“ธรรมาสน์” อาสนะพระเณรเทศนาธรรมในวิหาร

ข่าวศิลปวัฒนธรรม , 18 ก.พ. 2567, 13:51

“ธรรมาสน์” อาสนะพระเณรเทศนาธรรมในวิหาร

     “ธรรมาสน์” มาจากภาษาสันสกฤตและบาลี โดยเอาคำสองคำมารวมกัน คือ "ธรรม" สนธิกับ "อาสนะ" ซึ่งแปลว่าแท่น, ที่นั่ง ธรรมาสน์จึงหมายถึงอาสนะสำหรับพระสงฆ์-สามเณรขึ้นนั่งแสดงธรรมเทศนา หรือใช้สวดพระปาฏิโมกข์ในพระวิหาร

     เชื่อว่าคนไทยคงเคยได้ยินคำว่า “แท่นมนังคศิลาบาตร” ของพ่อขุนรามคำแหงสมัยสุโขทัยเป็นอย่างดี ว่าท่านสร้างแท่นนี้ไว้กลางป่าตาลเพื่อใช้เทศนาสอนประชาชน (พระสงฆ์หรือที่ในจารึกหลัก 1 ใช้คำว่า “ปู่ครู” นั่งเทศน์บน “หินขดาน” ในวันธรรมสวนะ ส่วนวันอื่นๆ ที่เหลือ พ่อขุนรามขึ้นเทศน์ต่อ) แท่นดังกล่าวน่าจะเป็นต้นเค้าให้แก่ธรรมาสน์รุ่นแรกๆ ในประเทศไทยต่อมา

รูปแบบธรรมาสน์รุ่นเก่าในประเทศไทย เท่าที่ดิฉันสืบค้นได้ตอนนี้พบว่ามีอายุเก่าถึงสมัยอยุธยาตอนปลายในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาทเท่านั้น (หมายเหตุหากท่านใดมีข้อมูล พบธรรมาสน์ที่อายุเก่าถึงสมัยอยุธยาตอนกลาง ตอนต้น หรือสุโขทัย กรุณาแจ้งและแลกเปลี่ยนข้อมูลกับดิฉันด้วย) ธรรมาสน์ชิ้นเก่าที่ว่านี้อยู่ที่วัดเสนาสนาราม ต.หัวรอ อ.เมือง พระนครศรีอยุธยา ในวิหารน้อยด้านหลังวิหารหลวงและวิหารพระนอน เรียกว่า “วิหารพระเจ้าอินทร์แปลง”

ธรรมาสน์รุ่นเก่าของวัดเสนาสนารามนี้ มีถึงสองตัวตั้งประจันหน้าเข้าหากัน มีแท่นบันไดแบบถาวรก่อปูนสองขั้นค่อนข้างชัน ตัดขึ้นตรงสู่แท่นนั่งที่มีพนักท้าวแขนด้านหน้า ไม่มีหลังคาคลุมใดๆ น่าสนใจทีเดียวที่มีการทำธรรมาสน์แบบเผชิญหน้ากันถึง 2 ตัว

ส่วนธรรมาสน์รุ่นเก่าสุดในล้านนาพบที่วิหารจามเทวี วัดปงยางคก อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง 

เป็นธรรมาสน์ไม้เขียนลายคำน้ำแต้มประดับกระจก ส่วนแท่นทำเป็นฐานปัทม์ก่ออิฐถือปูนเพื่อความแข็งแรงคงทน โบกติดกับพื้นทำให้ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ ตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้นนูนแบนๆ ดังที่เรียกว่า "ลายสะทายจิ๋น"

          ถือเป็นศิลปะล้านนาสกุลช่างลำปาง พุทธศตวรรษที่ 22-ต้น 23 ธรรมาสน์ชิ้นนี้มีฐานสูง “ฝาผาย ไม่มียอด” หรือไม่มีหลังคา ศัพท์เชิงช่างภาคกลางเรียกว่า "ธรรมาสน์ฝาผาย" ซึ่งต่อมาจะเป็นต้นแบบให้กับ “ธรรมาสน์ประเภทหลังก๋าย” ถือเป็นธรรมาสน์แบบดั้งเดิม รูปทรงเก่าแก่ที่สุด มีลักษณะเป็นทรงผายออกคล้ายกับปากบาล 

ส่วนบนหรือที่เรียกว่า "เรือนเทศน์" ทำด้วยไม้ตกแต่งลวดลายลงรักปิดทอง เขียนลายกระจังท่ามกลางลายพันธุ์พฤกษา ล้อมกรอบด้วยลายประจำยามลูกโซ่ และลายกระหนกเปลว เรือนเทศน์ทำผนังเป็นวงโค้งสองวง (คล้ายโก่งคิ้ว) มาบรรจบกันที่ตอนกลาง ปีกที่มุมด้านข้างผายบานออก มีความสูงพอพ้นศีรษะของพระสงฆ์ที่นั่งเทศน์ ทำหน้าที่คล้ายเป็นกล่องเสียงหรือลำโพง ซึ่งทำให้เสียงเทศน์มีความดังกังวานมากขึ้น เป็นเหมือนเครื่องขยายเสียงของพระเณรขณะเทศนาธรรมให้ดังกระจายทั่วพระวิหารหลวง เปิดผนังด้านหนึ่งไว้เป็นช่องสี่เหลี่ยมสำหรับเป็นทางขึ้นลง ซึ่งต้องใช้บันไดชั่วคราว (พะอง หรือเกริน - เกิ๋น) มาพาดวาง

ธรรมาสน์วัดปงยางคกนี้ถือเป็นธรรมาสน์ล้านนารุ่นโบราณสกุลช่างลำปางที่มีอายุเกินกว่า 300 ปีแทบจะเป็นชิ้นเดียวที่ยังหลงเหลืออยู่ ลักษณะตัวธรรมมาสน์ที่ด้านล่างสอบเข้าและตอนบนผายออกเช่นนี้ ทำให้บางท่านสันนิษฐานว่าอาจจะมีวิวัฒนาการมาจากการใช้โลงศพก็เป็นไปได้ ซึ่งรูปทรงดังกล่าวต่อมาได้ประยุกต์นำมาใช้กับหีบพระธรรมสำหรับเก็บคัมภีร์ด้วยเช่นกัน โดยเรียกว่า "หีบธรรมทรงสี่เหลี่ยมคางหมู" 

เท่าที่ดิฉันเดินทางไปศึกษาสำรวจธรรมาสน์ตามวัดต่างๆ มากกว่า 700 แห่งทั่วล้านนา นานกว่า 20 ปี พบว่าธรรมาสน์ล้านนามีหลายรูปแบบแตกต่างกันไปตามแต่อายุการสร้าง สกุลช่าง และรสนิยมพื้นถิ่น โดยรวมมีข้อสังเกตว่า ธรรมาสน์ของวิหารวัดต่างๆ ในล้านนามักจะตั้งเยื้องไปทางด้านหน้าพระประธานเล็กน้อยด้านซ้ายมือ (มองจากคนเข้าไปในวิหาร) มากกว่าด้านขวามือ ส่วนในพระอุโบสถนั้น พบว่าธรรมาสน์จะตั้งอยู่ท่ามกลางคณะสงฆ์ทั้งหมด และหน้าที่ของธรรมาสน์ในปัจจุบัน มากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ใช้เฉพาะในการขึ้นเทศน์มหาชาติช่วงเทศกาลยี่เป็งเท่านั้น ไม่ใช่ใช้ขึ้นนั่งสวดประจำวันแบบสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช 

องค์ประกอบของธรรมาสน์ที่สมบูรณ์มี 5 ส่วน ได้แก่ ส่วนฐาน ส่วนกลาง ส่วนยอด แท่นวางคัมภีร์ และบันไดขึ้น

องค์ประกอบแรก ส่วนฐาน ธรรมาสน์ทั่วไปสร้างบนผังสี่เหลี่ยมจัตุรัสยกพื้นเล็กน้อย มีทั้งแบบเรียบๆ ไม่ย่อมุม หรือย่อมุมพอประมาณ ไปจนถึงแบบย่อมุมไม้สิบสองถี่ยิบ บ้างประดับตกแต่งช้างหมอบสี่มุมแบกรับฐานเขียงสามชั้น หรือประดับรูปปีนักษัตรต่างๆ เมื่อราว 100 ปีที่ผ่านมาถือเป็นยุคทองของธรรมาสน์ นิยมทำฐานย่อเก็จติดกระจกสี 

องค์ประกอบที่สอง ส่วนกลาง เรียก “เรือนเทศน์” ส่วนนี้เองคือหัวใจที่นั่งเทศนา พัฒนามาจากแท่นมนังคศิลาบาตร ประกอบด้วยแผงกั้นธรรมาสน์ 3 ด้าน แต่ละด้านจะเป็นผนังทึบหรือโปร่งก็สุดแท้แต่ นิยมตกแต่งแผงกั้นด้วยหัวเสาไม้กลึงทรงมัณฑ์ เรือนเทศน์มีพนักพิงด้านเดียว ในส่วนนี้เมื่อแหงนขึ้นมองที่เพดาน มักมีการตกแต่งลวดลายคล้ายดาวเพดานของวิหาร หรือลวดลายเทวดาต่างๆ ส่วนพนักธรรมาสน์แบบทึบที่ด้านนอกก็ไม่ได้ปล่อยพื้นที่ว่าง นิยมตกแต่งลวดลายต่างๆ เช่น ประติมากรรมลอยตัวรูปเทวดากางแขนยกมือเทินหลังคา 

     อนึ่ง การสร้างเรือนเทศน์ให้อยู่บนที่สูง โดยมีแถวเสาคล้ายม่านปิดกั้นกลางระหว่างผู้เทศน์และผู้ฟังนั้น อันที่จริงมีกุศโลบายหลายประการ ได้แก่

1. เพื่อให้เสียงดังไปไกลเพราะผู้เทศน์อยู่สูงกว่าผู้ฟัง ยิ่งในสมัยก่อนไม่มีเครื่องกระจายเสียงเหมือนกับปัจจุบัน

2. เพื่อไม่ให้พระธรรมกถึก (พระนักเทศน์) ที่พรรษาน้อยเกิดความประหม่าในขณะเทศน์ การนั่งบนธรรมาสน์สามารถทำให้ผู้เทศน์รู้สึกผ่อนคลายในห้องหับส่วนตัว เพราะสามารถอยู่ในอิริยาบถใดก็ได้ ไม่ต้องเกร็งต่อผู้ฟัง เช่นบางขณะรู้สึกร้อน อาจไม่จำเป็นต้องห่มผ้าอังสะก็ได้

3. พุทธศาสนิกชนจะได้ยินแต่เสียงอันไพเราะและเนื้อหาที่มีสาระของคำเทศนา หากพระธรรมกถึกเป็นพระหนุ่มเณรน้อยและผู้ฟังเป็นหญิงสาว ต่างก็ไม่ต้องเกิดอาการจิตใจฟุ้งซ่านต่อกัน หรือหากผู้เทศน์อายุน้อย และผู้ฟังเป็นคนสูงอายุ ต่างฝ่ายก็ไม่ต้องเกิดทิฐิมานะซึ่งกันและกัน

4.พระธรรมเป็นของสูง จำเป็นต้องให้ความเคารพอย่างยิ่ง ดังนั้นการเทศนาธรรม ควรกำหนดให้เทศน์ในสถานที่ที่เหมาะสมแก่การยกย่องให้เกียรติ เป็นการเพิ่มบารมีให้แก่ผู้เทศน์

องค์ประกอบที่สาม ส่วนยอด หรือหลังคาเป็นสัญลักษณ์ของวิมานหรือปราสาทแก้วบนสวรรค์ ซึ่งส่วนนี้จะมีพัฒนาการไปตามยุคสมัย รสนิยม สถานะของผู้สร้าง สามารถจำแนกรูปทรงของชั้นหลังคาที่ค่อยๆ คลี่คลายจากเตี้ยไปหาสูงได้สามรูปแบบคือ 1. ธรรมาสน์หลังก๋าย 2. ธรรมาสน์หลังกูบ (ยอดมงกุฎ) 3. ธรรมาสน์ทรงปราสาท หรือ “ธรรมปราสาท”

ธรรมาสน์หลังก๋าย

          ดังที่เรียนให้ทราบแล้วว่า เป็นรูปแบบที่รับอิทธิพลมาจาก ธรรมาสน์ฝาผายที่มีต้นแบบอยู่ที่วัดปงยางคก คือทรงหลังคาตัดตรง ผายออกด้านบน รูปแบบนี้ในยุคหลังพัฒนาไปในลักษณะตกแต่งส่วนกลีบบัวหรือลายกระจังซ้อนชั้นอลังการมากขึ้น เป็นธรรมาสน์ที่ใช้กับวิหารที่มีเพดานไม่สูงมากนัก

ธรรมาสน์หลังกูบ (หลังอูบ) ยอดมงกุฎ 

บ้างเรียกทรงมัณฑ์ คือยกชั้นหลังคาขึ้นสูงเล็กน้อย 1-2 ชั้น ธรรมาสน์ประเภทที่สองนี้ใช้ “ป่องปิ้ว” หมายถึงช่องบัญชรเล็กๆ หรือศัพท์ภาคกลางเรียกซุ้มบันแถลง ที่ปกติซุ้มแบบนี้ต้องประดับในแนวตั้ง จับมาเอนลาดลงบนหลังคาชั้นที่ 1 ชั้นนี้ประดับแค่ลายกระหนกพองามไม่มีการตกแต่งช่อฟ้าจำลองหลังคาปราสาทแบบประเภทที่สาม ใช้ครีบนาคทั้ง 4 ที่มุมสันของตัวป่องปิ้วชั้น 1 ลากนําไปสู่ยอดหลังคาทรงมัณฑ์ชั้นที่ 2 ซึ่งส่วนปลายยอดตกแต่งเป็นทรงมงกุฎ ประกอบด้วยกระจัง 3 ชั้น ปลียอดและพุ่มข้าวบิณฑ์ ธรรมาสน์หลังกูบยุคหลังๆ ยกชั้นหลังคาสูงขึ้นกลายเป็น “ยอดบายศรี” 

ธรรมาสน์ทรงปราสาท (ธรรมปราสาท)

"ธรรมปราสาท" ถือเป็นพัฒนาขั้นสุดท้ายแห่งยุคทองของ “ธรรมาสน์ในล้านนา” เป็นธรรมาสน์ที่สร้างให้วิจิตรพิสดาร อลังการ รุ่มรวย ซับซ้อนมากขึ้น ด้วยการทำยอดแหลมสอดรับกับเพดานวิหารที่สูงโปร่งโล่ง จึงยกระดับหลังคาธรรมมาสน์ให้จำลองยอดปราสาทสูงซ้อนชั้น มีซุ้มประตู-หน้าต่าง ช่อฟ้าใบระกาหางหงส์ หน้าแหนบมาประดับ

ทั้งนี้ก็ด้วยความประสงค์ที่ต้องการบูชาพระธรรม อันเป็นของสูงในชั้นโลกุตระ นอกจากนี้ยังเป็นค่านิยมที่ได้จากการทำนายชะตาเกิดหรือพรหมชาติแบบล้านนา ว่าคนที่เกิดปีใดให้ถวายอะไร บางปีให้ถวายบ่อน้ำ บางปีให้สร้างศาลาบาตร  บางปีให้ถวายธรรมาสน์ ทั้งหมดนี้ถือว่าเป็นอานิสงส์ส่วนบุญอันเป็นทิพย์ในปรโลก จึงเป็นเหตุให้บุคคลที่มีฐานะหรือเหล่าคณะศรัทธาวัดจัดสร้างธรรมาสน์ทรงสูงถวายวัดขึ้น

          ธรรมปราสาทยุคหลังๆ นอกจากจะพัฒนาส่วนหลังคาให้มีลูกเล่นสูงเสียดเพดานแล้ว ในส่วนของเรือนเทศน์ยังเน้นซี่ไม้โปร่งๆ สูงเพรียวคล้ายลูกกรง บางแห่งใช้เสาล้อมตัวเรือนเทศน์กลายเป็นทรงกลม หรือทรงแปดเหลี่ยมก็มี 

          องค์ประกอบที่สี่ ที่วางคัมภีร์สำหรับอ่าน ใช้สวดเทศน์ บางแห่งทำแท่นสูงคล้ายโพเดียม อยู่ที่ช่องด้านนอกตรงผนังด้านใดด้านหนึ่ง บางแห่งทำประติมากรรมรูปเทวดาระบายสีกางปีกเชิญคัมภีร์ เช่นที่วัดปงสนุก และวัดป่าแหน่ง ทั้งสองแห่งนี้เป็นสกุลช่างลำปาง

          องค์ประกอบที่ห้า ส่วนของ “เกริน” หรือบันได (ภาษาล้านนาเรียก “เกิ๋น”) ที่ยกออกได้ให้พระ-เณรปีนขึ้นลง เพราะเรือนเทศน์ตั้งอยู่บนฐานสูงจากพื้นมากกว่าระดับธรรมดา บันไดนี้เรียกว่า "บันไดนาค" เรียกตามลักษณะที่ทำเป็นลำตัวนาคทอดลงมา โดยมีหางช่อกระหนกอยู่ตอนบน และวางเศียรนาคซึ่งทางเหนือเรียกว่า "ตัวลวง" หรือ "รุ้ง" ไว้แนบพื้น ขั้นบันไดโดยทั่วไปมี 3-5 ขั้น ถี่หรือห่างแล้วแต่ความสูงและความเหมาะสม

ปัจจุบันธรรมาสน์กลายเป็นแค่เครื่องประดับตกแต่งชิ้นหนึ่งในวิหาร เหลือแค่สัญลักษณ์ แทบไม่มีประโยชน์ใช้สอยอีกเลย เพราะไม่นิยมให้พระเณรปีนขึ้นไปเทศน์ข้างบน

31

ข่าวอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

มิตซูแสงชัย ขอเชิญร่วมงาน Exclusive Test Drive 🔮“ มิตซูแสงชัย มูปัง รับปี 68 ” วันเสาร์ ท...

มิตซูแสงชัย ขอเชิญร่วมงาน  Exclusive Test Drive 🔮“ มิตซูแสงชัย มูปัง รับปี 68 ” ✨📍วันเสาร์ ที่ 14 ธ.ค 67  | เวลา 10.00-17.00 น.📍ณ ร้านอาหาร คาริน แอนด์ ชอร์ (ถ.สันกำแพงสายใหม่ เยื้อง ปั้มปตท...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 9 ธ.ค. 2567, 16:24
  • |
  • 49

ส่งมอบรถใหม่ Hyundai STARIA Premium (Euro5) เป็นรถยนต์น่าใช้สำหรับครอบครัว

 เอชดีเจมอเตอร์ ฮุนไดเชียงใหม่ โดยที่ปรึกษาการขายเซลส์แนน ร่วมแสดงความยินดีพร้อมส่งมอบรถใหม่ให้กับคุบริษัท บุญเลิศเกมส์ไม้ จำกัด  Hyundai STARIA Premium (Euro5) ขอขอบคุณที่ให้เกียรติมาเป็นคร...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 6 ธ.ค. 2567, 18:34
  • |
  • 54

999,900 บาทราคานี้ยอดจองระเบิด AION V รถ SUV ใหม่ล่าสุดจาก AION VGroup Car เชียงใหม่

ที่ผ่านมา AION VGroup Car เชียงใหม่ จัดงานเปิดตัว SUV ใหม่ล่าสุด AION V ที่เดินทางมาถึงโชว์รูมที่เชียงใหม่ โดยมีผู้บริหาร AION VGRUOP Car เกรียงศักดิ์ จารุนนท์วิวัฒน์ ให้เกียรติ์กล่าวต้อนรับสื่อมวลชนพ...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 1 ธ.ค. 2567, 08:32
  • |
  • 139

ส่งมอบรถใหม่ Hyundai STARGAZER X6 สีบรอนเงิน เป็นรถยนต์น่าใช้สำหรับครอบครัว

เอชดีเจมอเตอร์ ฮุนไดเชียงใหม่ โดยที่ปรึกษาการขายเซลส์แนน ร่วมแสดงความยินดีพร้อมส่งมอบรถใหม่ให้กับคุณสิรินาถ ว่าความดี มาถอย Hyundai STARGAZER X6 สีบรอนเงิน ขอขอบคุณที่ให้เกียรติมาเป็นครอบครัวฮุนได สอบ...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 29 พ.ย. 2567, 09:59
  • |
  • 101

เริ่มไปแล้ววันนี้งานแสดงรถยนต์ ETON CHIANGMAI EXPO 2024 ณ เซ็นทรัลเชียงใหม่ เฟสฯ 26 พย.ถึง...

ในงานท่านจะได้พบกับรถยนต์นำเข้าหลายรุูปแบบ ทั้งเครื่องยนต์สันดาป,ไฮบริด และรถยนต์ไฟฟ้า100% ที่นำมาเปิดรับจองสำหรับท่านที่สนใจอยากได้รถยนต์ไปใช้งาน เรามีข้อเสนอพิเศษเฉพาะคุณที่สนใจเชิญแวะมาหาเราได้ที่...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 26 พ.ย. 2567, 13:40
  • |
  • 123

ส่งมอบไปอีกคันแล้ว ฟอร์ด EV 2.0L Turbo Sport 4x2 6AT-DAT64(22B) เป็นรถยนต์ที่น่าใช้

 ส่งมอบรถยนต์น่าใช้ให้กับลูกค้า โดยที่ปรึกษาการขาย ดวงพร กิ่งจำปา  ร่วมแสดงความยินดีกับคุณ เดนนิช สุขสวัสดิ์  มารับ ฟอร์ด EV 2.0L Turbo Sport 4x2 6AT-DAT64(22B) ไปจากโชว์รูม ขอบคุณที่ ใ...


  • ข่าวยานยนต์
  • |
  • 23 พ.ย. 2567, 14:59
  • |
  • 137
Sytiq Company

ออกแบบพัฒนาโปรแกรมและแอพลิเคชั่น

โดยบริษัทไซทิค ติดต่อ:0819507128

Sytiq Company

ออกแบบและติดตั้ง Home Automation

โดยบริษัทไซทิค ติดต่อ:0819507128