ผ้าซิ่นไทลื้อ ในจิตรกรรมสกุลช่างเมืองน่าน

ข่าวศิลปวัฒนธรรม , 4 ก.พ. 2567, 17:13

ผ้าซิ่นไทลื้อ ในจิตรกรรมสกุลช่างเมืองน่าน

         “ไทลื้อ” เป็นกลุ่มชาติพันธุ์หลักอีกกลุ่มในเมืองน่าน อพยพลงมาจากสิบสองปันนาในจีน และหัวเมืองต่างๆ บริเวณที่ราบลุ่มสองฝั่งโขง ทั้งฝั่งพม่าและฝั่งลาว มีทั้งอพยพมาด้วยความสมัครใจ หนีทุพภิกขภัย (ความแห้งแล้ง) ตัดสินใจไปบุกเบิกแสวงหาผืนดินทำกินใหม่ และมีทั้งถูกกวาดต้อนจากการแพ้สงครามในฐานะเชลยศึก ไทลื้อเมืองน่านแบ่งเป็นสองกลุ่ม หลักๆ คือ

            กลุ่มแรก ไทลื้อที่มาจากสิบสองปันนาฝั่งตะวันออก ได้แก่ เมืองล้า (เมืองลา, เมืองหล้า) เมืองมาง กลุ่มนี้เมื่อเข้ามาแล้วจะอาศัยอยู่แถบลุ่มแม่น้ำน่าน แถวบ้านหนองบัว ตำบลป่าคา อำเภอท่าวังผา และแถวตำบลยอด อำเภอสองแคว การเข้ามาของไทลื้อกลุ่มนี้ พงศาวดารเมืองน่านบันทึกว่า พ.ศ. 2355 เจ้าหลวงสุมนเทวราช ได้ยกทัพไปตีเมืองล้า เมืองพง เมืองเชียงแขง เมืองหลวงภูคา และกวาดต้อนผู้คนชาวลื้อมาไว้ที่เมืองน่านถึง 6,000 คน 

ไทลื้อกลุ่มแรกนี้มีข้อน่าสงสัยว่า ทำไมสำเนียงเสียงพูดจึงคล้ายคลึงกับภาษาอีสานปนภาษาลาวพวน?

            กลุ่มที่สอง เป็นไทลื้อที่มาจากรัฐฉานฝั่งตะวันตก ได้แก่ เมืองยู้ เมืองยอง เมืองเชียงลาบ เมืองเสี้ยว มาตั้งถิ่นฐานแถบลุ่มแม่น้ำย่าง ตำบลยม อำเภอท่าวังผา และแถบลุ่มแม่น้ำปัว ตำบลศิลาเพชร ตำบลศิลาแลง อำเภอปัว ยาวไปถึงตำบลห้วยโก๋น อำเภอเฉลิมพระเกียรติ กลุ่มนี้มีสำเนียงการพูดละม้ายกับคนลื้อคนยองในจังหวัดลำพูน-เชียงใหม่ ทำให้มีนักวิชาการสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นคนกลุ่มเดียวกัน 

ตามบันทึกหลักฐานระบุว่าปี พ.ศ. 2396 พระเจ้าอนันตวรฤทธิเดชยกทัพไปตีเมืองเชียงรุ่ง-เชียงตุง ต่อมาปี พ.ศ. 2399 เจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช ได้ยกทัพไปตีเมืองพง เขตสิบสองปันนา ซึ่งขณะนั้นอยู่ในบังคับของจีนฮ่อ กวาดต้อนชาวไทลื้อเข้ามาอยู่ในเขตเมืองน่านอีกประมาณพันกว่าคน ได้ตั้งภูมิลำเนาอยู่ที่เมืองเชียงม่วนและเมืองเชียงคำ (ในขณะนั้นสองเมืองนี้อยู่ในเขตการปกครองของเมืองน่าน ปัจจุบันแยกไปเป็นอำเภอของจังหวัดพะเยา) 

            ภาพจิตรกรรมแม่ญิงนุ่งผ้าซิ่นแบบไทลื้อของจิตรกรรมสกุลช่างเมืองน่านนี้ พบที่วัดหนองบัว ซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอท่าวังผา กับอีกแห่งคือจิตรกรรมที่วัดภูมินทร์​ โดยที่ทั้งสองแห่งนี้ เป็นผลงานของศิลปินคนเดียวกันคือ “หนานบัวผัน” (ทิดบัวผัน) ซึ่งวาดภาพทั้งสองแห่งในสมัยรัชกาลที่ 5

โดยปกติแล้ววัฒนธรรมผ้าทอของไทลื้อเมืองน่านแบ่งย่อยได้เป็น 2 กลุ่ม 

            กลุ่มแรก อำเภอท่าวังผา ปัว และเชียงกลาง กลุ่มนี้มีลักษณะผ้าทอที่ผสมผสานกับชาวไทยวนดั้งเดิมในจังหวัดน่าน ลักษณะเด่นคือ การทอเทคนิคมัดหมี่เส้นพุ่ง ที่เรียกว่า "มัดก่าน" 

            กลุ่มที่สอง อำเภอทุ่งช้างและเฉลิมพระเกียรติ ชาวไทลื้อกลุ่มนี้มาจากเมืองเงิน แขวงไชยะบุรี ประเทศ สปป.ลาว ลักษณะผ้าทอของชาวไทลื้อกลุ่มนี้จึงคล้ายคลึงกับผ้าทอของชาวไทลื้อเมืองเงินในลาว

            ส่วนไทลื้ออำเภอเชียงคำและเชียงม่วน แม้ว่าหลักฐานทางประวัติศาสตร์จะกล่าวถึงการอพยพของชาวไทลื้อกลุ่มนี้ว่ามาพร้อมกับชาวไทลื้อเมืองน่าน แต่ลักษณะผ้าทอของชาวไทลื้อเมืองพะเยาก็มีลักษณะต่างไปจากไทลื้อในจังหวัดน่าน ผ้าซิ่นของไทลื้อเชียงคำ-เชียงม่วนมีโครงสร้างตามแบบมาตรฐานของซิ่นตา (ซิ่นต๋า) และมีผ้าซิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นคือ มีลายตกแต่งขนาดเล็กตรงกลางตัวซิ่นด้วยเทคนิคการ "เกาะ" หรือ "ล้วง" ลักษณะคล้ายสายน้ำ แต่เรียกกันว่า "ลายผักแว่น" แต่เดิมใช้ไหมลาวเป็นเส้นพุ่งทอสลับสี สีที่นิยมคือสีเขียวและชมพูสด 

            คำว่าเทคนิค "เกาะ" เป็นกรรมวิธีการทอผ้าให้เกิดลวดลาย โดยใช้เส้นด้ายพุ่งธรรมดาหลายสีพุ่งย้อนกลับไปมาเป็นช่วงๆ ทอด้วยเทคนิคขัดสานธรรมดาแต่มีการเกาะเกี่ยวและผูกเป็นห่วงรอบด้ายเส้นยืนเพื่อยืดเส้นพุ่งแต่ละช่วงไว้ (มิได้ใช้ด้ายเส้นพุ่งพิเศษแบบ ขิด และ จก) ชาวไทลื้อส่วนใหญ่เรียกเทคนิคการทอชนิดนี้ว่า เกาะ แต่มีชาวไทลื้อบางแห่งที่เรียกต่างออกไป เช่น เรียกว่า "คล้อง" (ออกเสียงว่าก๊อง) ค้อน (ออกเสียงว่าก๊อน) หรือ ล้วง (ออกเสียงว่าล้ง) ชาวไทลื้อบางแห่งใช้วิธีเหยียบไม้บังคับเขา (ตะกอ) แล้วใช้นิ้วสอดด้ายเส้นพุ่งจึงเรียกลวดลายที่เกิดจากการทอด้วยเทคนิคเกาะและเหยียบไม้นี้ว่า ดอกย่ำแป

            การแต่งกายมาตรฐานของผู้ชายชาวไทลื้อ ใส่เสื้อคอกลมแขนยาวผ่าหน้าติดกระดุม นุ่งกางเกงขายาวทรงหลวม ทั้งเสื้อและเตี่ยว หรือกางเกงเป้ายาว ตัดเย็บจากผ้าฝ้ายย้อมสีครามเข้มหรือสีดำ อาจเรียกว่า "เสื้อหม้อห้อม" ซึ่งย้อมมาจากใบห้อม ภาษาไทลื้อเรียกวิธีการย้อมผ้านี้ว่า "จกห้อม" หรือ "จกหม้อห้อม" หมายถึงการจุ่มด้ายลงในหม้อซึ่งบรรจุน้ำสีครามที่หมักจากใบห้อม

            ปกติการนุ่งเตี่ยวของผู้ชายไทลื้อจะมีความยาวสองขนาดคือขนาดสั้นครึ่งหน้าแข้ง และขนาดยาวกรอมเท้า นิยมนุ่งกันในกลุ่มผู้ชายชนชาติไททั่วไปทุกเผ่า หากมีการตกแต่งเตี่ยวด้วยการกุ๊นผ้าแถบสีต่างๆ จะเรียกว่า "เตี่ยวแขบ"  หากเป็นชุดลำลองอยู่กับบ้านในช่วงเวลาอากาศร้อน ผู้ชายอาจนุ่ง "ผ้าต้อย" ขนาดสั้น หรือนุ่ง "ผ้าต่อง" (ผ้าขาวม้า) แบบกระชับที่เรียกว่านุ่งแบบ "เค็ดม่าม" หรือนุ่งหยักรั้ง

            สำหรับการแต่งกายมาตรฐานของผู้หญิงชาวไทลื้อ นั้นมีแบบแผนในการสวม "เสื้อปั๊ด" เป็นเสื้อสีครามเข้มมีสาบหน้าเฉียงป้ายข้าง ผูกด้วยเชือกหรือแถบผ้าเล็กๆ ตรงมุมด้านซ้ายหรือขวาของลำตัว หรือใช้แผ่นเงินดุนลายที่เรียกว่า "แหวเสื้อ" เกี่ยวกันไว้ เสื้อปั๊ดเป็นเสื้อที่มีวิธีการตัดแบบและเย็บรูปทรงให้เข้ากับรูปร่างของผู้สวมใส่เป็นเสื้อรัดรูปมีทั้งเอวลอยและปล่อยเอวยาว จุดเด่นคือมีการตกแต่งสาบเสื้อและชายเสื้อที่เว้าโค้งให้เข้ากับสีสันของผ้าซิ่นได้อย่างลงตัว

            การโพกผ้าคาดศีรษะ ดังที่เรียกกันว่า "การเคียนหัว" เพื่อไม่ให้เส้นผมตกลงในภัตตาหารเวลานำไปถวายพระภิกษุที่วัด และเพื่อใช้แทนหมวกในเมืองหุบเขาที่มีอากาศหนาว ก่อนมัดต้องเกล้าผมมวยเป็นวงก่อน เรียกว่า "มวยว้อง" (ว้องหมายถึงวง) ผ้าพันหัว ชาวไทลื้อออกเสียงเป็น "ผ้าปันโห" ใช้พันรอบศีรษะชาวไทลื้อทั้งชายและหญิง เป็นผ้าฝ้ายสีขาวธรรมดา แต่หากมีโอกาสพิเศษสตรีนิยมใช้ผ้าแพรจีนสีชมพู หรือฝ่ายชายอาจใช้ "ผ้าเช็ด" ซึ่งเป็นผ้าทอจกและขิดเป็นลวดลายงดงาม พันแทนผ้าธรรมดาก็ได้ ในยุคหลังเริ่มมีการใช้ผ้าขนหนูพันศีรษะแทนผ้าฝ้าย

            ผ้าซิ่นของแม่ญิงไทลื้อมีอัตลักษณ์โดดเด่นด้วยการปล่อยตีนซิ่นหรือเชิงซิ่นเป็นพื้นสีดำล้วน โดยจะเน้นความสำคัญในส่วนของ "กลางซิ่น" หรือ "ท้องซิ่น" ตอนบนมากกว่า ด้วยการใช้โครงสร้างลายผ้าสลับสีเป็นริ้วตามขวาง เรียกว่า "ซิ่นต๋า" หรือเป็นลายตาๆ โดยเว้นระยะห่างระหว่างริ้วกับสีพื้นให้มีขนาดเท่าๆ กันเสมอ สีพื้นที่โดดเด่นคือ สีเขียว ม่วง แดง ส้ม และคราม ส่วนลายริ้วสลับได้แก่ริ้วดำ ชมพู เหลือง เป็นต้น ลายแถบที่อยู่กลางสุด ทอด้วยเทคนิค "เกาะ" เป็นลวดลายเรขาคณิต แบบที่เรียกด้วยภาษาดั้งเดิมว่า  "ลายผักแว่น"  แต่ต่อมาเมื่อลายบีบแคบลงมีผู้นิยมเรียกใหม่ว่า  "ลายน้ำไหล" 

            ซึ่งชื่อลายน้ำไหลนี้ไม่ได้ใช้เรียกกันในหมู่ไทลื้อสิบสองปันนา เป็นชื่อเรียกเฉพาะในกลุ่มไทลื้อเมืองน่านเท่านั้น ลายชนิดนี้เกิดจากการใช้กระสวยสอดขึ้นลงไปในทางเดียวกัน ไล่ระดับไปเรื่อยๆ คล้ายคลื่นสายน้ำไหล ใช้เส้นฝ้ายสีสดหลากสีทอลายซ้อนๆ กันจนเกิดรัศมี หากเป็นลายรูปสามเหลี่ยมหน้าจั่วขนาดใหญ่ตรงกลางตัวซิ่นดังเช่นวัตถุจัดแสดงชิ้นนี้จะเรียกว่า "ดอกตั้งกลาง" 

            สตรีชาวไทลื้อรวมทั้งชาติพันธุ์ไทกลุ่มต่างๆ นิยมนุ่งซิ่นอีกชั้นหนึ่งไว้ข้างใน เรียก "ซิ่นซ้อน" หรือ "ซิ่นหลอง" (ซิ่นรอง) โดยมากใช้ผ้าฝ้ายสีขาวมาเย็บเป็นซิ่นซ้อนคล้ายผ้าซับใน  มีประโยชน์หลายประการ เช่น เพื่อสะดวกแก่การทำความสะอาด ซิ่นผืนนอกนั้นไม่อาจซักได้บ่อยนัก เพราะทำให้สีตก จึงซักเฉพาะซิ่นซ้อน ซิ่นซ้อนช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้แก่ผ้าซิ่นผืนนอกไม่ให้เกิดการฉีกขาดได้ง่ายในเวลาลุก นั่ง ก้าวเดิน อีกทั้งยังช่วยป้องกันการระคายผิวในกรณีที่ซิ่นผืนนอกทอด้วยเส้นไหมคำที่เป็นโลหะ

16

ข่าวอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ใกล้เข้ามาแล้ว งานใหญ่ของคนซื้อรถ LANNA MOTOR SHOW รถใหม่ โปรจัดเต็ม 7-13 พ.ค.67 ที่ลานโปร...

โปรจัดเต็ม ของงานนี้มีอะไรบ้างท่านต้องแวะมาดูเอง จัดไม่ใกล้ไม่ไกลที่ลานโปรโมชั่น เซ็นทรัล เชียงใหม่ ( เซ็นเฟสฯ )ทำเลทองค่ายรถยนต์มากันที่นี่เกือบครบทั้งรถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์เครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมัน ให้ท...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 2 พ.ค. 2567, 08:02
  • |
  • 89

พบกับ อีซูซุศาลาเชียงใหม่ ที่ “CNX Tattoo Festival” งานแสดงรอยสักและประกวดรอยสักแห่งภาคเหน...

พบกับ อีซูซุศาลาเชียงใหม่ ที่ “CNX Tattoo Festival” งานแสดงรอยสักและประกวดรอยสักแห่งภาคเหนือ ครั้งที่1  งานนี้นอกจากจะเจอกับเหล่าช่างสักระดับ Professional ทั่วโลกแล้ว  เรายังพา Isuzu X-serie...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 1 พ.ค. 2567, 17:15
  • |
  • 75

พบน้อง MC น่ารักในงาน LANNA MOTOR SHOW 7-13 พค.2567 ณ ลานโปรโมชั่น เซ็นทรัลเฟสฯเชียงใหม่

 งานลานนา มอเตอร์โชว์ 2024 ณ.ลานโปรโมชั่น ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เฟสติวัล เชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 7-13 พฤษภาคม 2567 เป็นงานแสดงรถยนต์ครั้งยิ่งใหญ่ในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ รถใหม่ โปรจัดเต็ม ทุกรุ่น วัน...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 30 เม.ย. 2567, 07:56
  • |
  • 146
  • |
  • 1

ส่งมอบรถใหม่ Hyundai H-1 Elite FE สีขาว เป็นรถยนต์น่าใช้สำหรับครอบครัว

ที่ปรึกษาการขาย เอชดีเจมอเตอร์ ฮุนไดเชียงใหม่ เซลส์มุ้ย ร่วมแสดงความยินดีพร้อมส่งมอบรถใหม่ให้แก่ คุณเดชธีรรัตน์ ตระกูลศิวาโมกข์ Hyundai H-1 Elite FE สีขาวขอขอบคุณที่ให้เกียรติมาเป็นครอบครัวฮุนได สอบถา...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 27 เม.ย. 2567, 05:07
  • |
  • 54

ส่งมอบรถใหม่ Hyundai STARIA Style สีเทา เป็นรถยนต์น่าใช้สำหรับครอบครัว

ที่ปรึกษาการขาย เอชดีเจมอเตอร์ ฮุนไดเชียงใหม่ เซลส์มุ้ย ร่วมแสดงความยินดีพร้อมส่งมอบรถใหม่ให้แก่ คุณกรณ์กาญจน์ สุทธะป๊อก Hyundai STARIA Style สีเทา ขอขอบคุณที่ให้เกียรติมาเป็นครอบครัวฮุนได สอบถามรายละ...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 25 เม.ย. 2567, 15:26
  • |
  • 65

ส่งมอบรถใหม่ Hyundai Creta Style Plus สีขาว เป็นรถยนต์น่าใช้สำหรับครอบครัว

ที่ปรึกษาการขาย เอชดีเจมอเตอร์ ฮุนไดเชียงใหม่ เซลส์มุ้ย ร่วมแสดงความยินดีพร้อมส่งมอบรถใหม่ให้แก่ คุณทักษิณานันท์ ดอนชัย Hyundai Creta Style Plus สีขาว ขอขอบคุณที่ให้เกียรติมาเป็นครอบครัวฮุนได สอบถามรา...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 24 เม.ย. 2567, 18:27
  • |
  • 69
Sytiq Company

ออกแบบพัฒนาโปรแกรมและแอพลิเคชั่น

โดยบริษัทไซทิค ติดต่อ:0819507128

Sytiq Company

ออกแบบและติดตั้ง Home Automation

โดยบริษัทไซทิค ติดต่อ:0819507128