วัดกิ่วมื่น โบสถ์น้ำต้นตำรับ กับตำนานพญาปลาช่อน

ข่าวศิลปวัฒนธรรม , 17 ธ.ค. 2566, 23:31

วัดกิ่วมื่น โบสถ์น้ำต้นตำรับ กับตำนานพญาปลาช่อน

         ดิฉันเคยไปสำรวจวัดกิ่วมื่นนานมาแล้ว 2 ครั้งประมาณ 20 ปีก่อน ยุคที่ยังทำงานอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย คือในราวปี 2546-2547 จำได้ดีว่าวัดนี้มีอะไรแปลกๆ ไม่เหมือนวัดอื่น อาทิ มีซากกองอิฐและหินอยู่ในเกาะกลางน้ำ คล้ายโบสถ์เก่าที่มีน้ำล้อมรอบ และไม่จำเป็นต้องผูกพัทธสีมา ดังที่เรียกกันว่า “นทีสีมา” อันเป็นคติดั้งเดิมตั้งแต่สมัยล้านนาที่รับมาจากลัทธิกาวงศ์

รวมทั้งยังเป็นวัดที่มี “อ่างพระโพธิสัตว์ปลาช่อน” ขนาดใหญ่ มีเทวดาปูนปั้นคล้ายพรหมสี่หน้ายืนประนมกรประดับรายรอบอ่าง ชนิดที่ดิฉันก็ไม่เคยพบเคยเห็นที่วัดไหนมาก่อนเลย กับจำได้ดีว่าวัดนี้ยังมีพระธาตุเจดีย์แบบลังกาองค์ใหญ่มาก มีกลีบบัวคว่ำบัวหงายสลับซับซ้อนกันหลายชั้น มองทีไรก็ชวนให้นึกถึงมหาสถูปที่วัดอุโมงค์สวนพุทธธรรม หลัง มช. ทุกครั้งไป

          วันที่ 8 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมานี้ ดิฉันรู้สึกคิดถึงวัดแห่งนี้อย่างแรงกล้า อยากไปดูอีกสักครั้งว่ามีสภาพเป็นอย่างไรบ้าง เมื่อมาถึง พบว่าสิ่งที่เปลี่ยนไปจากเดิมก็คือ ได้มีการสร้างวิหารพระเจ้าทันใจ พร้อมรอยพระพุทธบาทที่แกะสลักจากหินแกรนิตสั่งมาจากจังหวัดสระบุรี ขึ้นบนเกาะกลางน้ำ ก่อทับแทนที่รอยกองหินกองอิฐดั้งเดิมที่เคยเป็นโบสถ์น้ำเสียแล้ว ดิฉันจึงขอสัมภาษณ์ข้อมูลจากท่านเจ้าอาวาสคือ พระครูจำเริญ จิตฺตวุฑฺโฒ ซึ่งจำพรรษาอยู่ที่นี่มาตั้งแต่ปี 2534 และแน่นอนว่าช่วง 2 ทศวรรษก่อนที่ดิฉันเคยมาเก็บข้อมูลสำรวจวัดแห่งนี้ ก็น่าจะได้พบท่านแล้ว 2 หน 

          พระครูจำเริญ เล่าถึงประวัติวัดกิ่วมื่นให้ฟังอย่างละเอียดพร้อมพาชมจุดสำคัญๆ ของวัดดังนี้

          ก่อนอื่นท่านขอเล่าถึงที่มาของชื่อวัด “กิ่วมื่น” มีผู้สันนิษฐานกันถึงความเป็นไปได้ถึงสามกรณี กรณีแรกบริเวณนี้อาจเคยปลูกต้นมะมื่น (ภาคกลางเรียก “กระบก” เป็นเมล็ดตระกูลแมคคาเดเมีย นำไปคั่วทานได้) กรณีที่สอง “มื่น” แปลว่า “ลื่น” กรณีที่สาม “มื่น” เป็นคำที่บางครั้งคนล้านนาเรียกแผลงไปจาก “มืด” ที่แปลว่า มืดดำ มองไม่เห็น ก็มี

          ไม่ว่าคำว่า “มื่น” จะหมายถึงกรณีใด ที่แน่ๆ ด้านทิศตะวันออกของวัด มีดอยอยู่ลูกหนึ่ง ชาวบ้านเรียก “ดอยหลวง” โอบล้อมวัดอ้อมไปทางทิศใต้ ระหว่างดอยสองลูกมี “กิ่ว” หรือช่องแคบอยู่ (ปัจจุบันชลประทานมาสร้างคลองระบายน้ำ) กิ่วแห่งนี้นี่เอง น่าจะเป็นที่มาของชื่อวัด แต่รอยต่อกิ่ว จะปลูกต้นมะมื่น หรือมีความชันทำให้ลื่น หรือเป็นเงาตะคุ่มๆ ดูมืด อย่างใดอย่างหนึ่งก็ไม่แน่ใจ เพราะมีแต่คำบอกเล่าที่คนเฒ่าคนแก่ต่างก็สงสัยอยู่ อนึ่ง ชื่อวัดกิ่วมื่นนี้ ซ้ำกันกับวัดอีกแห่งหนึ่งที่อยู่แถว ต.มะกอก อ.ป่าซาง จ.ลำพูน 

          ประวัติความเป็นมาของวัด พระครูจำเริญกล่าวว่า ตามบันทึกของกรมการศาสนาระบุว่า วัดนี้สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2225 ตรงกับสมัยพม่าปกครองล้านนา ในขณะเดียวกันก็ตรงกับยุคสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยาที่ยกทัพขึ้นมาตีล้านนาด้วยเช่นกัน นั่นคือหลักฐานด้านเอกสาร 

ทว่า หลักฐานด้านโบราณสถานและโบราณวัตถุ พบว่าวัดแห่งนี้มีความเก่าแก่มากกว่านั้น สามารถย้อนกลับไปไกลถึงสมัยล้านนายุครุ่งเรืองเป็นอย่างน้อย เนื่องจากองค์พระเจดีย์เองก็มีขนาดมหึมา ก่ออิฐฉาบปูนด้วยเทคนิคโบราณ ประดับลายบัวปากระฆังที่ซ้อนกันหลายชั้น กลีบบัวคมกริบ คล้ายกับกลีบบัวที่วัดอุโมงค์ ลายพวงอุบะมาลัยที่คอระฆังก็เป็นปูนปั้นของแท้ดั้งเดิมที่เก่าแก่ในสมัยล้านนา โดยไม่เคยปรับเปลี่ยน

เท่านั้นยังไม่พอ วัดยังมีพระพุทธรูปสำริดสององค์ องค์หนึ่งมีจารึกที่ฐานด้านหลังเป็นตัวอักษรฝักขาม เคยมีนักจารึกวิทยามาอ่านให้ทางวัดฟังอย่างไม่เป็นทางการ น่าจะระบุศักราชประมาณ พ.ศ. 2010 ซึ่งตรงกับสมัยพระเจ้าติโลกราช ยุคทองของล้านนา 

พระครูจำเริญพาดิฉันไปกราบพระพุทธรูปสำริดสององค์ที่เก็บรักษาในศาลาปฏิบัติธรรม ด้านทิศตะวันออกหน้าพระวิหาร พบว่าพระพุทธรูปองค์หนึ่งมีจารึกที่ฐานจริง แต่อยู่ด้านหลัง ซึ่งองค์พระหนักมากเคลื่อนย้ายไม่ได้ ถ่ายรูปลำบาก พระทั้งสององค์สามารถเปิดพระโมลีหรือเกตุมาลาได้ ในอดีตเคยฝังผลึกแก้ว หรือบรรจุพระธาตุไว้ ซึ่งพระปฏิมาที่เปิดพระโมลีได้ สิบเอกสุวิช ศรีวิราช ปราชญ์ท้องถิ่นลำพูน เคยบอกว่าต้องเรียกว่า “พระเจ้าน้ำทิพย์” หมายถึงในอดีตสามารถนำน้ำศักดิ์สิทธิ์บรรจุในพระเศียรได้ เพื่อใช้ทำพิธีกรรม และน่าจะมีการเข้าใจอะไรผิดบางประการ ที่ทางวัดบอกดิฉันว่า เจ้าหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์หริภุญไชยได้มาศึกษา เมื่อพบเกศโมลีที่เปิดได้เช่นนี้ บอกทางวัดว่านี่คือ “พระเจ้าทองทิพย์” ซึ่งอันที่จริง คำว่าพระเจ้าทองทิพย์นั้น ผิวเนื้อต้องสุกปลั่ง พระพักตร์ต้องเปล่งเปลว เพราะมีส่วนผสมของทองคำแท้รวมอยู่ด้วย ดังนั้น ณ เบื้องต้นนี้ ดิฉันขอเรียกพระสององค์ว่า “พระเจ้าน้ำทิพย์” แทนคำว่า “พระเจ้าทองทิพย์” ไปก่อน

อาจกล่าวได้ว่า วัดแห่งนี้มีทั้งพระธาตุเจดีย์รุ่นเก่า พระพุทธรูปสำริดสมัยล้านนาประมาณ พ.ศ. 2010 ย่อมถือว่ามีความสำคัญยิ่ง ไฉนเลยกลับเป็นวัดที่ถูกมองข้าม เป็นม้านอกสายตาที่แทบไม่มีนักท่องเที่ยวหรือนักการศึกษาไปเยี่ยมชม อาจเป็นเพราะสถานที่ตั้งค่อนข้างไกล แทบจะหลบซ่อนในหลืบเขากระมัง

จึงไม่แปลกใจแต่อย่างใดที่อดีตเจ้าคณะจังหวัดลำพูนผู้ล่วงลับ พระเทพมหาเจติยาจารย์ (ตุ๊ลุงเจ๋) ผู้เป็นเพื่อนกับพ่อของพระครูจำเริญ จักเคยเล่าให้พระครูจำเริญฟังว่า “ประเพณีสรงน้ำพระธาตุทางทิศตะวันออกของน้ำแม่กวงเมื่อ 100 ปีก่อนมีที่วัดกิ่วมื่นนี่แห่งเดียว และพระประธานที่ใหญ่ที่สุด ก็คือที่วัดกิ่วมื่น พระประธานที่สวยที่สุด ก็คือที่วัดกิ่วมื่น ชาวบ้านเรียก พระเจ้าตนหลวง บ้างเรียก พระเจ้าตนงาม” 

ในพระวิหารซึ่งประดิษฐาน พระเจ้าตนหลวง หรือพระเจ้าตนงาม ปูนปั้นขนาดใหญ่นี้ เดิมเคยวางพระพุทธรูปสำริดสององค์ (พระเจ้าน้ำทิพย์) กระหนาบข้าง (ต่อมาได้ย้ายพระสำริดมาเก็บรักษาในห้องด้านหลังศาลาปฏิบัติธรรม) แล้วปั้นพระสาวกสองข้างแทน

ซ้ำในตำนานพระเจ้าเลียบโลกเวลากล่าวถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทางโซนเหนือสุดของลำพูน จะพูดถึงอยู่แค่สี่แห่งเท่านั้นคือ พระธาตุดอยเวียง ดอยขะม้อ พระธาตุกิ่วมื่น พระธาตุดอยห้างบาตร 

สิ่งที่ต้องถือว่าเป็นอันซีนที่มีเฉพาะวัดแห่งนี้ ไม่มีในวัดอื่น เป็นกล่องดวงใจของวัดกิ่วมื่นมีอยู่สองเรื่องคือ 1. มีคติการบูชาพญาปลาช่อน แบบสร้างอ่างให้อยู่เป็นกิจจะลักษณะ 2. เป็นวัดแห่งเดียวที่เหลือในลำพูนที่มีการสร้างโบสถ์น้ำตามคติลังกาวงศ์ดั้งเดิม

ในศาลาปฏิบัติธรรม โซนด้านหลังที่เก็บพระเจ้าน้ำทิพย์สององค์ มีสิ่งสำคัญของวัดรวมอยู่ด้วยคือ “พญาปลาช่อน” 2 ตัว ทำด้วยหินฝังกระจกจืนในส่วนของเกล็ดปลา วางคู่กันในพาน ปลาช่อนตัวหนึ่งตาสีแดง เป็นเพศผู้ ตัวนี้เองเป็นพระโพธิสัตว์ อีกตัวหนึ่งตาสีขาว เป็นเพศเมีย สร้างไว้เป็นคู่กัน 

พระครูจำเริญเล่าว่า ประเพณีการแห่พญาปลาช่อนเพื่อขอฝนของชาวกิ่วมื่นจะทำก่อนการสรงน้ำพระธาตุกิ่วมื่นเป็นเวลา 1 สัปดาห์ ซึ่งประเพณีสรงน้ำพระธาตุกิ่วมื่นถูกกำหนดไว้ในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 8 เหนือ คือหลังจากสรงน้ำพระธาตุหริภุญไชยได้ 15 วัน (พระธาตุหริภุญไชยสรงน้ำในวันแปดเป็ง หรือขึ้น 15 ค่ำเดือน 8 เหนือ) ดังนั้น ประมาณ 1 สัปดาห์หลังสรงน้ำพระธาตุหริภุญไชย และก่อนสรงน้ำพระธาตุกิ่วมื่น จะมีประเพณีแห่ปลาช่อนเพื่อขอฝน ซึ่งสมัยก่อนในบริเวณทิศเหนือของลำพูนมีการสรงน้ำพระธาตุอยู่เพียงวัดเดียวคือที่นี่เท่านั้น (เนื่องจากพระธาตุดอยเวียงกับดอยห้างบาตรร้างไป เพิ่งฟื้นวัดได้ไม่นาน แต่วัดกิ่วมื่นไม่เคยร้าง มีสถานะเป็นวัดที่มีพระสงฆ์จำพรรษามาอย่างต่อเนื่อง) ปัจจุบันนี้มีวัดใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย แต่ละวัดสร้างพระเจดีย์ขึ้นมาใหม่ และกำหนดวันสรงน้ำขึ้นมาเองตามสะดวก ในขณะที่วัดกิ่วมื่นถูกกำหนดให้เป็นวันแรม 15 ค่ำ มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว ก็ต้องยึดตามนั้น

เกี่ยวกับปลาช่อนหินคู่นี้ ครั้งหนึ่งเคยเก็บรักษาไว้ที่อ่างน้ำด้านทิศตะวันตกของวัด หลังพระธาตุเจดีย์ ทางไปโบสถ์น้ำ แต่ครั้งหนึ่งปลาช่อนหินคู่นี้เคยหายไป ถูกคนร้ายขโมยแบบเงียบๆ ไม่ให้คนในชุมชนรู้ มานึกเอะใจสงสัยกัน ตอนที่ฝูงกาบินมาร้องระเบ็งเซ็งแซ่ลั่นวัดกิ่วมื่น เมื่อไปชะเง้อมองในอ่างเก็บพญาปลาช่อน ซึ่งด้านล่างเป็นดินลึกก็พบว่าปลาช่อนหายไปแล้ว

จนกระทั่งทราบว่าคนร้ายเอาไปโยนทิ้งไว้ที่บ้านบวกค้าง สันกำแพง เชียงใหม่ การตามหาพญาปลาช่อนหินจนเจอนี้ก็เนื่องมาจาก มีสามีภรรยาคู่หนึ่งกำลังจะไปทำไร่ไถนา เดินผ่านมายังสระน้ำแห่งหนึ่ง รู้สึกประหลาดใจมากที่ทำไมวันนี้มีปลาช่อนเต็มไปหมด ทั้งสองผัวเมียจึงไม่ไปทำนา ช่วยกันวิดน้ำเพื่อจะขอดเอาปลา วิดเสร็จก็มาเจอปลาช่อนหินแทน 1 คู่ ปลาช่อนตัวเป็นๆ ดิ้นได้กลับไม่มี ทำให้เป็นที่โจษจันกันว่า พญาปลาช่อนหินที่หายไปจากวัดกิ่วมื่นมาอยู่ที่สระน้ำแถวบ้านบวกค้างนี่เอง ซึ่งคนร้ายได้แกะเอาของมีค่าที่ฝังในหัวใจปลาช่อนออกไปแล้ว จึงเอาร่างมาทิ้งตามสระ ในที่สุดชาวกิ่วมื่นก็ได้พญาปลาช่อนหินกับไปยังถิ่นกำเนิด อย่างไรก็ดีชาวบวกค้างก็อยากได้พญาปลาช่อนเช่นกัน ขนาดว่าถูกควักหัวใจไปแล้วยังมีคาถาเรียกปลามารวมตัวกันได้มากถึงเพียงนี้ ชาวบวกค้างจึงมาขอเฉือนเนื้อหินบางส่วนของพญาปลาช่อนไปผสมกับวัสดุที่จะทำปลาช่อนตัวใหม่ โดยมาทำพิธีปลุกเสกกันที่วัดกิ่วมื่นแห่งนี้ 

ส่วนอ่างน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งตอนบนไม่มีฝาปิด ตกแต่งโดยรอบเป็นกลีบบัวบานคว่ำหงายนั้น พระครูจำเริญกล่าวว่าของเดิมเป็นอ่างดิน บัวที่ปากอ่างนั้นไม่มีท่านทำขึ้นใหม่ ได้รับแรงบันดาลใจจากบัวปากระฆังขององค์เจดีย์ ส่วนพรหมสี่หน้าประนมกรยืนเรียงรายนั้น ของเดิมมีอยู่จริง เป็นศิลปะรุ่นเก่า แต่จะเก่าถึงยุค พ.ศ.2010 สมัยล้านนา หรือยุค พ.ศ. 2225 สมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้น ทางวัดไม่ทราบ รูปปั้นพรหมสี่หน้าประนมกรนี้สมัยที่พระครูมาอยู่ใหม่ๆ เหลืออยู่แค่องค์เดียว คือด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ พระครูจึงใช้องค์นี้เป็นต้นแบบโมเดลทำพิมพ์หล่อปูนปลาสเตอร์ปั้นขึ้นใหม่ประดับให้ครบทุกเสารอบอ่าง

เช่นเดียวกับสัตว์หิมพานต์ พวกกิเลน สิงห์ มอม ที่เคยประดับในช่องลูกฟัก (ช่องกระจก/ช่องแว่น) ที่ฐานเจดีย์ สลับกับลายพันธุ์พฤกษาที่ปีกสองก้านเสานั้น ก็เหลือลวดลายเก่าอยู่เพียงบางส่วน พระครูได้ปั้นเพิ่มให้เต็มทุกช่อง โดยใช้แม่พิมพ์ปูนปลาสเตอร์หล่อจากของเดิม

          ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของวัด มีศรัทธาญาติโยมได้ซื้อที่ถวายวัดอีก 2 ไร่ ทำให้วัดสร้างหอธัมม์ (หอไตร) ขึ้นมา 1 หลังมีสองชั้น เอาไว้เก็บคัมภีร์ใบลาน ซึ่งทางสถาบันวิจัยสังคม มช. เคยมาตรวจสภาพแล้ว พบว่ามีอายุเก่าถึงสมัยล้านนา

          พระครูจำเริญยังเล่าว่า วัดกิ่วมื่นยุคที่วิหารทรุดโทรมเมื่อ 80 ปีก่อน เคยมีผู้ไปนิมนต์ครูบาเจ้าศรีวิชัยมาช่วยเป็นแม่กองในการบูรณปฏิสังขรณ์ ท่านก็รับนิมนต์มานั่งภาวนาที่นี่ แต่แล้วกลับกล่าวว่า “วัดแห่งนี้ไม่ใช่เนื้อนาบุญของท่าน วันข้างหน้าจะมีเจ้าของเดิมมาบูรณะเอง” นอกจากนี้ท่านครูบาฯ ยังสั่งว่า “ต้นมะนะ (สมอ) อันนี้ห้ามตัดเน้อ” จนทุกวันนี้เรายังเห็นต้นสมอสูงใหญ่อยู่หน้าวิหารวัดกิ่วมื่น

14
1

ข่าวอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ส่งมอบรถใหม่ HyundaiSTARIA Premium with Sunroof (Euro5) สีขาว เป็นรถยนต์น่าใช้สำหรับครอบค...

เอชดีเจมอเตอร์ ฮุนไดเชียงใหม่ โดยที่ปรึกษาการขายเซลส์มุ้ย ร่วมแสดงความยินดีพร้อมส่งมอบรถใหม่ให้กับคุณแคทริน อินต๊ะมา เป็นรถยนต์ ฮุนไดSTARIA Premium with Sunroof (Euro5) สีขาว ขอขอบคุณที่ให้เกียรติมาเป...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 16 ม.ค. 2568, 18:44
  • |
  • 55

ส่งมอบไปอีก 1 คันแล้ว สำหรับรถยนต์ Hyundai STARGAZER X6 สีบรอนทอง สุดสวย ที่ผ่านมา

ส่งมอบรถใหม่ให้กับลูกค้า ที่ปรึกษาการขาย เอชดีเจ มอเตอร์ ฮุนไดเชียงใหม่ เซลส์แนน ร่วมแสดงความยินดีพร้อมส่งมอบรถใหม่ให้แก่คุณวิระดา ชวลิต Hyundai STARGAZER X6 สีบรอนทอง ออกไปจากโชว์รูม เอชดีเจมอเตอร์ ท...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 11 ม.ค. 2568, 14:08
  • |
  • 92

ส่งมอบรถใหม่ Hyundai CRETA ALPHA สีดำ เป็นรถยนต์น่าใช้สำหรับครอบครัว

 เอชดีเจมอเตอร์ ฮุนไดเชียงใหม่ โดยที่ปรึกษาการขายเซลส์แนน ร่วมแสดงความยินดีพร้อมส่งมอบรถใหม่ให้กับคุคุณ KYUNG HEE LEE เป๋ฯรถยนต์ Hyundai CRETA ALPHA สีดำ ขอขอบคุณที่ให้เกียรติมาเป็นครอบครัวฮุนได...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 8 ม.ค. 2568, 12:35
  • |
  • 105

ส่งมอบรถใหม่ Hyundai STARGAZER Smart 6 With Black Roof สีแดง เป็นรถยนต์น่าใช้สำหรับครอบคร...

เอชดีเจมอเตอร์ ฮุนไดเชียงใหม่ โดยที่ปรึกษาการขายเซลส์แนน ร่วมแสดงความยินดีพร้อมส่งมอบรถใหม่ให้กับคุณเอนก ชิตเกษร Hyundai STARGAZER Smart 6 With Black Roof สีแดง ขอขอบคุณที่ให้เกียรติมาเป็นครอบครัวฮุนไ...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 3 ม.ค. 2568, 10:17
  • |
  • 188

เหลืออีกสองวัน Lanna Auto Sale 18-25 ธันวา 67 ที่เซ็นทรัลเ แอร์พอร์ต รถไฟฟ้าน่าใช้ราคาน่าต...

กระแสรถยนต์ไฟฟ้าในบ้านเราเริ่มได้รับความสนใจจากผู้ใช้คนเมืองมากขึ้นทุกวัน ตามท้องถนนในเชียงใหม่ทุกวันนี้รถที่ขับไปขับมาสังเกตุดูได้เลยต้องมีรถยนต์ไฟฟ้าชับสวนมาหรือขับตามเรามาหลากหลายรุ่น นั่นแสดงถึงรถ...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 24 ธ.ค. 2567, 13:13
  • |
  • 217

อีซูซุ ศาลา เชียงใหม่ จัด ISUZU 2.2 Ddi MAXFORCE พลังแรง ท้าลอง ในศูนย์ประชุมนานาชาติเชียง...

ใกล้สิ้นปีหลายค่ายรถยนต์จัดงานอีเว้นท์กันตลอดทั้งเดือน โดยเฉพาะค่ายอีซูซุที่มีรถยนต์ออกใหม่ทั้งเครื่องยนต์ใหม่ แรงขึ้น เร็วขึ้น วันนี้เราพาท่านไปเที่ยวชมงานนี้กันซึ่งจัดขึ้นภายในศูนย์ประชุมนานาชาติเชี...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 22 ธ.ค. 2567, 16:33
  • |
  • 232
Sytiq Company

ออกแบบพัฒนาโปรแกรมและแอพลิเคชั่น

โดยบริษัทไซทิค ติดต่อ:0819507128

Sytiq Company

ออกแบบและติดตั้ง Home Automation

โดยบริษัทไซทิค ติดต่อ:0819507128