เลิศล้ำรัศมีพัสตราภรณ์ เจ้าดารารัศมี พระราชชายาฯ กับวัฒนธรรมการแต่งกาย

ข่าวศิลปวัฒนธรรม , 20 พ.ย. 2566, 17:58

เลิศล้ำรัศมีพัสตราภรณ์ เจ้าดารารัศมี พระราชชายาฯ กับวัฒนธรรมการแต่งกาย

          บทความชิ้นนี้เป็นการถอดคลิปบันทึกเสียงของ “แม่ครูอัญชลี ศรีป่าซาง” ครูภูมิปัญญาด้านผ้าทอ เจ้าของร้านสีสันพรรณไม้ ที่ให้เกียรติมาร่วมเป็นวิทยากรในงานประชุมสัมมนากึ่งวิชาการ “ดารารัศมีรำฦก” ที่พวกเราหลายภาคส่วนเคยร่วมกันจัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนธันวาคมปี 2561 หรือ 5 ปีมาแล้ว ณ ห้องประชุมสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีหลากหลายหัวข้อ  1 ในนั้นคือหัวข้อ “เลิศล้ำรัศมีพัสตราภรณ์” (เครื่องแต่งกาย ครัวหย้อง) เป็นการพูดคุยกันระหว่างแม่ครูอัญชลี กับน้องบุ๋ม อาจารย์ทิพย์สุดา จินดาปลูก พิธีกรผู้ดำเนินรายการ เป็นบทความที่พวกเราช่วยกันถอดคลิปและคงได้รวบรวมจัดพิมพ์เป็นหนังสือเร็วๆ นี้

บรรยากาศของผ้าทอล้านนาในรอบ 3 ทศวรรษที่ผ่านมา

          การบรรยายครั้งนี้ ขอแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานด้านผ้าทอล้านนามาเล่าสู่กันฟัง ในฐานะที่แม่ครูเปิดร้านขายผ้ามา 25 ปี ทำให้ได้มีโอกาสศึกษาเรื่อง “ผ้าทอล้านนา” ไปโดยปริยาย แม้แม่ครูจะเติบโตมาในหมู่บ้านที่ขึ้นชื่อเรื่องการทอผ้าซิ่นตีนจก คืออำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ก็ตาม แต่ช่วงวัยเยาว์นั้นยังไม่เคยรู้จักพระประวัติของพระราชชายาฯ มาก่อนเลย เนื่องจากต้องเดินทางไปศึกษาต่อที่กรุงเทพฯ 

          เมื่อกลับมาเชียงใหม่ ราวปี พ.ศ. 2537-38 แม่ครูเริ่มทำงานในร้านขายผ้า หัวหน้าร้านมีความประสงค์จะให้แม่ครูไปเสาะหาผ้าทอชิ้นงามๆ จากอำเภอแม่แจ่มมาจำหน่ายที่ร้าน ทำให้แม่ครูต้องกลับไปเรียนรู้เรื่องราวของผ้าซิ่นตีนจกที่บ้านเกิดเมืองนอนอีกครั้ง และเหตุการณ์นั้นน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของความสนใจเรื่องผ้าทอล้านนาอย่างลงลึกในเวลาต่อมา

          บรรยากาศเรื่องผ้าทอในยุคนั้น ร้านที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดก็คือร้านม่อนฝ้าย ของอาจารย์รำพัด โกฏิแก้ว ซึ่งเป็นร้านที่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า มีการขายผ้าซิ่นตีนจกที่สอดดิ้น รวมทั้งรับจัดงานการแสดงหรืออีเวนท์ต่างๆ หลังจากนั้นแม่ครูก็แยกตัวจากร้านเดิมไปเปิดกิจการของตัวเองชื่อร้านสีสันพรรณไม้ ต่อมา มีอาจารย์นุสรา เตียงเกตุ บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้หลงใหลในผ้าซิ่นพื้นเมืองเหนือ ได้เข้ามาเรียนรู้ อนุรักษ์ และส่งเสริมเรื่องการทอผ้าตีนจกที่ตำบลทัพผา อำเภอแม่แจ่ม ด้วยการฟื้นฟูลวดลายโบราณที่กำลังจะสูญหายคู่ขนานไปกับการต่อยอดด้านลวดลายประยุกต์สำหรับคนรุ่นใหม่

          ยุคนั้นมีโครงการศูนย์ศิลปาชีพพิเศษบางไทร ของสมเด็จพระพันปีหลวง (สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9) ที่ดำเนินการโดย “คุณเจ้าดารารัตน์ ณ ลำพูน” ทำให้ภูมิปัญญาท้องถิ่นได้รับการส่งเสริมอย่างเป็นกระบวนการ อาทิเช่น นำผ้าซิ่นตีนจกแม่แจ่มไปประยุกต์ด้วยการใช้โทนสีใหม่แค่ 2 สี คือ ใช้สีดำ-แดง หรือเทา-ชมพู หรือครีม-ชมพู (สีเดิมของตีนจกแม่แจ่มคือ เหลือง-แดง) ทอด้วยเส้นนอนเส้นยืนแบบง่ายๆ เมื่อศูนย์ศิลปาชีพซื้อไปแล้ว ก็นำไปประยุกต์ตัดเย็บเป็นของที่ระลึกพวก ปกสมุด ของชำร่วย หมอนอิง ฯลฯ

          ช่วงที่แม่ครูเปิดร้านสีสันพรรณไม้ใหม่ๆ ผู้คนในยุคนั้นยังไม่นิยมใส่ผ้าซิ่นตีนจก นอกจากข้าราชการบางคนในบางหน่วยงานเท่านั้น ส่วนคนทั่วไปก็มีทัศนคติว่าผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาตินั้นเป็นผ้าของชาวบ้านที่ดูไม่เหมาะแก่การใส่ไปงานเลี้ยง ยุคก่อนถ้าจะไปงานแต่งงานหรืองานสำคัญสุภาพสตรีและสุภาพบุรุษนิยมสวมชุดผ้าไหมมัดหมี่อีสานมากกว่า เพราะดูมีราคา และได้รับการโปรโมตในระดับชาติมาก่อนแล้ว

          พื้นฐานการศึกษาของแม่ครูนั้น อันที่จริงเรียนจบด้านพยาบาล แทบไม่มีความรู้เรื่องธุรกิจอะไรมากนัก กระทั่งมีผู้ใหญ่ที่นับถือท่านหนึ่ง ชื่อคุณอัมพร ระมิงค์วงศ์ นำภาพถ่ายของเจ้าดารารัศมี พระราชชายาฯ มามอบให้ไว้บูชา แม่ครูวางภาพนั้นไว้ที่หน้าเคาน์เตอร์ร้านค้าเพื่อสักการะ จากนั้นพบว่าแม่ครูประสบความสำเร็จในด้านธุรกิจค้าผ้า กลายเป็นความผูกพัน เป็นสัญญาใจที่แม่ครูปวารณากับตนเองไว้ว่า จะขอไปดำหัวกู่ร่วมรำลึกนึกถึงคุณความดีของพระองค์ท่านในทุกๆ ปี ทั้งวันประสูติและวันสิ้นพระชนม์ และยินดีร่วมงานช่วยเหลือในทุกๆ ภารกิจที่เกี่ยวข้องกับพระราชชายาฯ ไม่ว่าใครร้องขอมา จะขอทำหน้าที่ให้ดีที่สุด โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน 

เจ้าดารารัศมี พระราชชายาฯ กับวัฒนธรรมการแต่งกาย

          ลำดับถัดไปแม่ครูจักอธิบายเรื่องความเป็นมาของผ้าแต่ละผืนประกอบกับภาพที่นำมาฉาย (และบางผืนได้นำมาจัดแสดงนิทรรศการให้ชมของจริง) ไล่เรียงตามลำดับเหตุการณ์ ดังนี้

          ภาพที่หนึ่ง เป็นภาพสมัยที่เจ้าดารารัศมี พระราชชายาฯ มีสถานะเป็นเจ้าจอมมารดา มีพระชันษาราว 17-18 ทรงอุ้มเจ้าน้อย (พระองค์เจ้าหญิงวิมลนาคนพีสี พระราชธิดา) ฉลองพระองค์ของพระราชชายาฯ เป็นเสื้อสไตล์วิกตอเรีย ผ้าลูกไม้แต่งริบบิ้น ส่วนผ้าซิ่นนั้นเป็นผ้าลุนตยาอาฉิก หรือซิ่นไหมร้อยกระสวย ซึ่งทอยากมาก เวลาทอต้องใช้คนสองคนคู่กัน โดยใช้ด้ายเส้นคู่มาไขว้กัน ทำให้เกิดลายคลื่น เป็นซิ่นชนชั้นสูงของพม่า พระราชชายาฯ นำเอาซิ่นลุนตยามาต่อกับตีนจกของแม่แจ่ม

          อนึ่ง “ตีนจก” เป็นผ้าทอของกลุ่มคนไทยวนในล้านนา ผ้าซิ่นแบบตีนจกมีลักษณะโครงสร้างประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ หัวซิ่น ตัวซิ่น (กลางซิ่น) และตีนซิ่น เหมือนร่างกายของมนุษย์ เอกลักษณ์ของซิ่นเมืองเหนือคือเป็นซิ่นลายขวาง ช่องไฟแต่ละช่องต้องมีขนาดเท่ากัน (ผิดกับผ้าซิ่นของกลุ่มไทลื้อ ที่ช่องว่างของตัวซิ่นไม่จำเป็นต้องเท่ากัน) ในส่วนของตีนซิ่น หรือส่วนตีนจก ประกอบไปด้วยลายหลักและลายประกอบ ลายหลักเป็นรูปเรขาคณิตในกรอบสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ภายในกรอบมีทั้งลายโคม ลายนก ลายนาค ฯลฯ ส่วนลายประกอบด้านล่างเรียกว่าหางสะเปา (เป็นส่วนเดียวกันกับด้านล่างของผ้ายกดอกลำพูน ซึ่ง ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ และกรมศิลปากรเรียกว่า “ลายกรุยเชิง”)

          เอกลักษณ์ความแตกต่างระหว่างซิ่นเจ้านายหรือซิ่นของชนชั้นสูงกับซิ่นของสามัญชน ก็คือโครงสร้างซิ่นของเจ้านายในส่วนตีนจกต้องมีลายประกอบ 2 ชั้น นอกจากนี้แล้ววัสดุต้องเป็นไหมที่ทอกับเส้นโลหะเงินชุบทอง เห็นได้ว่าซิ่นผืนนี้พระราชชายาฯ เอาตีนจกมาต่อกัน ถือเป็นความปรีชาสามารถด้านแฟชั่นของพระองค์ กล้าคิด กล้าทำ กล้านำเสนอ 

          ภาพที่สอง คือซิ่นของพระองค์เจ้าน้อยวิมลนาคนพีสี เป็นซิ่นยกทั้งผืน ตกแต่งด้วยรูปดอกน้อยๆ โครงสร้างซิ่นเหมือนกับซิ่นผู้ใหญ่ เจ้าดารารัศมีทรงแกะลายผ้ายกมาจากผืนที่เจ้าแม่ทิพเกสร พระมารดามอบให้ ซึ่งเป็นผ้ายกกี่ ซิ่นผืนนี้แม่ครูเป็นเจ้าของ ได้มาจากเจ้าพิมผกาเมื่อปี 2552 ช่วงที่ทำความสะอาดห้องใต้หลังคาคุ้มเจ้ารินแก้ว (เคยตั้งอยู่ข้างห้างกาดสวนแก้ว อันเป็นสถานที่ที่เจ้าดารารัศมีสิ้นพระชนม์) แล้วพบผ้าซิ่นผืนน้อยผิืนนี้

          ปี 2493 สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 เสด็จเชียงใหม่ เจ้าพิมผกาได้ใส่ซิ่นผืนนี้แสดงเรื่องพระลอตามไก่ ที่คุ้มดวงตะวัน โดยรับบทเป็นไก่ เจ้าพิมผกาขอซิ่นจากเจ้าวงศ์สักส์ ณ เชียงใหม่ พี่ชายของท่านไว้เป็นที่ระลึก ต่อมาเอาให้หลานใส่ในวันศุกร์ (ซึ่งโรงเรียนหลายแห่งในล้านนากำหนดให้นักเรียนใส่ผ้าเมืองในวันศุกร์) แต่ตอนนี้หลานสาวเจ้าพิมผกาโตแล้ว แม่ครูจึงขอเก็บไว้จัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ จากนั้นก็ทำจำลองอีกผืนนี้ขึ้นมาใหม่ โดยศิษย์เก่าคณะวิจิตรศิลป์ (ผืนใหม่นี้ผู้แสดงละครเรื่อง “รากนครา” นำไปใส่)

          ภาพที่สาม เป็นช่วงที่เจ้าดารารัศมี พระราชชายาฯ มีพระชันษาเข้าสู่วัยกลางคน ถ่ายที่คุ้มหลวงเวียงแก้ว เป็นผ้ายกในยุคแรกๆ ที่พระราชชายาฯ ทรงสนับสนุนให้ชาวบ้านทอผ้ายก มีข้อสังเกตว่า ผ้ายุคเก่ากับผ้ายุคใหม่จะไม่เหมือนกัน ผ้ารุ่นเก่าจะเนื้อบาง ไม่เกี่ยวมือ คุณภาพดี ต่อมาชาวบ้านในลำพูนอยากใส่ผ้ายกด้วยเช่นกัน ทำให้เกิดการทอกี่กันแทบทุกบ้านด้วยวิธีการยกดอกเอาลายกรุยเชิงเป็นสะเปาแล้วต่อด้วยซิ่นต๋า (ซิ่นลายขวางเป็นตาตาราง) ตอนบน ผ้าที่ชาวบ้านทอมักมีสีสันฉูดฉาด ส่วนผ้ายกดอกสำหรับเจ้านายมักเป็นสีโทนหวานอ่อนๆ แบบสีพาสเทล  เช่น สีชมพูแก่นมะขาม 

          ภาพที่สี่ เป็นภาพที่ถ่ายโดยนามเอ็ม ทานะกะ ชาวญี่ปุ่น ตอนที่พระราชชายาฯ เสด็จนิวัติกลับเชียงใหม่เป็นการถาวร สวมซิ่นผืนนี้ในงานเลี้ยงส่งครู เป็นซิ่นที่มีลายปักทับโครงสร้างผ้าซิ่นตีนจก ความสนพระทัยในงานปักผ้าของเจ้าดารารัศมี พบได้จากกลุ่มงานปักผ้ารองคัมภีร์ดิ้นเงินดิ้นคำที่วัดเกตการาม เห็นได้ว่างานผ้าของพระองค์ไม่จำเป็นต้องทออย่างเดียว มีงานปักด้วย 

          ภาพที่ห้า ซิ่นต๋าต่อตีนต่อเอว เกิดจากการที่กี่ทอโบราณมีขนาดไม่กว้าง เป็นกี่หลังเล็ก เวลาทอออกมาจะได้หน้าผ้าประมาณ 2- 3 คืบเท่านั้น ต้องเอาผ้าอีกผืนมาเย็บประกอบกัน ความยาวประมาณ 30 เซนติเมตร แล้วก็ต้องเอามาต่อตีนต่อเอว ซิ่นต๋าถือเป็นซิ่นมาตรฐานที่ชาวเชียงใหม่ในยุคหนึ่งประมาณ 20-30 ปีที่แล้ว นิยมมาก จำได้ว่าเจ้ายายดวงเดือน ณ เชียงใหม่ เคยบอกว่าคนเชียงใหม่ทั่วไปไม่ได้ใส่ซิ่นตีนจกในชีวิตประจำวัน แต่ใส่ซิ่นต๋า อันที่จริงซิ่นต๋า มีความหลากหลาย ใส่ได้ตลอดเวลาเหมือนผ้าถุง ถ้าอยู่บ้านก็ใส่ซิ่นต๋าผ้าฝ้ายธรรมดา ถ้าชนชั้นสูงก็จะใช้ไหมน้อย สมัยก่อนก็ต้องเอาไหมมาจากญี่ปุ่น หรือจีน เพราะว่าคนเชียงใหม่จะไม่ทอไหม โดยเฉพาะคนแม่แจ่ม มีเรื่องเล่าว่าพระที่นั่งกรรมฐานอยู่บนดอย ได้ยินเสียงร้องไห้ จึงลงมาถามชาวบ้านซึ่งขณะนั้นกำลังต้มไหมอยู่ จากนั้นมาคนแม่แจ่มไม่นิยมทอไหม 

          ภาพที่หก เป็นภาพถ่ายตอนวัยกลางคน ช่วงท่านอยู่ที่กรุงเทพฯ ใส่เสื้อแขนหมูแฮม เกล้าผมทรงญี่ปุ่น ประดับปิ่นปักผม หลังจากที่ท่านได้กลับมาอยู่เชียงใหม่แล้ว ท่านก็ได้มีการฟื้นฟูศิลปะต่างๆ ส่วนหนึ่งก็คือการแสดงนาฏศิลป์ทั้งหลาย ท่านสามารถออกแบบเครื่องแต่งกายได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งแบบหรูหราอลังการ หรือแบบชนเผ่าก็มี ออกแบบผ้าซิ่นให้ลูกหลานใส่ในการแสดง การฟ้อนต่างๆ 

          ภาพที่เจ็ด ยุควัยชรา พระราชชายาฯ ไม่ประสงค์จะประดับประดาอะไรเยอะเกินไป แต่ใส่แบบคนเฒ่าทั่วไป เริ่มเข้าสู่ความสงบ ใส่เพียงเสื้อคอบัวสีขาวกับซิ่นต๋า ยุคนี้เริ่มมีกี่ทอผ้าที่กว้างขึ้นไม่จำเป็นต้องมานั่งต่อตีนต่อเอวแล้ว ลวดลายก็มีมากขึ้นเป็นวิวัฒนาการของซิ่นต๋า มาสู่ซิ่นสันกำแพง ท่านทรงออกแบบลวดลายเองย้อมเอง ทอโดยเจ้าเครือแก้ว ต้นห้องของท่าน 

          หนังสือของอาจารย์รัศมี พงศ์น้ำเงิน เป็นบทสัมภาษณ์หลานของพระราชชายาฯ กล่าวว่า พระราชชายาฯ ทรงขี่ม้าไปถึงอำเภอแม่แจ่มเพื่อเก็บรวบรวมลวดลายผ้าซิ่นตีนจก ซึ่งสมัยก่อนไม่มีทางรถยนต์ ย้อนกลับไปยังยุคที่บิดาของแม่ครูต้องออกมาจากแม่แจ่มเพื่อหาซื้อวัสดุพวกฝ้าย น้ำมัน น้ำตาล ฯลฯ บิดาจะออกเดินทางเวลาประมาณ 21.00 น. อาศัยนอนพักในหมู่บ้านปกากะญอ 1 คืนแล้วเดินทางต่อมาออกที่จอมทองหรือแม่วาง ซื้อสิ่งของที่แม่วางเสร็จก็จะจ้างพ่อค้าม้าต่างวัวต่างบรรทุกของกลับแม่แจ่ม ชวนให้นึกเปรียบเทียบกับยุคสมัยก่อนหน้าขึ้นไปอีก คือช่วงที่เจ้านายระดับพระราชชายาฯ ต้องเดินทางไปแม่แจ่ม คงต้องยิ่งมีความยากลำบากอย่างรุนแรงกว่ายุคของบิดาแม่ครู แต่ด้วยความอุตสาหะของพระองค์ได้ดั้นด้นไปเก็บตัวอย่างลวดลายตีนจกมาทอใหม่ที่โรงกี่

          เจ้าดวงจันทร์ ณ เชียงใหม่ หลานของพระราชชายาฯ และเป็นผู้ดูแลพระราชชายาฯ ตอนที่ใกล้สิ้นพระชนม์ ได้ให้สัมภาษณ์ว่า พระราชายาฯ สั่งไว้ว่า 

          “ห้ามลูกหลานใส่ซิ่นลายทางลง (แนวตั้ง) อย่างลาวล้านช้าง ต้องใส่ซิ่นลายขวาง (ซิ่นต๋า) ตามประเพณีเชียงใหม่เท่านั้น และห้ามตัดผมขอให้ไว้ผมยาวและเกล้ามวย”

          ประเด็นนี้มีนัยยะบ่งบอกอะไรหลายอย่าง ถึงความเป็นผู้นำทางด้านการดำรงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ความเป็นคนเมืองล้านนา

          ผู้เข้าร่วมสัมมนา สอบถามวิทยากรว่า มีความเห็นเรื่องอนาคตของผ้าทออย่างไร ในเมื่อคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ไม่ได้สนใจจะสืบทอด

          แม่ครูตอบว่า คนรุ่นใหม่ยุคนี้ ถือว่าให้ความสนใจในเรื่องผ้าทอดีกว่าคนเมื่อยุค 25 ปีที่แล้ว จริงอยู่ที่คนทอมีจำนวนน้อยลง เพราะรายได้จากการทอผ้าต้องใช้เวลานานมากกว่าจะได้มา แต่ปัจจุบันนี้มีพอมีคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะเพศที่สามที่ให้ความสนใจ คนกลุ่มนี้ได้กลายมาเป็นหัวใจหลักเรื่องการสืบสานผ้าทอ ทั้งการศึกษาประวัติความเป็นมา การฝึกแกะลายโบราณ ย้อมไหม ถือว่าทำได้ดีเหมือนอดีตเกือบ 95 เปอร์เซ็นต์ และยุคนี้ปี 2561 (หมายถึงปีที่มีการสัมมนาหัวข้อดังกล่าว) ผ้าทอบางผืนขายได้ถึงผืนละแสนบาท แนวโน้มของคนสมัยนี้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องผ้ามากขึ้นกว่าสมัยก่อน เนื่องจากค้นหาข้อมูลได้ง่ายขึ้นจากสื่อออนไลน์ต่างๆ ช่วยทำให้คนเข้าถึงแหล่งความรู้งานหัตถกรรมได้ลึกซึ้ง ทำให้ยินดีที่จะจ่ายเงินเป็นมูลค่าให้กับผ้าทอราคาแพง ซึ่งถือว่าเป็นวิวัฒนาการที่ดีมาก

22

ข่าวอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

โปรแรง จัดเต็ม Lanna Motor Sale 21-27 มค. 68 ( เซ็นทรัล เฟส )

เดือนมกราคม ถือเป็นเดือนแรกของปี 68 ตั้งต้นเดือนแรกก็มาพบกับงาน มอเตอร์โชว์กันเลยเรียกได้ว่าปีนี้จะเป็นปีของผู้ใช้รถยนต์อย่างแท้จริง ทั้งในเรื่องของราคา ดอกเบี้ยที่คงที่หรือมีแนวโน้มจะลดลงอีกเพราะการแ...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 24 ม.ค. 2568, 07:12
  • |
  • 74

🎇ไม่อยากพลาดความเฮง ลุ้นรับโชคหลายชั้น ต้องมางานนี้ 🎇 🧧✨#โตโยต้าล้านนาโชคดีมีแชมป์✨🧧ต้อนร...

🎇ไม่อยากพลาดความเฮง  ลุ้นรับโชคหลายชั้น ต้องมางานนี้ 🎇🧧✨#โตโยต้าล้านนาโชคดีมีแชมป์✨🧧ต้อนรับตรุษจีน ต้อนรับความรวย รวย รวย ที่ #โตโยต้าล้านนา🧨วันที่ 24 - 25 มกราคม 2568  โชว์รูมโตโยต้าล้...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 23 ม.ค. 2568, 16:40
  • |
  • 85

Lanna Motor Sale ต้อนรับปีใหม่ พบกับ รถยนต์ฮุนได สุดพรีเมี่ยมทั้ง 2 รุ่น 🚩 Hyundai Staria...

พบกับ รถยนต์ฮุนได สุดพรีเมี่ยมทั้ง 2 รุ่น 🚩Hyundai Staria และ Hyundai Stargazer ✨ 👉 ที่งาน Lanna Motor Sale ตอนรับปีใหม่ / ตรุษจีน 2025                 &nb...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 21 ม.ค. 2568, 09:52
  • |
  • 118

ส่งมอบรถใหม่ HyundaiSTARIA Premium with Sunroof (Euro5) สีขาว เป็นรถยนต์น่าใช้สำหรับครอบค...

เอชดีเจมอเตอร์ ฮุนไดเชียงใหม่ โดยที่ปรึกษาการขายเซลส์มุ้ย ร่วมแสดงความยินดีพร้อมส่งมอบรถใหม่ให้กับคุณแคทริน อินต๊ะมา เป็นรถยนต์ ฮุนไดSTARIA Premium with Sunroof (Euro5) สีขาว ขอขอบคุณที่ให้เกียรติมาเป...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 16 ม.ค. 2568, 18:44
  • |
  • 123

ส่งมอบไปอีก 1 คันแล้ว สำหรับรถยนต์ Hyundai STARGAZER X6 สีบรอนทอง สุดสวย ที่ผ่านมา

ส่งมอบรถใหม่ให้กับลูกค้า ที่ปรึกษาการขาย เอชดีเจ มอเตอร์ ฮุนไดเชียงใหม่ เซลส์แนน ร่วมแสดงความยินดีพร้อมส่งมอบรถใหม่ให้แก่คุณวิระดา ชวลิต Hyundai STARGAZER X6 สีบรอนทอง ออกไปจากโชว์รูม เอชดีเจมอเตอร์ ท...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 11 ม.ค. 2568, 14:08
  • |
  • 155

ส่งมอบรถใหม่ Hyundai CRETA ALPHA สีดำ เป็นรถยนต์น่าใช้สำหรับครอบครัว

 เอชดีเจมอเตอร์ ฮุนไดเชียงใหม่ โดยที่ปรึกษาการขายเซลส์แนน ร่วมแสดงความยินดีพร้อมส่งมอบรถใหม่ให้กับคุคุณ KYUNG HEE LEE เป๋ฯรถยนต์ Hyundai CRETA ALPHA สีดำ ขอขอบคุณที่ให้เกียรติมาเป็นครอบครัวฮุนได...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 8 ม.ค. 2568, 12:35
  • |
  • 183
Sytiq Company

ออกแบบพัฒนาโปรแกรมและแอพลิเคชั่น

โดยบริษัทไซทิค ติดต่อ:0819507128

Sytiq Company

ออกแบบและติดตั้ง Home Automation

โดยบริษัทไซทิค ติดต่อ:0819507128