยล้านนาคนเชื้อสายลัวะกลุ่มนี้กลับมีบทบาทในฐานะ “ข้าพระธาตุ” ถูกกัลปนาให้ทำหน้าที่เฝ้าพระพุทธรูป เฝ้าพระธาตุเจดีย์ ดังมีหลักฐานปรากฏบนจารึกตัวอักษรผักขามสมัยพระเมืองแก้วราว 500 ปีก่อน ที่พบในวัดถ้ำจอมธรรม (วัดถ้ำจำธรรม)

น่าเสียดายที่จารึกหลักนี้ ราว 110 ปีก่อนได้ถูกกลุ่มวิศวกรเยอรมัน นำโดยนายเอมิล ไอเซนโฮเฟอร์ เคลื่อนย้ายไปเก็บไว้ที่ฝั่งลำปาง ช่วงวางแผนเตรียมการขุดเจาะอุโมงค์ทางรถไฟขุนตาน เขาก็คงหวังดีด้วยเกรงว่าโบราณวัตถุชิ้นสำคัญตามวัดต่างๆ ในละแวกอำเภอแม่ทาจะได้รับผลกระเทือนแตกชำรุดจากแรงขุดเจาะ ช่วงนั้นจึงได้ทำการขนย้ายพระพุทธรูป ศิลาจารึกตามวัดต่างๆ ของอำเภอแม่ทาจำนวนมากไปเก็บรักษาไว้ที่ฝั่งลำปาง ตั้งแต่ช่วงก่อน พ.ศ. 2450 

กระทั่งปี 2460 ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 มีเหตุการณ์ที่ฝ่ายอักษะพ่ายแพ้ให้แก่ฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งประเทศเยอรมนีเป็นฝ่ายอักษะ ส่งผลกระทบมาถึงวิศวกรเยอรมันนายเอมิล ไอเซนโฮเฟอร์ ผู้คุมการก่อสร้างทางรถไฟอุโมงค์ขุนตาน ซึ่งทำงานรับใช้สยาม เขาถูกจับเป็นเชลยศึก ส่งไปกักกันตัว ณ ประเทศอินเดีย (เพราะอินเดียเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ซึ่งอยู่ฝ่ายสัมพันธมิตร ผู้ชนะสงคราม) 

กว่านายเอมิลจะได้รับการปลดปล่อย และกลับมาเมืองไทยอีกครั้ง กาลเวลาก็ผ่านไปนานสิบกว่าปี เรื่องราวการนำโบราณวัตถุจากฝั่งลำพูนที่ได้จากอำเภอแม่ทาไปเก็บรักษาไว้ที่ฝั่งลำปางไม่มีการหยิบยกมาพูดถึงกันอีกเลย มีผู้รู้เพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่พอจำได้ ล้วนแต่เป็นผู้เฒ่าผู้แก่ หนึ่งในจำนวนนั้นก็คืออดีตเจ้าอาวาสวัดทาขุมเงินผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ของอาจารย์แสวงสมัยเป็นเณรน้อย

สิ่งที่ดิฉันกล่าวมานี้ เป็นคำบอกเล่าที่อาจารย์แสวง มาละแซม แจ้งให้ทราบมานานกว่า 20 ปีแล้ว และดิฉันในนามอดีตหัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย ก็เคยพยายามเจรจาทั้งกับอธิบดีกรมศิลปากรและกับฝ่ายนักวิชาการทางลำปาง ว่าอยากขอโบราณวัตถุที่นายเอมิลนำไปไว้ที่ลำปางคืนกลับสู่อำเภอแม่ทาหลายครั้งแล้ว แต่การเจรจาก็ไม่เป็นผลสำเสร็จ อย่างน้อยที่สุด ก็ขอทำการบันทึกเรื่องราวนี้ให้เป็นประจักษ์พยานต่อสาธารณชนอีกครั้ง

ประเด็นที่สอง อาจารย์แสวงอยากนำเสนอเรื่องราวของเหตุการณ์ยุคเจ้าหลวงคำฟั่น เจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์แรก ในยุคพื้นฟูเมืองลำพูนตรงกับสมัยต้นรัตนโกสินทร์ เจ้าหลวงมีชายาเป็น “กะเหรี่ยงแดง” ชื่อ “เจ้านางกั้วะ” เจ้านางผู้นี้ได้ทำการบุกเบิกการค้าไม้แบบค้าตรงกับนายห้างชาวอังกฤษเลย (ยังไม่ใช่ยุคสัมปทานป่าไม้ ที่ต้องผ่านความเห็นชอบจากสยาม ซึ่งจะเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5) ประวัติศาสตร์หน้านี้ค่อนข้างเลือนหาย ว่าครั้งหนึ่งดินแดนแถบแม่ทา บ้านโฮ่ง ลี้เคยนี้มีการนำชาวกะเหรี่ยงที่ข้ามฝั่งสาละวินและแม่น้ำเมยจากพม่าเข้ามาตั้งรกราก เข้ามาทำการตัดไม้ ทำให้มีการนำชื่อบ้านนามเมือง คือน้ำแม่เมย ติดมาด้วยจากเมืองเมยวดี (แต่ประชากรดั้งเดิมของอำเภอแม่ทา บ้านโฮ่ง ลี้ ก็มีชาวกะเหรี่ยงอยู่ก่อนด้วยแล้วเช่นกัน)

ประเด็นที่สาม อาจารย์แสวงอยากนำเสนอเรื่องชาติพันธุ์กลุ่มสุดท้ายอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งต่อมาได้กลายมาเป็นประชากรหลักของอำเภอแม่ทา นั่นคือชาวยอง บรรพบุรุษของอาจารย์แสวง มาละแซม นั่นเอง คนกลุ่มนี้เข้ามาได้อย่างไร กระจายตัวแยกออกมาจากทางป่าซาง หรือจากตำบลศรีบัวบาน ในเขตอำเภอเมืองลำพูน เมื่อไหร่ อย่างไร ทำไมวิหารวัดทาขุมเงินจึงมีความงามงดในระนาบเดียวกันกับที่วัดหนองสร้อยและวัดหมูเปิ้ง? คงต้องรอฟังคำเฉลยจากอาจารย์แสวงในวันที่ 13 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้

กล่าวโดยสรุปคือ จากจุดเล็กๆ ที่เราสนใจคือ “ดอยต๊อก” ก็ดี “ดอยภาวนา” ก็ดี “ถ้ำแม่เหล็ก” ก็ดี อาจารย์แสวงพยายามชี้ให้เห็นว่า หากเราต้องการศึกษาประวัติศาสตร์ในอำเภอแม่ทาแบบให้เกิดประโยชน์โภชผล ไม่ควรมองแบบแยกส่วนทีละจุดๆ ทว่าควรมองให้เห็นภาพกว้าง ภาพไกล ภาพลึก ภาพรวมทั้งผืน โดยอาจใช้ตำบลทาขุมเงินกับตำบลทากาศเป็นจุดเริ่มต้นของการเปิดประเด็นก่อน เพราะสองตำบลนี้มีแหล่งเรียนรู้อันทรงคุณค่ามากมายมหาศาลที่มีความโดดเด่น จากนั้นค่อยขยายไปยังตำบลอื่นๆ  ซึ่งหากเวทีเสวนาที่จะถึงนี้มีข้อมูลมากพอในระดับหนึ่ง ก็น่าจะนำไปสู่การเริ่มต้นเขียนหลักสูตรท้องถิ่น ใช้เป็นคู่มือการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ให้แก่ครูในเขตอำเภอแม่ทา รวมทั้งเรายังอาจนำต้นทุนนี้มาใช้จุดประกายสร้างแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ สาย “ผจญภัย” (สายแอดเวนเจอร์) ให้แก่กลุ่มผู้สนใจด้านโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ หรือด้านชาติพันธุ์ศึกษาได้อีกด้วย
          ดิฉันในฐานะผู้ประสานงานกับคนทุกกลุ่มทุกภาคส่วน จึงขอเชิญชวนท่านผู้สนใจติดตามกิจกรรมนี้ได้ ทั้งทางเฟซบุ๊ก ซึ่งจะมีการไลฟ์สดเป็นช่วงๆ หรือหากท่านอยากร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคณะเราแบบสดในพื้นที่ก็ยินดียิ่ง ท่านสามารถแจ้งความจำนงต่อดิฉันได้เลยค่ะ ไม่ต้องรีรอ

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ ช่วยตอกย้ำว่า ณ บริเวณที่เป็นที่ตั้งนครหริภุญไชยหรือเมืองลำพูน หรือ “แอ่งที่่ราบลุ่มลำพูน-เชียงใหม่” มีปราการด้านตะวันออกคือขุนตานและเทือกเขาผีปันน้ำ ปราการด้านทิศใต้คือดอยอินทนนท์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาตะนาวศรี และปราการทิศตะวันตกเฉียงเหนือคือแถบดอยหลวงเชียงดาว กล่าวคือบริเวณแม่น้ำปิง-กวง-ทา-ข่า-ขาน ฯลฯ นั้น ในอดีตมีการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์อายุหลายหมื่นปีมาก่อนแล้ว ทั้งยุคหินเก่า หินกลาง และหินใหม่ โดยเฉพาะยุคสำริดตามด้วยยุคเหล็กราว 2,500 ปีที่ผ่านมา กลุ่มชนดั้งเดิมเหล่านี้มีมาก่อนการเดินทางขึ้นมาจากละโว้ของพระนางจามเทวี กระทั่งต่อมาได้กลายกลืนเป็นประชากรหลักส่วนหนึ่งของนครหริภุญไชยในที่สุด

9

ข่าวอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

มิตซูแสงชัย ขอเชิญร่วมงาน Exclusive Test Drive 🔮“ มิตซูแสงชัย มูปัง รับปี 68 ” วันเสาร์ ท...

มิตซูแสงชัย ขอเชิญร่วมงาน  Exclusive Test Drive 🔮“ มิตซูแสงชัย มูปัง รับปี 68 ” ✨📍วันเสาร์ ที่ 14 ธ.ค 67  | เวลา 10.00-17.00 น.📍ณ ร้านอาหาร คาริน แอนด์ ชอร์ (ถ.สันกำแพงสายใหม่ เยื้อง ปั้มปตท...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 9 ธ.ค. 2567, 16:24
  • |
  • 48

ส่งมอบรถใหม่ Hyundai STARIA Premium (Euro5) เป็นรถยนต์น่าใช้สำหรับครอบครัว

 เอชดีเจมอเตอร์ ฮุนไดเชียงใหม่ โดยที่ปรึกษาการขายเซลส์แนน ร่วมแสดงความยินดีพร้อมส่งมอบรถใหม่ให้กับคุบริษัท บุญเลิศเกมส์ไม้ จำกัด  Hyundai STARIA Premium (Euro5) ขอขอบคุณที่ให้เกียรติมาเป็นคร...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 6 ธ.ค. 2567, 18:34
  • |
  • 54

999,900 บาทราคานี้ยอดจองระเบิด AION V รถ SUV ใหม่ล่าสุดจาก AION VGroup Car เชียงใหม่

ที่ผ่านมา AION VGroup Car เชียงใหม่ จัดงานเปิดตัว SUV ใหม่ล่าสุด AION V ที่เดินทางมาถึงโชว์รูมที่เชียงใหม่ โดยมีผู้บริหาร AION VGRUOP Car เกรียงศักดิ์ จารุนนท์วิวัฒน์ ให้เกียรติ์กล่าวต้อนรับสื่อมวลชนพ...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 1 ธ.ค. 2567, 08:32
  • |
  • 138

ส่งมอบรถใหม่ Hyundai STARGAZER X6 สีบรอนเงิน เป็นรถยนต์น่าใช้สำหรับครอบครัว

เอชดีเจมอเตอร์ ฮุนไดเชียงใหม่ โดยที่ปรึกษาการขายเซลส์แนน ร่วมแสดงความยินดีพร้อมส่งมอบรถใหม่ให้กับคุณสิรินาถ ว่าความดี มาถอย Hyundai STARGAZER X6 สีบรอนเงิน ขอขอบคุณที่ให้เกียรติมาเป็นครอบครัวฮุนได สอบ...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 29 พ.ย. 2567, 09:59
  • |
  • 101

เริ่มไปแล้ววันนี้งานแสดงรถยนต์ ETON CHIANGMAI EXPO 2024 ณ เซ็นทรัลเชียงใหม่ เฟสฯ 26 พย.ถึง...

ในงานท่านจะได้พบกับรถยนต์นำเข้าหลายรุูปแบบ ทั้งเครื่องยนต์สันดาป,ไฮบริด และรถยนต์ไฟฟ้า100% ที่นำมาเปิดรับจองสำหรับท่านที่สนใจอยากได้รถยนต์ไปใช้งาน เรามีข้อเสนอพิเศษเฉพาะคุณที่สนใจเชิญแวะมาหาเราได้ที่...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 26 พ.ย. 2567, 13:40
  • |
  • 123

ส่งมอบไปอีกคันแล้ว ฟอร์ด EV 2.0L Turbo Sport 4x2 6AT-DAT64(22B) เป็นรถยนต์ที่น่าใช้

 ส่งมอบรถยนต์น่าใช้ให้กับลูกค้า โดยที่ปรึกษาการขาย ดวงพร กิ่งจำปา  ร่วมแสดงความยินดีกับคุณ เดนนิช สุขสวัสดิ์  มารับ ฟอร์ด EV 2.0L Turbo Sport 4x2 6AT-DAT64(22B) ไปจากโชว์รูม ขอบคุณที่ ใ...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 23 พ.ย. 2567, 14:59
  • |
  • 137
Sytiq Company

ออกแบบพัฒนาโปรแกรมและแอพลิเคชั่น

โดยบริษัทไซทิค ติดต่อ:0819507128

Sytiq Company

ออกแบบและติดตั้ง Home Automation

โดยบริษัทไซทิค ติดต่อ:0819507128