วันนี้ (25 พ.ย.64) บริษัทบริหารสินทรัพย์โกลบอลวัน เจ้าหนี้จำนองผู้เสียหาย “กรณีประกาศขายทอดตลาดโรงแรมดาราเทวี เชียงใหม่” มอบหมายให้นายประสิทธิ์ วงศาสวัสดิ์ ทนายความบริษัทฯ แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ในหัวข้อ “แฉ ขบวนการร่วมกันขวางการขายทอดตลาดโรงแรมดาราเทวี” โดยมีสื่อมวลชนเชียงใหม่หลายแขนงเข้าร่วมรับฟังเป็นจำนวนมาก เนื่องจากกรณีดังกล่าวเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของประชาชน โดยการแถลงจัดขึ้น ณ ห้องแกลลอรี่ โรงแรมราชมรรคา เชียงใหม่
นายประสิทธิ์ วงศาสวัสดิ์ ทนายความบริษัทฯ แถลงว่า การประกาศขายทอดตลาดทรัพย์สินของโรงแรมดาราเทวี เชียงใหม่นั้น เจ้าหนี้สามัญไร้หลักประกันได้เป็นโจทก์ ทำการนำยึดทรัพย์สินในกิจการโรงแรมดาราเทวีออกขายทอดตลาด ดังนั้นบริษัท บริหารสินทรัพย์โกลบอลวัน จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิจำนองได้ขอรับชำระหนี้จำนองเป็นจำนวนเงินรวมกันประมาณ 2,600,000,000 บาท ( สองพันหกร้อยล้านบาท ) ซึ่งเป็นหนี้ตามคำพิพากษาของศาลล้มละลายกลาง เจ้าพนักงานบังคับคดีจังหวัดเชียงใหม่ได้มีประกาศนัดขายทอดตลาดทรัพย์สินของโรงแรมดาราเทวี ครั้งแรกในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 ปรากฏต่อมาว่าก่อนถึงวันนัดขายทอดตลาดครั้งแรกนี้ได้มีการขัดขวางการขายทอดตลาดทรัพย์เกิดขึ้น โดยฝ่ายโจทก์ในคดีซึ่งเป็นผู้นำยึดทรัพย์ร่วมกับโรงแรมดาราเทวีซึ่งเป็นจำเลยหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ยื่นคำร้องร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่รวม 4 ครั้ง ท้ายที่สุดศาลได้มีคำสั่งให้ข้อกล่าวอ้างของฝ่ายดังกล่าวตกไปทุกครั้ง และศาลให้ดำเนินการขายทอดตลาดใหม่ต่อไป ดังนั้นเจ้าพนักงานบังคับคดีจังหวัดเชียงใหม่ได้ประกาศขายทอดตลาดทรัพย์อีกครั้งเป็นรอบที่สอง โดยมีประกาศขายนัดแรกในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2564 แต่เมื่อใกล้ถึงวันนัดปรากฏโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ผู้นำยึดได้ยื่นคำร้องต่อศาลของดการขายทอดตลาดทรัพย์ต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ และศาลได้มีคำสั่งให้งดการขายทอดตลาด ภายหลังบริษัท บริหารสินทรัพย์โกลบอลวัน จำกัด เจ้าหนี้จำนองได้ยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลขอให้เพิกถอนคำสั่ง ศาลจึงได้มีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งงดการขายทอดตลาดดังกล่าวนี้ แต่ผลทำให้ไม่สามารถขายทอดตลาดในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2564 ที่นัดไว้เดิมได้ เนื่องจากเป็นระยะเวลากระชั้นชิด
เมื่อศาลจังหวัดเชียงใหม่เพิกถอนคำร้องของกลุ่มผู้คัดค้านการขายทอดตลาดทำให้ต้องกลับมาขายทรัพย์ใหม่ตามที่นัดไว้ครั้งต่อไปคือในวันที่ 3 ธันวาคม 2564 ปรากฏว่าต่อมาเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2564 โจทก์และโรงแรมดาราเทวีจำเลยได้ยื่นคำร้องถึงเจ้าพนักงานบังคับคดีจังหวัดเชียงใหม่อีกครั้งเพื่อโต้แย้งราคาประเมินของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่กำหนดโดยคณะกรรมการกำหนดราคาทรัพย์ อ้างว่าราคาประเมินทรัพย์ของบริษัทเอกชนมีราคาสูงกว่า ขอให้ส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการกำหนดราคาทรัพย์ทำการกำหนดราคาทรัพย์ใหม่ ในวันเดียวกันนั้นเจ้าพนักงานบังคับคดีได้มีคำสั่งว่า เห็นควรส่งเรื่องให้คณะกรรมการกำหนดราคาทรัพย์พิจารณากำหนดราคาทรัพย์ใหม่ และให้ยกเลิกประกาศขายทอดตลาดในวันที่ 3 ธันวาคม 2564 นี้และนัดอื่นที่เหลือ คำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีดังกล่าวมีลักษณะที่เป็นการบกพร่อง ผิดพลาดและฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 295 วรรคสอง ไม่มีกฎหมายให้อำนาจเจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งเช่นนี้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ราคาประเมินทรัพย์ ของบริษัทเอกชนที่เจ้าพนักงานบังคับคดียอมรับเป็นเหตุให้ต้องกำหนดราคาใหม่นั้นก็เป็นฉบับเดียวกันกับที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเคยยกคำร้องไม่รับพิจารณาขอเลื่อนการขายทอดตลาดมาแล้ว
เจตนารมณ์ของกรมบังคับคดีมีเป้าหมายการดำเนินงานโดยมุ่งเน้นถึงความโปร่งใส เป็นธรรม มีการบังคับใช้กฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับเท่าเทียมกัน มีกระบวนการบังคับคดี การบริหารจัดการที่ได้มาตรฐานสากล แต่เมื่อถึงชั้นการปฏิบัติของเจ้าพนักงานกลับมีคำสั่งในลักษณะขัดแย้งกับเจตนารมณ์ดังกล่าวอย่างชัดแจ้ง ทำให้ฝ่ายเจ้าหนี้จำนวนมากได้รับความเสียหายจากการมีคำสั่งดังกล่าว เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าคณะกรรมการกำหนดราคาทรัพย์นั้นมีกรรมการประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเมื่อมีการประเมินราคาแล้วถือเป็นที่สุด ทั้งหากเวลาล่วงเลยมาก็ไม่ทำให้ราคาประเมินเพิ่มสูงขึ้นอีกได้ นอกจากนี้กรมบังคับคดีได้มีระเบียบตรงกับบทบัญญัติมาตรา 331 วรรคสาม และคำวินิจฉัยของศาลฎีกาอยู่แล้วว่า ราคาที่คณะกรรมการกำหนดราคาทรัพย์กำหนดนั้นเป็นเพียงราคาที่ใช้ประกอบในการกำหนดราคาเบื้องต้นในการขายทรัพย์เท่านั้น อาจไม่ตรงกับราคาที่แท้จริงขึ้นอยู่กับราคาท้องตลาดขณะขายทรัพย์ หากผู้เกี่ยวข้องเห็นว่าราคาดังกล่าวต่ำไปก็ชอบที่จะเข้าสู้ราคาเองหรือหาบุคคลอื่นเข้าสู้ราคาเพื่อให้ได้ราคาตามที่ตนเองต้องการได้ ดังนั้นการมีคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีกรณีคดีนี้จึงเป็นกรณีไม่ได้ปฏิบัติตามระเบียบในกฎกระทรวงที่กำหนดหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขในการขายทอดตลาด พ.ศ. 2563 ข้อ 7. และเสมือนว่านำระเบียบตามกฎกระทรวงมาอ้างทำคำสั่งให้มีอำนาจเหนือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ทั้งที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเชียงใหม่ไม่มีอำนาจสั่งให้งดการขายทอดตลาดคดีนี้ได้ การงดการขายทอดตลาดทรัพย์ครั้งนี้จึงมีผลเสมือนเป็นการงดการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 อันเป็นอำนาจของศาล นอกจากนี้แล้วยังการมีคำสั่งขัดหรือแย้งกับคำสั่งของศาลจังหวัดเชียงใหม่ที่พิจารณาและมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งงดการขายทอดตลาดและสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดต่อไปไว้แล้วด้วย
ผลจากการมีคำสั่งงดขายทอดตลาดโรงแรมดาราเทวีนี้ ยังเป็นกรณีที่ใช้เจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นเครื่องมือให้ฝ่ายลูกหนี้ได้ประโยชน์ในการหน่วงเหนี่ยวกระบวนการขายทรัพย์สินของลูกหนี้ ยิ่งถ่วงเวลาการ ขายทอดตลาดไปอีกนานเท่าไรก็จะยิ่งทำให้โรงแรมดาราเทวีที่ปิดกิจการมากว่าปี ไม่มีใบอนุญาตให้ประกอบกิจการโรงแรม ใบอนุญาตขาดอายุไปตั้งแต่ วันที่ 8 กรกฎาคม 2563 (เอกสารแนบ) โรงแรมดาราเทวีตกอยู่ในสภาพทรุดโทรมเพิ่มขึ้น เห็นได้จากปัจจุบันโรงแรมดาราเทวีถูกทิ้งให้อยู่ในสภาพรกร้าง ไม่มีการดูแลรักษา (ตามภาพ) ทั้งที่เป็นทรัพย์สินมูลค่าหลายพันล้านบาท ที่บริษัทมหาชน IFEC ได้ลงทุนซื้อไปดำเนินการ การถ่วงเวลาขายทอดตลาดทรัพย์สินของโรงแรมดาราเทวีทำให้บริษัทบริหารสินทรัพย์โกลบอลวัน จำกัด ในฐานะเจ้าหนี้จำนอง รวมถึงกลุ่มเจ้าหนี้การค้าและเจ้าหนี้แรงงานที่เป็นอดีตพนักงานของโรงแรมดาราเทวีได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง ถ้าต้องรอให้มีประกาศขายทอดตลาดออกมาใหม่ ทั้งนี้เชื่อว่าหากเมื่อคณะกรรมการกำหนดราคาทรัพย์สินมีการกำหนดราคาทรัพย์ใหม่แล้วก็จะนำไปสู่ปัญหาการคัดค้านราคา มีการนำคดีขึ้นสู่ศาล วนกันไปอีกไม่จบสิ้นดังที่เคยปรากฏแล้วก่อนหน้านี้
ทั้งนี้การมีคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีเช่นนี้ บริษัท บริหารสินทรัพย์โกลบอลวัน จำกัด ซึ่งได้รับความเสียหาย ได้ทำการยื่นฟ้องคดีอาญาตามบทบัญญัติมาตรา 157 ของประมวลกฎหมายอาญาต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง โดยบริษัทบริหารสินทรัพย์โกลบอลวันได้ยื่นฟ้อง นายไกยวัลย์ จิระกุล เจ้าพนักงานบังคับคดีเชียงใหม่ เป็นคดีที่ศาลอาญาทุจริตภาค 5 ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา และจะทำการยื่นฟ้องกรมบังคับคดีที่ยอมให้เจ้าพนักงานบังคับคดีเชียงใหม่ กระทำการโดยไม่มีอำนาจตามกฎหมายทำลายระบบการบังคับคดีโดยใช้วิธีการประเมินราคาใหม่แบบไม่มีที่สิ้นสุด โดยจะยื่นฟ้องในความผิดเกี่ยวกับพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ตามบทบัญญัติมาตรา 5 ต่อไป และทั้งจะดำเนินการร้องเรียนนายไกยวัลย์ จิระกุล เจ้าพนักงานบังคับคดีเชียงใหม่ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ (ป.ป.ท.) ต่อไปอีกด้วย
สุดท้ายนี้ บริษัทบริหารสินทรัพย์โกลบอลวัน ขอเรียกร้องมายังอธิบดีกรมบังคับคดี ผู้ซึ่งต้องรับผิดชอบโดยตรงต่อการปฎิบัติงานของเจ้าพนักงานบังคับคดีเชียงใหม่ ที่สั่งคดีโดยไม่มีกฎหมายรองรับและมีเจตนาให้ประโยชน์ต่อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดโดยไม่คำนึงถึงความเสียหายของเจ้าหนี้รับจำนองผู้ทรงบุริมสิทธิตามกฏหมาย การบังคับคดีที่เป็นธรรม จึงต้องบังคับคดีด้วยความรวดเร็ว ถูกต้อง ซึ่งกรณีนี้ ได้ผ่านกระบวนการผ่านคณะกรรมการกำหนดราคาทรัพย์ จนได้ราคายุติ ประกอบได้ผ่านการวินิจฉัยของศาลยกคำร้องของผู้โต้แย้งราคาของคณะกรรมการ ซึ่งต่อมากรมบังคับคดีได้ประกาศขายทอดตลาด โฆษณาแพร่หลายราคาดังกล่าว แล้ววันนี้จะบอกว่าราคาที่ประกาศไว้ ไม่ถูกต้อง และสั่งงดการขาย แล้วท่านอธิบดีจะตอบประชาชนทั่วไปว่าอย่างไร โดยที่กฎหมายระบุไว้ชัดถึงเหตุการณ์งดการขายมีหลักเกณฑ์ใดบ้าง เมื่อศาลไม่มีคำสั่งให้งดการบังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดีจะต้องดำเนินการขายอย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ ไม่ใช่สั่งงดการขายเอง จึงเป็นการใช้อำนาจนอกเหนือกฎหมายให้อำนาจไว้ ขอให้ท่านอธิบดีกรมบังคับคดี ดำเนินการแก้ไขกระบวนการที่ทำให้เกิดการบังคับคดีอย่างไม่มีที่สิ้นสุดโดยด่วน
การกระทำดังกล่าวของเจ้าพนักงานบังคับคดี หากท่านอธิบดีไม่มีการจัดการใดๆ ก็จะกลายเป็นบรรทัดฐานให้มีการกระทำแบบนี้อีกทั่วประเทศ ขอให้ท่านอธิบดีดำเนินการลงโทษเจ้าหน้าที่กรมบังคับคดีทุกรายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการขวางการขายทอดตลาด โรงแรมดาราเทวีนี้ด้วย