บสย. เผยผลสำเร็จ ปี 2566 ค้ำทะลุเป้า 114,025 ล้านบาท
“แก้หนี้” มาแรง ช่วยสะสม 19,000 ราย รวมมูลหนี้ 6,942 ล้านบาท
ชูยุทธศาสตร์ 2567 วางกลยุทธ์ “3 ช่วย“ ดันเป้าค้ำ 115,600 ล้านบาท
เดินหน้าเฟส 2 “SME Digital Gateway”
บสย. สร้างปรากฏการณ์ ค้ำทะลุเป้า ผลสำเร็จการดำเนินงานปี 2566 อนุมัติค้ำ 114,025 ล้านบาท เพิ่มสภาพคล่อง SMEs ได้สินเชื่อใหม่ 99,298 ราย สร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ 470,388 ล้านบาท ผลสำเร็จแก้หนี้ ช่วยได้กว่า หมื่นราย รวมมูลหนี้ 6,942 ล้านบาท ชูยุทธศาสตร์ ปี 2567 สู่การเป็น Credit Mediator และ SMEs Digital Gateway ภายใต้แนวคิด “TCG Fast-Forward Sustainable Credit Guarantee” วางกลยุทธ์ 3 ช่วย “ช่วย..ค้ำ ช่วย..ปรับโครงสร้างหนี้ ช่วย..แก้หนี้” เสริมแกร่ง SMEs สู่ความยั่งยืน
• 2567 ตั้งเป้าค้ำประกัน 115,600 ล้านบาท
• มาตรการ “แก้หนี้” แรงต่อเนื่อง
• ลุยต่อเฟส 2 “SME Digital Gateway”
นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เผยสำเร็จการดำเนินงาน บสย. ปี 2566 ค้ำประกันสินเชื่อ โครงการปรับโครงสร้างหนี้ แก้หนี้ ศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs (บสย. F.A. Center) การให้ความรู้ผู้ประกอบการ SMEs พร้อมประกาศแผนยุทธศาสตร์การดำเนินงาน ปี 2567 ภายใต้แนวคิด “TCG Fast-Forward Sustainable Credit Guaranteeสู่การเป็น Credit Mediator และ SMEs Digital Gateway วางกลยุทธ์ 3 ช่วย “ช่วย..ค้ำ ช่วย..ปรับโครงสร้างหนี้ ช่วย..แก้หนี้” เสริมแกร่ง SMEs สู่ความยั่งยืน
ผลการดำเนินงานค้ำประกันสินเชื่อ บสย. ปี 2566 อนุมัติค้ำประกัน รวม 114,025 ล้านบาท ประกอบด้วย 1. โครงการภาครัฐ ( PGS 10 และโครงการอื่นๆ ) 51,249 ล้านบาท (สัดส่วน 45%) ค้ำเฉลี่ยต่อราย 5.9 แสนบาท 2. โครงการค้ำประกันสินเชื่อดอกเบี้ยถูก หรือ พ.ร.ก.สินเชื่อฟื้นฟู ระยะที่ 2 43,376 ล้านบาท (สัดส่วน 38% ) ค้ำเฉลี่ยต่อราย 5.3 ล้านบาท 3. โครงการ บสย. ดำเนินการเอง วงเงิน 19,400 ล้านบาท (สัดส่วน 17%) ค้ำเฉลี่ยต่อราย 2.55 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนการค้ำประกันสินเชื่อ กรุงเทพ -ปริมณฑล 45% และภูมิภาค 55% ขณะที่การค้ำประกันสินเชื่อโครงการ SMEs เพื่อความยั่งยืน มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอย่างมีนัยสำคัญจาก 27% ในปี 2565 เป็น 29% ในปี 2566 ได้แก่ โครงการค้ำประกันรายย่อย Micro Entrepreneurs โครงการ Start up Innovation โครงการ Green SMEs โครงการหนี้นอกระบบและโครงการพิเศษ พ.ร.ก.สินเชื่อฟื้นฟู และโครงการ PGS สำหรับกลุ่มเปราะบาง
ผู้ประกอบการ SMEs รายใหม่ได้สินเชื่อ จำนวน 99,298 ราย 80% เป็นผู้ประกอบการรายย่อย (Micro SMEs ) รักษาการจ้างงาน รวม 855,087 ตำแหน่ง สร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ 470,388 ล้านบาท สร้างสินเชื่อในระบบ 124,815 ล้านบาท (คิดเป็น 1.10 เท่า ของยอดค้ำประกัน)
ประเภทธุรกิจค้ำประกันสูงสุด 5 ลำดับโดดเด่นในปี 2566 ได้แก่ 1. ภาคบริการ 30% 2. ภาคการผลิตสินค้าและการค้าอื่นๆ 10% 3. ภาคเกษตรกรรม 10% 4. ภาคอาหารและเครื่องดื่ม 9% และ 5. สินค้าอุปโภค-บริโภค 8% โดย 3 ลำดับแรก 1. ภาคบริการ 2. ภาคการผลิตสินค้าและการค้าอื่นๆ และ 3. ภาคเกษตรกรรม ครองสัดส่วนค้ำประกันถึง 50% ของพอร์ตวงเงินค้ำประกันสินเชื่อทั้งหมด
“สัดส่วนการค้ำประกันสินเชื่อภาคบริการมีแนวโน้มการขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่ภาคการผลิตสินค้าและการค้าอื่นๆ และ ภาคเกษตรกรรม หดตัวเล็กน้อย กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคและกลุ่มยานยนต์ มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากปี 2565 สอดคล้องกับภาพรวมเศรษฐกิจไทยต่อสัญญาณการฟื้นตัวต่อเนื่องจากภาคการท่องเที่ยวสนับสนุนภาคการบริโภค ขณะที่กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ค้ำสูงสุดคือ SMEs รายย่อยซึ่งอยู่ในภาคการผลิตสินค้าและการค้าอื่นๆ สัดส่วน 33% ตามด้วย ภาคบริการ และสินค้าอุปโภค-บริโภค”
ด้านโครงการแก้หนี้ SMEs ประสบความสำเร็จเกินคาด ตัวเลขการช่วยผู้ประกอบการแก้หนี้ สะสมตั้งแต่ปี 2560- 2566 ช่วยลูกหนี้เข้าโครงการประนอมหนี้ จำนวน 19,000 ราย คิดเป็นมูลหนี้ปรับโครงสร้างสะสม 6,942 ล้านบาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงระหว่างปี 2565 (เริ่มเมษายน) จนถึงปี 2566 ซึ่งเป็นปีที่ บสย. ออกมาตรการ “บสย. พร้อมช่วย” มาตรการ 3 สี ม่วง เหลือง เขียว “ผ่อนน้อย เบาแรง” ดอกเบี้ย 0% บสย. สามารถช่วยลูกหนี้ได้รับการประนอมหนี้จำนวน 13,378 ราย คิดเป็นมูลหนี้ 4,723 ล้านบาท โดยในปี 2567 บสย. ยังคงเดินหน้ามาตรการช่วยลูกหนี้อย่างเข้มข้น
นายสิทธิกร กล่าวว่า สำหรับแผนยุทธศาสตร์และทิศทางการดำเนินงาน บสย. ในปี 2567 ภายใต้แนวคิด “TCG Fast-Forward Sustainable Credit Guarantee” บสย. มุ่งยกระดับการค้ำประกันสินเชื่อ เชื่อมการบริการใหม่ เข้าถึง SMEs มากขึ้น ตามเป้าหมาย SME Digital Gateway วางกลยุทธ์ 3 ช่วย “ช่วย..ค้ำ ช่วย..ปรับโครงสร้างหนี้ ช่วย..แก้หนี้” เสริมแกร่ง SMEs พัฒนาองค์กรสู่ความยั่งยืน ดังนี้
1. ตั้งเป้าค้ำประกันสินเชื่อ 115,600 ล้านบาท สนับสนุน SMEs เข้าถึงสินเชื่อในระบบ
(ดำเนินการ 2 โครงการหลักคือ 1.โครงการค้ำประกัน ที่ บสย. พัฒนาขึ้น อาทิ BI7 และ RBP วงเงิน 75,600 ล้านบาท และ โครงการค้ำประกันสินเชื่อดอกเบี้ยถูก หรือ พ.ร.ก.สินเชื่อฟื้นฟู อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 5 ปีแรกไม่เกิน 5% วงเงิน 40,000 ล้านบาท)
2. ขับเคลื่อนองค์กรก้าวสู่การเป็น Credit Mediator และ SMEs Digital Gateway กองหน้า
กองกลาง และ กองหลัง
กองหน้า เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs ครบวงจร (บสย. F.A. Center) ปรับรูปแบบบริการ สำนักงานเขต 11 สาขาทั่วประเทศ ขยายความร่วมมือกับพันธมิตร ให้ความรู้ช่วยเหลือ SMEs ในด้านการเงินและธุรกิจ เพื่อยกระดับเป็น บสย. Business School
กองกลาง ก้าวสู่ระบบนิเวศน์ทางการเงิน (Ecosystem) พัฒนา Digital Platform เดินหน้าเฟส 2 สู่ “SMEs Digital Gateway” เชื่อมระบบการค้ำประกันสินเชื่อด้วย Digital Guarantee Platform และบริการใหม่จาก LINE OA @tcgfirst ซึ่งปัจจุบันมีผู้ใช้งานกว่า 30,000 ราย และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ค้ำประกันสินเชื่อ แบบราย Segment เจาะกลุ่มรายย่อย อาชีพอิสระ หนี้นอกระบบ นิติบุคคล ธุรกิจยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม รวมถึงโครงการ CSR ที่ใช้ความเชี่ยวชาญของ บสย. ให้ความรู้กลุ่มผู้ต้องขัง กลุ่มผู้พิการ นักเรียนอาชีวศึกษา และโรงเรียนฝึกอาชีพในชุมชน
กองหลัง เพิ่มมาตรการการช่วยเหลือลูกหนี้ แก้หนี้อย่างยั่งยืน คือ “มาตรการปลอดดอกเบี้ย” ขยายเวลามาตรการ 3 สี (ม่วง เหลือง เขียว) “บสย. พร้อมช่วย” ผ่อนน้อย เบาแรง เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ต่อเนื่องอีก 1 ปี และ“มาตรการปลดหนี้” ต่อยอด “มาตรการสีฟ้า” ปลดหนี้ ลดต้น 15% สำหรับลูกหนี้ บสย. มาตรการสีเขียว ผ่อนดี 3 งวดต่อเนื่อง สิ้นสุดระยะเวลาทดลองโครงการเฟสแรก 30 มิถุนายน 2567 “มาตรการแก้หนี้” พักหนี้ 1 ปี สำหรับผู้ประกอบการSMEs รหัส 21 ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ระยะเวลาดำเนินโครงการ 18 เดือน เริ่ม 1 ม.ค. 2567 - 30 มิ.ย. 2568) เปิดลงทะเบียนเมื่อ 1 มกราคม 2567 ผ่านช่องทาง Line Official Account @tcgfirst และสำนักงานเขต บสย. ทั่วประเทศ